'บิ๊กตู่' เร่งแก้ปัญหา 'อาวุธปืน-ยาเสพติด' ย้ำ!! เอาจริง สั่งทุกฝ่ายเดินหน้าปราบปรามเข้มข้น

(17 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงยุติธรรม, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการหาแนวทางการป้องกัน และการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืนและยาเสพติด ที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนการป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ขณะนี้กระทรวงมหาดไทย บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแก้ไขปัญหาอาวุธปืน และมีมาตรการดำเนินการ ดังนี้...

1.) การอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน เพิ่มเติมเอกสารใบรับรองแพทย์ ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการหารือกับกรมสุขภาพจิต และโรงพยาบาลสมเด็จพระยาในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสุขภาพจิตและหาสารเสพติดของผู้ยื่นคำขอใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน รวมทั้งศึกษาแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 

เนื่องจากพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ไม่ได้ให้อำนาจนายทะเบียนท้องที่ออกคำสั่งให้ผู้ขออนุญาตดำเนินการตรวจสุขภาพจิตและหาสารเสพติด, ออกหนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัดหรือนายจ้าง โดยกำชับนายทะเบียนท้องที่ให้ตรวจสอบประวัติอาชญากร และการรับรองความประพฤติของผู้ยื่นคำขออนุญาตทุกราย 

ทั้งนี้ การขออนุญาตให้ซื้ออาวุธหรือเครื่องกระสุนส่วนบุคคลให้มีอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนสำหรับการค้าให้มีอาวุธปืน (แบบ ป.3) และการขอใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ให้มีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บ ให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนชั่วคราว (แบบ ป.4) โดยในกรณีที่เป็นข้าราชการจะต้องผ่านการรับรองจากผู้บังคับบัญชา หรือหากเป็นบุคคลทั่วไปจะต้องได้รับการรับรองจากเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานฝ่ายปกครอง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งการออกใบรับรองให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งหากปรากฏภายหลังพบว่ามีพฤติกรรมชวนสงสัยหรือถูกดำเนินคดีอาญา ต้องแจ้งให้ มท. ทราบเพื่อดำเนินการแจ้งนายทะเบียนท้องที่ดำเนินการตามอำนาจต่อไป 

ปัจจุบัน มท. อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ในประเด็นการกำหนดอายุใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน, ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขออนุญาต กำชับนายทะเบียนท้องที่ให้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่นคำขออนุญาต ทั้งก่อนและหลังการออกใบอนุญาตและซักซ้อมแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติให้ผู้ที่จะยื่นคำขอต่อนายทะเบียน ตามแบบ ป.3 หากเป็นการซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนในราชอาณาจักรให้ขออนุมัติผ่อนผันและรายงานให้ มท. ทราบทุกครั้ง 

ทั้งนี้ กรณีสนามยิงปืนจะอนุญาตให้ซื้อกระสุนปืนได้เฉพาะสนามยิงปืน ที่จัดตั้งเป็นสมาคมกีฬาโดยถูกต้องตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 และต้องแก้ไขชนิดและขนาดปืนที่ได้รับอนุญาตตามแบบ ป.4 เท่านั้น กรณีมีผู้ยื่นคำขออนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนชนิดหรือขนาดเดียวกันจำนวนมากผิดปกติ ให้เรียกอาวุธปืนและใบอนุญาตมาตรวจสอบเป็นราย ๆ ไป

หากพบว่ามีการแสดงข้อมูลเป็นเท็จโดยใช้ชื่อตนเอง เพื่อซื้ออาวุธปืนให้บุคคลอื่นให้เพิกถอนใบอนุญาตทันที, เพิกถอนใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว มีการกำชับแนวทางการอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวภายในเขตจังหวัด และแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพิกถอนใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว (แบบ ป.12) ได้ทันที หากพบว่าเป็นผู้ที่ไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ หรือถูกเพิกถอนแบบ ป.4, และเชื่อมโยงฐานข้อมูล มท. ได้อนุมัติสิทธิให้ ตช. (ส่วนกลาง) สามารถเข้าระบบเพื่อตรวจดูข้อมูลทะเบียนอาวุธปืนได้ และอยู่ระหว่างการหารือด้านเทคนิคการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน

