‘คำสาป-อาถรรพ์’ ของ ‘วังหน้า’ สมัยรัตนโกสินทร์ สู่ปัจฉิมบท ยกเลิก ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’

‘วังหน้า’ หรือ ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ เป็นชื่อสถานที่และตำแหน่งสำคัญของบ้านเมืองจนกระทั่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงยกเลิกตำแหน่งสำคัญนี้ เนื่องจากกรณีขัดแย้งและไม่เหมาะสมกับยุคสมัย เป็นเครื่องมือให้ฝรั่งชาตินักล่าอาณานิคมมาใช้ในการครอบงำและวุ่นวายในสยาม แต่กระนั้นเรื่องราวของ ‘วังหน้า’ ก็มีความน่าสนใจ ซึ่งผมจะขอนำมาเล่าสู่กันอ่านและผมขออนุญาตเล่าเรื่องราวเฉพาะ ‘วังหน้า’ ในสมัยรัตนโกสินทร์ดังนี้นะครับ 

“...ของเหล่านี้ กูอุตส่าห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นหนักหนา หวังจะอยู่ชมนานๆ ก็ไม่ได้ชม ของใหญ่ของโตของกูดีๆ ของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุน กูสร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครไม่ใช่ลูกกู เข้ามาเป็นเจ้าของครอบครองขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข...” คำสาปแช่งนี้เป็นคำเล่าลือว่าออกมาจากพระโอษฐ์ของ ‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ วังหน้าพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีนัยยะสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ มีพระนามเดิมว่า ‘บุญมา’ ประสูติแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยรับราชการอยู่ใน ‘กรมมหาดเล็ก’ ตำแหน่ง ‘นายสุจินดาหุ้มแพร’ เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก ทรงหนีภัยสงครามไปร่วมทัพกับ ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ ร่วมกอบกู้บ้านเมืองจนได้เอกราช พระองค์ขึ้นชื่อว่าเป็นทหารเอกและมีบารมีมาก แถมเป็นผู้ชักนำพี่ชายของตนคือ “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” ซึ่งขณะนั้นเป็นยกกระบัตรเมืองราชบุรี มาเข้าร่วมกองทัพจนได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ในกาลต่อมาได้ เรียกว่า ‘มีบารมีจนพี่ชายต้องเกรงใจ’

เมื่อได้รับการสถาปนาพระองค์ได้รับพระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ ขึ้นไปจนถึงคูเมือง เพื่อสร้างเป็น ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ และพระองค์ยังทรงขอพื้นที่บางส่วนของวัดมหาธาตุ มาผนวกเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังอีกด้วย ถ้าเทียบขนาด ‘วังหลวง’ กับ ‘วังหน้า’ ในตอนนั้นต้องบอกว่า ‘ใหญ่’ เกือบจะเท่ากัน แล้วคุณรู้ไหม ? ว่าทำไม ? วังหน้าถึงต้องอยู่หน้าวังหลวง ว่ากันว่าการวางตำแหน่งแบบนี้ยึดตามหลักพิชัยสงครามเมื่อไปออกศึก ที่จะแบ่งเป็นทัพหน้า ทัพหลวง โดยเมื่อข้าศึกมาประชิด ทัพหน้าจะเป็นด่านแรกที่ปะทะดังนั้นบทบาทของผู้ครองวังหน้าจึงยิ่งใหญ่และสำคัญมาก ๆ (เหมาะกับนักรบอย่าง ‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ มาก ๆ ) 

‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ ทรงสร้าง ‘พระบวรราชวัง’ นี้อย่างยิ่งใหญ่และประณีตบรรจง ด้วยหวังจะได้ทรงอยู่อย่างเป็นสุขในบั้นปลายพระชนม์ชีพ แต่หลังจากดำรงพระยศกรมพระราชวังบวรฯ ได้ 21 ปี ก็ด้วยประชวรพระโรคนิ่ว เล่ากันว่าทรงทั้งห่วงและหวงพระบวรราชวังที่โปรดเกล้า ฯ ให้สร้าง เล่ากันว่าในวันที่พระองค์ ทรงใกล้จะเสด็จสวรรคต ทรงใคร่อยากชมพระราชวังบวรฯ ให้สบายพระทัย จึงโปรดให้เชิญพระองค์ขึ้นเสลี่ยงบรรทมพิงพระเขนย เชิญเสด็จรอบพระราชมณเฑียร และได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานต่อรัชกาลที่ 1 ให้พระโอรสธิดาของพระองค์ได้ประทับอยู่ในวังหน้าต่อไป แต่ไม่ทราบคำขอนั้นเป็นอย่างไร จึงได้เกิดคำสาปแช่งที่เป็นเรื่องเล่าตามที่ผมได้กล่าวไว้ในข้างต้น 

‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ สวรรคตขณะพระชนมายุ 60 พรรษา ‘พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช’ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้า ฯ ตั้ง ‘สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร’ (กาลต่อมาคือ ‘พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย’) พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์ที่สอง

ครั้งนั้น ‘เจ้าคุณจอมแว่น พระสนมเอก’ ได้กราบฯ ทูลขอให้เชิญเสด็จฯ กรมพระราชวังบวรฯ พระองค์ใหม่ไปประทับ ณ พระบวรราชวังแทน แต่รัชกาลที่ 1 ไม่ทรงเห็นด้วย อาจเพราะทรงรำลึกถึงคำสาปแช่ง จึงมีพระราชดำรัสว่า “ไปอยู่บ้านช่องของเขาทำไม เขารักแต่ลูกเต้าของเขา เขาแช่งเขาชักไว้เป็นหนักเป็นหนา” จึงโปรดเกล้า ให้ประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม จนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระองค์เป็นกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์เดียวที่ไม่ได้เสด็จฯประทับอยู่ที่วังหน้า และเป็นเพียงพระองค์เดียวอีกเช่นกันที่ได้สืบราชบัลลังก์เป็นพระมหากษัตริย์คือ ‘พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย’ รัชกาลที่ 2 

‘พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย’ รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา ‘สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์’ เป็น ‘กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์’ และทรงมีพระราชดำริว่าควรย้ายไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล ด้วยเป็นพระราชวังสำหรับพระมหาอุปราช ซึ่งในช่วงรัชกาลที่ 2 นี้ บรรยากาศและสภาพการณ์ต่างๆ ระหว่าง ‘วังหลวง’ และ ‘วังหน้า’ เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะทั้งล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 และ วังหน้าพระองค์นี้ ทรงสนิทกันมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ วังหน้าเองก็เสด็จฯ เข้าวังหลวง เพื่อทรงปฏิบัติข้อราชการและเข้าเฝ้าฯ ไม่ได้ขาด ‘กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์’ ดำรงพระยศอยู่ 8 ปี ก็สวรรคตในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2360 โดยมีพระชนมายุเพียง 44 พรรษา รัชกาลที่ 2 ไม่ทรงสถาปนาผู้ใดขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้ในรัชสมัยของพระองค์อีก

‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ ว่างเว้นเจ้าของมา 7 ปี กระทั่ง ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2367 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ ‘กรมหมื่นศักดิพลเสพ’ (พระองค์เจ้าอรุโณทัย) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 และมีศักดิ์เป็นสมเด็จอา (เป็นอารุ่นเล็กที่อายุพอ ๆ กัน) บวรราชาภิเษกเป็น ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ’ ครองวังหน้าต่อ สำหรับคำสาปแช่งที่หวาดกลัวกันนั้น น่าจะไม่เป็นปัญหาต่อกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์นี้ ด้วยพระองค์ทรงอภิเษกกับ ‘พระองค์เจ้าดาราวดี’ พระราชธิดาใน ‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย แต่กระนั้นก็ทรงอยู่ในตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้เพียง 8 ปี ก็เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้เพียง 47 พรรษา และมิได้มีพระราชวงศ์พระองค์ใดเป็นกรมพระราชวังบวรฯ จนสิ้นรัชกาลที่ 3 

‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ’ ได้ทรงซ่อมแซมพระวิมานทั้ง 3 หลัง โดยมีการถือปูนเสริมไม้และทรงสร้างพระที่นั่งเป็นท้องพระโรงใหม่อีก 1 องค์ ถ่ายแบบอย่างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวัง ทรงขนานนามว่า ‘พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย’ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 

ครั้นในรัชสมัย ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช ‘เจ้าฟ้าจุฑามณีกรมขุนอิศเรศรังสรรค์’ เป็น ‘วังหน้า’ แต่แตกต่างด้วยการแก้เคล็ดก่อนตั้งด้วยว่า ‘กรมขุนอิศเรศรังสรรค์’ มี ‘พระชะตากล้า’ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เฉลิมพระเกียรติยศเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งและมี ‘พระราชพิธีบวรราชาภิเษก’ ขึ้นเป็น ‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’  (ซึ่งผมจะนำมาเล่าแยกในบทความลำดับต่อ ๆ ไปนะครับ) 

‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ทรงมีวิธีเลี่ยงคำสาปด้วยหลายวิธี แต่วิธีสำคัญคือ การโปรดให้พราหมณ์ทำพิธีฝังอาถรรพ์ใหม่ทุกป้อมทุกประตูรวม 80 หลัก (อันนี้ไม่ได้ฝังคนทั้งเป็นหรือทำพิธีบูชายัญอะไรในการฝังนะครับ) ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมณเฑียรพระที่นั่ง และพระตำหนักต่างๆ ขึ้นอีกมาก ซึ่งสมัยนี้ ‘วังหน้า’ ขยายตัวจนมีพื้นที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดครั้งใหญ่เกี่ยวกับพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในเชิงสถาปัตยกรรมของวังหน้า คือ ต้องสะท้อนพระเกียรติยศที่เสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน 

พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถมาก ทรงรอบรู้งานใน ด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น งานด้านกองทัพบก กองทัพเรือ ด้านต่างประเทศ วิชาช่างจักรกล และวิชาการปืนใหญ่ ทรงรอบรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีจนสามารถที่จะทรงเขียนโต้ตอบจดหมาย และสนทนาเป็นภาษาอังกฤษได้ และถ้าฝรั่งจะระบุอะไรลงไปในหนังสือรายงานหรือสนธิสัญญาต่าง ๆ ก็มักจะปรากฏคำกำกับว่า ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ คือ The First King ส่วน ‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ คือ The Second King 

แต่จะด้วยคำสาปหรืออะไรก็ตาม หลังจากพระราชพิธีบวรราชาภิเษกแล้ว พระองค์ก็เริ่มประชวรบ่อยครั้ง โดยหาสาเหตุของพระโรคไม่ได้ จนกระทั่งประชวรหนักด้วยวัณโรคและสวรรคต ‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ประทับ ณ พระบวรราชวัง 15 ปี พระชนมายุ 57 พรรษา ซึ่ง ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ก็ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งจนพ้นรัชกาล 

มาจนถึงรัชสมัยของ ‘พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 5 เมื่อบรมราชาภิเษกครั้งที่ 1 นั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา จึงทำให้อำนาจต่าง ๆ ไปอยู่ในมือของขุนนางผู้เรืองอำนาจในขณะนั้นคือ ‘สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์’ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น ‘ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์’ และในการตั้ง ‘วังหน้า’ ครั้งนี้ถือเป็นเรื่องแปลกที่สุด ที่เคยเกิดขึ้นในการตั้ง ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นคนตั้ง แต่คนตั้งกลับเป็นเป็นขุนนาง

‘สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์’ (ช่วง บุนนาค) รวบรัดแต่งตั้ง ‘พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ’ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน ‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ขึ้นเป็น ‘กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ’ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะท่านเจ้าคุณได้ผูกอำนาจไว้ที่ ‘วังหน้า’ และคานอำนาจ ‘วังหลวง’ มาตั้งแต่สมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 จนมาถึงรัชกาลที่ 5 หมากที่วางไว้ก็สัมฤทธิผล เพราะ ‘วังหลวง’ ขณะนั้นอยู่ในกำมือของท่านแล้ว ส่วน ‘วังหน้า’ ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับชาติมหาอำนาจตะวันตกอย่าง ‘อังกฤษ’ ก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของท่านเช่นกัน (พระปิ่นเกล้าฯ เคยจ้าง ‘ร้อยเอก โทมัส น็อกส์’ มาฝึกทหารของวังหน้า ซึ่งกาลต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นถึงกงสุลอังกฤษแห่งภูมิภาคนี้ ซึ่งผมเคยเขียนเล่าในบทความเรื่องของ ‘ชักศึกเข้าบ้าน’ และ ‘พระปรีชากลการ’) นี่คือชนวนแห่งความขัดแย้งของ ‘วังหน้า’ และ ‘วังหลวง’ ที่เกือบทำให้สยามต้องเสียเอกราช เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเพราะการลุแกอำนาจของขุนนางแท้ ๆ 

ความขัดแย้งนี้หลายคนเชื่อกันว่าเป็นอาถรรพ์ของ ‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ แต่กระนั้นความขัดแย้งนี้ก็จบลง ‘กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ’ อยู่ในตำแหน่ง15 ปี จึงทิวงคต เมื่อพระชนมายุเพียง 47 พรรษา ซึ่งว่ากันว่า ใครครอง ‘วังหน้า’ โดยไม่ได้มีเชื้อสายของ ‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ ก็จะมีอายุสั้น และมีแต่ความไม่สงบ เมื่อ ‘กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ’ ทิวงคต ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 จึงยกเลิกตำแหน่ง ‘วังหน้า’ แล้วตั้งตำแหน่ง ‘มกุฎราชกุมาร’ ขึ้นแทน เป็นอันสิ้นสุด ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ มาตั้งแต่บัดนั้น 


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager