‘บิ๊กตู่’ ร่วมงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีนักเรียนไทย-ญี่ปุ่น แนะต้องต่อยอดขยายผลการสอนวิทยาศาสตร์ไปทุกจังหวัด

‘นายกฯ’ เปิดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีนักเรียนไทย-ญี่ปุ่น ระบุ ต้องต่อยอดขยายผลการสอนวิทยาศาสตร์ ไปทุกจังหวัด ย้ำ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนเสริมพัฒนาการศึกษา สู่ปัญญาประดิษฐ์ AI ระบุตนเองต้องโหลดแอปพลิเคชันสปาใจ เพื่อวัดสภาพอารมณ์ ไม่ให้คิดลบ แต่รอยยิ้มคนไทยเยียวยาได้ ด้าน นักเรียนชาย ม.5 ให้กำลังใจนายกฯ ดูแลสุขภาพ 

(21 ธ.ค. 65) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และคณะ ออกเดินทางด้วยเครื่องบิน Superjet ของกองทัพอากาศที่กองบิน 6 แห่งที่ 2 ไปยังสนามบินแม่ฟ้าหลวง เพื่อตรวจราชการจังหวัดเชียงราย 

โดยทันทีที่เดินทางถึงสนามบิน ได้มีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา รอให้การต้อนรับ พร้อม กลุ่มสมาคมแม่บ้านตำรวจ จ.เชียงราย ที่ได้นำดอกกุหลาบแดงมามอบให้นายกและคณะซึ่งนายกรัฐมนตรีแสดงความขอบใจพร้อมระบุว่ากุหลาบแดงแทนใจ

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น Thailand-Japan Student ICT Fair 2022 (TJ-SIF2022) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 ธันวาคม 2565 โดยมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.), คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.), นายโอบะ ยูอิจิ รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, ผู้บริหาร ครู นักเรียน จากกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย, สถาบันการศึกษาที่เน้นการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำ (Super Science High School) จากประเทศญี่ปุ่น และสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วม

โดยในพิธีเปิด นายกฯ รับชมหุ่นยนต์ ลักษณะคล้ายสุนัข ที่แสดงความเคารพ สร้างเสียงหัวเราะให้กับนายกฯ และคณะรัฐมนตรี  

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ชมการนำเสนอโครงงานแบบปากเปล่าเรื่อง “Psychological Advice System from Analysis of Emotional Tendency using Thai Text and NPL” ซึ่งเป็นเว็บแอปพลิเคชันให้คำแนะนำการจัดการอารมณ์ในเบื้องต้นด้วยเทคนิคการประมวลผลภาษาธรรมชาติ สร้างขึ้นโดยอาศัยหลักการให้คำปรึกษาและรับฟังปัญหาของผู้ใช้งาน เพื่อลดระดับความเครียดและรักษาสุขภาพจิต ผลงานของนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยเชียงราย และ การนำเสนอโครงงานเรื่อง “Air Environment Observation and Control System” จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับอากาศและทางเดินหายใจ ส่งผลให้การควบคุมสภาพอากาศภายในห้องพักเป็นสิ่งสำคัญ ทางผู้จัดทำจึงคิดค้นระบบตรวจสภาพอากาศผ่าน Microcontroller เพื่อควบคุมสภาพอากาศในห้องให้มีความเหมาะสมและมีการถ่ายเทอากาศได้อย่างอัตโนมัติ ผลงานของนักเรียน National Institute of Technology (KOSEN), Fukushima College 

ซึ่งนายกฯ ได้มอบโล่ให้แก่นักเรียนที่นำเสนอโครงงาน จากนั้นได้เยี่ยมชมการแข่งขัน Thailand – Japan Game Programming Hackathon (TJ-GPH 2022) ของนักเรียน, เยี่ยมชมนิทรรศการโครงงานแบบโปสเตอร์ของนักเรียน จำนวน 15 ผลงาน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า งานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น เป็นกิจกรรมจากความร่วมมือทางวิชาการของกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (รร.จ.ภ.) กับ กลุ่มโรงเรียนในโครงการ Super Science High Schools และสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความสามารถทางด้านวิชาการและศักยภาพในด้านการสร้างและพัฒนานวัตกรรม ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงสะท้อนคุณภาพการจัดการศึกษาของครูและนักเรียนทั้ง 2 ประเทศอย่างดียิ่ง และผลงานของนักเรียนยังเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ 

