ภัยความมั่นคง ‘สหรัฐฯ’ ชิงลงมือ สอย ‘บอลลูนจีน’ ร่วงนอกชายฝั่ง หวั่นซ้ำรอย ‘Fu-Go’ บอลลูนมหาภัย เมื่อ ๗๘ ปีก่อน

เมื่อไม่นานมานี้ข่าวต่างประเทศที่ได้รับความสนใจมากๆ ข่าวหนึ่งก็คือ วัตถุบินปริศนาที่ปรากฏบนน่านฟ้าของสหรัฐฯ ซึ่งบางฝ่ายก็มโนไปว่ามันคือยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาว หรือ UFO (Unidentified Flying Object)

แต่ข้อถกเถียงเรื่อง  UFO ก็ต้องส่างซาลง เมื่อมีข่าวว่า สหรัฐฯ จัดการกับวัตถุปริศนาชิ้นนั้นด้วยการส่งเครื่องบินขับไล่แบบ F-22 ยิงมันตกที่นอกชายฝั่งของมลรัฐ South Carolina ของสหรัฐฯ

หลังจากนั้น ‘จีน’ ออกมาประท้วง ‘สหรัฐฯ’ ที่ยิงวัตถุปริศนานั้น โดยจีนอ้างว่ามันคือ ‘บอลลูนพลเรือนซึ่งไร้คนบังคับ’ และระบุว่า พวกเขาสงวนสิทธิ์ในการ ‘ตอบโต้เท่าที่จำเป็น’

การที่บอลลูนดังกล่าวเข้ามาในน่านฟ้าของสหรัฐฯ มันยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนยิ่งเลวร้ายลง โดยสหรัฐฯ นั่นคือการส่งอุปกรณ์สอดแนมเข้ามาในดินแดนของตน แต่ทางจีนกลับกล่าวอ้างว่ามันคือ ‘บอลลูน (เรือเหาะ) ที่ใช้ในกิจการพลเรือนและไร้คนขับ’ โดยเป็นบอลลูนวิจัยสภาพอากาศที่หลงเข้าไปในน่านฟ้าของสหรัฐฯ ‘โดยบังเอิญ’
 

เว็บไซต์ People's Daily Online ได้รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีเรือเหาะไร้คนขับสัญชาติจีนหลุดเข้าสู่น่านฟ้าสหรัฐฯ และถูกกองทัพสหรัฐฯ ยิงตกเมื่อวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 โดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสอดแนมของจีน 

ทางฟากโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า บอลลูนเป็นเรือเหาะพลเรือนที่ใช้เป็นหลักในการวิจัยอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเกิดเหตุสุดวิสัยเนื่องจากลมแรง และมีความสามารถในการบังคับทิศทางด้วยตนเองที่จำกัด เมื่อสหรัฐฯ พบเห็นเรือเหาะ ฝ่ายจีนได้แจ้งให้ฝ่ายสหรัฐฯ ทราบถึงลักษณะของเรือเหาะพลเรือน และจีนได้สื่อสารกับสหรัฐฯ อย่างแข็งขัน รวมทั้งทำงานร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อจัดการกับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงนี้อย่างเหมาะสมด้วยท่าทีที่สงบ เป็นมืออาชีพ และอดกลั้น

เครื่องบินขับไล่แบบ F-22 ขณะยิงขีปนาวุธขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงแบบอากาศสู่อากาศ แบบ AIM-9X

ในส่วนของสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่า เครื่องบินขับไล่และเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงหลายลำมีส่วนร่วมในภารกิจเมื่อวันเสาร์ แต่มีเพียงเครื่องบินขับไล่แบบ F-22 จากฐานทัพอากาศ Langley ในมลรัฐ Virginia เพียงลำเดียวที่ยิงบอลลูนดังกล่าว เมื่อเวลา 14:39 น. (19:39 GMT) โดยใช้เป็นเป้าหมายของขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงแบบอากาศสู่อากาศ แบบ AIM-9X ซึ่งค้นหาเป้าหมายด้วยความร้อน เพียงลูกเดียว บอลลูนซึ่งลอยอยู่ที่ความสูงประมาณ 18,300 เมตร (60,000 ฟุต) ถูกยิงตกนอกชายฝั่งมลรัฐ South Carolina ประมาณ 6 ไมล์ทะเล 

Joe Biden ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เขาได้ออกคำสั่งให้ยิงบอลลูนลง แต่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แนะนำให้รอจนกว่าจะสามารถปฏิบัติการเหนือน่านน้ำเปิด เพื่อปกป้องเศษซากที่ตกลงสู่พื้นโลกไม่ให้เป็นอันตรายต่อประชาชนสหรัฐฯ 

