เกื้อกูลกันยามยาก จากใจคนไทยทุกส่วน ส่วนทางทุกข์หลากมุมโลก ปล้นสะดมเกลื่อนเมือง

คำกล่าว “น้ำใจไม่เคยเหือดแห้งหายไปจากคนไทย” คือความจริงซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากเหตุการณ์วิกฤตโควิด 19 เห็นถึงพลังทุกคนร่วมมือจนผ่านพ้นเหตุการณ์ร้าย เพียงหวังให้คราบน้ำตา ความสูญเสีย และความสิ้นหวัง ผันเปลี่ยนเป็นรอยยิ้มที่เสริมเติมพลังบวก สร้างความเข้มแข็งอย่างพร้อมต่อสู้ด้วยกัน

เพราะการมีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วงแรกได้ทวีเพิ่มอย่างรวดเร็วราวไฟลามทุ่ง ผลที่ตามมาคือ แทบทุกโรงพยาบาลมีเตียงไม่เพียงพอจะรับผู้ป่วย ทางออก ณ ตอนนั้นจึงเร่งสร้าง ‘โรงพยาบาลสนาม’ เป็นพื้นที่ดูแลผู้ป่วยระดับอาการสีเขียว (ผู้ป่วยไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่มาก (ไม่มีอาการโรคอื่นร่วม) เพื่อพักรักษาตัวแยกออกจากบ้าน เพื่อรับยารักษาอาการ ได้รับการดูแลจากแพทย์ พยาบาล และเพื่อไม่ให้อาการทวีความรุนแรงมากขึ้น

ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าจะท่วงทันเหตุ

นอกจากคณะแพทย์ - ทีมบัญชาการกองพลออกรบอันแข็งแกร่งแล้ว แต่การศึกจะไม่ประสบชัยชนะเช่นวันนี้เลย หากขาดกองกำลังหนุน 'โรงพยาบาลสนาม' ซึ่งดำเนินการโดยเอกชน หรือกลุ่มพลังคนจิตอาสาทั้งหลาย ที่ดาหน้าขับสู้กับโรคร้ายอย่างไม่กลัวภยันตราย บวกกับน้ำใจอันเหลือเฟือของชาวไทย ที่ร่วมช่วยกันคนละไม้คนละมือ โดยหากไร้ซึ่งโรงพยาบาลสนามทั้งหมดนี้ เราก็จินตนาการไม่ได้ว่าจะผ่านช่วงเวลาเลวร้ายนั้นมาอย่างไร

บรรดาคนดัง อาทิ คุณได๋ - ไดอาน่า จงจินตนาการ และคุณจ๊ะ - นงผณี มหาดไทย แห่งเพจเฟซบุ๊ก ‘เราต้องรอด’ กับ ‘องค์กรทำดี’ โดยมี คุณบุ๋ม - ปนัดดา วงศ์ผู้ดี นำทีมประสานหาเตียงแก่ ‘ผู้ป่วยรอเตียง’ ที่ยืนยันติดเชื้อ จัดหาออกซิเจนสำหรับผู้ป่วย จัดหารถพยาบาลระบบแรงดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ส่งเครื่องมือให้ทีมแพทย์ และอาหารให้ผู้ต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงการสร้างโรงพยาบาลสนาม ซึ่งช่วยรักษาชีวิตผู้คนนับเรือนหมื่น

หรือโครงการของคุณอาร์ต - พศุตม์ แย้มบาน ในนาม ‘รถพยาบาลจิตอาสา Stand by Ambulance & MSTT’ รับส่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่ประสานหาเตียงได้แล้ว แต่ไม่มีรถส่ง ประสานทำงานคู่ขนานกับ ‘โครงการแท็กซี่ฉุกเฉิน’ (Ambulance Taxi) รับจากบ้านส่งถึงโรงพยาบาล หรือฮอสพิเทลทุกแห่งทั่วราชอาณาจักร

กลุ่ม 'สายไหมต้องรอด' กลุ่ม 'เส้นด้าย' และกลุ่ม 'ไม่ได้เป็นหมอแต่เป็นห่วง' ที่นอกจากงานอาสาหาเตียง ส่งยา อาหาร ให้ผู้ติดเชื้อ (ผู้ขาดแคลน) แลัว ยังดูแลจนถึงกลุ่มไม่สะดวกทำการรักษาที่บ้าน หรือ Home Isolation อีกด้วย

กลุ่ม ‘พรรคพวกกัน’ กับ ‘แบ่งปันลมหายใจ’ นั้น ขอดูแลเรื่องจัดสรร แบ่งปันถังออกซิเจน เพื่อต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยระหว่างรอเตียง รอนำส่งโรงพยาบาล ก็ล้วนคนรวมตัวจากหลากอาชีพ ที่ไม่ต้องการถ้อยคำสรรเสริญใด

ที่สำคัญคนเหล่านี้ไม่เคยคิด ‘ต่อยอดบุญ’ แม้สลึงเฟื้องเดียว

วิธีการ ‘เติม’ ส่วน ‘ขาด’ ช่วยสนับสนุนของกิน ของใช้ สิ่งใดขาดแคลน ด้านคนนอกสายงานด้านสาธารณสุข เช่น ช่าง วิศวกร ก็เดินหน้าออกมาช่วยบำรุงรักษาเครื่องไม้เครื่องมือให้พร้อมรบอยู่ตลอด แถมส่วนหนึ่งเดินออกจากบ้านแบบผู้ปฏิบัติ 'เกษียณอายุ' แต่แค่ยังมีจิตอาสาในหัวใจ มาร่วมลงแรงลงพลังทำความดี

ด้วยหลักเพียง “เราคิดเสมอว่าเราได้ทำตัวให้มีคุณค่า ทำประโยชน์ให้กับองค์กร และประเทศชาติ ได้ช่วยประชาชนคนไทย เวลาที่เหนื่อยล้าหรือรู้สึกท้อ ก็จะคิดว่ายังมีอีกหลายคน หลายหน่วยงานที่เหนื่อยล้าไม่ต่างจากเรา”

ภาพคนออกปล้นสะดมร้านค้าเพื่อกักตุนอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค หรือแม้แต่ของใช้ฟุ่มเฟือย ปรากฏบนหน้าข่าว สื่อแทบค่อนโลก แต่ประเทศไทยกลับเกิดปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่า ‘ตู้ปันสุข’ คลังเผื่อแผ่ข้าวปลาอาหาร และขนมเด็กน้อย ที่ผู้รับซาบซึ้งทุกครั้งที่เปิดตู้หยิบของ

ความสำเร็จอันเกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้มาจากแรงผลักดัน หรือแรงสนับสนุนของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงอย่างเดียว หากเกิดจากพลังเล็ก ๆ ของจิตอาสาผู้ลงแรง ลงใจ ทุ่มเท ช่วยเหลือสังคมอย่างไม่หวังสิ่งใดตอบแทน จนพลังเล็ก ๆ กลายเป็นพลังสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ ซึ่งรับรองได้ว่า แม้อนาคตข้างหน้าจะเกิดวิกฤตเลวร้ายแสนสาหัสอีกสักกี่ครั้งกี่หน คนไทยก็จะร่วมมือฝ่าข้ามไปได้ทุก ๆ ครั้ง