‘การด้อยค่า’ ที่รัฐบาลไทย ‘เห็นค่า’ ใต้แผนการที่มีระบบ จนพาไทยรอด

จากมกราคม 2563 ถึงตุลาคม 2565 นับเป็น 2 ปี 9 เดือน ที่คนไทยต้องอดทนกับทุกความยากลำบากถาโถมเข้าหา ท่ามกลางสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 กว่า 30,000 ชีวิตต้องสูญเสียอย่างไม่หวนกลับ อีกนับแสนคนไม่สามารถดำเนินชีวิตเหมือนเดิมอีกต่อไป

ติดเชื้อ 670 ล้านคน เสียชีวิต 6.82 ล้านคน คือ ภาพสรุปรวมโลกปัจจุบัน

ความสูญเสียก็คือความสูญเสียอยู่วันยังค่ำ ไม่สามารถเปรียบเทียบทางตัวเลข สถิติใดใดได้ แต่ที่ประเทศไทยรอดมา แม้บอบช้ำสาหัส นอกเหนือไปจากวิสัยทัศน์ 'ผู้นำและคณะทำงาน' การตัดสินใจเร่งนำเข้าวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสจึงคือคำตอบที่ดีที่สุดเหมาะสมอย่างยิ่ง กับสถานการณ์เบื้องหน้า - แต่เหมือนเชื้อโรคมันจะนำเราหนึ่งก้าวเสมอ

กระทั่งเมื่อโลกตั้งตัวติด วัคซีนป้องกันชีวิตจึงบังเกิด - ช่วงสายวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2564 วัคซีนล็อตแรก 'ซิโนแวค' จำนวน 200,000 โดส ขนส่งจากกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางถึงประเทศไทย โดยวัคซีนล็อตนี้ คือผลจากการเจรจากับ บริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ซายน์ จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน (Sinovac Life Sciences Co.,Ltd., People’s Republic of China) ถึงมือรัฐบาลไทยอย่างเร่งด่วน

แต่แม้ 'ด่วน' เพียงใด คนไทยก็เริ่มได้รับวัคซีนตรงจุดพีคของโลกพอดี จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วกว่า 168 ล้านคน กับตัวเลขผู้เสียชีวิต 3.5 ล้านคนเศษ

รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา วางแผนฉีดวัคซีนโควิด 19 ระยะแรกเดือนมีนาคม - พฤษภาคม จำนวน 2 ล้านโดส โดยจะฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด, พื้นที่ควบคุม และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ทั้ง 18 จังหวัด โดยฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า อสม. เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย ประชาชนทั่วไปและแรงงานที่มีอายุ 18 - 59 ปี โดยมุ่งเน้นเฉพาะผู้มีโรคประจำตัว อย่างที่เรารับรู้ต่อมาว่าคือ 'กลุ่ม 608' นั่นเอง

แต่คีย์เวิร์ดสำคัญอีกประการก็คือ 'วัคซีนทางเลือก' ต่อการพิชิตโรคระบาดครั้งประวัติศาสตร์นี้ เพราะคณะแพทย์ที่ปรึกษาฯ ลงความเห็นว่า ประชาชนคนไทยต้องรับวัคซีนอย่างถ้วนทั่วโดยเร็วที่สุด มิฉะนั้นอาจเพลี่ยงพล้ำต่อไวรัสร้าย การนำเข้าวัคซีนจากมวลประเทศมหามิตร ท่ามกลางเสียงด้อยค่าของชนกลุ่มน้อย จึงได้เกิดขึ้น และสัมฤทธิ์ผลบนปลายทาง ในระยะเวลาพอเหมาะพอดี กับวัคซีนชนิดใหม่ซึ่งเร่งเกิดขึ้นแข่งกับเชื้อโรค

อะไรคือ 'วัคซีนเสินเจิ้น' กับ 'วัคซีนเทพ' วันนี้เราก็รู้ ๆ กัน

วัคซีนทางเลือก คือ วัคซีนโควิด 19 ที่รัฐบาลอนุมัติให้โรงพยาบาล (เอกชน) เป็นผู้จัดซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม นอกเหนือจากวัคซีนซึ่งอยู่บนแผนงานจัดซื้อของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่หลากหลายมากขึ้น สัมฤทธิ์ผลบ้าง ตกหล่นบ้าง เวลาก็คือเครื่องพิสูจน์

พอเริ่มมีวัคซีน ก็ต้องมีแผนงานรองรับ โดยระยะที่ 1 ช่วงที่วัคซีนมีปริมาณจำกัด ต้อง หนึ่ง ลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 และสอง รักษาระบบสุขภาพของประเทศ ส่วนในระยะสอง (เมื่อมีวัคซีนมากขึ้น และเพียงพอ) ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการ หนึ่ง เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ สอง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากรและฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

กับคำถามที่ว่า "หากไร้แผนฉีดวัคซีนอันมีระบบที่ดีแล้ว เราจะรอดพ้นมายืนหยัดเช่นวันนี้ได้ไหม?" - ตอบเลยทันที "ไม่มีทาง!"