แฉ!! 18 กลโกงมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ ที่ตำรวจอยากให้รู้ไว้ ก่อนตกเป็นเหยื่อ

ก่อนอื่นต้องยอมรับเลยนะครับ ว่าเทคโนโลยีด้านการสื่อสารในยุคปัจจุบัน ที่สะดวกรวดเร็วทันใจ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่เป็นภัยซ่อนอยู่ โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลส่วนตัวทุกอย่างผูกติดไว้กับโลกออนไลน์ ซึ่งต้องยอมรับนะครับ ว่าโลกออนไลน์ ยิ่งเร็ว ยิ่งสะดวก ก็ยิ่งอันตราย 

เพราะไม่แค่เทคโนโลยีเท่านั้นที่พัฒนาต่อเนื่อง แต่เหล่ามิจฉาชีพเอง ก็สรรหากลยุทธ์ กรรมวิธี และหลากหลายกลโกง เพื่อใช้หลอกลวงให้เราให้ตกเป็นเหยื่อได้โดยง่าย หากรู้ไม่เท่าทันอยู่เช่นกัน

ด้วยความห่วงใยจากใจทีมงาน THE STATES TIMES เราจึงได้รวบรวมข้อมูล ‘18 กลโกงมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์’ จากศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ หรือ Police Cyber Taskforce (PCT Police) มาไว้ให้รู้เท่าทันทั้งหมด 18 รูปแบบ ดังนี้...

1. หลอกขายสินค้าออนไลน์ แต่พอเราสั่งไปแล้ว กลับไม่ได้รับสินค้า หรือ สินค้าที่ส่งมานั้น ไม่ตรงปกตามที่ลงรูป หรือ โฆษณา

2. หลอกให้สมัครงานเสริมออนไลน์ โดยชักชวน ให้ข้อมูลการทำงานออนไลน์ที่ไม่มีจริง จากการอ้างถึง Platform ที่มีความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็น TikTok / YouTube / Lazada หรืออื่น ๆ โดยหลอกลวงให้กดไลก์ กดแชร์ เพื่อเพิ่มยอดวิว แกล้งให้รับออเดอร์ ทำสต๊อกสินค้า จากนั้นหลอกลวงโดยใช้วิธีเรียกเก็บเงินค้ำประกันการทำงานจากเหยื่อ

3. เงินกู้ออนไลน์ ที่ไม่มีจริง หรือเงินกู้ทิพย์นั้นเอง โดยหลอกเอาข้อมูล เงินค้ำประกัน ค่าธรรมเนียม และเลขที่บัญชีธนาคารจากเหยื่อ ซึ่งหากมีการกู้เกิดขึ้นจริง ก็จะเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่โหดเหี้ยมสุดๆ ซึ่งจะใช้วิธีล่อลวง ชวนเชื่อจากการกู้ที่ไม่ต้องค้ำประกัน ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในโทรศัพท์ โทร.ทวงหนี้จากคนใกล้ชิด เรียกดอกเบี้ยมหาโหด

4. ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว (Call Center) โดยมุ่งเป้าโทร.หาเหยื่อ พร้อมแจ้งข้อมูลว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีการอ้างตัวเป็นตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ข่มขู่เรื่องกฎหมายการฟอกเงิน แจ้งจะมีการอายัดบัญชีธนาคาร จากนั้นล่อลวงให้เหยื่อโอนเงิน

5. หลอกลวงให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ โดยอ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ชักชวนให้ลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีจริง ให้ผลตอบแทนสูง สร้างภาพความน่าเชื่อถือ อาทิ ลงทุนในธุรกิจน้ำมัน / พลังงาน / ทองคำ / เงินดิจิทัล / ตลาดหุ้น / Forex / ตลาดหลักทรัพย์ต่างชาติ และเกมออนไลน์ เป็นต้น

6. หลอกให้รักแล้วลงทุน โดยปลอมแปลง Profile เป็นบุคคลหน้าตาดี เพื่อมาตีสนิทจาก App หาคู่ หรือบัญชีออนไลน์ จากนั้นเริ่มสอนให้ลงทุน และลงทุนผ่าน App การลงทุนปลอม อาทิ เทรดหุ้น / เงินดิจิทัล / สกุลเงินปลอม หรือทอง เป็นต้น

