WHO ซูฮก!! ยกไทยพิชิตโควิดยอดเยี่ยม ขอนำแนวทางไปปรับในระดับสากล

‘บิ๊กตู่’ ชื่นชมบุคลากรทางการแพทย์ไทย 2 ท่าน ขึ้นรับรางวัลจาก WHO ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 75 พร้อมขอบคุณทีมไทยแลนด์แสดงศักยภาพด้านสาธารณสุขไทยเป็นที่ยอมรับระดับโลก 

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ชื่นชมความสำเร็จของบุคลากรทางการแพทย์จากประเทศไทย 2 ท่าน ที่ได้รับรางวัลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกอบด้วย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในรางวัล Dr LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health และนพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ในรางวัล Sasakawa Health Prize สำหรับพิธีมอบรางวัลได้จัดขึ้นในวันเดียวกันนี้ (27 พ.ค.) ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 75  ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งในส่วนของ ศ.นพ.ประกิต ติดภารกิจไม่สามารถเดินทางไปรับรางวัลด้วยตนเอง นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา จึงเป็นผู้ขึ้นรับรางวัลแทน 

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ทั้ง 2 ท่าน ได้รับการยกย่องจาก WHO เนื่องด้วยเป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อวงการสาธารณสุข โดย ศ.นพ.ประกิต วาธีสาธกกิจ ได้ทำงานภาคประชาสังคมในการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มีผลงานเชิงประจักษ์เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข เป็นจักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคจอประสาทตา ที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาตาบอดในประเทศไทย โดยเฉพาะภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตา โดยพัฒนาวิธีการคัดกรอง ริเริ่มโครงการสำคัญๆ กระทั่งจำนวนผู้ป่วยที่ตาบอดอันเนื่องมาจากภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตาลดลงอย่างมาก

น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทีมไทยแลนด์ ทั้งส่วนของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันผลักดันงานทุกด้านจนระดับสาธารณสุขไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก อาทิ ความสามารถในการบริหารจัดการกับสถานการณ์โควิด19 ซึ่งจากที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นำคณะเข้าร่วมประชุม WHA ที่นครเจนีวา ระหว่างวันที่ 22-28 พ.ค. ผู้บริหารของ WHO ก็ได้ให้ความชื่นชมประเทศไทยในเรื่องนี้ และจะนำรูปแบบการบริหารจัดการของไทยไปพัฒนาให้เป็นสากลและใช้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตลอดจนความร่วมมือของไทยกับ WHO ตามโครงการพัฒนาระบบศูนย์กลางทางชีวภาพ หรือ WHO Biohub system ไทยก็เป็นประเทศแรกๆ ที่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ แสดงถึงขีดความสามารถและมาตรฐานระดับสูงของห้องปฏิบัติการ การถอดรหัสพันธุกรรม การเพาะและส่งต่อเชื้อโรคใหม่ๆ สามารถร่วมกับ WHO ในการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จะรับมือกับโรคได้รวดเร็ว นำไปสู่การวิจัยให้ได้ยา วัคซีนหรือแนวทางการป้องกัน รักษาโรคที่เป็นภัยคุกคามใหม่กับประชาคมโลกที่มีประสิทธิภาพ

“นายกรัฐมนตรีขอบคุณทีมไทยแลนด์ ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ทุกๆ ท่านที่ทุ่มเทการทำงาน ซึ่งนอกจากจะได้ดูแลคนไทยแล้วยังสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ทั้งในส่วนการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และการดูแลรักษาประชาชนในยามปกติ เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่มุ่งมั่นดูแลประชาชนให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลด้วยคุณภาพที่ดีและเท่าเทียม” น.ส.ไตรศุลี กล่าว