Sunday, 19 May 2024
KnowUK

ริชชี่ สุหนาก VS เอลิซาเบธ ทรัสส์ จะทำอะไร? หลังได้นั่งแท่นนายกฯ ผู้ดี

อังกฤษกำลังมีการเลือกหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่ในขณะนี้ โดยที่ทางพรรคได้ส่งบัตรเลือกตั้งออกไปตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาและจะปิดหีบการออกเสียงของสมาชิกพรรคลงในตอนบ่ายของวันที่ ๒ กันยายนนี้ และจะรู้ผลการเลือกตั้งในวันที่ ๕ กันยายน ซึ่งหมายความว่าอังกฤษจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันนั้นด้วย 

เพราะพรรคคอนเซอร์เวทีฟ เป็นพรรครัฐบาลอยู่ในขณะนี้ หลังจากที่นายบอริส จอห์นสัน ได้ลาออกเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขบวนการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่จึงเริ่มขึ้น ด้วยการที่ส.ส.ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟได้เลือกผู้แข่งขันที่จะเข้าชิงชัยตำแหน่งหัวหน้าพรรคมาได้สองคน คือ นายริชชี่ สุหนาก ซึ่งได้คะแนนจาก ส.ส. สูงที่สุด (อดีต ร.ม.ต. คลังซึ่งลาออกเพื่อประท้วงความประพฤติของนายบอริส) ตามมา คือ นางเอลิซาเบธ ทรัสส์ รมต.ต่างประเทศ

ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ผู้สมัครสองคนนี้ได้ตระเวนหาเสียงไปทั่วประเทศเพื่อแสดงนโยบายของตนว่าถ้าได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจะบริหารประเทศอย่างไร ซึ่งถ้าเห็นชอบด้วย ก็ขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่มีอยู่ราว ๑๖๐,๐๐๐ คน

การตระเวนหาเสียงหรือเสนอนโยบายของผู้สมัครทั้งสองคนจะสิ้นสุดลงในวันที่ ๓๑ สิงหาคมนี้ ผู้เขียนเห็นว่าการเสนอนโยบายของผู้สมัครทั้งสองคนน่าสนใจมาก จึงอยากนำมาเล่าให้ฟังโดยอาศัยข้อมูลจากรายงานข่าวของบีบีซีภาคภาษาอังกฤษ

ที่ได้อ่านมารายงานของบีบีซีภาคภาษาอังกฤษทำได้ชัดเจนมากทีเดียว โดยได้สรุปนโยบายของผู้สมัครทั้งสองคนมาให้เห็นในด้านต่าง ๆ เช่น Tax & spending, Cost of living, Climate, Brexit, Health & social care, Education, Housing planning, Profile ก็คือ เรื่องภาษีและการใช้งบประมาณ, ค่าครองชีพ, การออกจากสหภาพยุโรป, การสาธารณะสุข, การศึกษา ตลอดจนเรื่องบ้านที่อยู่อาศัย คนไหนสนใจในเรื่องใดก็คลิกเข้าไปอ่านได้หรืออยากจะรู้ประวัติความเป็นมาของแต่ละคนก็หาอ่านได้เช่นกัน ซึ่งก็ละเอียดดี 

อยากจะบอกว่ารายงานข่าวแบบนี้ทำให้ผู้อ่านได้รู้ว่า ผู้สมัครคนไหนจะทำอะไรเมื่อเข้ามาบริหารบ้านเมืองและรู้ว่าเขาพูดอะไรไว้บ้าง นับว่าเป็นสื่อสารมวลชนที่ส่งสาส์นได้ดีทีเดียว

นโยบายที่บีบีซีรวบรวมมาได้นี้ ก็จากการประกาศของผู้สมัครทั้งสองเอง รวมทั้งการตอบข้อซักถามจากสมาชิกพรรคหรือการสัมภาษณ์ของสื่อมวลชน ผู้เขียนจะยกประเด็นสำคัญ ๆ มาให้ท่านได้ทราบบางส่วน

เรามาดูกันว่านาง เอลิซาเบธ ทรัสส์ หรือจะเรียกเธอสั้น ๆ ว่า ลิธ ทรัสส์ ซึ่งมีข่าวว่าขณะนี้เธอกลับมีเสียงนำนายริชชี่ สุหนากอยู่ เธอมีนโยบายสำคัญอะไรบ้าง

เธอประกาศว่าจะกลับไปใช้อัตราการเรียกเก็บภาษีที่เรียกว่า National Insurance ในอัตราเดิม หลังจากที่รัฐบาลประกาศขึ้นมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา, สัญญาว่าจะยกเลิกแผนการที่จะขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก ๑๙% เป็น ๒๕% ในปีหน้า, สัญญาว่าจะเปลี่ยนระบบภาษีให้ง่ายขึ้นเพื่อที่จะช่วยคนที่ต้องอยู่บ้านเพื่อเลี้ยงลูกและญาติที่ชรา, เธอต้องการที่จะสร้างระบบที่เรียกว่า ภาษีต่ำและเขตควบคุมที่ไม่เข้มงวดทั่วประเทศเพื่อที่จะให้เป็นศูนย์กลางของบริษัทใหม่ ๆ หรือแนวคิดใหม่ ๆ, เธอบอกว่าจะไม่ตัดงบใช้จ่ายสาธารณะ เว้นไว้เสียแต่ว่าถ้าการต้องทำเช่นนั้นจะไม่นำไปสู่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต, นอกจากนี้เธอจะยับยั้งสิ่งที่เรียกว่า “green levy” คือเงินส่วนหนึ่งที่ประชาชนจ่ายค่าพลังงานและถูกนำไปเป็นค่าสนับสนุนโครงการสีเขียวและสังคม และที่สำคัญคือ เธอจะใช้งบประมาณทางด้านกลาโหมในระดับ ๒.๕% ของ GDP ไปในอีก ๔ ปีข้างหน้า และจะเพิ่มเป็น ๓% ในปี พ.ศ. ๒๕๗๓

