'เพื่อไทย' แนะ 'กยศ.' ต้องเปลี่ยนเงื่อนไขกู้ยืม เปิดโอกาสให้กลุ่มวิชาชีพ-ดอกเบี้ยต่ำ-งดฟ้องร้อง

ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....หรือ กยศ. โดยสรุปว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นนโยบายที่ดี เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาที่ยากจน ได้มีโอกาสกู้ยืมเงินมาศึกษาเล่าเรียนเพื่อสร้างอนาคต แต่ในกระบวนการกู้ยืมเงินมีปัญหาและอุปสรรค ตั้งแต่การจำกัดให้เฉพาะนักเรียนหรือนักศึกษาในระบบการศึกษาเท่านั้นที่สามารถกู้ยืมได้ แต่ประชาชนทั่วไปที่อยู่นอกระบบการศึกษากลับไม่มีโอกาสเข้าถึงเงินกองทุนกู้ยืม เงื่อนไขการกู้ยืมเงินที่ยุ่งยาก ต้องมีการพิสูจน์ความยากจน มีอัตราดอกเบี้ยสูง และต้องมีบุคคลค้ำประกันเงินกู้ เพราะสำหรับคนจนซึ่งยากจนอยู่แล้ว ก็ยิ่งหาคนมาช่วยค้ำประกันได้ยากยิ่งกว่า 

เมื่อสำเร็จการศึกษาและถึงกำหนดชำระหนี้เงินกู้ ถ้าไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดก็จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจนเป็นข่าวแพร่หลายว่าผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ต้องถูกฟ้องยึดบ้านยึดไร่นาเพื่อใช้หนี้ กยศ. 

ส.ส.พรรคเพื่อไทย จึงร่วมอภิปรายแสดงความเห็น เสนอแนวคิดให้นักศึกษาที่ศึกษาในสถาบันการศึกษาเอกชนนอกระบบก็สามารถกู้ยืมเงินกองทุนได้ อาทิ โรงเรียนฝึกมวยไทยอาชีพ การกู้ยืมเงินกองทุนไม่ควรต้องพิสูจน์เรื่องความยากจน ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน และควรมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงรัฐควรยุติฟ้องคดีหนี้ กยศ.ชั่วคราว เพราะการฟ้องร้องคดี กยศ. เป็นการทำลายอนาคตของนักศึกษาและสร้างภาระความเดือดร้อนแก่ผู้ค้ำประกัน

[+นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ]
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ควรครอบคลุมถึงสถาบันการศึกษาเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งในส่วนสถาบันการศึกษานอกระบบนี้ยังรวมถึงการฝึกอบรมวิชาชีพต่าง ๆ เช่น การนวดแผนโบราณ หรือสถาบันฝึกมวยไทยอาชีพ เพราะวิชาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพให้พี่น้องสร้างรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีนักท่องเที่ยวมาจำนวนมากและชอบการนวดแผนไทย ชอบมวยไทย ดังนั้น เมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขนิยามแล้ว ก็ควรให้กลุ่มวิชาชีพนอกระบบนี้อยู่ในเกณฑ์กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาดังกล่าวได้

[+จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.]
กยศ. ควรมีการจัดทำข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับนักเรียนและนักศึกษาเพื่อประกอบการตัดสินใจการเลือกคณะที่จะศึกษาต่อ โดยเฉพาะข้อมูลด้านสถิติการมีงานทำ ประเภทงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ประเภทงานที่ขอให้กู้ยืมเงินรวมถึงการคาดการงานที่จำเป็นในตลาดแรงงานอันใกล้ ซึ่งเป็นข้อมูลจำเป็นที่ กยศ. ควรมีอย่างต่อเนื่อง ชี้แจงให้นักเรียนนักศึกษาได้ทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจการเลือกคณะที่เรียนและขอกู้เงินอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนหรือนักศึกษาต้องตกงานภายหลังสำเร็จการศึกษา

