คนไทยเสพข่าวรุนแรง พบเครียดขึ้น 2.1 เท่า อาจเสี่ยงภาวะ Headline Stress Disorder

คุณกำลังมีอาการแบบนี้อยู่ไหมครับ? รู้สึกเครียดกังวล หดหู่ ร้องไห้ ไม่มีสามาธิทำงานหลังจากดูข่าวเสร็จ ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้หลังจากดูข่าวอาจเสี่ยงเป็นภาวะ Headline Stress Disorder ได้

ก่อนจะไปทำความรู้จักกับภาวะนี้ ผมอยากให้ทุกท่านมาดูความเครียดของคนไทยปีนี้ก่อนครับ โดยกรมสุขภาพจิตได้ออกมาเผยผลวิเคราะห์ระดับความเครียดของประชาชน ช่วงต้นเดือนมีนาคมเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

พบว่าแค่เดือนเดียวคนไทยเครียดเพิ่มขึ้น 2.1 เท่า เสี่ยงเป็นซึมเศร้าอีก 4.8 เท่า สาเหตุเกิดจากการเสพข่าวรุนแรงบ่อยเกินไป โดยช่วงนั้นมีข่าวรุนแรงเกิดขึ้น 3 ข่าวคือข่าวแตงโม นิดา ข่าวยูเครน และข่าวโควิด-19 

จะเห็นว่าการเสพข่าวความรุนแรงมากเกินไป ไม่เป็นผลต่อดีต่อสภาพจิตใจ โดยจะเกิดขึ้นกับบุคคลไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของตัวเองได้ วันนี้ทีมข่าว THE STATES TIMES จะพาไปทำความรู้จักกับภาวะ Headline Stress Disorder และแนะแนวทางหาวิธีป้องกันครับ

ซึ่งภาวะ Headline Stress Disorder เกิดจากการเสพเนื้อหารุนแรง หรือดูเนื้อหาที่กระทบจิตใจซ้ำๆ ทำให้เหมือนกับการถูกโยนระเบิดใส่ตัวเองทีละลูก ทำให้คนที่เสพรู้สึกเครียด ซึมเศร้า หดหู่ ภาวะนี้ยังเกิดจากเสพเนื้อหาแง่ดีได้ด้วย เช่นการดูข่าวความสำเร็จคนอื่น แล้วมาเปรียบเทียบกับตนเอง จนนำไปสู่สภาพจิตใจที่ไม่มั่นคง

โดยผลเสียของการเป็นภาาวะนี้คือ อาจเกิดการทะเลาะกับคนใกล้ตัวบ่อย เพราะเมื่อสภาพจิตใจไม่มั่นคงจะทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เป็นมิตร จุกจิกมากขึ้น มีสมาธิในการทำงานน้อยลง จนขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนสนิท

รวมถึงอาจเกิดระยะห่างของเพื่อนและตัวเราได้ เพราะคนที่อยู่ในภาวะนี้จะมีพฤติกรรมเก็บเนื้อเก็บตัว ไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนน้อยลง ทำให้คนรอบตัวสงสัยหรือไม่เข้าใจถึงพฤติกรรมเหล่านี้ เพราะเขาจะคิดว่าตัวเองทำอะไรผิดหรือเปล่า เพื่อนถึงไม่พูดคุย ไม่มาสังสรรค์เหมือนเมื่อก่อน

ในตอนนี้หากคนที่คิดว่าตัวเองกำลังอยู่ในภาวะนี้อยู่ ให้งดอ่าน งดดูข่าว หรือข้อมูลที่มีหัวข้อสร้างความอ่อนไหวทางจิตใจ เช่น ข่าวการสูญเสีย การฆ่าตัวตาย หรือให้เลือกช่องทางการดูมากขึ้น เช่นข่าวช่องไหนกำลังเสนอเรื่องความรุนแรง ให้กดข้ามไปดูช่องอื่นที่นำเสนอข่าวไม่กระทบจิตใจ จำกัดเนื้อหาในโซเซียล เลือกเสพเนื้อหาที่มันบรรเทิงต่อจิตใจ

แล้วจะทำยังไงในการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ได้ มีอยู่ 3 วิธีคือ...

1.) อย่าอินกับข่าวเกินไป ให้คิดเสมอว่าข่าวนี้ไม่ได้เกิดกับคนที่เรารัก หรือข่าวนี้ไม่ได้ทำให้ชีวิตเราแย่ลง อย่าเอาตัวเองไปผูกกับความรู้สึก คนที่กำลังอยู่ในเหตุการณ์นั้น จนทำให้ตัวเองเครียด หงุดหงิด เสียการเสียงาน เสียเวลาชีวิตไปโดยใช่เหตุ ให้เสพข่าวสารอย่างมีสติ

2.) งดเสพข่าวหรือใช้สื่อสังคมออนไลน์สักพัก ไม่เชื่อพาดหัวข่าวที่เห็นในทันที เพราะการพาดหัวข่าวมักใช้คำกระตุ้นอารมณ์ดึงดูดคนอ่านให้สนใจ แนะนำให้อ่านรายละเอียดของข่าวก่อนเชื่อ

3.) ออกไปสัมผัสธรรมชาติบ้าง ลองแกล้งลืมหยิบโทรศัพท์แล้วออกไปเที่ยวบ้าง เพื่อให้สมองได้ผ่อนคลาย จิตใจได้อยู่กับความสงบ ร่างกายไม่ต้องรองรับแรงกดดันใดๆ ไม่ต้องกังวลว่าตัวเองจะพลาดเรื่องสำคัญ เพราะหากเกิดเรื่องที่สำคัญจริงๆจะมีคนมาบอกเราเอง

หากทำตามคำแนะนำ 3 ข้อนี้แล้วยังเครียดอยู่ ให้ท่านผู้อ่านรีบไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ ยังสามารถโทรเข้าไปปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ chatbot 1323 

สุดท้ายท่านผู้อ่านคนไหนที่กำลังวิตกกังวล เศร้าอยู่ อยากให้ท่านมองหามุมดีๆ ในชีวิต จุดไฟพลังชีวิตให้ลุกโชนอีกครั้ง หรือสามารถแสดงความคิดเห็น ความรู้สึกได้ในใต้โพสต์นี้ เราเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่พร้อมจะรับฟัง โอบกอดความรู้สึกของท่านไว้ และพร้อมแนะแนวทางดีๆ ให้


ที่มา : https://thestandard.co/7-ways-to-receive-covid-19-news-without-stress/
https://www.bangkokbiznews.com/health/992195
https://www.istrong.co/single-post/awareofsocialmedia
https://www.springnews.co.th/spring-life/825566
https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220303145759088
https://hdmall.co.th/c/headline-stress-disorder