หั่นงบโปรโมตรัฐ!! ‘วิโรจน์’ ชี้ รัฐสวัสดิการที่ดีทำได้ เพียงแบ่งเค้กเท่าเทียม แนะ หั่นงบ PR รัฐ เพิ่มขนาดเค้ก กทม.

วิโรจน์ชี้ สร้างรัฐสวัสดิการที่ดีทำได้จริง ไม่ใช่แค่เพิ่มขนาดเค้ก แต่ต้องแบ่งเค้กเท่าเทียม ปกป้องเค้กของประชาชนไม่ให้มือดีแอบกิน พร้อมเสนอ 5 นโยบายทำได้ทันทีเพื่อเพิ่มขนาดเค้ก กทม. รวมถึงการตัดงบ PR ภาครัฐ ซึ่งใช้เงินมหาศาลโดยประชาชนไม่ได้ประโยชน์ 

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สัครผู้ว่าฯ กรุงเทพ เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย ว่าด้วยการจัดทำรัฐสวัสดิการที่ดี ต้องเพิ่มขนาดเค้ก หรือขนาดรายได้ของรัฐก่อน โดยวิโรจน์ยืนยันว่าการเพิ่มขนาดเค้กเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องแบ่งเค้กอย่างเป็นธรรม และปกป้องเค้กของประชาชนไม่ให้ถูกเบียดบัง มิฉะนั้นต่อให้เค้กก้อนใหญ่ขึ้นแค่ไหน ประชาชนก็จะไม่ได้รับผลประโยชน์ 

“หากเราไม่สนใจที่จะจัดสรรอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าเค้กจะใหญ่ขึ้นสักเท่าใดคนที่ได้รับประโยชน์ก็จะไม่ใช่ประชาชนอยู่ดี และอันที่จริง เค้กของประเทศไทยไม่ใช่ว่าจะไม่ใหญ่ขึ้น แม้ GDP ไทยจะโตช้ากว่าเพื่อนบ้าน แต่ก็โตทุกปี แต่ในขณะที่เค้กใหญ่ขึ้น คนจนกลับจนลง คนรวยกลับยิ่งรวย จนประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เหลื่อมล้ำที่สุดในโลก การจัดสรรอย่างเป็นธรรมจึงต้องทำทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้เค้กใหญ่ขึ้นก่อนแล้วค่อยจัดสรร” วิโรจน์กล่าว

วิโรจน์ยังเสนออีกว่า หากเปรียบงบประมาณทั้งหมดเป็น เค้ก 1 ก้อน เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อสร้างเมืองที่คนเท่ากัน มี 3 สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกัน ได้แก่

1. ปกป้องเค้กของประชาชน มีตัวอย่างมากมายที่เค้กถูกตัดไปใช้ในโครงการที่ประชาชนแทบไม่ได้ประโยชน์ หนักไปกว่านั้นคือมีคนแอบกินเค้ก จากที่เล็กแทบจะไม่พออยู่แล้วก็ยิ่งเหลือน้อยลงไปอีก แต่เราก็ไม่เคยเห็นผู้ว่าฯ คนไหนลุกขึ้นมาปกป้องเค้กของประชาชน

ต่างเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพราะคนที่จะมาปาดหน้าหรือแอบกินได้ หากไม่ใช่พวกพ้องที่ต้องคอยเกรงอกเกรงใจแล้ว ก็ต้องเป็นคนใหญ่โต ผู้มีบารมี ไม่ใช่ตาสีตาสา อะไรที่ไม่จำเป็น อะไรที่ฟุ่มเฟือย ผู้ว่าฯ ต้องกล้าหาญพอที่จะตัดทิ้ง รวมถึงการแอบเบียดบังเค้กก็ต้องถูกจัดการให้หมดไป เพื่อรักษาไว้ซึ่งเค้กของประชาชน

2.แบ่งเค้กอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าเค้กจะก้อนเล็กหรือใหญ่ มันจะต้องถูกจัดสรรอย่างเป็นธรรมและรัฐสวัสดิการคือหนึ่งในสิ่งที่จะลดความเหลื่อมล้ำและทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นในสังคม

