'ครูแก้ว' ส่งภรรยาชิงเขต 1 จ.นครพนม ท้าชน 'ภูมิพัฒน์' ปักธงชัยพื้นที่เสื้อแดง

(24 ก.พ. 66) ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของจังหวัดนครพนม มีดีกรีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นแทบทุกวัน หลังมีการวางปฏิทินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่จะครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 บวกกับมีกระแส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจจะยุบสภาราวกลางเดือนมีนาคม ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ต่างเอียงหูฟังเกี่ยวกับข่าวลือดังกล่าว พร้อมเร่งวางตัวผู้สมัคร และสร้างฐานการเมือง เพี่อสู้ศึกเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้

สำหรับเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดนครพนม ประกอบด้วย อ.ศรีสงคราม, อ.บ้านแพง, อ.นาทม และ อ.นาหว้า ถือเป็นฐานที่มั่นของ 'สหายแสง' นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือ 'ครูแก้ว' พรรคภูมิใจไทย ที่สอดแทรกชนะการเลือกตั้งผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา โดยก่อนนี้ครูแก้วเคยพ่ายแพ้ให้กับนายยุทธจักร เรืองวรบูรณ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย หลังจากยุบพรรคพลังประชาชน นายศุภชัย โพธิ์สุ ทนแรงจีบของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยไม่ไหว จึงย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย โดยมีตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นของขวัญ หลังหมดวาระเมื่อปี 2554 จึงถูกประชาชนพิพากษาด้วยการเข้าคูหากาพรรคเพื่อไทย ครูแก้วหรือสหายแสงจึงกลายเป็นผู้แทนสอบตกพักงานยาวกว่า 7 ปี ภายหลังกลับมาชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2562

ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2566 ที่จะมาถึงนี้ ต้องยอมรับว่า 'สหายแสง' นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือ ครูแก้ว ส.ส.เขต 1 จ.นครพนม พรรคภูมิใจไทย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง พกความเชื่อมั่นในศักยภาพของตน หวังล้มช้างอย่างพรรคเพื่อไทย เพื่อดับฝันแลนด์สไลด์ โดยประกาศตัวข้ามจากเขต 1 นครพนมอันเป็นฐานที่มั่นเดิม ย้ายไปลงสมัคร ส.ส. เขต 2 นครพนม ชิงตั๋วเข้าสภากับ ดร.มนพร เจริญศรี หรือ 'เดือน' แชมป์เก่าจากพรรคเพื่อไทย โดยมีพื้นที่ อ.ท่าอุเทน, อ.โพนสวรรค์ และอำเภอเมืองนครพนม (เฉพาะตำบลในเมือง ต.หนองแสง, ต.อาจสามารถ, ต.นาราชควาย, ต.หนองญาติ และตำบลท่าค้อ) โดยปูฐานทางการเมืองกับกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ อสม. รวมถึงพ่อค้า นักธุรกิจภาคเอกชน

ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 1 ครูแก้วส่งภรรยาคู่ชีวิต คือ นางพูนสุข โพธิ์สุ หรือ 'ครูตุ่น' อดีตข้าราชการครู อดีตรองนายก อบจ.นครพนม ลงสมัครแทน โดยชิงชัยกับ ดร.ภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ อดีต ส.ส.แบบสัดส่วน พรรคภูมิใจไทย และในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เคยเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อชาติ ภายหลังหันมาสังกัดพรรคเพื่อไทย ลงสมัครชิง ส.ส.เขต 1 นครพนม แทนนายยุทธจักร เรืองวรบูรณ์ ที่ยอมถอยจากการถูกชกใต้เข็มขัดเมื่อครั้งที่ผ่านมา

ดังนั้น ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ถือเป็นการวัดบารมีครั้งสำคัญ ว่า พรรคภูมิใจไทยจะปักธงชัยล้มแลนด์สไลด์พรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ หากไม่สามารถฝ่าด่านความรักความผูกพันของประชาชน งานนี้ปัญหาต้องตกมาที่พรรคภูมิใจไทยในพื้นที่ จ.นครพนม อย่างแน่นอน อีกทั้ง ครูแก้วจะต้องฝ่ากระแสดรามา เพราะภาษาพาไปในการปราศรัยกล่าวหา ส.ส.พื้นที่จังหวัดใกล้เคียงที่ไม่เลือกภูมิใจไทย ว่า 'ไอ้โง่' เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565

รวมถึงประเด็นการตรวจสอบ เรื่องการครอบครองป่าดงพะทาย อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ที่ถูกตรวจสอบเรื่องจริยธรรม ถึงแม้เจ้าตัวยืนยันในการครอบครองชอบด้วยกฎหมาย แต่จะต้องพิสูจน์ตัวเองให้ถึงที่สุด เพราะยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของหน่วยงานเกี่ยวข้อง ที่อาจจะกระทบต่อความเชื่อถือของพี่น้องประชาชน