[+นิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร]
ประเทศไทยยังมีพี่น้องชาติพันธุ์ ที่มีปัญหาไม่ได้รับสัญชาติไทย แต่เขาเกิดบนแผ่นดินไทย เมื่อไม่มีสัญชาติก็ไม่มีโอกาสด้านการศึกษา เมื่อเขาขาดโอกาสจากในโรงเรียนปกติ เราควรเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนในโรงเรียนฝึกอาชีพอื่นๆ เปิดช่องทางให้เขาได้กู้ยืมได้เรียนหรือไม่ เพราะนี่คือการให้โอกาส ถ้าเขาได้ยืมเงิน ได้เรียน ได้ใช้มันสมองในการพัฒนาอาชีพ เลี้ยงชีวิต ก็จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ขออย่าได้กีดขวางเขาเพียงแค่ต้องเรียนในระบบเท่านั้น

[+คมเดช ไชยศิวามงคล  ส.ส.กาฬสินธุ์]
ปกติแล้ว การค้ำประกันจะเกี่ยวเนื่องพัวพันไปถึงการดำเนินคดี การยึดทรัพย์ การขายทอดตลาด ตลอดจนถูกฟ้องล้มละลาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 ปีที่ผ่านมาปรากฏว่านักเรียนนักศึกษา รวมถึงผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดระบาด ต้องเดือดร้อนตกงาน จึงถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ตกเป็นจำเลยทั้งตัวนักเรียนนักศึกษาครอบครัวต้องเดือดร้อน และเดือดร้อนไปถึงผู้ค้ำประกันที่ถูกฟ้องยึดทรัพย์ จึงควรหาหนทางแก้ไขปัญหา ดังนั้น ปัญหาหนี้ กยศ. การฟ้องร้องไม่น่าจะใช่ทางออกของการแก้ปัญหา การกู้ยืมเงิน กยศ. ไม่ควรมีการค้ำประกัน และเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่สภาวะปกติ ปัญหาฟ้องร้องเหล่านี้น่าจะลดน้อยลง

[+อุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม  ส.ส.ลพบุรี]
การกู้ยืมเงิน กยศ. มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงจึงควรลดดอกเบี้ยให้ต่ำมากที่สุด เพราะคนเหล่านี้เป็นคนยากจนในชนบท เขาต้องกู้ยืมเงินมาเรียน เมื่อจบการศึกษาพ่อแม่มีความหวังที่จะพึ่งพาลูก หวังให้ลูกมีงานทำ แต่ต้องเจอเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้เขาตกงานและมีภาระต้องส่งทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย กลายเป็นว่าตอนนี้ภาระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย กลายเป็นภาระมหาโหดของผู้กู้และครอบครัว และลุกลามกลายเป็นปัญหากับผู้ค้ำประกันเพิ่มขึ้นอีกด้วย จึงเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องรีบแก้ไขที่ต้นตอมากที่สุดคือ ต้องรีบแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้เขามีงานทำให้เร็ว เพื่อมีรายได้มาจ่ายใช้หนี้กยศ. โดยเร็วที่สุด

[+สงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน]
ประเด็นผู้ค้ำหนี้ กยศ. เป็นปัญหาใหญ่ เพราะวิบากกรรมตกอยู่กับผู้ค้ำ แต่แรกผู้ค้ำคือครู ต่อมาก็เป็นข้าราชการญาติพี่น้อง ไปถึงกำนันผู้ใหญ่บ้าน ยกตัวอย่างในจังหวัดลำพูน ครูคนหนึ่งไม่สามารถส่งลูกเรียนได้ เพราะมีภาระไปค้ำประกันเงินกู้ กยศ.ให้นักเรียน ต้องเอาเงินเดือนไปส่งให้นักเรียนที่ค้ำเอาไว้จนไม่เหลือเงินใช้จ่ายและส่งลูกไปเรียน นโยบาย กยศ.ดีมาก แต่เมื่อนำมาปฏิบัติ มีผู้ค้ำประกันและผู้ค้ำประกันต้องถูกฟ้องล้มละลาย ถูกยึดทรัพย์ยึดที่ทางเดือดร้อนทั้งครอบครัว จึงอยากให้รัฐบาลหยุดฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อหาหนทางแก้ไขอื่นที่ประนีประนอมกว่านี้โดยเร็วที่สุด


ที่มา : https://www.facebook.com/pheuthaiparty/posts/pfbid02mc5rsVdEKJoySxwoHMg8bVLXgnrvSxdGfeG6kJ7RhR6MM3zEVjExGXhADRDZDV1Al