ริชชี่ สุหนาก VS เอลิซาเบธ ทรัสส์ จะทำอะไร? หลังได้นั่งแท่นนายกฯ ผู้ดี

อังกฤษกำลังมีการเลือกหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่ในขณะนี้ โดยที่ทางพรรคได้ส่งบัตรเลือกตั้งออกไปตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาและจะปิดหีบการออกเสียงของสมาชิกพรรคลงในตอนบ่ายของวันที่ ๒ กันยายนนี้ และจะรู้ผลการเลือกตั้งในวันที่ ๕ กันยายน ซึ่งหมายความว่าอังกฤษจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันนั้นด้วย 

เพราะพรรคคอนเซอร์เวทีฟ เป็นพรรครัฐบาลอยู่ในขณะนี้ หลังจากที่นายบอริส จอห์นสัน ได้ลาออกเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขบวนการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่จึงเริ่มขึ้น ด้วยการที่ส.ส.ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟได้เลือกผู้แข่งขันที่จะเข้าชิงชัยตำแหน่งหัวหน้าพรรคมาได้สองคน คือ นายริชชี่ สุหนาก ซึ่งได้คะแนนจาก ส.ส. สูงที่สุด (อดีต ร.ม.ต. คลังซึ่งลาออกเพื่อประท้วงความประพฤติของนายบอริส) ตามมา คือ นางเอลิซาเบธ ทรัสส์ รมต.ต่างประเทศ

ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ผู้สมัครสองคนนี้ได้ตระเวนหาเสียงไปทั่วประเทศเพื่อแสดงนโยบายของตนว่าถ้าได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจะบริหารประเทศอย่างไร ซึ่งถ้าเห็นชอบด้วย ก็ขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่มีอยู่ราว ๑๖๐,๐๐๐ คน

การตระเวนหาเสียงหรือเสนอนโยบายของผู้สมัครทั้งสองคนจะสิ้นสุดลงในวันที่ ๓๑ สิงหาคมนี้ ผู้เขียนเห็นว่าการเสนอนโยบายของผู้สมัครทั้งสองคนน่าสนใจมาก จึงอยากนำมาเล่าให้ฟังโดยอาศัยข้อมูลจากรายงานข่าวของบีบีซีภาคภาษาอังกฤษ

ที่ได้อ่านมารายงานของบีบีซีภาคภาษาอังกฤษทำได้ชัดเจนมากทีเดียว โดยได้สรุปนโยบายของผู้สมัครทั้งสองคนมาให้เห็นในด้านต่าง ๆ เช่น Tax & spending, Cost of living, Climate, Brexit, Health & social care, Education, Housing planning, Profile ก็คือ เรื่องภาษีและการใช้งบประมาณ, ค่าครองชีพ, การออกจากสหภาพยุโรป, การสาธารณะสุข, การศึกษา ตลอดจนเรื่องบ้านที่อยู่อาศัย คนไหนสนใจในเรื่องใดก็คลิกเข้าไปอ่านได้หรืออยากจะรู้ประวัติความเป็นมาของแต่ละคนก็หาอ่านได้เช่นกัน ซึ่งก็ละเอียดดี 

อยากจะบอกว่ารายงานข่าวแบบนี้ทำให้ผู้อ่านได้รู้ว่า ผู้สมัครคนไหนจะทำอะไรเมื่อเข้ามาบริหารบ้านเมืองและรู้ว่าเขาพูดอะไรไว้บ้าง นับว่าเป็นสื่อสารมวลชนที่ส่งสาส์นได้ดีทีเดียว

นโยบายที่บีบีซีรวบรวมมาได้นี้ ก็จากการประกาศของผู้สมัครทั้งสองเอง รวมทั้งการตอบข้อซักถามจากสมาชิกพรรคหรือการสัมภาษณ์ของสื่อมวลชน ผู้เขียนจะยกประเด็นสำคัญ ๆ มาให้ท่านได้ทราบบางส่วน

เรามาดูกันว่านาง เอลิซาเบธ ทรัสส์ หรือจะเรียกเธอสั้น ๆ ว่า ลิธ ทรัสส์ ซึ่งมีข่าวว่าขณะนี้เธอกลับมีเสียงนำนายริชชี่ สุหนากอยู่ เธอมีนโยบายสำคัญอะไรบ้าง

เธอประกาศว่าจะกลับไปใช้อัตราการเรียกเก็บภาษีที่เรียกว่า National Insurance ในอัตราเดิม หลังจากที่รัฐบาลประกาศขึ้นมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา, สัญญาว่าจะยกเลิกแผนการที่จะขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก ๑๙% เป็น ๒๕% ในปีหน้า, สัญญาว่าจะเปลี่ยนระบบภาษีให้ง่ายขึ้นเพื่อที่จะช่วยคนที่ต้องอยู่บ้านเพื่อเลี้ยงลูกและญาติที่ชรา, เธอต้องการที่จะสร้างระบบที่เรียกว่า ภาษีต่ำและเขตควบคุมที่ไม่เข้มงวดทั่วประเทศเพื่อที่จะให้เป็นศูนย์กลางของบริษัทใหม่ ๆ หรือแนวคิดใหม่ ๆ, เธอบอกว่าจะไม่ตัดงบใช้จ่ายสาธารณะ เว้นไว้เสียแต่ว่าถ้าการต้องทำเช่นนั้นจะไม่นำไปสู่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต, นอกจากนี้เธอจะยับยั้งสิ่งที่เรียกว่า “green levy” คือเงินส่วนหนึ่งที่ประชาชนจ่ายค่าพลังงานและถูกนำไปเป็นค่าสนับสนุนโครงการสีเขียวและสังคม และที่สำคัญคือ เธอจะใช้งบประมาณทางด้านกลาโหมในระดับ ๒.๕% ของ GDP ไปในอีก ๔ ปีข้างหน้า และจะเพิ่มเป็น ๓% ในปี พ.ศ. ๒๕๗๓

