Saturday, 20 April 2024
ชาวสวนยาง

ชาวนา - ชาวสวนยางได้เฮ!! "จุรินทร์" คิกออฟจ่ายเงินประกันรายได้ "ข้าว-ยาง" พร้อมกันทั่วประเทศวันนี้!!

วันที่ 9 ธันวาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้บริหารกรมข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)แถลงข่าว จ่ายเงินประกันรายได้ ข้าว-ยาง ปี 3 ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร ตึกสำนักงานปลัด กระทรวงพาณิชย์

นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่สำคัญสำหรับเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับผู้ปลูกยางพารา เนื่องจากมีนโยบายสำคัญคือนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยดำเนินการมาแล้ว 2 ปี ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ 3

สำหรับประกันรายได้ข้าวกับยางนั้น รัฐบาลได้ค้างจ่ายเงินส่วนต่างที่จะต้องจ่ายให้กับเกษตรกร เพื่อชดเชยกับราคาตลาดที่ไม่ถึงรายได้ที่ประกัน สำหรับข้าวค้างจ่าย 5 งวด และยางค้างจ่าย 2 งวด แต่หลังจากท่านนายกรัฐมนตรีขยายเพดานตามพระราชบัญญัติวินัยการคลัง เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2564  มีผลให้เพดานเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 35% สามารถนำเงินที่มีอยู่มาจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับยางพาราได้

สำหรับข้าว ปีที่ 3 เงินที่เกษตรกรจะได้รับ มี 3 ก้อน

>> ก้อนที่หนึ่ง เงินส่วนต่าง โดยงวดที่ 1-2 กับงวดที่ 3 บางส่วน ได้จ่ายให้กับเกษตรกรไปแล้ววงเงินประมาณ 13,000 ล้านบาท ส่วนงวดที่ 3 ที่เหลือ จะมาจ่ายให้ครบโดยเริ่มจ่ายวันนี้ (9 ธ.ค. 2564) โดยจ่ายงวดที่ค้างอยู่ 5 งวดพร้อมกัน คือ งวดที่ 3 บางส่วนและงวด 4-7 รวมเป็นเงิน 64,847 ล้านบาท

ส่วนงวดที่ 8 จะจ่ายวันที่ 14 ธ.ค.เป็นเงิน 3,720 ล้านบาท  และงวดที่ 9-33 จะทยอยจ่ายทุก 7 วันจนครบ โดยงวดสุดท้าย วันที่ 27 พ.ค. 2565   

เกษตรกรครัวเรือนที่ได้รับเงินส่วนต่างสูงสุดสำหรับผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ สูงสุด 58,988 บาท  ข้าวหอมนอกพื้นที่สูงสุด 60,086 บาท ข้าวหอมปทุม สูงสุด 36,358 บาท ข้าวเปลือกจ้าว สูงสุด 67,603 บาท ข้าวเหนียว 71,465 บาท สามารถช่วยชาวนาได้ประมาณ 4.7 ล้านครัวเรือน

>> เงินก้อนที่สอง คือเงินในมาตรการคู่ขนานซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่เข้าร่วมโครงการ เช่น เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางเป็นเวลา 5 เดือนเพื่อไม่ให้ข้าวออกสู่ตลาดมากจนเกินไป ช่วยตันละ 1,500 บาท หรือสหกรณ์เก็บไว้จะช่วยตันละ 1,500 บาท และช่วยเหลือดอกเบี้ย ถ้าสหกรณ์เก็บข้าว 12 เดือน ช่วยดอกเบี้ย 3% ถ้าโรงสี เก็บข้าว 6 เดือน จะช่วยดอกเบี้ย 3% เพื่อไม่ให้ข้าวออกสู่ตลาดมากเกินไปและไปกดราคาข้าวในตลาด

>> ก้อนที่สาม คือ ช่วยค่าบริหารจัดการหรือปรับปรุงคุณภาพข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน สูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท โดยจ่ายวันที่ 13 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป เป็นเงิน 53,871 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.7 ล้านครัวเรือน

ส่วนชาวนาที่น้ำท่วมเสียหายจะได้เงินอีกก้อนหนึ่ง คือ เงินชดเชยความเสียหายจากอุทกภัยหรือภัยธรรมชาติ

โดยชาวนาที่ปลูกข้าวแล้วน้ำท่วม จะยังได้รับเงินส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว เพราะขอให้ปลูกจริง ไปขึ้นทะเบียนแม้พืชผลจะเสียหายเพราะภัยธรรมชาติจะยังได้รับเงินช่วยเหลือส่วนต่างเช่นกัน

