ด้วยรักและศรัทธา การจาริก ‘Arba'een’ พิธีกรรมทางศาสนาประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากพลังศรัทธาของชาวชีอะห์มุสลิมที่มีต่อ ‘อิหม่ามฮุเซน’

เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา มีพิธีการจาริก Arba'een หรือ Arba'een Walk เป็นการแสวงบุญหรืองานชุมนุมทางศาสนาสาธารณะประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่กลับมีคนรู้จักการแสวงบุญนี้น้อยเป็นอย่างมาก ทุกๆ ปีจะมีผู้คนมากกว่า ๒๐ ล้านคน เดินเท้าอย่างสงบระยะทางประมาณ ๘๐ กิโลเมตร ท่ามกลางอากาศร้อนด้วยอุณหภูมิที่สูงกว่า ๔๐ องศาเซลเซียส เพื่อทำการจาริกแสวงบุญ Arba'een ไปยังสถานที่ฝังเรือนร่างของท่านอิหม่ามฮุเซน ผู้เป็นหลานรักของท่านศาสดามูฮำหมัด (ศ็อลฯ) ณ ดินแดน Karbala ประเทศอิรัก

การจาริก Arba'een เริ่มขึ้นเมื่อสิ้นสุดช่วงเวลาไว้ทุกข์ ๔๐ วันหลังวันอาชูรออ์ (ASURA) อันเป็นวันไว้อาลัยโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นต่ออิหม่ามฮุเซน บิน อะลีย์ บินอะบีฏอลิบ เนื่องจากถูกสังหารในดินแดน Karbala เมื่อวันที่ ๑๐ มุฮัรรอม ฮ.ศ. (ฮิจเราะห์ศักราช) ๖๑ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๑๒๒๓ โดยอิหม่ามฮุเซนและครอบครัวพร้อมกับบรรดาสาวกจำนวน ๗๒ คนได้ร่วมเดินทางไปยังเมือง Kufa ประเทศอิรัก (ปัจจุบันรวมเป็นส่วนหนึ่งของเมือง Najaf) เนื่องจากประชาชนที่ Kufa ได้ร้องเรียกให้อิหม่ามฮุเซนมาโค่นล้มบัลลังก์ของราชวงศ์บนีอุมัยยะฮ์ ผู้ปกครองในยุคนั้น 

โดยระหว่างการเดินทาง กองคาราวานของอิหม่ามฮุเซน ได้ไปหยุดอยู่ที่เขตที่เรียกว่า Karbala คาราวานของเขาเดินทางไปต่อไม่ได้ เนื่องจากถูกทหารของฝ่ายบนีอุมัยยะฮ์จำนวนหลายหมื่นคนได้ทำการปิดกั้น และที่สุดก็ได้สังหารอิหม่ามฮุเซนและบรรดาสาวกจนหมด 

ชาวชีอะห์มุสลิมจะไว้อาลัยอิหม่ามฮุเซนในวันอาชูรออ์ โดยการจัดพิธีกรรมต่างๆ เช่น การเล่าเรื่องอิหม่ามฮุเซนจากประวัติศาสตร์ การขอดุอาอ์ การเลี้ยงอาหารและน้ำแก่คนยากจน สถานที่จัดคือที่มัสยิดฮุซัยนียะห์

จำนวนผู้เข้าร่วมแสวงบุญประจำปีมากกว่า ๒๕ ล้านคน บนเส้นทางแสวงบุญมีอาหาร ที่พัก และบริการอื่นๆ ให้บริการฟรีโดยอาสาสมัคร ผู้แสวงบุญบางคนเดินทางจากที่ต่างๆ และจากต่างประเทศ เช่น อิหร่าน ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด พิธีกรรมนี้ได้รับการอธิบายว่าเป็น “การแสดงความเชื่อและความเป็นปึกแผ่นอันทรงพลังอย่างท่วมท้น” 