ทั้งนี้ ตัวชี้วัดสำคัญในทิศทางความได้เปรียบเสียเปรียบ เชิงการเมือง ต้องยอมรับว่า พรรคภูมิใจไทยมีความเสี่ยงสูง ที่จะถูกกระแสต้าน ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ที่เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเคยประกาศจะไม่ร่วมกับฝ่ายเผด็จการ สุดท้ายต้องมาร่วมจับมือกับพลังประชารัฐ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ให้เข้าใจถึงอุดมการณ์การเมือง แต่ที่แน่ ๆ พรรคภูมิใจไทยใช้มุกเก่าไม่ได้อีกแล้ว

นอกจากนี้ สหายแสง นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือ ครูแก้ว ต้องยอมทิ้งฐานคะแนนถิ่นเก่า มาสร้างฐานคะแนนใหม่ในเขตเลือกตั้งที่ 2 ชนกับแชมป์เก่า คือ ดร.มนพร เจริญศรี หรือเดือน พรรคเพื่อไทย ที่ครูแก้วจะต้องมีทั้งคะแนนนิยม ทั้งส่วนบุคคลและทั้งพรรค เนื่องจากเป็นฐานที่มั่นของพรรคเพื่อไทยมาตลอด ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 3 นครพนม อ.เมืองนครพนมบางส่วน อ.ธาตุพนม และ อ.เรณูนคร พรรคภูมิใจไทยส่ง นายแพทย์ อลงกต มณีกาศ ชนกับ ดร.ไพจิต ศรีวรขาน แชมป์ 12 สมัย พรรคเพื่อไทย ที่มีทั้งคะแนนนิยมพรรค และคะแนนนิยมส่วนบุคคล โอกาสที่พรรคภูมิใจไทย จะชิงความได้เปรียบคงมีโอกาสน้อย

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐของลุงป้อม ส่ง 'เจ๊ฝน' นางมารวย อุดมเลิศปรีชา เจ้าของร้านดาวทองอาหารเวียดนามชื่อดังแห่ง อ.ธาตุพนม สอดแทรกเป็นสีสัน แต่มีกระแสข่าวว่ามีสมาชิกสภาจังหวัดนครพนม (ส.อบจ.ฯ) รายหนึ่ง ซึ่งมีฐานคะแนนเสียงแน่นปั๊ก เตรียมลาออกมาลงสมัครสนามใหญ่ ฉะนั้น เขตเลือกตั้งที่ 3 ประกอบด้วย อำเภอธาตุพนม, อ.เรณูนคร และอำเภอเมืองนครพนม (เฉพาะตำบลบ้านกลาง ต.ดงขวาง, ต.ขามเฒ่า ต.คำเตย, ต.โพธิ์ตาก และตำบลนาทราย) มีความมันปรากฏขึ้นมาแล้ว

ในส่วนเขตเลือกตั้งที่ 4 ได้แก่ อ.นาแก, อ.วังยาง, อ.ปลาปาก และอำเภอเมืองนครพนม (เฉพาะ ต.วังตามัว, ต.กุรุคุ และ ต.บ้านผึ้ง) พรรคภูมิใจไทย ส่ง นายชูกัน กุลวงษา อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ครั้งที่แล้วพ่ายการเลือกตั้ง หลังย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ โดยถูกกระแสทิ้งพรรคเพื่อไทย มาครั้งนี้นายชูกันย้ายพรรคอีกรอบ ลงสมัคร ส.ส.เขต 4 ในนามพรรคภูมิใจไทย ที่จะต้องฝ่ากระแสย้ายพรรคอีกรอบ ที่สำคัญนายชูกันยังต้องเจอคู่แข่ง ที่มีฐานคะแนนนิยมส่วนตัว และเป็นพรรคใหญ่ไม่แพ้กัน คือ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีต ส.ส.เขต 4 พรรคเพื่อไทย ที่ย้ายไปสังกัดพรรคไทยสร้างไทย รวมถึง ดร.สมชอบ นิติพจน์ อดีตนายก อบจ.นครพนม ที่เตรียมสมัครในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ และ นายณพจน์ศกร ทรัพยสิทธิ์ ผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ วัดจากฐานคะแนนพรรค รวมถึงฐานคะแนนนิยมส่วนตัวของผู้สมัคร ให้น้ำหนักระหว่างพรรคภูมิใจไทย กับพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก ส่วนพรรคพลังประชารัฐยังมีคะแนนนิยมน้อย โดยวัดจากฐานคะแนนการเลือกตั้งที่ผ่านมา และถือเป็นการเลือกตั้งชี้อนาคตทางการเมืองของพรรคภูมิใจไทย หากไม่สามารถล้มแลนด์สไลด์ได้ ก็ต้องกลับมาทบทวนใหม่ในการสู้ศึกสมัยหน้า

ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่ที่ปลายปากกาของประชาชนในคูหาเลือกตั้ง ว่า พรรคเพื่อไทยจะรักษาที่มั่นได้ไหม และ พรรคภูมิใจไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ จะปักธงชัยในพื้นที่เสื้อแดงได้หรือไม่ ต้นเดือนพฤษภาคม 2566 รู้กันใครจะอยู่หรือจะไป


ที่มา : https://www.thaipost.net/district-news/330514/