“เรายิงบอลลูนตกได้สำเร็จ และผมขอชมเชยนักบินของเราที่ทำสำเร็จ” ประธานาธิบดี Biden กล่าวที่มลรัฐ Maryland

บอลลูนซึ่งลอยอยู่สูงประมาณ 18,300 เมตร (60,000 ฟุต) ถูกยิงตกนอกชายฝั่งมลรัฐ South Carolina 

ปฏิบัติการดังกล่าวเกิดขึ้นไม่นานหลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ สั่งระงับเที่ยวบินบริเวณชายฝั่งของมลรัฐ South Carolina เนื่องจากสิ่งที่กล่าวในเวลานั้นคือ ปฏิบัติการด้านความมั่นคงของชาติที่ไม่เปิดเผย 

หลังจากเสร็จภารกิจเครื่องบินขับไล่แบบ F-22 บินกลับฐานทัพฯ ภาพจากโทรทัศน์แสดงให้เห็นการระเบิดเพียงเล็กน้อย ตามด้วยบอลลูนที่ตกลงสู่ทะเล 

สำนักข่าว Associated Press รายงานว่ามีการดำเนินการในน่านน้ำของสหรัฐในเขตมหาสมุทรแอตแลนติก และมีการกู้เศษซากของบอลลูนด้วย 

ทางสำนักข่าวรอยเตอร์อ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ทหารของกองทัพสหรัฐฯ ที่กล่าวว่า เศษชิ้นส่วนของบอลลูนกระจายออกไปในมหาสมุทรเป็นแนวยาวกว่า เจ็ดไมล์ (11 กิโลเมตร) โดยมีเรือรบของกองทัพเรือสหรัฐฯ หลายลำอยู่ในบริเวณนั้น


เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ทำการเก็บกู้เศษซากบอลลูนของจีนซึ่งถูกยิงตกเพื่อนำไปพิสูจน์ทราบ

เจ้าหน้าที่ FBI ทำการตรวจพิสูจน์เศษซากบอลลูนของจีนซึ่งถูกยิงตก

บอลลูนตรวจสภาพอากาศของแคนาดา

People's Daily บอกว่า เหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรกในโลกที่บอลลูนเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อยู่เหนือการควบคุม ในปี 1998 (พ.ศ.2541) บอลลูนตรวจสภาพอากาศของแคนาดา ซึ่งทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ให้กับองค์การอวกาศแคนาดา สิ่งแวดล้อมแคนาดา และมหาวิทยาลัยเดนเวอร์ของสหรัฐฯ เกิดข้อผิดพลาด เนื่องจากการทำงานผิดพลาดทางเทคนิค บอลลูนไม่สามารถลงมาได้ตามแผนและลอยข้ามประเทศแคนาดาไปยังมหาสมุทรแอตแลนติก โดยบอลลูนลอยอยู่บนท้องฟ้าเป็นเวลา ๙ วัน เข้าสู่น่านฟ้าของหลายประเทศ และลงจอดที่เกาะ Mariehamn ของฟินแลนด์ในที่สุด


ข่าวของเครื่องบินขับไล่แบบ CF-18 ของกองทัพอากาศแคนาดาซึ่งไม่สามารถยิงบอลลูนตกได้

อันที่จริงแล้วรัฐบาลแคนาดาได้พยายามทำลายบอลลูนดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และกลายเป็นบทเรียนในภารกิจการทำลายบอลลูนของจีนให้กับกองทัพสหรัฐฯ จึงต้องใช้เครื่องบินขับไล่แบบ F-22 และใช้ขีปนาวุธราคาแพงแทนปืนใหญ่อากาศ ในการยิงบอลลูนสอดแนมของจีนตก สหรัฐฯ ส่งเครื่องบินขับไล่แบบ F-22 ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องบินรบที่ดีที่สุดของโลก เนื่องจากความสามารถในการบินได้สูงมากและมีอุปกรณ์เซ็นเซอร์ขั้นสูง ซึ่งสหรัฐฯ ระบุว่า สามารถรบกวนสัญญาณของบอลลูนเพื่อป้องกันการส่งข้อมูลกลับไปยังจีน และยังสกัดข้อมูลที่บอลลูนเก็บเอาไว้ได้ นอกจากนี้ F-22 ยังติดตามการตกลงของบอลลูนได้ดีกว่าหลังจากยิงบอลลูนตก 

