Sunday, 19 May 2024
การวิจัย

‘นักวิชาการ’ วิจารณ์ยับ!! ปม ‘ช็อปปิงงานวิจัย’ พบบางรายมีชื่อในงานกว่า 40 ฉบับภายใน 1 ปี

นักวิชาการดังร่วมวิจารณ์สนั่น ปมพบนักวิชาการในต่างประเทศจ่ายเงินเพื่อซื้องานวิจัยก่อนจะยัดชื่อตัวเองเข้าไปด้วยโดยไม่ได้ทำจริง พบบางราย 1 ปี มีชื่อในงานวิจัยกว่า 40 ฉบับ เรียกร้องให้มีการตรวจสอบและจัดการขั้นเด็ดขาด

(9 ม.ค. 66) ได้เกิดประเด็นดรามาในวงการนักวิชาการ หลังมีประเด็นที่กำลังถูกถกเถียงกันอยู่ในเรื่องที่เกี่ยวกับนักวิชาการไทยในต่างประเทศรายหนึ่งได้ออกมาแฉว่ามีการซื้อขายออนไลน์เพื่อให้ได้ใส่ชื่อตัวเองเป็นผู้แต่งงานวิจัยโดยไม่ต้องทำจริง และเลือกได้ว่าอยากให้มีชื่อตัวเองอยู่ในงานไหน ซึ่งงานวิจัยที่มีผู้แต่งหลายคนจะเรียงชื่อตามลำดับความสำคัญและการมีส่วนร่วม ถ้าอยู่ลำดับแรกก็แพงหน่อย ลำดับถัดมาก็ราคาลดหลั่นลงไป

โดยเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุ

"ธุรกิจที่น่ากลัวที่สุดของสังคมวิจัยคือการที่นักวิจัยไป shopping งานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำ เช่น ไปอ่านงานที่คิดว่าอยากมีชื่อตัวเองใน paper นั้น ๆ แล้วใช้เงินไปซื้อตำแหน่งของการเป็นผู้แต่ง หรือผู้นิพนธ์ ในงานวิจัย ชื่อแรกก็จะแพงหน่อย ชื่อกลาง ๆ ก็จะถูกหน่อย เมื่อได้จำนวนผู้แต่งครบแล้ว งานวิจัยผี ๆ นี้ก็ส่งไปตีพิมพ์โดยคนที่จ่ายเงินเป็นผู้แต่งก็จะไปสามารถ claim ผลงานทางวิชาการ หรือไปใช้ขอทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อถอนทุนคืนได้ งานวิจัยที่ออกมาจะมีผู้แต่งแบบหลากหลายสถาบัน หลายประเทศที่ไม่เคยเห็นหน้า หรือรู้จักกันเลย พฤติกรรมแบบนี้ไม่แตกต่างจากการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในวงการราชการเลย ที่เสียใจคือ เห็นชื่อนักวิจัยของไทยในงานแบบนี้ด้วย"

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการอีกมากมายเช่น รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า “มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนหนึ่งไปตีพิมพ์ในเรื่องของวัสดุนาโนเป็นชื่อที่หนึ่งโดยจ่ายค่าตีพิมพ์ไป 30,000 บาท โดยที่สายงานอยู่เทคนิคการแพทย์ ไม่ใช่วัสดุศาสตร์ แล้วนำบทความที่ตีพิมพ์นั้นมาเบิกกับมหาวิทยาลัยจำนวน 120,000 บาท เรื่องนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต้องสืบสวนสอบสวนครับ เพราะตอนนี้มีเว็บไซต์ที่ขายการเอาชื่อไปแปะในวารสารวิชาการ กำลังเป็นประเด็นอยู่ #CHES ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ อ.อ๊อด ในฐานะ เลขาธิการ”

การปูทางสู่ความเข้าใจในสมองมนุษย์อันซับซ้อน ผ่านแผนที่ ‘เซลล์สมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม’ ฉบับสมบูรณ์

(14 ธ.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, นครลอสแอนเจลิส รายงานว่า สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) เผยว่า ทีมนักวิจัยนานาชาติได้สร้างแผนที่เซลล์ของสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ฉบับสมบูรณ์เป็นครั้งแรก

โดยแผนที่เซลล์ดังกล่าวเป็นแผนที่เซลล์สมองของ ‘หนู’ ซึ่งเผยให้เห็นชนิด ตำแหน่ง และข้อมูลโมเลกุลของเซลล์มากกว่า 32 ล้านเซลล์ พร้อมให้ข้อมูลการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์เหล่านี้

