สภาเด็กฯ ยื่นหนังสือให้ กทม. ขอมีส่วนร่วมปรับปรุงงบประมาณ พร้อมปรับแนวประชาสัมพันธ์กิจกรรมให้เด็กรู้ทั่วถึง

สภาเด็กฯ ยื่นหนังสือปฏิรูปเด็กกทม. เผยอยากมีส่วนร่วมปรับปรุงงบประมาณ และปรับโครงสร้างการประชาสัมพันธ์ใหม่

(4 ม.ค. 66) สิบเอกดุษฎี ถิรธนกุล ประธานสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้แทนจากสภาเด็กเยาวชนระดับเขต ได้เข้ายื่นหนังสือกับตัวแทนสำนักงานเลขานุการผู้ว่า กรุงเทพมหานคร ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ในประเด็นเรื่องการนัดหมายหารือ ยื่นข้อเสนอ และแถลงข่าวเกี่ยวกับการปฏิรูปสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร 

ดุษฎี กล่าวว่า วันนี้เรามายื่นหนังสือเพื่อที่จะเข้าพบกับท่านผู้ว่าฯ เพื่อจะมานั่งพูดคุยหารือแล้วยื่นข้อเสนอ รวมถึงนัดแถลงข่าวร่วมกันในวันที่ 11 ม.ค. ที่จะถึงนี้ เราคาดหวังว่าผู้ว่าฯ จะตอบรับกลับมา ซึ่งเราอยากได้รับคําตอบกลับมาว่าข้อเสนอของเราที่รวบรวมมาทั้งปีจะเป็นอย่างไร ซึ่งพวกเราได้สัมผัสจากประสบการณ์ตรง และพวกเราได้มีการพูดคุยกับเพื่อนเด็กและเยาวชนภายในพื้นที่ จากผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ผ่านมาตลอดช่วงหนึ่งปี เช่น โครงการนิวเจนคลับ, โครงการเวิร์กช็อป และก็ในส่วนที่เป็นสภาเด็กและเยาวชน กรุงเทพมหานคร จากนั้นจึงนำข้อสรุปมารวมกันปรับปรุงข้อเสนอ รวมทั้งได้ศึกษา งานวิจัยของศูนย์นโยบายด้านเด็กและครอบครัว พวกเราก็รวมตัวกันคิดข้อเสนอนี้ออกมา แบ่งออกไปสามหมวดหมู่ นั่นก็คือเรื่องของกระบวนการการสร้างการมีส่วนร่วม ให้เด็กเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สองก็คือเรื่องของการปฏิรูปงบประมาณ และสามก็คือในส่วนของการปฏิรูปอํานาจและบทบาทในการบริหารจัดการนโยบายสาธารณะ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน มีอยู่ด้วยกันประมาณ 10 กว่าข้อ ก็จะปรับปรุงข้อเสนอไปเรื่อย ๆ 

ดุษฎี ยังเผยอีกว่าได้พูดคุยกับทุกคนที่เข้ามาร่วมทีม จากแคมเปญที่จะผลักดันในเรื่องของการแก้กฎหมาย การพูดคุยกับกรุงเทพมหานครอาจจะไม่ใช่สิ่งที่แก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด ดังนั้นแล้วต้องค่อยๆ ไปทีละอย่าง ซึ่งวันที่ 11 ม.ค.นี้เราจะมาคุยกับผู้ว่าฯ เพื่อหาทางออกร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร กับสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ว่าจะสร้างการมีส่วนรวมให้เด็กและเยาวชน ได้เข้าไปมีบทบาทกับเมืองของเราได้อย่างไร

ในด้านรายละเอียดปัญหาที่พบเจอ กล่าวว่าสํานักงานเขต ทํางานร่วมกันกรุงเทพฯ แล้วก็สภาเด็ก แต่สํานักงานเขต เวลามีประชาสัมพันธ์อะไร มักจะประชาสัมพันธ์โดยวิธีการทางราชการ ที่เด็กเข้าถึงไม่ได้ ดังนั้นแล้วเราต้องมาคุยกันว่ารูปแบบไหนที่สมควรจะใช้ประชาสัมพันธ์กับเด็ก อย่างการแปะประชาสัมพันธ์ประกาศตามสํานักงานเขต เด็กเข้าถึงไม่ได้แน่นอน และการส่งหนังสือไปยังโรงเรียนให้ส่งผู้แทนเด็กมาเข้าร่วม เด็กที่รับรู้การมีอยู่ของประชาสัมพันธ์ มักจะเป็นเด็กเฉพาะกลุ่มที่อยู่กับอาจารย์เท่านั้น เด็กนอกสถานศึกษา เด็กนอกระบบการศึกษาที่เขาไม่ได้อยู่กับอาจารย์ ก็จะไม่ได้รับทราบเนื้อหาเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์นี้

“เพิ่มเติมอีกข้อหนึ่งก็คือ อย่างงบประมาณที่มีอยู่ มีเจ้าหน้าที่สํานักงานเขต ที่เป็นผู้มีอํานาจในการกําหนดได้ว่า งบประมาณจะถูกเอาไปใช้ทําอะไร หรือแม้กระทั่งจะผ่านไม่ผ่าน ผมก็จะปรับปรุงในข้อนี้ด้วย เพราะเด็กเขาอยากจะรู้และกำหนดงบประมาณด้วย เนื่องจากงบส่วนนี้มันเป็นงบสําหรับเด็ก ดังนั้นเราก็ต้องทําความเข้าใจเรื่องนี้ร่วมกับกทม. ใหม่” ดุษฎีกล่าวทิ้งท้าย


เรื่อง: วายุ เอี่ยมรัมย์ Content Editor