'เยอรมนี' ยอมรับอยู่ไม่รอดฤดูหนาว หากไม่ได้ก๊าซจากรัสเซียเพิ่มเติม

เยอรมนีจำเป็นต้องซื้อก๊าซธรรมชาติของรัสเซียเพิ่มเติม เนื่องจากคลังสำรองก๊าซในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะเห็นประเทศแห่งนี้ผ่านพ้นช่วงฤดูหนาวไปได้ จากความเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเบอร์ลิน ที่รับผิดชอบงานด้านเครือข่ายไฟฟ้าและก๊าซ ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนท้องถิ่นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

เคลาส์ มุลเลอร์ ประธานสำนักงานเครือข่ายกลาง (Federal Network Agency) กระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานของเยอรมนี ให้สัมภาษณ์กับ Bild am Sonntag สื่อมวลชนท้องถิ่น ที่เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (17 ก.ค.) เตือนว่าแม้คลังสำรองก๊าซขยับเข้าใกล้ 65% ของความจุและมันดีขึ้นกว่าช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่มันยังคงไม่เพียงพอที่จะผ่านพ้นฤดูหนาวหากปราศจากก๊าซของรัสเซีย

มุลเลอร์ ระบุว่า เยอรมนีจำเป็นต้องซื้อก๊าซธรรมชาติของรัสเซียเพิ่มเติมมากน้อยแค่ไหน เวลานี้ขึ้นอยู่กับว่างานซ่อมบำรุงท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม 1 จะแล้วเสร็จตามความคาดหมายในวันพฤหัสบดี (21 ก.ค.) หรือไม่

เมื่อถามว่าในกรณีที่รัสเซียหยุดส่งมอบก๊าซโดยสิ้นเชิง มันจะใช้เวลานานแค่ไหนก่อนที่ราคาพลังงานสำหรับผู้บริโภคในเยอรมนีจะปรับขึ้น มุลเลอร์ตอบว่ายังไม่มีการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม เขาพยายามสร้างความอุ่นใจ ด้วยเน้นว่า "ราคาในสัปดาห์นี้ไม่ได้ดีดตัวขึ้นมากนัก แม้มีการปิดซ่อมบำรุงนอร์ดสตรีม 1" พร้อมบอกมันอาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า "ตลาดอาจซึมซับกับภาวะสูญเสียอุปทานก๊าซรัสเซียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเรามาถึงจุดสูงสุดของราคาก๊าซแล้ว"

ประธานของหน่วยงานควบคุมกฎระเบียบด้านพลังงานแห่งนี้ เน้นย้ำว่าชาวเยอรมนี ไม่ควรตื่นตระหนก และให้คำรับประกันว่าบ้านเรือนประชาชนเป็นกลุ่มที่จะมีความกังวลน้อยที่สุด โดยจะได้รับการป้อนก๊าซนานกว่าภาคอุตสาหกรรมมากๆ

ยิ่งไปกว่านั้น "จะไม่มีเหตุการณ์ที่เราต้องอยู่โดยปราศจากก๊าซโดยสิ้นเชิง" มุลเลอร์ย้ำ โดยบอกว่าหากแม้รัสเซียตัดอุปทานอย่างเด็ดขาด ประเทศอื่นๆ อย่างเช่นนอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์และเบลเยียม จะยังคงขายเชื้อเพลิงฟอสซิลให้เยอรมนี และในอนาคต สถานีก๊าซธรรมชาติเหลวของประเทศเองจะช่วยสร้างความแตกต่าง ประธานสำนักงานเครือข่ายกลางระบุ

มุลเลอร์ กล่าวว่า ถ้าภาวะปันส่วนก๊าซเกิดขึ้น หน่วยงานของเขาจะพิจารณาว่าการหยุดจ่ายก๊าซป้อนภาคธุรกิจหรือโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนโดยเฉพาะจะก่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ เขาเชื่อว่าแม้หากเกิดปัญหาขาดแคลน แต่มันน่าจะส่งผลกระทบเฉพาะพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ในส่วนท้ายของโครงข่ายก๊าซเท่านั้น

ขณะเดียวกัน มุลเลอร์ ได้ปฏิเสธทำตามคำแนะนำที่ชี้แนะว่า เบอร์ลิน ควรห้ามส่งออกก๊าซไปยังบรรดาประเทศเพื่อนบ้านยุโรป โดยเขาเน้นย้ำถึงความสำคัญของความเป็นหนึ่งเดียวกัน "ก็เหมือนกับเราในตอนนี้ที่กำลังได้ประโยชน์จากท่าเรือก๊าซธรรมชาติเหลวในเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ เยอรมนีจะให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านหากพวกเขาเผชิญปัญหาขาดแคลนก๊าซรุนแรง"

อย่างไรก็ตาม มุลเลอร์ ยอมรับว่าเยอรมนีคงต้องเผชิญกับฤดูหนาวที่ยากลำบาก 2 ปีติด จากความเสี่ยงก๊าซธรรมชาติขาดแคลน แต่พอถึงช่วงฤดูร้อนปี 2024 ประเทศของเขาจะเป็นอิสระจากก๊าซของรัสเซีย "แต่สิ่งที่เป็นความจริงเช่นกัน คือ ราคาจะไม่มีทางกลับมาอยู่ในระดับต่ำเหมือนในอดีตอีกแล้ว"

นับตั้งแต่รัสเซียเปิดปฏิบัติการรุกรานยูเครนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปพุ่งสูงขึ้น แตะระดับเหนือกว่า 3,600 ดอลลาร์ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในช่วงต้นเดือนมีนาคม

แม้ยูเครนและประเทศยุโรปตะวันออกบางชาติ ในนั้นรวมถึงโปแลนด์ เรียกร้องสหภาพยุโรปแบนนำเข้าก๊าซธรรมชาติรัสเซีย แต่จนถึงตอนนี้อียูยังคงล้มเหลวในการนำมาตรการนี้มาใช้ เนื่องจากบรรดารัฐสมาชิกมีความเห็นแตกแยกกันในประเด็นนี้

ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน โรเบิร์ต ฮาเบค รัฐมนตรีเศรษฐกิจประกาศระดับแผนฉุกเฉินรับมือวิกฤตพลังงานสู่ขั้น 2 จากทั้งหมด 3 ขั้น โดยมันเกิดขึ้นหลังจากรัสเซียปรับลดอุปทานที่ป้อนผ่านท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม 1 อันมีต้นตอจากขาดกังหันแปลงก๊าซตัวหนึ่ง ซึ่งส่งไปซ่อมและตกค้างอยู่ในแคนาดา สืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตร

แคนาดายอมส่งคืนกังหันแปลงก๊าซที่ผ่านการซ่อมแซมแล้ว แต่บอกเช่นกันว่าจะยกระดับคว่ำบาตรเล่นงานภาคพลังงานมอสโก

เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม รัสเซียได้เริ่มงานซ่อมบำรุงประจำปีท่อลำเลียงดังกล่าว นั่นหมายความว่าจะมีการตัดอุปทานก๊าซทั้งหมดที่ไหลสู่เยอรมนี


ที่มา : อาร์ทีนิวส์ https://mgronline.com/around/detail/9650000068062