Saturday, 27 April 2024
รัตนโกสินทร์

‘คำสาป-อาถรรพ์’ ของ ‘วังหน้า’ สมัยรัตนโกสินทร์ สู่ปัจฉิมบท ยกเลิก ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’

‘วังหน้า’ หรือ ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ เป็นชื่อสถานที่และตำแหน่งสำคัญของบ้านเมืองจนกระทั่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงยกเลิกตำแหน่งสำคัญนี้ เนื่องจากกรณีขัดแย้งและไม่เหมาะสมกับยุคสมัย เป็นเครื่องมือให้ฝรั่งชาตินักล่าอาณานิคมมาใช้ในการครอบงำและวุ่นวายในสยาม แต่กระนั้นเรื่องราวของ ‘วังหน้า’ ก็มีความน่าสนใจ ซึ่งผมจะขอนำมาเล่าสู่กันอ่านและผมขออนุญาตเล่าเรื่องราวเฉพาะ ‘วังหน้า’ ในสมัยรัตนโกสินทร์ดังนี้นะครับ 

“...ของเหล่านี้ กูอุตส่าห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นหนักหนา หวังจะอยู่ชมนานๆ ก็ไม่ได้ชม ของใหญ่ของโตของกูดีๆ ของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุน กูสร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครไม่ใช่ลูกกู เข้ามาเป็นเจ้าของครอบครองขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข...” คำสาปแช่งนี้เป็นคำเล่าลือว่าออกมาจากพระโอษฐ์ของ ‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ วังหน้าพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีนัยยะสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ มีพระนามเดิมว่า ‘บุญมา’ ประสูติแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยรับราชการอยู่ใน ‘กรมมหาดเล็ก’ ตำแหน่ง ‘นายสุจินดาหุ้มแพร’ เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก ทรงหนีภัยสงครามไปร่วมทัพกับ ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ ร่วมกอบกู้บ้านเมืองจนได้เอกราช พระองค์ขึ้นชื่อว่าเป็นทหารเอกและมีบารมีมาก แถมเป็นผู้ชักนำพี่ชายของตนคือ “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” ซึ่งขณะนั้นเป็นยกกระบัตรเมืองราชบุรี มาเข้าร่วมกองทัพจนได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ในกาลต่อมาได้ เรียกว่า ‘มีบารมีจนพี่ชายต้องเกรงใจ’

เมื่อได้รับการสถาปนาพระองค์ได้รับพระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ ขึ้นไปจนถึงคูเมือง เพื่อสร้างเป็น ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ และพระองค์ยังทรงขอพื้นที่บางส่วนของวัดมหาธาตุ มาผนวกเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังอีกด้วย ถ้าเทียบขนาด ‘วังหลวง’ กับ ‘วังหน้า’ ในตอนนั้นต้องบอกว่า ‘ใหญ่’ เกือบจะเท่ากัน แล้วคุณรู้ไหม ? ว่าทำไม ? วังหน้าถึงต้องอยู่หน้าวังหลวง ว่ากันว่าการวางตำแหน่งแบบนี้ยึดตามหลักพิชัยสงครามเมื่อไปออกศึก ที่จะแบ่งเป็นทัพหน้า ทัพหลวง โดยเมื่อข้าศึกมาประชิด ทัพหน้าจะเป็นด่านแรกที่ปะทะดังนั้นบทบาทของผู้ครองวังหน้าจึงยิ่งใหญ่และสำคัญมาก ๆ (เหมาะกับนักรบอย่าง ‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ มาก ๆ ) 

‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ ทรงสร้าง ‘พระบวรราชวัง’ นี้อย่างยิ่งใหญ่และประณีตบรรจง ด้วยหวังจะได้ทรงอยู่อย่างเป็นสุขในบั้นปลายพระชนม์ชีพ แต่หลังจากดำรงพระยศกรมพระราชวังบวรฯ ได้ 21 ปี ก็ด้วยประชวรพระโรคนิ่ว เล่ากันว่าทรงทั้งห่วงและหวงพระบวรราชวังที่โปรดเกล้า ฯ ให้สร้าง เล่ากันว่าในวันที่พระองค์ ทรงใกล้จะเสด็จสวรรคต ทรงใคร่อยากชมพระราชวังบวรฯ ให้สบายพระทัย จึงโปรดให้เชิญพระองค์ขึ้นเสลี่ยงบรรทมพิงพระเขนย เชิญเสด็จรอบพระราชมณเฑียร และได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานต่อรัชกาลที่ 1 ให้พระโอรสธิดาของพระองค์ได้ประทับอยู่ในวังหน้าต่อไป แต่ไม่ทราบคำขอนั้นเป็นอย่างไร จึงได้เกิดคำสาปแช่งที่เป็นเรื่องเล่าตามที่ผมได้กล่าวไว้ในข้างต้น 

‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ สวรรคตขณะพระชนมายุ 60 พรรษา ‘พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช’ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้า ฯ ตั้ง ‘สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร’ (กาลต่อมาคือ ‘พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย’) พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์ที่สอง

ครั้งนั้น ‘เจ้าคุณจอมแว่น พระสนมเอก’ ได้กราบฯ ทูลขอให้เชิญเสด็จฯ กรมพระราชวังบวรฯ พระองค์ใหม่ไปประทับ ณ พระบวรราชวังแทน แต่รัชกาลที่ 1 ไม่ทรงเห็นด้วย อาจเพราะทรงรำลึกถึงคำสาปแช่ง จึงมีพระราชดำรัสว่า “ไปอยู่บ้านช่องของเขาทำไม เขารักแต่ลูกเต้าของเขา เขาแช่งเขาชักไว้เป็นหนักเป็นหนา” จึงโปรดเกล้า ให้ประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม จนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระองค์เป็นกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์เดียวที่ไม่ได้เสด็จฯประทับอยู่ที่วังหน้า และเป็นเพียงพระองค์เดียวอีกเช่นกันที่ได้สืบราชบัลลังก์เป็นพระมหากษัตริย์คือ ‘พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย’ รัชกาลที่ 2 

‘พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย’ รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา ‘สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์’ เป็น ‘กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์’ และทรงมีพระราชดำริว่าควรย้ายไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล ด้วยเป็นพระราชวังสำหรับพระมหาอุปราช ซึ่งในช่วงรัชกาลที่ 2 นี้ บรรยากาศและสภาพการณ์ต่างๆ ระหว่าง ‘วังหลวง’ และ ‘วังหน้า’ เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะทั้งล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 และ วังหน้าพระองค์นี้ ทรงสนิทกันมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ วังหน้าเองก็เสด็จฯ เข้าวังหลวง เพื่อทรงปฏิบัติข้อราชการและเข้าเฝ้าฯ ไม่ได้ขาด ‘กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์’ ดำรงพระยศอยู่ 8 ปี ก็สวรรคตในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2360 โดยมีพระชนมายุเพียง 44 พรรษา รัชกาลที่ 2 ไม่ทรงสถาปนาผู้ใดขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้ในรัชสมัยของพระองค์อีก

‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ ว่างเว้นเจ้าของมา 7 ปี กระทั่ง ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2367 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ ‘กรมหมื่นศักดิพลเสพ’ (พระองค์เจ้าอรุโณทัย) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 และมีศักดิ์เป็นสมเด็จอา (เป็นอารุ่นเล็กที่อายุพอ ๆ กัน) บวรราชาภิเษกเป็น ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ’ ครองวังหน้าต่อ สำหรับคำสาปแช่งที่หวาดกลัวกันนั้น น่าจะไม่เป็นปัญหาต่อกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์นี้ ด้วยพระองค์ทรงอภิเษกกับ ‘พระองค์เจ้าดาราวดี’ พระราชธิดาใน ‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย แต่กระนั้นก็ทรงอยู่ในตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้เพียง 8 ปี ก็เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้เพียง 47 พรรษา และมิได้มีพระราชวงศ์พระองค์ใดเป็นกรมพระราชวังบวรฯ จนสิ้นรัชกาลที่ 3 

‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ’ ได้ทรงซ่อมแซมพระวิมานทั้ง 3 หลัง โดยมีการถือปูนเสริมไม้และทรงสร้างพระที่นั่งเป็นท้องพระโรงใหม่อีก 1 องค์ ถ่ายแบบอย่างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวัง ทรงขนานนามว่า ‘พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย’ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 

ครั้นในรัชสมัย ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช ‘เจ้าฟ้าจุฑามณีกรมขุนอิศเรศรังสรรค์’ เป็น ‘วังหน้า’ แต่แตกต่างด้วยการแก้เคล็ดก่อนตั้งด้วยว่า ‘กรมขุนอิศเรศรังสรรค์’ มี ‘พระชะตากล้า’ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เฉลิมพระเกียรติยศเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งและมี ‘พระราชพิธีบวรราชาภิเษก’ ขึ้นเป็น ‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’  (ซึ่งผมจะนำมาเล่าแยกในบทความลำดับต่อ ๆ ไปนะครับ) 

อาถรรพ์คำสาปแช่ง ของ 'วังหน้า' ในสมัยรัตนโกสินทร์ | THE STATES TIMES STORY EP.105

เรื่องราว อาถรรพ์ - คำสาปแช่ง ‘วังหน้า’ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อคำสาปแช่ง ออกมาจากพระโอษฐ์ของ ‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’

สู่การยกเลิก ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ 

 

ไปติดตามกันได้ใน THE STATES TIMES Story ใน EP. นี้ได้เลย 

 

รับชม THE STATES TIMES STORY ตอนอื่นๆ ได้ที่ : https://youtube.com/playlist?list=PL60bae1syuyLbSZPZIUmXvd6NiToeX5qW

 

🎥 ช่องทางรับชม

Facebook: THE STATES TIMES PODCAST

YouTube: THE STATES TIMES PODCAST

TikTok: THE STATES TIMES PODCAST 

พระแก้วมรกต ถูกอัญเชิญออกจากที่ประดิษฐานกี่ครั้ง ครั้นสมัยรัตนโกสินทร์ และด้วยเหตุอันใด

ในช่วงสักเดือนกว่า ๆ มานี้ ผมได้พูดคุยและสัมภาษณ์นักวิชาการหลายต่อหลายท่านในเรื่อง ‘เมืองมรดกโลกเมืองศรีเทพ’ จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ในระหว่างที่พูดคุยผมก็เกิดนึกถึงเรื่องอื่น ๆ ของจังหวัดเพชรบูรณ์ไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการตั้งนครบาลเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงใหม่เพื่อหนีสงคราม และเรื่องการขนทรัพย์สินอันมีค่าหลาย ๆ อย่างของชาติไปเตรียมไว้ ณ ถ้ำฤาษีสมบัติ ซึ่งทรัพย์สินมีค่านั้น มี ‘พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร’ หรือ ‘พระแก้วมรกต’ รวมอยู่ด้วย 

การอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ สถานที่ต่าง ๆ เคยเกิดขึ้นนับเนื่องเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว ผมไม่ขอเล่าซ้ำ แต่ถ้าจำเพาะมาในยุครัตนโกสินทร์ของเรานี้ ‘พระแก้วมรกต’ เคยถูกอัญเชิญออกจากที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ ‘วัดพระศรีรัตนศาสดาราม’ สักกี่ครั้ง? เคยถูกอัญเชิญออกจากพระบรมมหาราชวังสักกี่ครา? เรื่องนี้แหละ ที่ผมกำลังจะเล่าให้อ่านเพลิน ๆ กัน 

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ‘พระแก้วมรกต’ นั้นแกะสลักมาจากแท่งหินหยกทั้งก้อน ซึ่งไม่ได้มีแต่เพียงองค์พระที่เราเห็นเพียงอย่างเดียว แต่ด้านล่างขององค์พระที่ไม่ได้แกะสลักนั้น เป็นแท่งหินขนาดกว้างใกล้เคียงกับองค์พระคือประมาณ ๔๘ เซนติเมตร ลึกลงไปประมาณ ๒๙ เซนติเมตร สวมลงไปในฐานกลีบบัวคว่ำบัวหงายที่มีทองคำหุ้มอยู่ ถ้าจะอัญเชิญไปไหนก็ต้องเป็นการเฉพาะ เพราะไม่สามารถนำไปตั้งบนพื้นเรียบ ๆ ได้เลย 

การอัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ ออกจากที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถแต่ไม่ได้นำออกจากพระบรมมหาราชวังนั้นเกิดขึ้นทั้งสิ้น ๕ ครั้ง ดังนี้...

