Trümmerfrau ‘เหล่าสตรี’ ผู้เก็บกวาดเศษซากปรักหักพังของเยอรมนี หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒


ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อาคารบ้านเรือน ๓.๖ ล้านหลัง จาก ๑๖ ล้านหลัง ใน ๖๒ เมืองของเยอรมนีถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองจนพังราบ และอีก ๔ ล้านหลังได้รับความเสียหาย 

ครึ่งหนึ่งของอาคารบ้านเรือนทั้งหมด โครงสร้างพื้นฐานกว่าร้อยละ ๔๐ และโรงงานมากมายหลายพันแห่งได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย ประมาณว่า ทำให้มีเศษหินหรืออิฐประมาณ ๕๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร (คิดเป็นปริมาตรที่มากกว่าหินที่ใช้สร้างมหาพีระมิดแห่งกิซา ๑๕๐ เท่า) และทำให้ชาวเยอรมันราว ๗.๕ ล้านคนกลายเป็นคนไร้บ้าน

นับตั้งแต่การโจมตีทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ชาวเยอรมันต่างก็คุ้นเคยกับการเก็บกวาดซากเศษอันเกิดจากความเสียหายของการทิ้งระเบิด ซึ่งงานเก็บกวาดเหล่านี้ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยแรงงานบังคับและเชลยศึก แต่หลังจากสิ้นสุดสงคราม พวกเขาไม่สามารถใช้แรงงานเหล่านั้นได้อีกต่อไป ดังนั้นชาวเยอรมันจึงต้องทำงานเก็บกวาดเศษซากปรักหักพังต่าง ๆ ด้วยตนเอง
 

Trümmerfrau (The rubble woman) เป็นภาษาเยอรมันที่เรียกหญิงซึ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ออกมาช่วยเก็บกวาดซากเศษ รวมถึงการสร้างเมืองที่ถูกทิ้งระเบิดในเยอรมนีและออสเตรียขึ้นใหม่ เมืองหลายร้อยแห่งได้รับความเดือดร้อนจากการทิ้งระเบิด และความเสียหายจากเพลิงไหม้จากการโจมตีทางอากาศและสงครามภาคพื้นดิน และด้วยผู้ชายจำนวนมากที่เสียชีวิตหรือตกเป็นเชลยศึก ภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้จึงตกอยู่กับหญิงชาวเยอรมันจำนวนมาก

ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๙ ภายใต้การยึดครองของกองกำลังสัมพันธมิตรทั้งในเยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออก ได้มีคำสั่งให้หญิงชาวเยอรมันทุกคนที่มีอายุระหว่าง ๑๕ ถึง ๕๐ ปี ต้องมีส่วนร่วมในการทำความสะอาดเก็บกู้จัดการเศษซากปรักหักพังอันเกิดจากสงคราม โดยทำงานนี้เพื่อแลกกับอาหาร (ซุป) เมื่อสิ้นสุดการทำงานในแต่ละวัน

และเนื่องจากการสูญเสียชายชาวเยอรมันในสงคราม ทำให้มีประชากรหญิงมากกว่าประชากรชายในเยอรมนีถึงเจ็ดล้านคน
 

ตอนแรก ๆ งานที่ออกมายังไม่เรียบร้อย ทั้งยังไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก โดยมีรายงานว่า เศษหินหรือเศษอิฐ มักถูกทิ้งลงไปในปล่องระบายอากาศของรถไฟใต้ดินที่อยู่ใกล้ที่สุด ซึ่งต่อมาต้องรื้อถอนออก ตามปกติบริษัทเอกชนจะได้รับมอบหมายให้ขนย้ายเศษซากปรักหักพังออกไป พร้อมกับอนุญาตให้จ้างผู้หญิงเพื่อทำงานดังกล่าว โดยงานหลักคือการรื้อถอนส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่เหลือรอดจากการทิ้งระเบิด แต่ไม่มีความปลอดภัยพอและไม่เหมาะสำหรับการซ่อมแซมปรับปรุง

ปกติแล้วการทำงานแบบนี้จะไม่ใช้เครื่องจักรกลหนัก โดยมีเครื่องมือหลักคือ ค้อน เลื่อย จอบ บุ้งกี๋ และรอกกว้านมือหมุน หลังจากรื้อซากปรักหักพังแล้ว ส่วนที่เหลือจะต้องถูกรื้อถอนเพิ่มเติมต่อไป 

 

ก้อนอิฐเป็นชิ้นส่วนเพียงอย่างเดียวที่สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างใหม่ได้ในภายหลัง กลุ่มคนงานหญิงจะขนก้อนอิฐไปวางที่ถนนเพื่อทำความสะอาดและวางซ้อนกัน รวบรวมไม้และคานเหล็ก เตาผิง อ่างล้างหน้า สุขภัณฑ์ ท่อ และของใช้ในครัวเรือนอื่น ๆ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เศษซากที่เหลือจะถูกขนออกไปโดยรถเข็น เกวียน และรถบรรทุก บางส่วนถูกนำมาใช้ใหม่ในภายหลังเพื่อถมเติมหลุมบ่อ และร่องลึกที่เหลืออยู่ตามถนน หรือเพื่อสร้างอิฐใหม่ ทางรถไฟแบบรางเบามักถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ขนส่งเศษหินหรืออิฐออกไปทิ้งยังกองขยะ 



