มาเลเซีย ส่อเกิดวิกฤตการศึกษา หลังเด็กจบมัธยม 72% ไม่สนใจเรียนต่อ

สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งมาเลเซีย (ASM) ได้ทำการสำรวจความเห็นของนักเรียนมาเลเซีย ถึงเป้าหมายในการเรียนหลังจบ ระดับมัธยมศึกษา พบว่ามีนักเรียนมาเลเซียกว่า 390,000 จากจำนวน 560,000 หรือราว ๆ 72.1% ตอบว่าไม่สนใจที่จะเรียนต่อแล้ว แต่ต้องการเริ่มอาชีพอิสระ เช่นการทำคอนเทนท์ Online หรือ เป็น YouTuber มากกว่า จึงมีนักเรียนเพียง 170,000 คน ที่ยืนยันว่าจะเรียนต่อในชั้นเรียนระดับสูงอย่างแน่นอนเท่านั้น 

3 สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กนักเรียนมาเลเซีย ช่วงอายุระหว่าง 17-18 ปี สนใจเรียนต่อในระดับสูงน้อยลงมาก คือ 

1. การขยายตัวของ Gig Economy หรือระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากงานแบบครั้งคราว ที่มักเรียกว่ากลุ่มงานฟรีแลนซ์ งานรับจ้างเป็นชิ้น ๆ ที่ไม่มีสัญญาผูกมัดระยะยาว ที่ตรงกับค่านิยมของหนุ่มสาวยุคใหม่ ที่รักอิสระ เน้นทำงานเฉพาะทางที่อยากทำจริง ๆ 

2. จึงตามมาด้วยเหตุผลที่ 2 คืออิทธิพลของสื่อโซเชียลที่กำลังมาแรง และมีโอกาสสร้างรายได้มหาศาล กลายเป็นแรงจูงใจให้เด็กรุ่นใหม่เลือกเดินสายอาชีพ Influencer, Youtuber, Streamer หรือการขายของทางออนไลน์ ซึ่งเป็นอาชีพที่สามารถทำได้ทันที ไม่จำกัดวัย และวุฒิการศึกษา 

3. ความเชื่อว่า วุฒิการศึกษาระดับสูงในปัจจุบันไม่สามารถการันตีรายได้ในอนาคต อีกทั้งการเรียนต่อในระดับวิชาชีพขั้นสูง หรือ ในมหาวิทยาลัยก็มีค่าใช้จ่ายสูง ที่บางหลักสูตรไม่ตอบโจทย์ความต้องการในตลาดแรงงานของยุคนี้อีกแล้ว

นอกจากนี้ กระทรวงการศึกษาของมาเลเซียยังเปิดเผยว่า ยังมีเด็กมาเลเซียอีกถึง 5.8% ที่ไม่เคยเข้าระบบการศึกษาภาคบังคับ หรือมีโอกาสเรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากฐานะทางบ้านยากจน

The Star สื่อยักษ์ใหญ่ของมาเลเซียชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักเรียนมาเลเซียจำนวนมากเลิกเรียนกลางคัน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่จบระดับมัธยมด้วยซ้ำ มาจากปัญหาความยากจน ระบบการศึกษาที่เน้นผลสัมฤทธิ์จากการสอบมากเกินไป และ นักเรียนไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาในระดับสูงอีกต่อไปแล้วนั่นเอง 

ดาโต๊ะ เสรี แอดฮาม บาบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี และนวัตกรรม แสดงความเป็นห่วงที่เห็นตัวเลขนักเรียนมาเลเซียจำนวนมาก ไม่สนใจจะเรียนต่อในระดับการศึกษาขั้นสูงหลังสอบจบ Sijil Pelajaran หรือวุฒิมัธยมศึกษาระดับพื้นฐานของมาเลเซีย ซึ่งหากตัวเลขที่ได้จากผลสำรวจนี้สะท้อนความเห็นของนักเรียนมัธยมส่วนใหญ่ของมาเลเซียจริง ๆ อาจไม่เป็นผลดีกับการพัฒนาประเทศในระยะยาว

เพราะเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มในอนาคต เป็นยุคที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีระดับสูงแล้ว หากเด็กนักเรียนในวันนี้ ไม่สนใจต่อยอดพัฒนาทักษะวิชาชีพในขั้นสูง ย่อมมีผลเสียต่อศักยภาพในการผลิต การสร้างนวัตกรรม และ ความได้เปรียบในการแข่งขันในระดับโลกของมาเลเซียได้ 

เมื่อเป็นเช่นนั้น รัฐบาลมาเลเซียจึงมอบหมายให้ ASM หาทางแก้ปัญหาว่า ทำอย่างไรที่จะสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนมาเลเซีย สนใจเรียนต่อศาสตร์วิชาขั้นสูงให้มากขึ้น หรือปรับแก้หลักสูตรให้สอดคล้องกับค่านิยมของเด็กมาเลเซียในยุคปัจจุบัน โดยมีโจทย์ว่าต้องเป็นแรงเสริมในการพัฒนาด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีของประเทศได้ด้วย 

และด้วยค่านิยมที่เปลี่ยนไปของนักเรียนในประเทศเพื่อนบ้าน อาจมีหลายส่วนที่สะท้อนถึงความคิดของเด็กนักเรียนไทยได้เช่นกัน ซึ่งทางมาเลเซียเล็งเห็นปัญหา และเริ่มแก้ไขแล้ว ดังนั้น นักการศึกษาไทยจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องใช้วิสัยทัศน์ที่ลึกซึ้ง ในการปรับปรุง พัฒนาระบบการศึกษาของเราให้ก้าวไปพร้อม ๆ กับกระแสความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยให้ได้นั่นเอง


อ้างอิง
The Star
Says News

ที่มา : https://kitnew.co/thestudytimes/2022083002