โจทย์หิน ‘อีวีไทย’ เมื่อรถยนต์ไฟฟ้ามาไว แต่ ‘ค่าไฟ-ตึกสูง’ ยังไม่สมฐานะ ‘พลังงานหลัก’

จากกระแสการตอบรับ รถยนต์ไฟฟ้าอีวี ที่กำลังมาแรง เห็นได้ชัดจากยอดจองที่ถล่มทลายของสุดยอดรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง เทสลา ที่มาเปิดตัวในไทยอย่างเต็มรูปแบบ หรือแม้กระทั่งยอดจองรถยนต์ไฟฟ้า ATTO3 จากค่าย BYD ที่มาเปิดตัวแค่รุ่นเดียว แต่โกยยอดจองไปร่วม 3 พันคันในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป และยอดรวมกว่าหมื่นคันจนต้องหยุดรับจองรถชั่วคราวไปแล้วนั้น สะท้อนให้เห็นว่าแรงกระเพื่อมของรถยนต์ไฟฟ้ากำลังค่อย ๆ เขย่าตลาดรถยนต์ในเมืองไทยแบบน่าดูชม

อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้าอีวีนั้นต้องเดินกำลังด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ฉะนั้นพลังงานที่รถต้องการก็คือ พลังงานไฟฟ้า มาใช้ขับเคลื่อน ซึ่งปัญหาที่ตามมาก็คือ จำนวนจุดสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมหรืออาคารสูงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 

ผลวิจัยจาก เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) สำรวจไว้ว่า มีแค่ 3% ของโครงการคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลเท่านั้น ที่มีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่คอนโดมิเนียมประมาณ 74% ที่มีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า มีจุดที่สามารถรองรับการชาร์จได้เพียง 1 หรือ 2 คันพร้อมกันเท่านั้น หรือโดยรวมแล้วจะเท่ากับมีพื้นที่สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 400 คันต่อโครงการคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

กลับกันในต่างประเทศ เช่น จีน บรรดาหัวเมืองใหญ่หลายเมืองได้ออกกฎหมายบังคับให้อาคารใหม่ติดตั้งจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากร ขณะที่ฮ่องกงก็กำลังสนับสนุนการอัปเกรดอาคารปัจจุบันโดยให้เงินทุนสูงถึง 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อพื้นที่จอดรถเพื่อการติดตั้งโครงสร้างที่รองรับจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) สำหรับที่จอดรถ 140,000 แห่งภายในปีพ.ศ. 2571 คิดเป็นมูลค่ารวม 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในอาคารหรือคอนโดมิเนียมนั้น ‘ไม่ได้ถูกอย่างที่คิด’ เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่มากกว่า 50% ของโครงการคอนโดมิเนียมที่คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยคือ 10 บาทต่อกิโลวัตต์ ซึ่งมากกว่า 2 เท่าของค่าไฟฟ้าสูงสุดที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กำหนดที่ 4.7 บาทต่อหน่วย ทำให้ผู้บริโภคที่คิดจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดค่าน้ำมัน จำเป็นต้องกลับไปทบทวนการตัดสินใจอีกครั้ง เพราะการเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าในคอนโดส่วนใหญ่จำเป็นต้องเสียค่าชาร์จไฟฟ้าที่เทียบเท่ากับการเติมน้ำมันเครื่องยนต์สันดาปและไฮบริด 

จากตัวแปรที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หากประเทศไทยจะก้าวไปสู่สังคมรถยนต์ไฟฟ้าได้แบบยั่งยืนในอนาคต เราก็ควรจะต้องปรับใช้กฎระเบียบ เพื่อกำหนดให้อาคารใหม่ติดตั้งแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และดูแลให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราคาค่าไฟ เพื่อให้แน่ใจว่าการเติบโตของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะดำเนินต่อไปตามที่คาดไว้ในแผนพัฒนา


เรื่อง : กันย์ ฉันทภิญญา Content Manager