นายกฯ ขอบคุณความสัมพันธ์กับประเทศญี่ปุ่นที่มีมายาวนาน ความระบบเปิดย้อนกลับไปเรียนหนังสือใหม่ที่มีการเปิดกว้างมีการเปิดเวที เปิดกระบวนการวิสัยทัศน์ให้ได้แสดงออกในสิ่งที่ตนเองชอบถนัด จะต้องเปิดโลกการศึกษาให้กว้างขึ้นคิดให้เป็นคิดมีหลักคิดมีกระบวนการคิดแล้วนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการโดยเฉพาะความต้องการแรงงานจำนวนมากในเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ต้องมีความรู้ ทำงานกับหุ่นยนต์เครื่องมือเครื่องจักรหุ่นยนต์ได้ในอนาคต ซึ่งรัฐบาลมีการขับเคลื่อนได้นโยบายกลุ่มเป้าหมายอุตสาหกรรมเป้าหมายต้องการแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ที่มีขีดความสามารถตรงความต้องการของประเทศและผู้ประกอบการธุรกิจดังนั้นจึงจะต้องพัฒนาโดยเฉพาะจะต้องศึกษาหาความรู้แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยากแต่ประเทศไทยได้พัฒนาตามลำดับแต่จำเป็นจะต้องเร่ง  ในขณะที่รัฐบาลต้องพุ่งเป้าเจาะการศึกษา และจะต้องศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกันเพราะการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ในอนาคตจะประสบภาวะสังคมผู้สูงวัยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงดังนั้นจะต้องรับมือกับสิ่งเหล่านี้

นายกฯ ยังเล่าย้อนถึงอดีตว่าชอบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์  ซึ่งวิทยาศาสตร์ก็ต้องมีการพัฒนาที่ก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ดิจิทัลใช้ ai ทั้งหมดส่วนตัวดีใจที่ได้เห็นเยาวชนเด็กๆ แสดงออกอย่างมั่นใจว่าสามารถทำได้ จึงอยากให้เป็นจุดเริ่มต้นส่งต่อไปยังโรงเรียนต่างๆ แม้แต่ละโรงเรียนจะมีขีดความสามารถแตกต่างกันก็ต้องหาสิ่งกระตุ้นครูนักเรียนได้คิดและร่วมกันหาทางออกในการที่จะปรับปรุงการเรียนการสอน แม้จะทำทั้งหมดในเวลาเดียวกันไม่ได้ แต่จะต้องสร้างการเรียนรู้ไปยังโรงเรียนอื่นๆด้วยเพื่อเตรียมความพร้อมไว้โดยรัฐบาลก็จะเติมสิ่งเหล่านี้ลงไปให้  

นายกฯ เปิดเผยว่าทุกคนมีพลังอยู่ในตัวอยู่แล้วเพียงแต่ว่าจะดึงออกมาใช้อย่างไร เพราะทุกคนมีมุ่งหมายตามวัยและพัฒนาการ

นายกฯ สนใจแอปพลิเคชันสปาใจ ซึ่งเป็นแอปฯ ที่ทางโรงเรียน จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยเชียงราย คิดค้นขึ้น ซึ่งเป็นการให้คำปรึกษา ด้านความคิด เพื่อตนเองจะไม่หงุดหงิดหรือปวดหัวทั้งวัน โดยคิดว่าตนเองต้องทำสปาใจหากวัดตนเองต้องเกิน 100 แน่ เนื่องจากงานเยอะ แต่จะทำอย่างไรไม่ส่งพลังลบออกมาทำลายตนเอง จึงต้องหารอยยิ้มของทุกคน ซึ่งก็มีความสุขจากการลงพื้นที่พัทลุงสงขลา ก็เป็นมุมหนึ่งของคนไทยที่ประสบภัยน้ำท่วมและจำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนาทุกจังหวัด โดยทุกจังหวัดจะต้องร่วมมือร่วมใจกันเดินหน้าพัฒนาจังหวัดเพราะประเทศไทยเป็นของทุกคน ดังนั้นจึงต้องรักษาไว้ทำให้ดีขึ้น ด้วยการเป็นคนดีที่มีคุณค่า มีแกนหลักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