เครื่องบินขับไล่แบบ CF-18 ของกองทัพอากาศแคนาดา

สำหรับเหตุที่ต้องใช้ขีปนาวุธแบบ AIM-9X ที่แสนแพง (ลูกละ 400,000 USD หรือราว 13.5ล้านบาท) แทนปืน ก็ด้วยบทเรียนจากแคนาดา ในปี ค.ศ. 1998 บอลลูนตรวจสภาพอากาศของแคนาดาซึ่งหลุดจากการควบคุม และพวกเขาพยายามที่จะยิงมันให้ตกด้วยปืนใหญ่อากาศขนาด 20 mm M61A1 Vulcan จากเครื่องบินขับไล่แบบ CF-18 สองลำ 

หลังจากที่เครื่องบินขับไล่แบบ CF-18 ทำการยิงบอลลูนไปหลายร้อยนัด (กระสุนนัดละ 30USD (ราวหนึ่งพันบาท)) เหนือ Newfoundland บอลลูนลูกนั้นก็ยังคงลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องน่าอับอายขายหน้ามาก ๆ และสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการทำผิดพลาดเช่นเดียวกันอีก 

บอลลูนในยุคปัจจุบันใช้ก๊าซฮีเลียมในการลอยตัว ซึ่งเป็นก๊าซเฉื่อยจึงไม่ติดไฟ ถึงในระดับความความสูงมาก ๆ บอลลูนก็จะยิ่งพองตัวมาก แต่ก๊าซก็รั่วออกรูที่เกิดจากรอยกระสุนน้อยมาก จึงทำให้สามารถลอยต่อได้อีกหลายวัน (กรณีของแคนาดาบอลลูนถูกยิงไปหลายร้อยนัดแล้วยังคงสามารถลอยต่ออีก ๙ วัน จนสามารถข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ไปจนถึงประเทศฟินแลนด์ได้)

สำหรับการคุกคามความมั่นคงด้วยบอลลูนต่อสหรัฐฯ โดยมีปฏิบัติการทางทหารนั้น ครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งที่สองหลังจากครั้งแรกซึ่งเกิดขึ้นในสมัยสงสงครามโลกครั้งที่สอง จากปฏิบัติการทางทหารของกองทัพญี่ปุ่นได้ใช้ Fu-Go บอลลูนมหาภัย ปล่อยจากญี่ปุ่น เป็นอาวุธชนิดหนึ่งที่กองทัพญี่ปุ่นนำมาใช้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง 

จากการที่นักวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่นค้นพบว่า กระแสอากาศทางทิศตะวันตกบนความสูง 30,000 ฟุต ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ‘กระแสอากาศ Jet’ สามารถขนส่งบอลลูนที่เติมไฮโดรเจนไปถึงทวีปอเมริกาเหนือได้ในเวลาสาม-สี่วัน (ใช้เวลาประมาณเจ็ดสิบชั่วโมงในการข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก)

Fu-Go บอลลูนมหาภัย ผลิตโดยแรงงานของหญิงสาวชาวญี่ปุ่น

กองทัพญี่ปุ่นใช้เวลาสองปีผลิตบอลลูนหลายพันลูกด้วยหนังที่มีน้ำหนักเบาแต่ทนทาน และกระดาษที่ทำจากต้นหม่อนซึ่งถูกเย็บเข้าด้วยกันจากฝีมือของเด็กนักเรียนหญิงที่ถูกเกณฑ์โดยให้ทำงานไม่สนใจถึงวัตถุประสงค์ที่เลวร้ายของกองทัพ ใช้เชือกยาว 40 ฟุตติดกับบอลลูนผูกอุปกรณ์ทางการทหาร ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์จุดระเบิดและระเบิดแรงสูงขนาด 30 ปอนด์เพื่อปล่อยลงเหนือทวีปอเมริกาเหนือ และสามารถจุดไฟป่าครั้งใหญ่เพื่อทำให้เกิดความตื่นตระหนก และอาจทำให้เกิดความขาดแคลนทรัพยากรที่จะนำไปใช้ในสงคราม เมื่อระเบิดหรือไฟไหม้แล้ว อุปกรณ์จุดระเบิดจะทำลายตัวเอง และไม่ทิ้งหลักฐานใด ๆ

ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1944 ถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 1945 กองทัพญี่ปุ่นได้เปิดตัวอาวุธที่ไร้คนควบคุมมากกว่า ๙,๐๐๐ ลูกในปฏิบัติการที่มีชื่อรหัสว่า ‘Fu-Go’ บอลลูนส่วนใหญ่ตกลงไปในมหาสมุทรแปซิฟิกโดยไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่ฝ่ายใด แต่มีบอลลูนทรงกลมสีขาวรูปทรงทันสมัยกว่า ๓๐๐ ลูกที่สามารถข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปได้ไกลกว่า 5,000 ไมล์ และพบว่า ล่องลอยบนท้องฟ้าทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ตั้งแต่เมืองโฮลีครอส มลรัฐ Alaska ไปจนถึงเมืองโนกาเลส มลรัฐ Arizona และไกลออกไปทางตะวันออกอย่างเมืองแกรนด์แรพิดส์ มลรัฐ Michigan 

