‘นักวิชาการ’ วิจารณ์ยับ!! ปม ‘ช็อปปิงงานวิจัย’ พบบางรายมีชื่อในงานกว่า 40 ฉบับภายใน 1 ปี

นักวิชาการดังร่วมวิจารณ์สนั่น ปมพบนักวิชาการในต่างประเทศจ่ายเงินเพื่อซื้องานวิจัยก่อนจะยัดชื่อตัวเองเข้าไปด้วยโดยไม่ได้ทำจริง พบบางราย 1 ปี มีชื่อในงานวิจัยกว่า 40 ฉบับ เรียกร้องให้มีการตรวจสอบและจัดการขั้นเด็ดขาด

(9 ม.ค. 66) ได้เกิดประเด็นดรามาในวงการนักวิชาการ หลังมีประเด็นที่กำลังถูกถกเถียงกันอยู่ในเรื่องที่เกี่ยวกับนักวิชาการไทยในต่างประเทศรายหนึ่งได้ออกมาแฉว่ามีการซื้อขายออนไลน์เพื่อให้ได้ใส่ชื่อตัวเองเป็นผู้แต่งงานวิจัยโดยไม่ต้องทำจริง และเลือกได้ว่าอยากให้มีชื่อตัวเองอยู่ในงานไหน ซึ่งงานวิจัยที่มีผู้แต่งหลายคนจะเรียงชื่อตามลำดับความสำคัญและการมีส่วนร่วม ถ้าอยู่ลำดับแรกก็แพงหน่อย ลำดับถัดมาก็ราคาลดหลั่นลงไป

โดยเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุ

"ธุรกิจที่น่ากลัวที่สุดของสังคมวิจัยคือการที่นักวิจัยไป shopping งานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำ เช่น ไปอ่านงานที่คิดว่าอยากมีชื่อตัวเองใน paper นั้น ๆ แล้วใช้เงินไปซื้อตำแหน่งของการเป็นผู้แต่ง หรือผู้นิพนธ์ ในงานวิจัย ชื่อแรกก็จะแพงหน่อย ชื่อกลาง ๆ ก็จะถูกหน่อย เมื่อได้จำนวนผู้แต่งครบแล้ว งานวิจัยผี ๆ นี้ก็ส่งไปตีพิมพ์โดยคนที่จ่ายเงินเป็นผู้แต่งก็จะไปสามารถ claim ผลงานทางวิชาการ หรือไปใช้ขอทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อถอนทุนคืนได้ งานวิจัยที่ออกมาจะมีผู้แต่งแบบหลากหลายสถาบัน หลายประเทศที่ไม่เคยเห็นหน้า หรือรู้จักกันเลย พฤติกรรมแบบนี้ไม่แตกต่างจากการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในวงการราชการเลย ที่เสียใจคือ เห็นชื่อนักวิจัยของไทยในงานแบบนี้ด้วย"

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการอีกมากมายเช่น รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า “มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนหนึ่งไปตีพิมพ์ในเรื่องของวัสดุนาโนเป็นชื่อที่หนึ่งโดยจ่ายค่าตีพิมพ์ไป 30,000 บาท โดยที่สายงานอยู่เทคนิคการแพทย์ ไม่ใช่วัสดุศาสตร์ แล้วนำบทความที่ตีพิมพ์นั้นมาเบิกกับมหาวิทยาลัยจำนวน 120,000 บาท เรื่องนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต้องสืบสวนสอบสวนครับ เพราะตอนนี้มีเว็บไซต์ที่ขายการเอาชื่อไปแปะในวารสารวิชาการ กำลังเป็นประเด็นอยู่ #CHES ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ อ.อ๊อด ในฐานะ เลขาธิการ”

รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า “ถ้าเข้าไปเสิร์ชชื่ออาจารย์ มช. ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ในขณะนี้ ดูประวัติการตีพิมพ์บทความภาษาอังกฤษใน academia edu และ loop.frontiersin.org เราจะพบเรื่องที่น่าประหลาดใจยิ่งขึ้นไปอีก เพราะชื่อของเขาที่ปรากฏร่วมกับคนอื่นในวารสารต่างๆนั้น ไม่ได้มีแค่บทความข้ามศาสตร์เกี่ยวกับวิศวกรรม ที่ไม่ใช่ field ของเขาเท่านั้น แต่ยังมีบทความเกี่ยวกับเกษตร cryptocurrency เศรษฐศาสตร์การเงิน บางบทความก็เป็นการวิจัยในรัสเซีย ในอินโดนีเซีย ในโลกมุสลิม ฯลฯ นี่แสดงว่าทำมานานแล้ว และน่าแปลกใจว่าไม่มีอับอาย แต่มีการโหลดบทความมาโชว์กันใน academia edu เลยทีเดียว ที่สำคัญคือ เราจะไม่พบบทความภาษาไทยเกี่ยวกับเกษตร วิศวกรรม การเงิน คริปโตเคอร์เรนซี รัสเซีย อินโดนีเซีย ที่อาจารย์ท่านนี้มีชื่อเขียนร่วมกับคนอื่น ๆ ปรากฏในวารสารใด ๆ ในภาษาไทยแม้แต่ชิ้นเดียว

อยากรู้จริง ๆ ว่าผู้บริหาร มช.จะจัดการอย่างไรกับเรื่องแบบนี้ หรือว่าไม่สนใจ สักแต่จะเอา ranking โดยไม่สนใจว่าทุกวันนี้ มีอาจารย์ที่ไร้ยางอายประเภทนี้ ที่หากินด้วยการเอาเงินมหาวิทยาลัย ไปจ่ายซื้อ 'ที่' ในบทความที่ตัวเองไม่ได้เขียน เมื่อได้ตีพิมพ์ก็มาขอเงินรางวัลที่สูงกว่า จนมีผลงานตีพิมพ์เกินครึ่งร้อยภายในไม่กี่ปี ลองคูณด้วยแสนต่อชิ้น ก็จะรู้ว่าร่ำรวยกันขนาดไหน และก็มีวารสารประเภทนี้ในต่างประเทศที่รู้จักความด้อยพัฒนาแบบมหา’ลัยในไทย (และที่อื่น) เป็นอย่างดี ถึงได้หากินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยทั้งหลาย ไม่ทราบว่าว่าอย่างไร?”

นิภา คาสึยะ เตชะวิทยโยธิน (นักวิชาการไทยในต่างประเทศ) ก็ได้ออกมาเปิดเผยอีกว่า พบนักวิจัยรุ่นใหม่แค่ปีนี้ปีเดียวน้องมีผลงานวิจัยตีพิมพ์กว่า 40 ฉบับ เฉลี่ยแล้ว 9 วันออก 1 เปเปอร์ พร้อมกับเจอว่ามีเครือข่ายนักวิจัยทั้งในและนอกประเทศที่น่าสนใจมาก ๆ บางคนเป็นถึงอดีตผู้บริหารบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยชื่อดัง


ที่มา: https://mgronline.com/onlinesection/detail/9660000002222