3. ทำให้เค้กก้อนใหญ่ขึ้น หากเราทำข้อ 1 และ 2 ได้ดี เค้กก็จะดูใหญ่ขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะการแบ่งที่เท่าเทียม และการป้องกันไม่ให้ใครมาเบียดบังแอบกินเค้ก

อย่างไรก็ตามด้วยงบประมาณที่มี แม้เราจะสามารถสร้างรัฐสวัสดิการได้ แต่ก็ยังไม่ดีพอเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการที่ดีกว่านี้ เราจำเป็นต้องทำให้เค้กใหญ่ขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

วิโรจน์เสนอว่า สำหรับ กทม. สิ่งที่ผู้ว่าฯ สามารถทำได้ทันทีเพื่อให้ได้เค้กก้อนที่ใหญ่ขึ้น ได้แก่การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและภาษีป้ายให้ครบถ้วน เพราะทุกวันนี้ กทม. ปล่อยให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ เจ้าของห้างสรรพสินค้า นายทุนพลังงาน นายทุนทหาร เอาที่ไปล้อมรั้วปลูกกล้วย แยบยลกว่านั้นคือการซอยที่ให้เป็นที่เส้นก๋วยเตี๋ยวหรือที่ตาบอดเพื่อเลี่ยงภาษี ส่วนภาษีป้ายโฆษณา ปัจจุบัน กทม. จัดเก็บเข้าระบบได้เพียง 30-40% เท่านั้น ที่เหลือเป็นป้ายเถื่อนที่ใช้ระบบมาเฟียเส้นสาย ทำกำไรมหาศาลโดยไม่เข้ารัฐ

อีกช่องทางในการเพิ่มรายได้ให้กทม. คือการกำหนดค่าธรรมเนียมขยะใหม่ กทม. มีค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะปีละ 7,000 ล้าน (หรือ 12,000 ล้าน หากรวมค่าจ้าง ค่าเสื่อมราคา ค่าซ่อมแซมรถขนส่งขยะ)  ต่เก็บค่าธรรมเนียมจัดการขยะได้เพียง 500-600 ล้านบาทต่อปี วิโรจน์ยืนยันว่ารัฐสามารถขาดทุนเพื่อให้บริการสาธารณะได้ แต่รัฐไม่ควรขาดทุนเพื่อโอบอุ้บนายทุน เพราะเมื่อลงไปดูรายละเอียดเราจะพบว่าเหล่าห้างสรรพสินค้าทั้งหลายที่ผลิตขยะเป็นจำนวนมหาศาลกลับจ่ายค่ากำจัดขยะเพียงเดือนละไม่กี่หมื่นบาทเท่านั้น

นอกจากนี้ วิโรจน์ยังเสนอมาตรการเก็บค่าปรับไซต์ก่อสร้างที่ล่าช้าให้ได้จริง เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีการจ่ายใต้โต๊ะเพื่อขอให้ยืดระยะเวลาส่งมอบงานและไม่ต้องจ่ายค่าปรับก่อสร้างล่าช้า ทำให้ กทม. สูญเสียรายได้ และประชาชนก็ต้องเดือดร้อนกับงานก่อสร้างที่ไม่จบสิ้น

ข้อเสนอสุดท้ายของวิโรจน์ในการเพิ่มรายได้ กทม. คือการลดงบ PR ภาครัฐ ซึ่งในแต่ละปีมีการใช้จ่ายจำนวนมากไปกับการขึ้นป้ายหรือพิธีกรรมที่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นเพียงการประชาสัมพันธ์สร้างภาพหรือเพิ่มคะแนนนิยมให้กับบุคคลหรือองค์กรเท่านั้น 

“หากผมเป็นผู้ว่าฯ จะจัดเก็บภาษีที่ดิน ภาษีป้ายให้ครบถ้วน เก็บค่าขยะห้างใหญ่เพิ่ม สั่งปรับไซต์ก่อสร้างที่ส่งงานช้า ตัดงบ PR ภาครัฐให้หมด ทั้งหมดจะทำให้เค้ก กทม. ก้อนใหญ่ขึ้น นโยบายสวัสดิการที่เรานำเสนอ เพิ่มเงินสวัสดิการผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็กเล็ก จะสามารถทำได้ภายใต้งบประมาณที่เรามี” วิโรจน์กล่าวทิ้งท้าย