สถาบันฯ ระบุว่า หนูเป็นแบบจำลองการทดลองของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดในการวิจัยทางประสาทวิทยาศาสตร์ และแผนที่เซลล์นี้ได้ปูทางสู่การทำความเข้าใจสมองของมนุษย์มากขึ้น อีกทั้งวางรากฐานสำหรับการพัฒนาวิธีการรักษาแบบตรงจุดรุ่นใหม่สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตและระบบประสาทเกี่ยวกับสมอง

อนึ่ง การค้นพบนี้ถูกเผยแพร่เมื่อวันพุธ (13 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ในชุดบทความ 10 ฉบับของวารสารเนเจอร์ (Nature)

‘ดร.โจชัว กอร์ดอน’ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า แผนที่เซลล์สมองของหนูดังกล่าวไขความกระจ่างเรื่องเครือข่ายที่สลับซับซ้อนของเซลล์สมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยส่งมอบรายละเอียดที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจในการทำงานของสมองมนุษย์และโรคต่างๆ

ไทยนั่งเจ้าภาพ Asia-Pacific Advance Network (APAN) ครั้งที่ 57 เวทีแห่งการแลกเปลี่ยนข้อมูล 'เครือข่ายการวิจัย-การศึกษาในเอเชียแปซิฟิก'

ประเทศไทย เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครือข่ายการวิจัยและการศึกษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ APAN ครั้งที่ 57 ระหว่างวันที่ 29 มกราคม -  2 กุมภาพันธ์ 2567 คาดจะมีผู้เข้าร่วมประชุมราว 350 คน จาก 19 ประเทศสมาชิก

โดยสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมกับสมาคมเครือข่ายไทยเพื่อการศึกษาวิจัย (ThaiREN) เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ Asia-Pacific Advance Network (APAN) ครั้งที่ 57 (57th APAN Meeting) ในระหว่างวันที่ 29 มกราคม -  2 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพมหานคร 

สำหรับ Asia-Pacific Advanced Network (APAN) เป็นองค์กรที่มีจุดมุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกันและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครือข่ายการวิจัยและการศึกษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีสมาชิก 38 หน่วยงาน จาก 19 ประเทศทั่วโลก เป็นเครือข่ายความร่วมมือในการใช้ระบบสื่อสารเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อนำไปพัฒนาการศึกษาและวิจัยของแต่ละประเทศ 

นอกจากนี้ ยังเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศของเครือข่ายการวิจัยและการศึกษาแห่งชาติ (NRENs) ทั่วภูมิภาค ครอบคลุมประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และประเทศสมาชิกสามารถติดต่อสื่อสารให้บริการการเชื่อมต่อเครือข่ายความเร็วสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาและนักวิจัยรุ่นเยาว์ใน APAN และชุมชนที่เกี่ยวข้องนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีเครือข่าย (Network technology), วิศวกรรมเครือข่าย (Network engineering), การวัดเครือข่าย (Network measurement), เทคโนโลยีแอปพลิเคชัน (Application technology), เทคโนโลยีการสื่อสาร (Communication technology), สถาปัตยกรรมเครือข่าย (Network architecture) ความเป็นสากลและการแปลเป็นภาษาท้องถิ่น เป็นต้น

ทั้งนี้ การประชุม APAN จะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ขณะที่การประชุมครั้งที่ 57 (57th APAN Meeting) ทางคณะกรรมการ APAN เห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการระหว่างประเทศของกลุ่มสมาชิกเครือข่าย ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการประชุม โดยในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด 'Empowering Global Network Alliance for Climate Resilience' ระหว่างวันที่ 29 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ จะมีผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการฯ จำนวน 350 คน ประกอบด้วย ผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างประเทศ 100 คน ผู้เข้าร่วมประชุมจากมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน 150 คน และผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นสมาชิก APAN 100 คน 

โดยตลอดระยะเวลา 5 วันของการประชุมดังกล่าว จะเป็นเวทีในการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักวิจัยไทย ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประสบการณ์ต่างๆ กับนักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาและวิจัยของประเทศในอนาคต อีกทั้ง จะช่วยให้นักวิจัยได้เพิ่มพูนความรู้และทักษะ เพื่อนำไปพัฒนาการศึกษาและวิจัยของหน่วยงาน เนื่องจากกิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมไม่เพียงแต่แบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอันมีค่าของตนเท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาเทคโนโลยีเครือข่ายร่วมกันและสำรวจโซลูชันเชิงสร้างสรรค์ที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการของเครือข่ายการวิจัยและการศึกษาอีกด้วย 

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.apan57.apan.net และ Facebook Page : APAN Thailand


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top