จาก ‘ผู้นำมะกัน’ สู่ ‘เลือกตั้ง’ ครั้งใหม่ของไทย ‘คนดี’ นั้นไซร้ ย่อมอยู่ในใจผู้คนตลอดกาล

สำหรับมวลมหาประชาชนคนอเมริกันแล้ว ไม่ได้มีแค่ ‘วันวาเลนไทน์’ วันเดียวเท่านั้นที่เป็นวันสำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ หาแต่ยังมีอีกวันที่ทุกคนเฝ้ารอ นั่นคือ ‘วันประธานาธิบดี’ 

ที่ว่าเฝ้ารอนี่ไม่ใช่เพราะให้ความสำคัญกับ ‘ประธานาธิบดี’ หรอก แต่เพราะทุกห้างร้านจะ ‘ลดราคาครั้งใหญ่’ ถึงบางคนอดใจไม่ซื้อของขวัญวาเลนไทน์ แต่เลื่อนไปซื้อของขวัญในวันนี้แทน เพราะได้ส่วนลดมากมาย 

วัน Presidents Day หรือ วันประธานาธิบดี ตรงกับวันจันทร์ในสัปดาห์ที่ 3 ส่วนที่เลือกเป็นวันนี้นั้น เพราะเป็นวันเกิดของ ‘จอร์จ วอชิงตัน’ ประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกา ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1732 โดยมีการร่างพระราชบัญญัติให้วันนี้เป็นวันหยุดราชการและเริ่มมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1971 

ไม่เพียงแค่เป็นเดือนเกิดของ ‘จอร์จ วอชิงตัน’ เท่านั้น หากแต่ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ยังเป็นเดือนเกิดของประธานาธิบดีที่มีความสำคัญอีกท่าน นั่นก็คือ ‘อับราฮัม ลินคอล์น’ โดยในพระราชบัญญัติที่ว่านี้ระบุให้วันประธานาธิบดี เป็น ‘วันสดุดีอับราฮัม ลินคอล์น’ ประธานาธิบดีคนที่ 16 ซึ่งเกิดในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1809 อีกด้วย เรียกว่าเป็นแพ็กคู่แห่งความสำคัญแบบ 1 แถม 1 กันเลยทีเดียว

ไหน ๆ ก็พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้ว ก็ขอพาย้อนไปดูสาระน่ารู้เกี่ยวกับผู้นำมะกันในอดีตสักเล็กน้อย โดยเริ่มจากจำนวนประธานาธิบดีนับตั้งแต่เริ่มอย่าง จอร์จ วอชิงตัน ในปี ค.ศ. 1789 มาจนถึงปัจจุบันนั้น อเมริกาจะมีประธานาธิบดีแล้วทั้งสิ้น 46 คน ซึ่งคนล่าสุด ก็คือ ‘ลุงโจ ไบเดน’ นั่นแหละ  

>> อยู่ยั่งยืนยง
ส่วนประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด ก็ได้แก่ ประธานาธิบดี ‘แฟรงคลิน ดี รูสเวลท์’ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ถึง 4 สมัยหรือ 16 ปี หลังจากนั้นมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 22 ในปี ค.ศ. 1951 กำหนดให้บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไม่เกิน 2 สมัยติดต่อกัน

ที่สหรัฐฯ นั้น ทุกๆ 4 ปีจะมีการสำรวจโพล ‘ประธานาธิบดีและความยิ่งใหญ่ของประธานาธิบดีในการเมืองของฝ่ายบริหาร’ โดยสำรวจความคิดเห็นนักวิจัยด้านสังคมศาสตร์ของสมาคมรัฐศาสตร์ เกี่ยวกับประธานาธิบดีและการเมืองของฝ่ายการบริหาร ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นให้คะแนนความยิ่งใหญ่ของประธานาธิบดีแต่ละคนจาก 0 ถึง 100 ซึ่ง 100 คือ ยิ่งใหญ่, 50 คือ ปานกลาง และ 0 คือ ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