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1945 บอลลูนลูกหนึ่งชนเข้ากับสายไฟแรงสูงและทำให้ไฟฟ้าดับชั่วคราวที่โรงงานแฮนฟอร์ด มลรัฐวอชิงตัน ซึ่งกำลังผลิตพลูโตเนียมที่จะใช้ในการสร้างระเบิดปรมาณู ซึ่งจะทิ้งที่เมืองนางาซากิในอีกห้าเดือนต่อมา 

ป้ายอนุสรณ์ระลึกถึงผู้เสียชีวิต ๖ รายในเหตุระเบิดจากบอลลูนระเบิด Fu-Go ในปี ค.ศ. 1945

อย่างไรก็ตามไม่มีบอลลูนลูกใดที่ทำให้เกิดอันตราย จนกระทั่งกลุ่มสมาชิกคริสตจักรของสาธุคุณ Archie Mitchel ไปเจอซากบอลลูนลูกหนึ่งบนภูเขา Gearhart ของเมือง Bly มลรัฐ Oregon เข้า และเกิดการระเบิดจนทำให้มีผู้เสียชีวิตไป ๖ คน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 

แม้ในปัจจุบันยังคงมีบอลลูนระเบิดที่อาจเป็นอันตรายอีกนับร้อยลูกซึ่งอาจจะยังคงตกค้างอยู่ในสถานที่ห่างไกลและทุรกันดารของตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ อาทิ เมื่อเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2017 คนงานตัดไม้สองคนในเมือง Lumby รัฐ British Columbia ของแคนาดาก็พบเศษของบอลลูนระเบิด ซึ่งต่อมาได้ถูกทำลายด้วยการระเบิดทำลายโดยของเจ้าหน้าที่ EOD ก่อนที่มันจะทำให้เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมซ้ำกับเมื่อกว่า ๗๐ ปีก่อนอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากบอลลูนของญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และบอลลูนสัญชาติจีนที่เข้ามาเป็นภัยต่อความมั่นคงในสหรัฐฯ แล้ว ก็มีเหตุการณ์คล้าย ๆ กันเกิดขึ้นอีกในซีกโลกหนึ่ง ในฉนวนกา ชาวปาเลสไตน์ได้ใช้บอลลูนที่มีวัสดุไวไฟเรียกกันว่า “ลูกโป่งกาซาน” โดยปล่อยจากเมือง Bureij ในฉนวนกาซา นับตั้งแต่การเริ่มต้นของการประท้วงบริเวณชายแดนฉนวนกาซาในปี ค.ศ. 2018 ชาวปาเลสไตน์ได้เริ่มจากการใช้ว่าวก่อความไม่สงบต่ออิสราเอลในรูปแบบของการก่อการร้ายเชิงเกษตร ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2018 บอลลูนที่ใช้ก่อความไม่สงบเติมด้วยก๊าซฮีเลียมถูกนำมาใช้ร่วมกับว่าว ลูกโป่งกาซานถูกประดิษฐ์ขึ้นจากลูกโป่งปาร์ตี้ที่บรรจุฮีเลียมหรือถุงยางอนามัยที่ร้อยเข้าด้วยกัน โดยมีเศษผ้าไฟเป็นอุปกรณ์ก่อความไม่สงบอื่น ๆ หรือมีวัตถุระเบิดที่ผูกติดอยู่ด้านล่าง ลมที่พัดเข้ามาจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทำให้บอลลูนจากฉนวนกาซาพัดเข้าสู่อิสราเอล 

ตามรายงานใน Ynet เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 2018 ว่าวและบอลลูนทำให้เกิดไฟไหม้ ในอิสราเอลแล้ว ๖๗๘ ครั้ง เผาป่าไม้ไปกว่า 910 เฮกตาร์ (2,260 เอเคอร์) พืชผลทางการเกษตรเสียหายกว่า 610 เฮกตาร์ (1,500 เอเคอร์) รวมถึงเผาไม้ทุ่งโล่งด้วย 

บอลลูนบางลูกตกลงในสภาภูมิภาคเอชคอล และสภาภูมิภาคซดอตเนเกฟ แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ บอลลูนจำนวนหนึ่งลอยไปถึง Beersheba ซึ่งอยู่ห่างจากฉนวนกาซาประมาณ 40 กิโลเมตร (25 ไมล์)


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์โญธิน มานะบุญ เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.โญธิน%20มานะบุญ