มาดูแลผิวรับหน้าร้อนกันเถอะ

เมื่อถึงหน้าร้อนเป็นช่วงเวลาที่อุณหภูมิสูงขึ้น แสงแดดจัด ส่งผลให้ผิวหนังเกิดความระคายเคือง หน้ามันเยิ้ม ผิวไหม้แดด ฝ้า กระ ชัดขึ้น หากไม่ได้รับการดูแลอาจส่งผลให้เกิดริ้วรอย จุดด่างดำ ความหมองคล้ำ ผิวเสื่อมสภาพตามมาได้

ตัวการที่ทำร้ายผิวประกอบด้วย แสงแดด, ความร้อน, มลภาวะ, ฝุ่น, ควัน, การใช้ชีวิต, อาหารการกิน ก็มีส่วนทำให้ผิวเสื่อมสภาพได้

💥ปัจจัยทำให้ผิวเสื่อมสภาพ
1.) ปัจจัยภายใน การเสื่อมตามธรรมชาติหรืออายุที่เพิ่มมากขึ้น
2.) ปัจจัยภายนอกหรือสิ่งแวดล้อม
- รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่มากับแสงแดด
- แสงช่วงที่มองเห็นด้วยตาเปล่าโดยเฉพาะแสงสีฟ้า (Blue light) จากหน้าจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ
- รังสีอินฟราเรด เช่น ความร้อนจากการทำงาน, เครื่องยนต์ต่างๆ 
- มลภาวะเป็นพิษทางอากาศ ทั้งควันบุหรี่ (PM10) และฝุ่นขนาดเล็ก (PM2.5) ล้วนส่งผลเสียให้ผิวหนังเสื่อมสภาพเร็วหรือแก่ก่อนวัยได้
- การใช้ชีวิต เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือด้านใด ผิวหน้าด้านนั้นจะมีฝ้าเข็มขึ้นกว่าอีกด้านหนึ่ง

นอกจากนี้ อนุมูลอิสระ (free radicals) ภายในชั้นผิวหนัง ยังทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ทำให้ผิวแพ้ง่าย, ผิวหนังอักเสบ, เส้นเลือดฝอยขยาย, เซลล์ผิวเสื่อมสภาพและตายเร็วขึ้น ทั้งยังลดการสร้างคอลลาเจนและอิลาสติน, เกิดการทำลายดีเอ็นเอ, อาจมีเนื้องอกหรือมะเร็งผิวหนังเกิดขึ้นได้

การเกิดริ้วรอยและความหย่อนยาน ผิวหยาบกร้าน ไม่สดใส เกิดจากชั้นหนังกำพร้าที่หนาตัวขึ้นและชั้นหนังแท้ที่บางลงจากการสูญเสียคอลลาเจนและอิลาสติน 

💥รังสีอัลตราไวโอเลต (UV)

รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่มากับแสงแดด ทำให้เซลล์ผิวหนังทำงานผิดปกติ มีการเปลี่ยนแปลงของผนังเซลล์ ไขมันและโปรตีนในเซลล์ เกิดภาวะผิวเสื่อมจากแสงแดด (Photo aging) รังสีอัลตราไวโอเลตจะทำลายดีเอ็นเอหรือยีนในเซลล์ผิวหนัง ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังมากขึ้น

- ยูวีเอ (UVA) พบได้ทั้งกลางแจ้งและภายในอาคาร สามารถทะลุผ่านเสื้อผ้าและกระจกได้ ยูวีเอจะกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระในเซลล์ชั้นหนังแท้ ทำลายคอลลาเจน, อิลาสตินและดีเอ็นเอ ส่งผลเสียต่อระบบภูมิต้านทาน เป็นสาเหตุของผิวแก่ก่อนวัย ริ้วรอยและมะเร็งผิวหนัง

- ยูวีบี (UVB) แม้จะไม่สามารถทะลุผ่านกระจกได้ แต่จะถูกดูดซับโดยดีเอ็นเอในเซลล์หนังกำพร้าหรือรอยต่อระหว่างชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ ทำให้เกิดผิวไหม้แดด (Sun burn) มีการสร้างเม็ดสีส่วนเกินและมะเร็งผิวหนัง

- ยูวีซี (UVC) มักพบในประเทศที่มีภาวะเรือนกระจก เช่น ประเทศออสเตรเลีย พบผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังมากที่สุดในโลก

