สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 6 - 10 ก.พ. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 13 - 17 ก.พ.66

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI เฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความกังวลว่าอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัว หลังนาย Alexander Novak รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย เผยแผนลดการผลิตน้ำมันดิบในเดือน มี.ค. 66 ลง 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 5% ของปริมาณการผลิตของรัสเซีย เพื่อตอบโต้ชาติตะวันตกที่ออกมาตรการตั้งเพดานราคาน้ำมัน (Price Cap) จากรัสเซียซึ่งขนส่งทางทะเล ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 65 พร้อมทั้งกล่าวย้ำว่าจะไม่จำหน่ายน้ำมันให้แก่ชาติที่เข้าร่วมมาตรการ Price Cap น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากรัสเซียทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้ รัสเซียผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ. 66 อยู่ที่ 10.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ผลิตคอนเดนเสทประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน)

ในขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยธนาคาร Australia and New Zealand Banking Group Ltd. (ANZ) ของออสเตรเลียชี้ว่าอุปสงค์น้ำมันของจีนที่ฟื้นตัว หลังยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ที่ดำเนินการอย่างเข้มงวดมานานกว่า 3 ปี จะเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมันโลกในปีนี้ ทั้งนี้ ANZ คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันของจีนในปี 66 จะเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า หรือประมาณ 50% ของอุปสงค์โลกซึ่งจะเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า ขณะที่เลขาธิการ OPEC นาย Haitham al-Ghais คาดว่าอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 66 จะอยู่ที่ 102 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 และจะเติบโตสู่ 110 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปี 68

สัปดาห์นี้คาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 83 - 88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยนาย Haitham al-Ghais คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะแตะระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในปี 66 ขณะที่นาย Afshin Javan ผู้แทนอิหร่านประจำ OPEC คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงครึ่งหลังของปี 66

>> ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
• รายงานฉบับเดือน ก.พ. 66 ของ EIA รายงานอุปสงค์น้ำมันโลกปี 65 เพิ่มขึ้น 2.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 99.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปรับลดจากคาดการณ์ครั้งก่อน 7 หมื่นบาร์เรลต่อวัน) และคาดการณ์ปี 66 เพิ่มขึ้น 1.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 100.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปรับลดจากคาดการณ์ครั้งก่อน 1 หมื่นบาร์เรลต่อวัน)

• วันที่ 7 ก.พ. 66 ทางการตุรกีประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ท่าส่งมอบน้ำมัน Ceyhan (1 ล้านบาร์เรลลต่อวัน) บริเวณชายฝั่งทะเล Mediterranean เพื่อตรวจสอบด้านความปลอดภัย หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณตอนใต้ของตุรกีเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 66 อย่างไรก็ดี วันที่ 8 ก.พ. 66 การขนส่งน้ำมันดิบ Azeri ผ่านท่อ Baku-Tblisi-Ceyhan (BTC: 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) จากอาเซอร์ไบจานสู่ท่า Ceyhan กลับมาดำเนินการตามปกติ

>>ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
• รายงานฉบับเดือน ก.พ. 66 ของ EIA คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 66 เพิ่มขึ้น 0.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 12.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปี 67 เพิ่มขึ้น 0.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 12.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน

• วาณิชธนกิจ Goldman Sachs คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในปี 66 อยู่ที่ 92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ปรับลดจากคาดการณ์เดิม 6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) และปี 67 อยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ปรับลดจากคาดการณ์เดิม 5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) โดยชี้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมันชะลอตัว ขณะที่อุปทานรัสเซียไม่หายไปมากอย่างที่คาด