>> สุดยอดผู้นำ
สำหรับประธานาธิบดียอดเยี่ยมนั้น ผลสำรวจมักออกมาแบบนี้แทบทุกหน นั่นคือ 7 อันดับประธานาธิบดียอดเยี่ยมอันดับหนึ่งอภิมหาอมตะนิรันดร์กาลคือ อับราฮัม ลินคอล์น ตามด้วยจอร์จ วอชิงตัน, แฟรงคลิน  รูสเวลต์, ธีโอออร์ รูสเวลต์, โธมัส เจฟเฟอร์สัน, แฮร์รี ทรูแมน และดไวท์ ไอเซนฮาวร์ โดยอับราฮัม ลินคอล์นได้คะแนนนำสูงลิ่วมาทุกครั้ง เรียกว่าเป็นประธานาธิบดีในหัวใจประชาชนอย่างแท้จริง

>> ผู้นำห่วยแตก
ส่วนประธานาธิบดีห่วยแตกสุด 5 คน เรียงจากบ๊วยสุด คือ โดนัลด์ ทรัมป์ ตามมาด้วย แอนดรูว์ จอห์นสัน, แฟรงคลิน เพียร์ซ, วิลเลียม แฮร์ริสัน และ เจมส์ บูแคนัน โดยนักวิจัยขอให้นักรัฐศาสตร์ช่วยระบุชื่อประธานาธิบดีที่คิดว่าสร้างความแตกแยกมากที่สุด ผลปรากฏว่านักรัฐศาสตร์ 90 จากทั้งหมด 170 คนยกให้ ‘ทรัมป์’ เป็นผู้นำที่สร้างความแตกแยกที่สุด

>> ลอบสังหาร
เคยมีการลอบสังหารประธานาธิบดีมาแล้วหลายหน มีประธานาธิบดีที่ถูกลอบสังหารถึง 4 คน ได้แก่ อับราฮัม ลินคอล์น เมื่อปี ค.ศ. 1865 รายต่อมาคือ ประธานาธิบดีเจมส์ การ์ฟิลด์ ในปี ค.ศ. 1881 และประธานาธิบดีวิลเลี่ยม แมคเคนลีย์ ในปี ค.ศ.1901 แต่รายที่โด่งดังสะท้านโลกเห็นจะเป็นประธานาธิบดีรายที่สี่คือ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ เมื่อปี ค.ศ. 1963

>> ผู้นำสุดอื้อฉาว
นอกจากถูกลอบสังหารแล้วยังมีประธานาธิบดีที่ลาออกด้วยเรื่องอื้อฉาวคือ ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันที่ลาออกในปี ค.ศ. 1974 หลังจากกรณีการลอบดักฟังพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามในกรณีที่เรียกว่า คดีวอเตอร์เกท

>> อาภัพสุดๆ
ประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งสั้นสุดคือ วิลเลียม เฮนรี แฮร์ริสัน ประธานาธิบดีคนที่ 9 ของอเมริกา ตอนได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งก็ค่อนไปทางหนุ่มน้อยแรกแย้มแล้ว เมื่อนั่งเก้าอี้ผู้นำได้แค่ 32 วันก็ถึงแก่อสัญกรรม ด้วยโรคปอดบวมที่ทำเนียบขาว ถือเป็นประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ เรียกได้ว่ายังไม่ทันทำอะไรเป็นชิ้นอันเลยแม้แต่น้อย

ประวัติศาสตร์ คือ อดีตที่ฉายเงาสู่ปัจจุบันและอนาคต ทำให้เห็นสัจธรรมว่าผู้นำที่ดีจะ ‘สลักจิต’ และฝังลึกอยู่ในหัวใจประชาชนตลอดกาล แม้เวลาจะผ่านไปนานแสนนาน ก็ยังมีแต่พูดถึงในคุณงามความดี 

ว่าแล้ว...ก็ขอฝากไว้ให้คิดก่อนถึงวันเลือกตั้งครั้งใหม่ในบ้านเราด้วยละกัน...


เรื่อง: เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้