จะเห็นได้ว่านโยบายเหล่านี้ล้วนเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ที่ใกล้ตัวประชาชนคนอังกฤษทั้งสิ้น ทีนี่มาฟังทางด้านคู่แข่งของเธอคือนายริชชี่ สุหนาก ที่เคยเป็นรัฐมนตรีคลังมาก่อนว่า นายริชชี่ จะบริหารประเทศอย่างไรบ้าง

นโยบายของนายริชชี่ดูจะตรงกันข้ามกับของนางลิธ ทรัสส์ทีเดียว เพราะหัวใจที่เขายึดมั่นอย่างเหนียวแน่นคือเขาต้องการที่จะควบคุมภาวะเงินเฟ้อของประเทศให้อยู่หมัดก่อน ก่อนที่จะไปลดภาษี นายริชชี่ประกาศว่าในสภาวะเศรษฐกิจของอังกฤษในขณะนี้ต้องลดและควบคุมภาวะเงินเฟ้อให้ได้เสียก่อนอื่นใด เขายืนยันและต้องการที่จะขึ้นภาษีที่เรียกว่า National Insurance เพื่อนำไปใช้จ่ายในด้านสุขภาพ,เขายืนยันและต้องการที่จะขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก ๑๙% เป็น ๒๕% ในปีหน้า (ภาษีทั้งสองอย่างนี้มีผลกระทบโดยตรงกับประชาชนคนอังกฤษ)

แฮรี่และเมแกน สะบั้นสัมพันธ์ ‘ราชวงศ์อังกฤษ’ หลังถ่ายทอดเรื่องราว ‘สาวไส้ให้กากิน’ ผ่าน Netflix ด้วยความจริงที่มาจากฝั่งเดียว

เมื่อเป็นข่าวตอนแรกๆผู้เขียนไม่ได้สนใจในเรื่องนี้นัก แต่พออ่านข่าวที่ออกมาหลังจากที่สารคดี ๖ ตอนจบที่ Netflix จัดทำและเผยแพร่ออกมา ก็เริ่มสนใจว่าทั้งดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซสของอังกฤษออกมาพูดอะไรบ้างและเห็นคนที่ดูออกมาวิจารณ์มากมายก่ายกอง เลยอยากเขียนเรื่องนี้สักหน่อยโดยอาศัยอ้างอิงจากบทความของ Katie Razzall ซึ่งเป็นบรรณาธิการด้านวัฒนธรรมและสื่อ ของบีบีซี 

ก่อนที่จะไปพูดถึงบทความของเคธี่ แลซเซอล์ เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจที่มาที่ไปของเรื่องนี้ก็คือ Netflix ได้จ้างหรือเชิญด้วยราคาแพง (ตามข่าว) ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์หรือที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือ เจ้าชายแฮรี่และภรรยาคือเมแกน มาร์เคิล อดีตดาราโทรทัศน์ชาวอเมริกันให้มาเล่าเรื่องราวชีวิตของทั้งสองคนว่ามีอะไรและ เป็นอย่างไรที่ได้ประสพมามีปัญหาอะไรกับราชวงศ์อังกฤษ ตามที่เคยเป็นข่าวมาบ้างแล้ว แต่นั้นก็เป็นการให้สัมภาษณ์เป็นช่วงๆเมื่อมีเรื่องขึ้นมา

แต่ Netflix อาจเห็นว่ามันยังไม่มากพอหรือกระจ่างชัดพอเลยทำเป็นสารคดียาว ๆ เล่ากันเสีย ๖ ตอนเกือบ ๖ ชั่วโมงจบซึ่งก็เพิ่งจะจบไปหมาดๆนี่เอง ไหน ๆ ก็เป็นข่าวดังไปทั้งคุ้งน้ำทั้งสองฝากฝั่งแอตแลนติกแล้ว ดังนั้นลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็น่าจะได้รู้กันบ้างจึงเป็นที่มาของบทความนี้

เนื่องจากการเล่าเรื่องของทั้งเจ้าชายแฮรี่และเมแกนมีความยาวมาก บทความนี้จะกล่าวถึงเพียงคร่าว ๆ แต่ถ้าท่านผู้อ่านสนใจอยากดูก็เชิญติดตามได้ที่ Netflix แต่สิ่งที่ผู้เขียนอยากพูดถึงคือมุมมองของบ.ก ด้านวัฒนธรรมและสื่อของบีบีซีที่ได้ดูทั้ง ๖ ตอนและเธอได้สรุปแยกเป็นตอนๆไว้อย่างน่าสนใจว่าทั้งคู่พูดถึงอะไรและมีข้อน่าสังเกตอย่างไรบ้าง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top