2.) การจัดการอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต กระทรวงมหาดไทยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นในระบบกฎหมายกลาง โดยมีหลักการสำคัญ ได้แก่

(1) หากบุคคลที่มีการครอบครองอาวุธปืนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายและอยู่ในความควบคุมของรัฐโดยได้รับการยกเว้นโทษ
(2) กรณีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ ให้ผู้ครอบครองส่งมอบให้อยู่ในการควบคุมของรัฐโดยได้รับการยกเว้นโทษ
และ (3) กำหนดให้มีการจัดเก็บอัตลักษณ์หัวกระสุนและปลอกกระสุนของอาวุธปืนทุกกระบอกโดยให้มีกำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ฝ่าฝืนไว้ด้วย ทั้งนี้ อัตราการออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.3) ระหว่างเดือนกรกฎาคม-15 ธันวาคม 2565 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

3.) การป้องกันและปราบปรามในเชิงรุก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการ ดังนี้ การป้องกัน ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลประวัติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ วัยรุ่น กลุ่มเสี่ยง นักเลง อันธพาล, บุคคลที่มีคดีความ ผู้มีอิทธิพล ผู้กว้างขวาง, บุคคลผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแต่มีความประพฤติไม่เรียบร้อย, กลุ่มบุคคลที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบ, บุคคลพ้นโทษ, กลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมลักลอบผลิตจำหน่ายอาวุธปืนทางออนไลน์ และกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

ส่วนการปราบปราม ได้ดำเนินการ ดังนี้ สืบสวน ปราบปราม ตรวจค้นแหล่งค้า/ผลิตอาวุธปืนผิดกฎหมาย, กำหนดจุดตรวจ จุดสกัด, สกัดกั้นการลักลอบขนส่งอาวุธปืนทั้งทางบกและทางน้ำ, ตรวจสอบการขนส่งทางไปรษณีย์, ปราบปรามการค้าอาวุธปืนข้ามชาติ และติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดทางสื่อออนไลน์

ทั้งนี้ ผลการดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนระหว่างวันที่ 1 ต.ค.-15 ธ.ค. 2565 สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนและวัตถุระเบิด รวม 29,464 คดี ผู้ต้องหา 27,637 ราย โดยข้อหาที่คนร้ายใช้อาวุธปืนในการก่อเหตุ จำแนกตามฐานความผิด ได้ดังนี้ ฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ รวม 46 กระบอก ฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ รวม 7 กระบอก ฐานความผิดพิเศษ รวม 10 กระบอก และคดีความผิดที่รัฐเป็นผู้เสียหาย รวม 5,246 กระบอก

4.) มาตรการทางดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการที่สำคัญ คือ การป้องกันการค้าอาวุธปืนบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและเครือข่ายสังคมออนไลน์ และการป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไม่เหมาะสม ในการปิดกั้นแพลตฟอร์ม หากมีข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอันเกี่ยวกับอาวุธปืนและยาเสพติด และได้ตรวจสอบแล้วเป็นความผิดตามกฎหมายนั้น ๆ สามารถประสานไปยัง ดศ. เพื่อดำเนินการพิจารณาตามกฎหมาย หากศาลมีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่ก็จะดำเนินส่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เพื่อดำเนินการระงับการทำให้แพร่หลายต่อไป

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้ยาเสพติดกับการใช้อาวุธที่จะดำเนินการในหลายมิติ โดยเฉพาะมาตรการเรื่องการป้องกันป้องปรามในสถานที่ต่าง ๆ การปราบปรามโดยใช้กระบวนการทางกฎหมาย กวาดล้างทั้งยาเสพติดและการใช้อาวุธต่าง ๆ ความเข้มข้นในการตรวจสอบการใช้อาวุธ การพกพาอาวุธ

ขณะที่ยาเสพติด นอกจากการป้องกันและปราบปรามแล้ว รัฐบาลและนายกรัฐมนตรียังให้ความสำคัญกับมิติของการนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ทั้งสถานที่บำบัดรักษาของรัฐ และศูนย์บำบัดรักษาต่าง ๆ ของส่วนท้องถิ่นให้มีเพียงพอ ได้คุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งการค้นหาคนที่ติดยาเสพติดเพื่อนำมาสู่การบำบัดรักษาภายใต้มาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการอย่างเข้มงวด เร่งด่วน และมีประสิทธิภาพ