Friday, 29 March 2024
ThaiSurvive

ทำไมประเทศไทย ถึงรอดจากภัยโควิด19?

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ในประเทศไทย จะคลี่คลายลงในระดับที่ทำให้คนไทยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และเปิดประเทศจนมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกไหลกลับคืนสู่ประเทศ ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้อย่างรวดเร็ว

แต่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมานี้ หากประเทศไทย ‘ยอมแพ้’ และไม่มีใครลุกขึ้นมาสู้ พวกเราคงไม่ได้มาอยู่ในสถานการณ์ที่ดีงามเฉกเช่นทุกวันนี้

หากประเทศไทย ไร้ผู้นำที่ชื่อ ‘พลเอกประยุทธ์’ และขาดซึ่ง ‘หมอ’ หลากยุทธ์ ผู้กลบเสียงเห่า ‘หมา’

หากเปรียบในทางพุทธศาสนาที่องค์พระสมณะพุทธโคดมเคยทรงตรัสไว้ว่า "ผู้ใดอยากพ้นทุกข์ทั้งปวง ให้ปฏิบัติตาม ‘มรรค 8’ หรือ ‘หนทางสู่ความดับทุกข์ทั้งแปดประการ’ นี้เถิด" 

เฉกเช่นเดียวกันกับ ‘สถานการณ์โควิด 19’ ที่วันนี้ได้คลี่คลายลง ก็ด้วยหนทางพ้นทุกข์ภัยทั้ง 8 เช่นกัน

สำหรับวันนี้ 1 ใน 8 ที่อยากจะชวนกลับไปนึกถึง ซึ่งทำให้ไทยพ้นทุกข์จากพิษภัยโควิด หรือจะบอกว่า ‘ไทยรอดได้อย่างไรนั้น’ คือ ‘วิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ’

นับแต่ข่าวแพร่ระบาดของ 'ไวรัสอู่ฮั่น' ซึ่งต่อมาคือ 'Corona Virus 2019' (โควิด-19) บนแผ่นดินสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ เมืองอู่ฮั่น กระเซ็นกระสายออกมาว่า เกิดการติดเชื้อจาก 'ค้างคาว' แพร่สู่มนุษย์ จากคนสู่คน จนลุกลามขยายกลายเป็นวงกว้าง และเริ่มระบาดไปยังอีกหลายประเทศ ข่าวนี้ก็สร้างความวิตกกังวลทั่วทั้งโลก รวมถึงบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างไทย

จากเดิมแค่วิตกกังวล กลายเป็นความประหวั่นพรั่นพรึงทันทีที่ประเทศไทยพบเชื้อครั้งแรก ตอนต้นเดือนมกราคม 2563 โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น โดยต่อมาอีกราวสองสัปดาห์ก็พบ 'ผู้ติดเชื้อชาวไทยคนแรก' คือ คนขับรถแท็กซี่วัยห้าสิบปี ผู้เป็นสารถีรับส่งหญิงชาวจีนคนนั้นนั่นเอง ท้ายที่สุดการแพร่เชื้อดังกล่าว คือต้นตอติดเชื้ออีกหลายพื้นที่ จนเกิดคลัสเตอร์จุดสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น สนามมวยลุมพินี ราชดำเนิน และชุมชนแรงงานมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร

บรรยากาศหวาดวิตก เดินสู่ความหวาดหวั่น ที่สุดไทยทั้งประเทศก็จำต้องพานพบกับความมืดมนอนธการอย่างยาวนานเกินกว่า 1,000 ราตรี ภายใต้กรงเล็บทะมึนชื่อ 'โควิด 19' เชื้อร้ายไร้ปรานีผู้ไม่เลือกชนชั้นวรรณะ

ขณะนั้น วิสัยทัศน์ของผู้นำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อเหตุการณ์ตรงหน้า ซึ่งเกิดพร้อมกันไล่เลียงจนครบทุกประเทศบนโลก โดยอดคิดไม่ได้ว่า หากเรามีผู้นำคนอื่นที่มิใช่ ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา' บ้านเมืองอาจมีสภาพไม่ต่างจากบราซิล, อินเดีย หรือสหรัฐอเมริกา ก็เป็นได้