Teufelsberg กรุงเบอร์ลิน ซึ่งสร้างขึ้นจาก Schuttberge (กองเศษซากปรักหักพัง)

ในบางเมือง สร้างขึ้นจาก Schuttberge (กองเศษซากปรักหักพัง) และปัจจุบันยังคงมีอยู่ในหลายเมืองของเยอรมนี โดยเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีคือ Teufelsberg ในกรุงเบอร์ลิน ซึ่งใช้เวลาสร้าง ๒๒ ปีจากเศษซากที่มากถึง ๘๐ คันรถบรรทุกต่อวัน Trümmerfrau ทั้งอาสาสมัครและพนักงานประจำ ทำงานในทุกสภาพอากาศ พวกเขาถูกจัดระเบียบเป็น Kolonnen (คอลัมน์) ด้วยจำนวนสมาชิกสิบถึงยี่สิบคน 

เวลาทำงานโดยเฉลี่ยของ Trümmerfrau คือเก้าชั่วโมงโดยมีเวลาพักเที่ยงเพียง ๒๐-๓๐ นาที หญิงเหล่านี้ได้รับเงินในอัตรา 72 Reichspfennige (Pfennig) ต่อชั่วโมง พร้อมกับบัตรปันส่วนอาหารหนึ่งใบ บัตรใบนี้ได้รับอาหารพอสำหรับหนึ่งคนในแต่ละวันเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วบัตรปันส่วนแบ่งสรรปันอาหารให้น้อยมาก ๆ 

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ Margert Bourke White นักข่าวชาวอเมริกันแสดงความคิดเห็นว่า หญิงเหล่านี้ประกอบกันกลายเป็นสายพานมนุษย์ต่อกัน โดยทำหน้าที่เก็บกวาดและขนก้อนอิฐที่แตกหัก ทำความสะอาดเมืองจากมือหนึ่งไปสู่อีกมือหนึ่งด้วยการเคลื่อนไหวที่ช้ามากจนรู้สึกราวกับว่า พวกเธอคำนวณความเร็วขั้นต่ำที่พวกเธอสามารถทำงานได้ และยังคงได้รับค่าแรงเพียง 72 Pfennigs ต่อชั่วโมง ในแต่ละวันของ Trümmerfrau จบลงด้วยการรับบัตรปันส่วนอาหาร ๙ ใบและเงิน Reichsmarks 6 Marks กับอีก 48 Pfennige 

สำหรับราคาสินค้าในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ได้แก่ ขนมปังหนึ่งก้อน = 80 Marks, เนยหนึ่งปอนด์ = 600 Marks, บุหรี่หนึ่งมวน = 10 Marks



บัตรปันส่วนอาหาร

Nationales Aufbauwerk ในเขตยึดครองของสหภาพโซเวียตหรือเยอรมนีตะวันออก

ในเขตยึดครองของสหภาพโซเวียตหรือเยอรมนีตะวันออก มีการจัดตั้ง ‘งานฟื้นฟูแห่งชาติ (Nationales Aufbauwerk)’ ขึ้นเพื่อสานต่อภารกิจของ Trümmerfrau ส่วนในเยอรมนีตะวันตก งานรื้อถอนยังคงดำเนินต่อไปในชื่อของ Notstandsarbeiten (State-of-emergency Works) จนกว่าเมืองต่าง ๆ จะได้รับการทำความสะอาดจนสามารถเริ่มต้นการฟื้นฟูได้ ในทั้งสองเยอรมนีและออสเตรีย ภารกิจของ Trümmerfrau ได้รับการยอมรับด้วย อนุสรณ์ รางวัล และนิทรรศการมากมาย 
 

ในปีพ.ศ. ๒๔๘๙ กองบัญชาการใหญ่สัมพันธมิตรได้ตีพิมพ์แสตมป์ชุดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ‘Bärenmarken’ โดยนักออกแบบกราฟิก Alfred Goldhammer และ Heinz Schwalbe ประกอบด้วยภาพสี่ภาพที่มีสัญลักษณ์ของการสร้างใหม่ หมีกับอิฐ หมีกับพลั่ว หมีกับคาน และต้นโอ๊กหน้าซากปรักหักพังที่จัตุรัส Belle-Alliance
 

บทบาทของหญิงเหล่านี้ยังถือว่า มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงบทบาททางเพศภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในเยอรมนี และแนวคิดในเรื่องการทำงานนอกบ้านของผู้หญิงเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการในเยอรมนีตะวันออกมากกว่าในเยอรมนีตะวันตก ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ Angela Merkel อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนีซึ่งเป็นชาวอดีตเยอรมันตะวันออก



👍 ติดตามผลงาน อาจารย์โญธิน มานะบุญ เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.โญธิน%20มานะบุญ