ถึงรอบชาวสวนยาง!! โอนเงินประกันรายได้ยางงวด 3 แล้ว! เกษตรกรชาวสวนยาง 1.88 ล้านราย ยิ้มออก

ยางพารา เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตเกษตรกรเกือบ 2 ล้านครัวเรือน สาเหตุที่ประเทศไทยปลูกยางพารามากขนาดนี้ นั่นเพราะยางพาราเป็นพืชที่ทำรายได้สม่ำเสมอ กรีดน้ำยางได้เกือบทุกวัน เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีตลาดรองรับ 100% และยังให้ผลผลิตนานกว่า 15 ปีต่อต้น

แต่ทว่า แม้ไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิตยางพาราอันดับหนึ่งของโลก แต่กลับไม่สามารถกำหนดราคายางพาราเองได้ ทำให้เกษตรกรต้องเผชิญกับความผันผวนของราคา ส่งผลให้รายได้ไม่แน่นอน ท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในช่วงที่ภาวะราคายางตกต่ำ

ดังเช่น รัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ได้ใช้นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ในการบริหารจัดการ ผ่านกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีหัวเรือใหญ่ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ขับเคลื่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงการนี้ เป็นนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้หาเสียง เมื่อครั้งเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 นั่นเอง

ในส่วนของยางพารา โครงการดังกล่าวเป็นการประกันรายได้ตามการผลิตแต่ละประเภท ได้แก่ ยางพาราแผ่นดิบคุณภาพดี ประกันรายได้ที่ราคา 60 บาท/กิโลกรัม, น้ำยางสด (DRC 100%) ประกันรายได้ที่ราคา 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ประกันรายได้ที่ราคา 23 บาท/กิโลกรัม 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้โอนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นระยะที่ 3 วงเงินงวดนี้กว่า 850 ล้านบาท สำหรับรอบนี้ ได้กำหนดราคายางพาราอ้างอิง คือ ราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี อยู่ที่ 54.85 บาท/กิโลกรัม ได้ชดเชย 5.15 บาท/กิโลกรัม, ราคาน้ำยางสด (DRC 100%) อยู่ที่ 51.03 บาท/กิโลกรัม ได้ชดเชย 5.97 บาท/กิโลกรัม, ราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) อยู่ที่ 23.18 บาท/กิโลกรัม ซึ่งในส่วนนี้จะไม่มีชดเชย เพราะราคาตลาดสูงกว่าราคารายได้ที่ประกันไว้

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่มีโครงการประกันรายได้เกษตรกรที่รับผิดชอบโดยกระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์นั้น แนวโน้มราคายางในตลาดอยู่ในแนวบวก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินโครงการชะลอขายยางก้อนถ้วยของ กยท. ที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรชาวสวนยาง ไม่ต้องเร่งขายช่วงที่ผลผลิตในตลาดมากเกินไป เมื่อปริมาณผลผลิตในตลาดมีความเหมาะสม ราคาจะปรับตัวขึ้น จึงสามารถนำผลผลิตยางที่เก็บไว้มาขายในช่วงที่ราคายางสูงขึ้นในระดับที่เหมาะสม ขณะที่ถ้าราคาตลาดต่ำกว่าราคาประกันรายได้รัฐบาลก็จ่ายส่วนต่างนั้นให้กับเกษตรกร 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในขณะนี้ ราคายางพาราจะยังไม่ขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 100 บาท ตามที่ชาวสวนยางคาดหวังดังเช่นในอดีตเมื่อหลายปีก่อน แต่โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ก็ทำให้เกษตรกรได้หายใจคล่องและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมกับช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตโรคระบาด 

ยางพารานั้นเป็นหนึ่งในพืชหลัก 5 ชนิดที่รัฐบาลเดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรตามนโยบาย คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด เฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรสวนยางและลงทะเบียนเกษตรกรมีกว่า 1.88 ล้านราย พื้นที่สวนยางกว่า 19.16 ล้านไร่ เมื่อนับรวมพืชเศรษฐกิจหลักทั้ง 5 ชนิด จะพบว่า โครงการสามารถช่วยเกษตรกรทั้งหมดถึง 7.9 ล้านครัวเรือนเลยทีเดียว