💥แสงสีฟ้า (Blue light)

แสงสีฟ้าเป็นแสงที่มองเห็นด้วยตาเปล่าและมีช่วงความยาวคลื่นใกล้เคียงกับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ดังนั้นจึงสามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ เช่น การทำลายเลนส์แก้วตา ผิวหมองคล้ำ สีผิวไม่สม่ำเสมอเช่นเดียวกับภาวะผิวเสื่อมจากแสงแดด

แสงสีฟ้ามาจากหน้าจออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ การได้รับแสงสีฟ้าต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดความเครียดที่ผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ ผิวหนังเสื่อม เกิดอนุมูลอิสระที่ผิวหนัง ส่งผลในการทำลายดีเอ็นเอ คอลลาเจน และอิลาสตินสลาย เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นและหย่อนยาน รวมทั้งกระ ฝ้า 

สังเกตว่ารอยดำจากสิวอักเสบและฝ้า มักจะหายช้าและมีสีเข้มขึ้นที่ด้านข้างใบหน้าโดยเฉพาะข้างที่สัมผัสกับโทรศัพท์มือถือ 

💥มลภาวะและฝุ่นขนาดเล็ก

ฝุ่นขนาดเล็กประกอบด้วย 2 ชนิดได้แก่
1.) ฝุ่นหยาบขนาด 2.5-10 ไมครอน (PM10) สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เช่น ฝุ่นจากการจราจรบนถนน โรงงานบดย่อยหิน โดย PM10 เป็นสาเหตุที่ทำให้ผิวเสื่อม กระตุ้นการอักเสบของผิวหนัง เซลล์ผิวหนังย่อยสลายตัวเอง ไม่สามารถสร้างคอลลาเจนใหม่ได้ เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น ร่องลึก ผิวขาดความเต่งตึงและหย่อนคล้อยได้เช่นเดียวกับรังสีอัลตราไวโอเลต, แสงสีฟ้า, บุหรี่

2.) ฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าและฟุ้งล่องลอยอยู่ในอากาศได้เป็นระยะเวลานาน เช่น ควันท่อไอเสียรถยนต์ ควันจากการหุงต้มอาหาร ควันบุหรี่ โดยนอกจาก PM2.5 จะส่งผลเสียต่อปอด หัวใจและหลอดเลือดแล้ว PM2.5 ยังทำให้ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแพ้ เพิ่มกระและจุดด่างดำมากถึงร้อยละ 20 โดยเฉพาะบริเวณหน้าผากและแก้ม ส่งผลให้ผมบาง ศีรษะล้านและมะเร็งผิวหนังได้

✨ การดูแลผิวสำหรับหน้าร้อน
1.) หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดด หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือ ใส่อุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น เสื้อแขนยาว หมวก ร่ม เป็นต้น
2.) ทาครีมกันแดด โดยเลือกที่สามารถป้องกัน UVA, UVB, แสงสีฟ้า, อนุมูลอิสระ, มลภาวะและฝุ่นขนาดเล็ก (PM10 และ PM2.5) และทากันแดดซ้ำบ่อยๆ เพื่อประสิทธิภาพในการปกป้องผิวสูงสุด
3.) ดื่มน้ำให้เพียงพอ เนื่องจากอากาศร้อนทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าปกติ นอกจากช่วยให้ผิวสดใสและชุ่มชื้นแล้ว ยังส่งผลให้ร่างกายสดชื่น ไม่อ่อนล้าง่ายในช่วงหน้าร้อนอีกด้วย
4.) รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักผลไม้หลากสีและไฟโตนิวเทรียนท์


เอกสารอ้างอิง
-แพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน. เคล็ดลับดูแลผิว Forever Young. กรุงเทพฯ: More of life publishing.
-แพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน. สวยทั้งรูป ยิ่งจูบยิ่งหอม. กรุงเทพฯ: เอ เอ เปเปอร์ แอนด์ สเตชั่นเนอรี่.
-Anan Ding et al., Indoor PM2.5 exposure affects skin aging manifestation. Sci Rep 2017.
-Seo-YeonPark et al., Air pollution, autophagy and skin aging: Impact of PM10 on human dermal fibroblasts. Int J Mol Sci. 2018 Sep.


👍 ติดตามผลงาน กภ.คณิต คล้ายแจ้ง เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/กภ.คณิต%20คล้ายแจ้ง