7. หลอกให้รักแล้วโอนเงิน หรือยืมเงิน โดยใช้วิธีเดียวกัน คือปลอมแปลง Profile เป็นบุคคลหน้าตาดี ทำความรู้จักผ่านบัญชีออนไลน์ ตีสนิทหลอกให้รัก ทำทีจะส่งทรัพย์สินมีค่ามาให้จากต่างประเทศ แต่ก็หลอกล่อขอค่าธรรมเนียมต่างๆ หรือหลอกให้โอนเงิน โดยอ้างว่าจะคืนให้ในภายหลัง

8. ปลอมแปลง หรือ Hack บัญชี Line / Facebook ของเพื่อน จากนั้นหลอกยืมเงิน โดยส่งข้อความขอยืมเงินมาจากบัญชีของเพื่อนที่เรารู้จัก

9. แชร์ลูกโซ่ โดยหลอกให้ร่วมลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีอยู่จริง เน้นให้เสาะหาเครือข่าย สร้างรายได้จากการเพิ่มสมาชิก

10. การพนันออนไลน์ โดยโฆษณาชวนเชื่อ หว่านล้อมด้วยวิธีการต่างๆ ให้ค่าน้ำ ค่าเสียเวลา คืนให้แก่ผู้เล่น และแจกสูตรการันตีผลตอบแทนที่ไม่มีจริง

11. หลอกให้โหลดโปรแกรมควบคุมคอมพิวเตอร์ทางไกล (เพื่อขโมยข้อมูล) โดยอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อทำการถอนเงินทางไกลจากบัญชีเหยื่อ

12. ส่ง QR Code หลอกให้โอนเงิน โดยอ้างการคืนสินค้า จากนั้นให้สแกน  QR Code ซึ่งเป็นการโอนเงิน หรือบางกรณีเป็นการให้กรอกข้อมูลบัญชีธนาคาร และรหัสผ่าน เพื่อ Hack บัญชีธนาคาร

13. ฉ้อโกงโดยหลอกลวงด้วยเรื่องราวต่างๆ เพื่อให้โอนเงิน อาทิ เป็นผู้โชคดีได้รับรางวัล / ได้สิทธิซื้อสินค้าราคาพิเศษ / โรงแรมที่พักฟรี หรือได้สิทธิพิเศษต่างๆ เป็นต้น แต่ต้องชำระค่าธรรมเนียมก่อนล่วงหน้า ซึ่งจะมีการแอบอ้างเป็นหน่วยงาน เช่น ธนาคาร / ไปรษณีย์ และกรมศุลกากร เป็นต้น โดยส่ง link ปลอม เพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล ขโมยเลขบัญชีธนาคาร และรหัส Password 

14. โฆษณาเชิญชวนไปทำงานต่างประเทศ โดยหลอกให้หลบหนีออกนอกประเทศ บังคับกักขังให้ทำงานผิดกฎหมาย และใช้แรงงาน

15. หลอกลวงให้ถ่ายภาพโป๊เปลือย ลามก อนาจาร เพื่อใช้ข่มขู่เรียกเงิน

16. หลอกให้เปิดบัญชีธนาคาร ยินยอมให้ใช้บัญชี (บัญชีม้า) ซึ่งเหยื่อจะมีความผิดตามกฎหมายฐานร่วมกันฉ้อโกง และฟอกเงิน

17. ข่าวปลอม (Fake News) ซึ่งเป็นการแชร์ข่าวจากแหล่งข่าวที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ หรือข้อความลูกโซ่ที่ส่งต่อกันเป็นจำนวนมากทางไลน์

18. เรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ (Ransomware) Lock รหัส File Folders ในคอมพิวเตอร์เพื่อเรียกเงินจากเหยื่อ

แม้ข้อมูลการหลอกลวงที่รวบรวมมาจะมีความหลากหลายให้รู้เท่าทันและป้องกัน แต่เชื่อเถอะครับว่า เหล่าพวกมิจฉาชีพก็จะไม่หยุดพัฒนาช่องทางและวิธีการหากินบนความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเหยื่ออย่างแน่นอน 

ฉะนั้นวิธีการที่จะป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ บนโลกออนไลน์ได้ดีที่สุด จึงหนีไม่พ้นสติ และการติดตามข่าวสารที่มีความเชื่อถือได้ และหาข้อมูลอยู่เสมอครับ


ที่มา : ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
https://www.thaipoliceonline.com