ทำไมไทยต้องนำเข้าน้ำมัน? ทั้งที่ผลิตน้ำมันได้

รู้ไหม? ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตน้ำมัน แล้วไม่พอต่อการใช้งานของคนในประเทศ

ราคาน้ำมันที่มีการผันผวนตลอดเวลา ไม่ว่าจะเนื่องด้วยเหตุผลใดก็ตาม ย่อมส่งผลต่อความไม่พอใจของประชาชนมาตลอด และเมื่อไม่พึงพอใจก็จะเกิดการเปรียบเทียบ ในวิกฤติราคาน้ำมันทุก ๆ ครั้ง ดังที่จะเห็นจนคุ้นตา คือการที่มักมีบางกลุ่ม เปรียบเทียบราคาพลังงานไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะมาเลเซีย

เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีกรณีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ที่ลงทุนเดินทางไปถึงมาเลเซียเพื่อเติมน้ำมันที่นั่น ก่อนจะเปรียบเทียบราคาน้ำมันของไทยกับมาเลเซียลงสื่อโซเชียล ส่งผลให้รัฐบาลมาเลเซียสั่งการให้มีการตรวจสอบผู้มาขอรับบริการว่าเป็นพลเมืองมาเลเซียหรือไม่ เนื่องจากราคาน้ำมันของมาเลเซีย ได้รับการชดเชยราคาโดยตรงด้วยภาษีของคนมาเลเซีย

แต่หากมองย้อนกลับไปที่ประเทศลาว จะเห็นว่าประเทศลาวนั้น มีราคาน้ำมันที่สูงกว่าไทยตลอด เนื่องจากว่าลาวนั้น ไม่มีแหล่งเชื้อเพลิงของตนเอง ราคาน้ำมันในลาว จึงเป็นราคาที่เพิ่มค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากประเทศไทยเข้าไปร่วมด้วย เป็นสาเหตุให้มีราคาที่สูงกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง

นั่นทำให้คนลาวบางส่วน เข้ามาเติมน้ำมันในประเทศไทย และประเทศไทยก็สั่งห้ามเช่นเดียวกับมาเลเซีย

หันกลับมาพิจารณาถึงที่มาของราคาน้ำมัน ประเทศที่มีความสามารถในการขุดเจาะน้ำมันได้เอง และกลั่นน้ำมันได้เอง จะมีราคาน้ำมันสำหรับการใช้ในประเทศที่มีราคาถูกลงมากกว่าประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานทั้งหมด

แต่จะถูกมากน้อยเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ประเทศนั้น ๆ มีปริมาณน้ำมันสำรอง และกำลังการผลิตมากเพียงพอที่จะตอบสนองของคนทั้งประเทศหรือไม่

จากข้อมูลของ Worldometer ระบุว่า ใน พ.ศ. 2559 มาเลเซียมีปริมาณน้ำมันสำรอง 3,600,000,000 บาร์เรล มากเป็นอันดับที่ 28 ของโลก ในขณะที่ประเทศไทยมีเพียง 404,890,000 บาร์เรล อยู่อันดับที่ 50 อีกทั้งมีปริมาณน้อยกว่ามาเลเซียถึง 8.9 เท่า

นอกจากนี้ กำลังการผลิตของมาเลเซียนั้น เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ สำหรับประชากรเพียงแค่ 32 ล้านคน มีน้ำมันเหลือใช้มากถึงวันละ 54,168 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ไทย ทั้ง ๆ ที่ผลิตได้น้อยกว่า แต่กลับมีอัตราการบริโภคที่สูงกว่า จนทำให้กำลังการผลิตต่อวัน น้อยกว่าอัตราการบริโภคมากถึง 770,671 บาร์เรลต่อวันเลยทีเดียว

แต่ถึงแม้มาเลเซียจะมีกำลังการผลิตน้ำมันที่ล้นเหลือ แต่มาเลเซียก็ยังมีการนำเข้าน้ำมันมากถึง 197,489 บาร์เรลต่อวัน และส่งออกน้ำมัน 390,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ราคาน้ำมันในมาเลเซียเองก็ผันผวนตามราคาน้ำมันของโลกด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ส่งผลกระทบมากเท่ากับประเทศไทยนั่นเอง

จากรายงานของ Worldometer ระบุว่า มาเลเซียมีน้ำมันสำรอง 0.2% เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำมันสำรองของโลก (1,650,585,140,000 บาร์เรล อ้างอิงข้อมูล พ.ศ. 2559) ในขณะที่ประเทศไทย มีปริมาณน้ำมันสำรองเพียง 0.02345% เพียงเท่านั้น

การที่จะนำประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับมาเลเซีย ในเรื่องราคาน้ำมัน และความพยายามที่จะผลักดันให้ประเทศไทย ดำเนินนโยบายราคาน้ำมันแบบมาเลเซียนั้น จึงไม่ต่างอะไรกับการขี่ช้างจับตั๊กแตนเลย

การดำเนินนโยบายการบริหารราคาและกำลังการผลิตน้ำมันของประเทศอย่างเหมาะสม เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าการกดราคาน้ำมันเพียงอย่างเดียว

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือประเทศเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลกถึง 299,953,000,000 บาร์เรล ซึ่งมากกว่ามาเลเซียถึง 83 เท่า แต่เนื่องด้วยรัฐบาลเวเนซุเอลาเลือกที่จะผูกขาดการผลิตน้ำมันของประเทศเอาไว้กับรัฐวิสาหกิจเพียงรายเดียว เพื่อส่งเสริมนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาอ่อนแอ จนเป็นเหตุให้เศรษฐกิจของประเทศพังทลายลง ในเวลาต่อมา

ในขณะที่ประเทศไทย กลุ่มบริษัทพลังงานไทย อาทิเช่น ปตท. และบางจาก มีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาพลังงานของประเทศ มีการลงทุนในธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่นโรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายส่งเสริมพัฒนาพลังงานของกระทรวงพลังงาน ทำให้โครงสร้างพลังงานของประเทศไทยนั้น มีความมั่นคงแข็งแรง

โดยสรุปแล้ว ประเทศไทยของเรา ไม่ได้มีแหล่งน้ำมันที่มากเพียงพอต่อความต้องการของประเทศเลย การนำเข้าน้ำมัน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การที่ประเทศไทยของเรา มีกลุ่มธุรกิจพลังงานสัญชาติไทย ทำให้เรามีศักยภาพในการพัฒนาประสิทธิภาพของพลังงานได้ด้วยตัวเอง มีองค์ความรู้เป็นของตัวเอง

พวกเราทุกคนจึงควรจะเข้าใจในสภาพความเป็นจริงด้านพลังงานของประเทศ เพื่อการวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลและกลุ่มบริษัทพลังงานอย่างมีเหตุผล เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างถูกต้อง ตามระบอบประชาธิปไตย


ที่มา : The Structure

อ้างอิง:
[1] Worldometer, “Thailand Oil (2016)” https://www.worldometers.info/oil/thailand-oil/
[2] Worldometer, “Malaysia Oil (2016)” https://www.worldometers.info/oil/malaysia-oil/
[3] Worldometer, “Oil Reserves by Country (2016)” https://www.worldometers.info/oil/oil-reserves-by-country/
[4] The Infographics Show, 2021, “What Actually Went Wrong With Venezuela” https://www.youtube.com/watch?v=Olw5Gaugpl8&t=283s