ครั้งแรก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มความสูงของบุษบกโดยนำพระแท่นเบญจาสามชั้นหุ้มด้วยทองคำ ที่เคยใช้ประดิษฐานรองรับพระบรมโกศ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ มาถวายเป็นพุทธบูชา เสริมหนุนองค์บุษบกที่ทรงพระแก้วมรกตให้สูงขึ้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ครั้งที่สอง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘พระพุทธปรางค์ปราสาท’ เพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกตในปีพ.ศ. ๒๓๙๘ ครั้นก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์มีพระบรมราชวินิจฉัยว่าปราสาทแห่งนี้มีขนาดเล็กไม่เพียงพอแก่การพระราชพิธีต่าง ๆ จึงนำไปประดิษฐานไว้ภายในพระอุโบสถตามเดิม พระพุทธปรางค์ปราสาทนี้คือ ‘ปราสาทพระเทพบิดร’ นั่นเอง 

ครั้งที่สาม ในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ คือในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ เกิดไฟไหม้พระพุทธปรางค์ปราสาทลุกลามไฟโหม เกรงไฟจะไหม้พระอุโบสถวัดพระแก้วไปด้วย จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ พระมหามณเฑียร ชั่วคราว 

ครั้งที่สี่ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในโอกาสครบ ๑๕๐ ปีแห่งการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ในปีพ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นครั้งที่ ๓ ตามรอบการบูรณะคือ ๕๐ ปี จะบูรณะใหญ่ ๑ ครั้ง จึงได้มีการอัญเชิญพระแก้วมรกตออกจากที่ประดิษฐานและทำการถ่ายภาพองค์พระแก้วมรกตเป็นครั้งแรก 

ครั้งที่ห้า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ในคราวบูรณะวัดพระแก้วครบ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ มาแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นการบูรณะซ่อมแซมโครงสร้างบุษบก ซึ่งทรุดตามพื้นอุโบสถจึงต้องอัญเชิญองค์พระแก้วมรกตลงจากบุษบก โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแม่กองบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ในครั้งนั้น 

ส่วนการอัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ ออกจากที่ประดิษฐานสู่ภายนอกนั้นมีสองเหตุการณ์ที่พอจะเล่าให้อ่านกันได้ ดังนี้...

เหตุการณ์แรก เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๖๓ ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ บ้านเมืองของเราได้เกิด “โรคห่า”ระบาด ผู้คนล้มตายไปกว่า ๓๐,๐๐๐ คน วัดต่างๆ มีซากศพของผู้ป่วยโรคห่าทับถมเหมือนกองฟืน ถนนเงียบไร้คนเดิน แม่น้ำก็ไม่สามารถดื่มกินเนื่องจากปนเปื้อน เพราะสมัยนั้นยังไม่รู้วิธีป้องกันหรือกำจัดโรคอย่างเป็นรูปธรรม 

รัชกาลที่ ๒ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบ ‘พระราชพิธีอาพาธพินาศ’ เพื่อปลอบประโลมจิตใจราษฎรและเป็นการปัดรังควานแก่พระนคร ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘ห่า’ คือผีร้ายที่ทำให้เกิดโรคระบาด ซึ่งพิธีดังกล่าวประกอบด้วย การยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืนยันฟ้าสาง การอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุธาตุออกแห่ไปรอบพระนคร พระภิกษุทรงสมณศักดิ์ร่วมเจริญพระพุทธมนต์ โปรยทราย ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ทั้งทางบกและทางเรือ ในหลวงรัชกาลที่ ๒ ทรงรักษาศีล ทรงไถ่ชีวิตสัตว์ ทรงปล่อยนักโทษ ห้ามประชาชนฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและให้อยู่แต่ในบ้าน ลดการติดต่อ เว้นระยะห่าง จนเชื้อลดลงและหายไปในที่สุด 