การจาริก Arba'een ตามแบบปัจจุบันเริ่มขึ้นในปี ฮ.ศ. ๑๓๑๙ ( ค.ศ.๒๔๔๔) โดยนักวิชาการศาสนาหลายคน และ Marja ยังคงรักษาแนวทางเดียวกันในการจาริก Arba'een จนถึงสมัยของประธานาธิบดีซัดดัม การจาริกแสวงบุญจึงถูกห้ามตลอดระยะเวลาภายใต้การปกครองของเขา ด้วยตัวซัดดัมเป็นชาวสุหนี่มุสลิม และฟื้นคืนมาหลังจากการโค่นล้มซัดดัมในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และจำนวนผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีผู้แสวงบุญราว ๒๕ ล้านคนในปี พ.ศ. ๒๕๕๙

ในช่วงระยะเวลา ๒๐ วันของการแสวงบุญ “หมู่บ้านของชาวชีอะห์มุสลิมทั่วอิรักจะว่างเปล่า ในขณะที่ผู้คนชาวชีอะห์มุสลิมได้เดินไปตามเส้นทางจาริกที่มีการจัดการอย่างประณีตและได้รับการคุ้มครองอย่างดี ซึ่งไม่เคยเห็นที่ไหนในโลกมาก่อน” การชุมนุมของผู้คนมากกว่า ๒๐ ล้านคนจากกว่า ๔๐ ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมในพิธีกรรมนี้ ทำให้เป็นการรวมตัวในพิธีกรรมทางศาสนาที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก แม้ว่าจำนวนชาวฮินดูในพิธี Kumbh Mela จะมีมากกว่า แต่ก็จัดขึ้นทุกๆ สี่ปี ดังนั้นการจาริก Arba'een จึงเป็นการรวมตัวในพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งจัดขึ้นทุกปีที่ใหญ่ที่สุด

การจาริกแสวงบุญมีระยะทางเดินยาวจากเมือง Najaf ถึงเมือง Karbala ระยะทางราว ๗๙ กิโลเมตร (๔๙ ไมล์) ผู้คนมากมายหลากหลายชีวิต ต่างเชื้อชาติ และต่างนิกายความเชื่อ ต่างก็เข้าร่วมในการเดินขบวนจาริก รวมทั้งเด็กในวัยหัดเดินในรถเข็นเด็ก จนกระทั่งถึงผู้สูงอายุที่ถูกเข็นในรถเข็น

การจาริก Arba'een เชื่อกันว่า เป็นการจาริกแสวงบุญที่อยู่เหนือขอบเขตทางวัฒนธรรมทั้งหมด และเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพและความเห็นอกเห็นใจทางสากล อารมณ์ของการแสวงบุญยังได้รับการอธิบายว่า “เป็นความกตัญญูและความเป็นปึกแผ่นของชุมชนชาวอิรักอย่างเข้มข้น” ในระหว่างการจาริกแสวงบุญ “มีการแจกจ่ายเสบียงอาหารมากมาย มีคลินิกขนาดเล็กจำนวนมาก และมีแม้กระทั่งหมอฟัน พร้อมสำหรับผู้แสวงบุญ และทั้งหมดฟรี ด้วยทุกคนถือว่า การดูแลผู้จาริกแสวงบุญถือเป็นหน้าที่ทางศาสนา” ตามถนนสู่เมือง Karbala มีเต็นท์บริการจำนวนมาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ “ที่พัก อาหาร เครื่องดื่ม และบริการทางการแพทย์” และสิ่งอื่นๆ ที่ผู้จาริกแสวงบุญต้องการโดยไม่คิดมูลค่า

ในขณะที่การจาริก Arba'een ถือเป็นการฝึกจิตวิญญาณของชาวชีอะห์มุสลิมอย่างชัดเจน แต่ชาวสุหนี่มุสลิม หรือแม้แต่ชาวคริสต์ โซโรอัสเตอร์ ฯลฯ ก็เข้าร่วมทั้งในการจาริกแสวงบุญ และการให้บริการด้านอาหาร น้ำ และอื่นๆ แก่บรรดาผู้เลื่อมใสศรัทธาที่มาร่วมการจาริก และยังมีผู้แสวงบุญจากประเทศต่างๆ ในยุโรป เช่น สวีเดน รัสเซีย และแม้แต่คณะผู้แทนจากนครรัฐวาติกันก็ได้เข้าร่วมในพิธีนี้ด้วย 

การจาริก Arba'een ครั้งก่อนๆ ผู้นำศาสนาคริสต์ในอิรักบางคนก็เข้าร่วมกับคณะผู้แทนจากนครรัฐวาติกันด้วย รวมทั้งคณะผู้แทนจำนวนมากจากประเทศต่างๆ ในแอฟริกา รวมทั้งกานา ไนจีเรีย แทนซาเนีย และเซเนกัลได้เข้าร่วมในพิธีจาริก Arba'een ด้วยเช่นกัน

แม้ว่าวันพิธีจาริก Arba'een จะอยู่เกือบวันเดียวกัน (๒๐ หรือ ๒๑ Safar) ของปฏิทินอิสลาม แต่วันที่ในปฏิทินเกรกอเรียนจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี เนื่องจากความแตกต่างระหว่างสองปฏิทิน ด้วยปฏิทินอิสลาม หรือปฏิทินฮิจเราะห์ เป็นปฏิทินจันทรคติ และปฏิทินเกรกอเรียนเป็นปฏิทินสุริยคติ 

นอกจากนี้วิธีการที่ใช้ในการกำหนดเมื่อแต่ละเดือนอิสลามเริ่มต้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยวันพิธีจาริก Arba'een มักจะตกในราว ๔๐ วันหลังจากวันอาชูรออ์ 

การจาริก Arba'een เป็นสร้างชุมชนแห่งศรัทธาขนาดใหญ่ที่ส่งเสริมสันติภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันควบคู่ไปกับศรัทธาอันลึกซึ้งแห่งเหล่าชาวชีอะห์มุสลิม

ในแต่ละปีชาวอิรักได้ร่วมกันจัดศูนย์ต้อนรับราว ๒๐๐,๐๐๐ แห่ง เพื่อต้อนรับนักแสวงบุญผู้มาเยือนหลายสิบล้านคนจากชายแดนของประเทศไปยังทุกหัวเมืองที่นำไปสู่เมือง Najaf และเมือง Karbala ในช่วงเวลานี้ อาหารและเครื่องดื่มเกือบ ๕ พันล้านรายการ และบริการอื่นๆ ตลอดจนการเตรียมที่พัก ห้องสุขา ห้องน้ำ และศูนย์อนามัยสำหรับรองรับผู้ที่มาซิยารัต (มาเยือน) ตลอดรายระยะทาง ๘๐ กิโลเมตร จากเมือง Najaf ถึงเมือง Karbala ของเส้นทางจาริกแห่งการแสวงบุญ อันแสดงให้เห็นถึงความรักความศรัทธาที่มากมายของชาวชีอะห์มุสลิมที่มีต่ออิหม่ามฮุเซนจนทำให้ชาวโลกต้องแปลกใจ แต่ที่แปลกมากไปกว่านี้ก็คือ การไม่ปรากฏเป็นข่าวจากสำนักข่าวชื่อดังของฟากฝั่งตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น BBC หรือ VOA ฯลฯ ที่คว่ำบาตรต่อพิธีการนี้โดยสมบูรณ์ ราวกับเป็นเทศกาลที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โดยในระยะเวลาสิบวันที่จำกัดนี้ ประมาณว่าชาวอิรักรวบรวมรายได้ที่ทำมาหาได้ทั้งปีเพื่อการใช้จ่ายในการต้อนรับดูแลผู้ที่มาซิยารัต (เยี่ยมเยือน) อิหม่ามฮุเซนอย่างเต็มที่ด้วยแรงศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นดังเช่นภาพที่ปรากฏ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก อาจารย์ ฮัจยีซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี  ผู้นำศาสนานิกายชีอะห์ และผู้อำนวยการสถาบันศึกษาศาสนา อัลมะห์ดี ประเทศไทย


ติดตามผลงาน อาจารย์โญธิน มานะบุญ เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.โญธิน%20มานะบุญ