จะเห็นได้ว่านโยบายเหล่านี้ล้วนเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ที่ใกล้ตัวประชาชนคนอังกฤษทั้งสิ้น ทีนี่มาฟังทางด้านคู่แข่งของเธอคือนายริชชี่ สุหนาก ที่เคยเป็นรัฐมนตรีคลังมาก่อนว่า นายริชชี่ จะบริหารประเทศอย่างไรบ้าง

นโยบายของนายริชชี่ดูจะตรงกันข้ามกับของนางลิธ ทรัสส์ทีเดียว เพราะหัวใจที่เขายึดมั่นอย่างเหนียวแน่นคือเขาต้องการที่จะควบคุมภาวะเงินเฟ้อของประเทศให้อยู่หมัดก่อน ก่อนที่จะไปลดภาษี นายริชชี่ประกาศว่าในสภาวะเศรษฐกิจของอังกฤษในขณะนี้ต้องลดและควบคุมภาวะเงินเฟ้อให้ได้เสียก่อนอื่นใด เขายืนยันและต้องการที่จะขึ้นภาษีที่เรียกว่า National Insurance เพื่อนำไปใช้จ่ายในด้านสุขภาพ,เขายืนยันและต้องการที่จะขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก ๑๙% เป็น ๒๕% ในปีหน้า (ภาษีทั้งสองอย่างนี้มีผลกระทบโดยตรงกับประชาชนคนอังกฤษ)

อย่างไรก็ดีนายริชชี่ ก็มีแผนการที่จะลดภาษีอยู่เช่นกันแต่ไม่ใช่ในปีหน้า เขากำหนดว่าในเดือนเมษายน ปีโน้นคือ พ.ศ. ๒๕๖๗ จะลดภาษีเงินได้ลง ๑ เพนนีและจะลดลงอีก ๓ เพนนีเมื่อสิ้นสุดวาระของสภาสมัยหน้า (ซึ่งมีเสียงวิจารณ์ว่านานไป)

นอกจากนี้นายริชชี่ ก็สัญญาว่าจะยกเลิก ภาษีมูลค่าเพิ่ม ๕% ของพลังงานเช่นไฟฟ้าและก๊าซที่ใช้ในบ้านลงเป็นเวลาหนึ่งปีถ้าบ้านไหนใช้เกิน ๓,๐๐๐ ปอนด์, ทางด้านงบประมาณกลาโหมนายริชชี่สัญญาว่าจะใช้เพียง ๒% ของจีดีพีคือต่ำสุด ไม่ใช่สูงสุด

จะเห็นได้ว่านโยบายของนายริชชี่และนางลิธ ทรัสส์ มีความต่างกันอย่างชัดเจนและล่าสุดนโยบายที่ทั้งสองคนต้องทำคือเรื่องพลังงาน ที่กำลังเป็นเรื่องร้อนและจะกระทบต่อประชาชนในฤดูหนาวที่จะมาถึงนี้ โดยทีมงานของทั้งสองต่างประกาศว่ามีนโยบายที่จะช่วยลดและแจกเงินค่าไฟฟ้าและก๊าซอย่างไร แต่ทว่าก็ถูกฝ่ายค้านวิจารณ์อย่างหนัก โดยพรรคเลเบอร์ บอกว่า เห็นว่าไม่ควรที่จะขึ้นราคาพลังงานในขณะนี้ แต่ควรนำเงินชดเชยจากกำไรของบริษัทพลังงานมาแทน ทางด้านพรรคลิเบอรัล เดโมแครตเห็นว่าการเพิ่มเพดานการใช้พลังงานของครัวเรือนจะสร้างความวิบัติให้กับคนหลายล้านคนและหัวหน้าพรรค SNP ในสภาบอกว่าภาคธุรกิจจะไม่มีทางออกเลย หลายหลากเรื่องที่ทั้งนายริชชี่และนางลิธ ทรัสส์ ต้องทำให้สมาชิกพรรคเห็นว่าเขาน่าจะบริหารประเทศได้ดีที่สุด คอยดูกันว่าใครจะได้ทำ


แปลและเรียบเรียงจากข่าวบีบีซีภาษาอังกฤษ
อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

แหล่งที่มา: BBC website
- Conservative leadership candidates compared: Liz Truss v Rishi Sunak,BBC News
- Energy bills: Liz Truss 'plans to tackle rising charges with tax cuts,BBC News