เหตุการณ์ที่สอง ซึ่งเล่ากันว่าเกิดขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ ‘พระแก้วมรกต’ ไม่ได้ถูกอัญเชิญออกจากที่ประดิษฐานโดยพระมหากษัตริย์ แต่ถูกอัญเชิญตามคำสั่งลับของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งต้องการย้ายเมืองหลวงไปยังนครบาลเพชรบูรณ์เพื่อหนีสงคราม 

คำสั่งลับ ‘ปฏิบัติการทองคำ’ ระบุให้ ขนทรัพย์สินของชาติ ทองคำ และ ‘พระแก้วมรกต’ เพื่อหนีสงคราม ปฏิบัติการนี้ไม่มีการบันทึกหรือออกข่าวเป็นทางการ แต่กลับมีพบเห็นเหตุการณ์และบันทึกเรื่องราวที่สามารถปะติดปะต่อกันเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่การขนทรัพย์สินออกจากหัวลำโพงโดยทางรถไฟ จนกระทั่งไปถึงเพชรบูรณ์จึงต่อรถ และขนขึ้นเขาโดยเท้า ไปยัง ถ้ำฤาษี ต.บุ่งน้ำเต้า อ.หล่มสัก โดยอัญเชิญพระแก้วมรกต ใส่ลังไม้สักเดินทอง ขนาดกว้าง ๑ เมตร ยาว ๑.๕๐ เมตร 

ส่วนการอัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ กลับกรุงเทพฯ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยเป็นเรื่องเล่าจากความทรงจำของ ‘พระอุดมญาณโมลี’ (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) ซึ่งท่านได้รับพระบัญชาจาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ให้ไปเป็นสักขีพยานอัญเชิญพระแก้วมรกตจากถ้ำแห่งหนึ่งที่เมืองเพชรบูรณ์กลับไปยังกรุงเทพมหานคร โดยท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า...

“…การอัญเชิญพระแก้วมรกตในครั้งนี้มีทรัพย์สินอย่างอื่นด้วย คือ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ และสมบัติอื่น ๆ อันมีค่าของชาติ โดยมีพิธีการอัญเชิญ มีทหารยืนเข้าแถวเป็นระเบียบ ตั้งแถวเป็นแนวยาวรอรับ มีนายทหาร มีทหารฝรั่งต่างชาติด้วย และมีทหารผิวดำคล้าย ๆ ทหารจากแอฟริการ่วมในพิธีด้วย โดยการอัญเชิญกลับในครั้งนั้น บรรทุกเดินทางโดยขบวนรถยนต์ของทางการทหารกลับกรุงเทพฯ ซึ่งหลวงพ่อก็ไม่ได้กลับพร้อมขบวนรถนั้น โดยในระหว่างนั้นหลวงพ่อได้ไปพักที่วัดมหาธาตุ ในตัวเมืองเพชรบูรณ์ พักอยู่เป็นเวลาประมาณ ๗ วัน…” 

แม้ว่าหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรของเหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่ได้มีบันทึกอยู่อย่างเป็นทางการ มีเพียงหนังสือแจ้งราชการทางทหารของ พันเอก หาญ อุดมสรยุทธ์ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพื้นที่ จากพยานแวดล้อมที่เป็นชาวบ้าน ตอกย้ำด้วยคำบอกเล่าของพระเถระสายวิปัสสนากรรมฐานหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ก็น่าจะช่วยอนุมานเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้พอสังเขป 

แต่อย่างไรก็ดี เราอาจจะต้องให้ความเป็นธรรมในเหตุการณ์ครั้งหลังสุด เพราะถือว่าเป็นเพียงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์กระซิบ ที่ยังคงต้องหาหลักฐานประกอบให้เกิดความเชื่อมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อความกระจ่างชัดสมบูรณ์มากขึ้นต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top