นายกฯ ยังเยี่ยมชมนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีของนักเรียนกว่า 120 โครงการ อาทิ สิ่งประดิษฐ์บำบัดน้ำเสียอัจฉริยะระหว่างเยี่ยมชม นิทรรศการมีนักเรียนชาย ม.5 ได้ให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีในการดูแลรักษาสุขภาพตนเองและพักผ่อนเพราะเห็นเดินสายลงพื้นที่ 

โดยนายกรัฐมนตรีตอบกลับนักเรียนชายดังกล่าวว่า ขอบคุณในกำลังใจและยืนยันว่าต้องแก้ปัญหาอีกหลายอย่างเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเทศ พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนักเรียนศึกษาการเขียนโปรแกรมแอปพลิเคชั่น และเกม

ด้านนางสาวตรีนุช กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทย และสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สถานเอกอัคราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (MEXT) ญี่ปุ่น และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) ที่ได้ริเริ่มความร่วมมือทางวิชาการตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางด้านไอซีทีของนักเรียน รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์จัดการเรียนรู้ของครู 

“โครงการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นับเป็นวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของรัฐบาล ในการขยายโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคและเพิ่มจำนวนผู้มีความสามารถพิเศษในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งผลงานที่ได้เห็นในงาน TJ-SIF2022 นี้ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า รร.จ.ภ. ทั้ง 12 แห่ง เป็น Good Practice ที่ดีต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ซึ่งความสำเร็จเป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจน คือ เราสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างประเทศ และจะส่งผลให้นักเรียนมีความมั่นใจกล้าคิดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ และพร้อมก้าวสู่เวทีโลก อีกทั้งความร่วมมือนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ที่มีมายาวนานกว่า 135 ปีด้วย 

ซึ่งความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 

1. มีโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนที่สามารถรองรับต่อการเรียนรู้ 
2. มีครูและบุคลากรที่มีคุณภาพและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 
และ 3. มีภาคีเครือข่ายที่ดี ทำให้รับการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ดิฉันจะผลักดันการขยายผลการดำเนินงานของ รร.จ.ภ. ไปยังสถานศึกษาอื่นๆ ในสังกัด ศธ. ต่อไป” นางสาวตรีนุช กล่าว

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวเสริมว่า โครงการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยนี้ สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2553 ให้ ศธ. ดำเนินโครงการพัฒนา รร.จ.ภ.ให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยมีโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นต้นแบบ จนสิ้นสุดโครงการในปี 2561 และ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2564 ครม. มีมติให้ขยาย รร.จ.ภ.เพิ่มอีก 6 แห่ง จากเดิม 12 แห่ง รวมเป็น 18 แห่ง ครอบคลุมทุกพื้นที่เขตตรวจราชการ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้สนับสนุนการพัฒนากำลังที่มีศักยภาพสูงด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีมติครม.เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2561 อนุมัติโครงการทุนการศึกษาสำหรับนักเรียน จ.ภ.ไปศึกษาต่อที่สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 24 ทุน และต่อมาได้อนุมัติทุนเพิ่มอีกจำนวน 76 ทุน ภายการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น รวมทั้งหมด 6 รุ่น โดยปัจจุบันมีนักเรียนทุนรุ่นที่ 1 - 5 ที่สำเร็จการศึกษาจาก รร.จ.ภ.และกำลังศึกษาต่อที่สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 73 คน ซึ่งมีนักเรียนทุนมากกว่าสิบคนได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยทั้งด้านผลการศึกษาที่ยอดเยี่ยมและผลงานรางวัลจากการแข่งขันในเวทีต่าง ๆ นอกจากนี้ รร.จ.ภ.ยังมีภารกิจในการบริการวิชาการให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ในเขตพื้นที่บริการและเป็นศูนย์พัฒนาขยายผลองค์ความรู้ด้านการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคต่าง ๆ ด้วยส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในวงกว้างของประเทศไทย