'เพื่อไทย' ซัด!! รัฐบาลใช้งบพีอาร์หลายพันล้าน แต่สู้ 'ผู้ว่าฯ กทม.' ที่ใช้แค่มือถือไลฟ์ลงเฟซบุ๊กไม่ได้

เมื่อวันที่ (5 ก.ค.) น.ส.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้สัมภาษณ์ว่าพูดคุยกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.กรณีการจัดการสายสื่อสาร พร้อมระบุว่ารัฐบาลทำงานมาตลอด แต่ยอมรับว่าประชาสัมพันธ์สู้นายชัชชาติไม่ได้ว่า สะท้อนแนวคิดการทำงานแบบน้ำเต็มแก้วของนายชัยวุฒิและรัฐบาลชุดนี้ ที่ชอบพูดเสมอว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มีผลงานมากมาย แต่อ่อนด้อยการประชาสัมพันธ์ ประชาชนจึงไม่ทราบ ปัญหาการบริหารที่ผ่านมาของรัฐบาล หากมองแค่การอ่อนประชาสัมพันธ์คงเป็นการมองปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุแห่งปัญหาคือผลงานของรัฐบาลและของ รมว.ดิจิทัล หากมีผลงานที่ประชาชนจับต้องได้ ต่อให้ไม่ต้องทำการประชาสัมพันธ์ก็จะมีการพูดถึงปากต่อปากโดยประชาชน ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ยั่งยืน 

แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กลับใช้เงินภาษีของประชาชนประชาสัมพันธ์นโยบายของภาครัฐต่อปีไม่ต่ำกว่า 2,400 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2565 เฉพาะกรมประชาสัมพันธ์ได้งบประมาณ 2,423 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2566 ได้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 70 ล้านบาทเป็น 2,493 ล้านบาท ยังไม่รวมการประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาลผ่านกระทรวงและหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งประชาชนเจ้าของภาษีมีสิทธิที่จะตั้งคำถาม ว่าเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินคุ้มค่าหรือไม่

น.ส.อรุณี กล่าวต่อว่า ขณะที่ทีมงานถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กเพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามการทำงานของผู้ว่าฯ กทม. ใช้ช่างภาพ 1 คนกับโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่องเท่านั้น โดยโทรศัพท์มือถือรุ่นที่ใช้ราคาเฉลี่ย 20,000 บาท หากจะคำนวนเป็นเม็ดเงินต่อปี เมื่อรวมกับเงินเดือนแอดมิน ค่าโทรศัพท์และค่าเดินทาง ในการถ่ายทอดสดการลงพื้นที่ของผู้ว่าฯ กทม. คาดว่าไม่เกิน 7-8 แสนบาทต่อปี ประสิทธิผลที่ได้แตกต่างกันอย่างลิบลับ แต่สิ่งที่ประชาชนเห็นคือการทุ่มเทแก้ไขปัญหา บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนอย่างจริงใจ ตรงไปตรงมา ประสบความสำเร็จ น่าจะเป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนอยากได้รับจากรัฐบาลมากกว่าการได้เห็นเพียงแค่การประชาสัมพันธ์เท่านั้น  

อดสงสัยไม่ได้ว่ารัฐประชาสัมพันธ์ไม่เป็น หรือไม่มีผลงานให้ประชาสัมพันธ์กันแน่ แทนที่ รมว.ดิจิทัลฯ และรัฐบาลจะเรียนรู้และแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง เรียนรู้จากความสำเร็จ รวมทั้งรูปแบบการทำงานของผู้อื่น  ไม่ใช่การห่วงจัดอีเวนต์เน้นภาพส่งสื่อแล้วจบไป เพราะสิ่งที่ประชาชนต้องการ คือคนที่ลงมือทำงานจริงจัง