แน่นอนว่าพลเอกประยุทธ์มิใช่อัศวินขี่ม้าขาว ควงปืนไล่ล่าเชื้อโรคจนกระเจิงหาย แต่สิ่งที่นายกรัฐมนตรีลงมือทำทันทีคือการมอบความไว้วางใจให้ 'หมอ' ขึ้นเป็นแม่ทัพสงครามต่อกรโรคระบาด โดยท่านเลือกนั่งบังคับบัญชาภาพรวมเพื่อตัดสินใจ หลังรับข้อมูลสาธารณสุขครบถ้วนทุกด้าน มาตรการมากมายหลายเรื่องถูกกลั่นจากสมองขุนพลคณะแพทย์ผู้อาสารบภายใต้นาม 'ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)' วันแล้ววันเล่า ทั้งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงแผนระยะยาว โดยมีชีวิตคนไทยกว่า 67 ล้านคนเป็นประกัน

แม้ช่วงแรกของศึกจะมีการสร้างวาทกรรมเพื่อลดความน่าเชื่อถือ เพียงหวังผลทางการเมือง และประโยชน์ทางธุรกิจ จากบางกลุ่ม แต่สุดท้ายคนไทยส่วนใหญ่ก็พร้อมใจปฏิบัติตามกฎควบคุมโรคของรัฐบาล ตั้งแต่มาตรการเคอร์ฟิว สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ จนถึงแนวคิด 'Work From Home'

‘การด้อยค่า’ ที่รัฐบาลไทย ‘เห็นค่า’ ใต้แผนการที่มีระบบ จนพาไทยรอด

จากมกราคม 2563 ถึงตุลาคม 2565 นับเป็น 2 ปี 9 เดือน ที่คนไทยต้องอดทนกับทุกความยากลำบากถาโถมเข้าหา ท่ามกลางสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 กว่า 30,000 ชีวิตต้องสูญเสียอย่างไม่หวนกลับ อีกนับแสนคนไม่สามารถดำเนินชีวิตเหมือนเดิมอีกต่อไป

ติดเชื้อ 670 ล้านคน เสียชีวิต 6.82 ล้านคน คือ ภาพสรุปรวมโลกปัจจุบัน

ความสูญเสียก็คือความสูญเสียอยู่วันยังค่ำ ไม่สามารถเปรียบเทียบทางตัวเลข สถิติใดใดได้ แต่ที่ประเทศไทยรอดมา แม้บอบช้ำสาหัส นอกเหนือไปจากวิสัยทัศน์ 'ผู้นำและคณะทำงาน' การตัดสินใจเร่งนำเข้าวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสจึงคือคำตอบที่ดีที่สุดเหมาะสมอย่างยิ่ง กับสถานการณ์เบื้องหน้า - แต่เหมือนเชื้อโรคมันจะนำเราหนึ่งก้าวเสมอ

กระทั่งเมื่อโลกตั้งตัวติด วัคซีนป้องกันชีวิตจึงบังเกิด - ช่วงสายวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2564 วัคซีนล็อตแรก 'ซิโนแวค' จำนวน 200,000 โดส ขนส่งจากกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางถึงประเทศไทย โดยวัคซีนล็อตนี้ คือผลจากการเจรจากับ บริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ซายน์ จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน (Sinovac Life Sciences Co.,Ltd., People’s Republic of China) ถึงมือรัฐบาลไทยอย่างเร่งด่วน

แต่แม้ 'ด่วน' เพียงใด คนไทยก็เริ่มได้รับวัคซีนตรงจุดพีคของโลกพอดี จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วกว่า 168 ล้านคน กับตัวเลขผู้เสียชีวิต 3.5 ล้านคนเศษ

รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา วางแผนฉีดวัคซีนโควิด 19 ระยะแรกเดือนมีนาคม - พฤษภาคม จำนวน 2 ล้านโดส โดยจะฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด, พื้นที่ควบคุม และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ทั้ง 18 จังหวัด โดยฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า อสม. เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย ประชาชนทั่วไปและแรงงานที่มีอายุ 18 - 59 ปี โดยมุ่งเน้นเฉพาะผู้มีโรคประจำตัว อย่างที่เรารับรู้ต่อมาว่าคือ 'กลุ่ม 608' นั่นเอง

เกื้อกูลกันยามยาก จากใจคนไทยทุกส่วน ส่วนทางทุกข์หลากมุมโลก ปล้นสะดมเกลื่อนเมือง

คำกล่าว “น้ำใจไม่เคยเหือดแห้งหายไปจากคนไทย” คือความจริงซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากเหตุการณ์วิกฤตโควิด 19 เห็นถึงพลังทุกคนร่วมมือจนผ่านพ้นเหตุการณ์ร้าย เพียงหวังให้คราบน้ำตา ความสูญเสีย และความสิ้นหวัง ผันเปลี่ยนเป็นรอยยิ้มที่เสริมเติมพลังบวก สร้างความเข้มแข็งอย่างพร้อมต่อสู้ด้วยกัน

เพราะการมีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วงแรกได้ทวีเพิ่มอย่างรวดเร็วราวไฟลามทุ่ง ผลที่ตามมาคือ แทบทุกโรงพยาบาลมีเตียงไม่เพียงพอจะรับผู้ป่วย ทางออก ณ ตอนนั้นจึงเร่งสร้าง ‘โรงพยาบาลสนาม’ เป็นพื้นที่ดูแลผู้ป่วยระดับอาการสีเขียว (ผู้ป่วยไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่มาก (ไม่มีอาการโรคอื่นร่วม) เพื่อพักรักษาตัวแยกออกจากบ้าน เพื่อรับยารักษาอาการ ได้รับการดูแลจากแพทย์ พยาบาล และเพื่อไม่ให้อาการทวีความรุนแรงมากขึ้น

ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าจะท่วงทันเหตุ

นอกจากคณะแพทย์ - ทีมบัญชาการกองพลออกรบอันแข็งแกร่งแล้ว แต่การศึกจะไม่ประสบชัยชนะเช่นวันนี้เลย หากขาดกองกำลังหนุน 'โรงพยาบาลสนาม' ซึ่งดำเนินการโดยเอกชน หรือกลุ่มพลังคนจิตอาสาทั้งหลาย ที่ดาหน้าขับสู้กับโรคร้ายอย่างไม่กลัวภยันตราย บวกกับน้ำใจอันเหลือเฟือของชาวไทย ที่ร่วมช่วยกันคนละไม้คนละมือ โดยหากไร้ซึ่งโรงพยาบาลสนามทั้งหมดนี้ เราก็จินตนาการไม่ได้ว่าจะผ่านช่วงเวลาเลวร้ายนั้นมาอย่างไร

บรรดาคนดัง อาทิ คุณได๋ - ไดอาน่า จงจินตนาการ และคุณจ๊ะ - นงผณี มหาดไทย แห่งเพจเฟซบุ๊ก ‘เราต้องรอด’ กับ ‘องค์กรทำดี’ โดยมี คุณบุ๋ม - ปนัดดา วงศ์ผู้ดี นำทีมประสานหาเตียงแก่ ‘ผู้ป่วยรอเตียง’ ที่ยืนยันติดเชื้อ จัดหาออกซิเจนสำหรับผู้ป่วย จัดหารถพยาบาลระบบแรงดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ส่งเครื่องมือให้ทีมแพทย์ และอาหารให้ผู้ต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงการสร้างโรงพยาบาลสนาม ซึ่งช่วยรักษาชีวิตผู้คนนับเรือนหมื่น

หรือโครงการของคุณอาร์ต - พศุตม์ แย้มบาน ในนาม ‘รถพยาบาลจิตอาสา Stand by Ambulance & MSTT’ รับส่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่ประสานหาเตียงได้แล้ว แต่ไม่มีรถส่ง ประสานทำงานคู่ขนานกับ ‘โครงการแท็กซี่ฉุกเฉิน’ (Ambulance Taxi) รับจากบ้านส่งถึงโรงพยาบาล หรือฮอสพิเทลทุกแห่งทั่วราชอาณาจักร

กลุ่ม 'สายไหมต้องรอด' กลุ่ม 'เส้นด้าย' และกลุ่ม 'ไม่ได้เป็นหมอแต่เป็นห่วง' ที่นอกจากงานอาสาหาเตียง ส่งยา อาหาร ให้ผู้ติดเชื้อ (ผู้ขาดแคลน) แลัว ยังดูแลจนถึงกลุ่มไม่สะดวกทำการรักษาที่บ้าน หรือ Home Isolation อีกด้วย

กลุ่ม ‘พรรคพวกกัน’ กับ ‘แบ่งปันลมหายใจ’ นั้น ขอดูแลเรื่องจัดสรร แบ่งปันถังออกซิเจน เพื่อต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยระหว่างรอเตียง รอนำส่งโรงพยาบาล ก็ล้วนคนรวมตัวจากหลากอาชีพ ที่ไม่ต้องการถ้อยคำสรรเสริญใด

ที่สำคัญคนเหล่านี้ไม่เคยคิด ‘ต่อยอดบุญ’ แม้สลึงเฟื้องเดียว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top