สำหรับยางพาราจะเริ่มจ่ายงวดที่ 1-2 ในวันนี้ ( 9 ธ.ค. 2564) เช่นเดียวกัน โดยงวดที่ 1 วงเงินประมาณ 900 ล้านบาท งวดที่ 2 วงเงิน 540 ล้านบาท รวม 1,440 ล้านบาทโดยประมาณ และจะจ่ายงวดที่ 3-6 ทุกเดือนจนถึงเดือน เม.ย. 2565 โดยงวดที่ 3 จะเริ่มจ่ายวันที่ 7 ม.ค. 2565 วงเงิน 8,626 ล้านบาท  สำหรับยางพารามีเงินเตรียมไว้  10,065 ล้านบาท

โดยวงเงินสูงสุดที่ได้รับเฉพาะงวดที่ 1-2 ยางแผ่นดิบสูงสุด 3,835 บาทต่อครัวเรือนน้ำยางข้น 2,975 บาท และยางก้อนถ้วยจะไม่ได้รับเงินส่วนต่าง ที่ผ่านมายางราคาดีกว่าช่วงก่อน สำหรับน้ำยางข้น ประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 57 บาท ตอนนี้ราคาไปกิโลกรัมละ 60 บาทแล้ว ยางก้อนถ้วย ประกันที่กิโลกรัมละ 23 บาท ตอนนี้ 25-26 บาทแล้วภาคอีสานมากกว่าภาคใต้ 1 บาทเพราะอยู่ใกล้แหล่งการส่งออก ซึ่งยางก้อนถ้วยราคาสูงกว่ารายได้ที่ประกันมาเป็นปีแล้ว

 

ถึงรอบชาวสวนยาง!! โอนเงินประกันรายได้ยางงวด 3 แล้ว! เกษตรกรชาวสวนยาง 1.88 ล้านราย ยิ้มออก

ยางพารา เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตเกษตรกรเกือบ 2 ล้านครัวเรือน สาเหตุที่ประเทศไทยปลูกยางพารามากขนาดนี้ นั่นเพราะยางพาราเป็นพืชที่ทำรายได้สม่ำเสมอ กรีดน้ำยางได้เกือบทุกวัน เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีตลาดรองรับ 100% และยังให้ผลผลิตนานกว่า 15 ปีต่อต้น

แต่ทว่า แม้ไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิตยางพาราอันดับหนึ่งของโลก แต่กลับไม่สามารถกำหนดราคายางพาราเองได้ ทำให้เกษตรกรต้องเผชิญกับความผันผวนของราคา ส่งผลให้รายได้ไม่แน่นอน ท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในช่วงที่ภาวะราคายางตกต่ำ

ดังเช่น รัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ได้ใช้นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ในการบริหารจัดการ ผ่านกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีหัวเรือใหญ่ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ขับเคลื่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงการนี้ เป็นนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้หาเสียง เมื่อครั้งเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 นั่นเอง

ในส่วนของยางพารา โครงการดังกล่าวเป็นการประกันรายได้ตามการผลิตแต่ละประเภท ได้แก่ ยางพาราแผ่นดิบคุณภาพดี ประกันรายได้ที่ราคา 60 บาท/กิโลกรัม, น้ำยางสด (DRC 100%) ประกันรายได้ที่ราคา 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ประกันรายได้ที่ราคา 23 บาท/กิโลกรัม 

‘บิ๊กตู่’ ย้ำ!! 5 ยุทธศาสตร์ยางพารา ช่วยเหลือเกษตรกร ตั้งเป้า ‘ประเทศผู้ผลิตยางคุณภาพดี เกษตรกรมีรายได้มั่นคง’

(20 มี.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบความก้าวหน้าจากรายงานการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งได้ดำเนินการผลักดันซื้อขายยางมาตรฐาน และการจัดการป่าไม้ยั่งยืน โดยการซื้อขายล็อตแรกมีจำนวนกว่า 500 ตัน ระหว่างสหกรณ์ชุมชน กับ เอกชน ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินการตามนโยบายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แผนยุทธศาสตร์ยางพารา ระยะ 20 ปี (2560-2579) ที่ช่วยยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการผลิตยางของไทยให้สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง

นายอนุชา กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร ด้านเศรษฐกิจ ด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และด้านเทคโนโลยี ทำให้อาจมีผลกระทบต่อแนวทางการพัฒนา และการปรับตัวภายใต้การผลิตและการซื้อขายผลิตภัณฑ์ยาง ส่งผลให้การซื้อขายยางในหลายประเทศ เริ่มให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย กยท. จึงจัดระบบ ผลักดันสวนยางไทย ให้เข้าสู่ระบบการรับรองป่าไม้ ตั้งแต่กระบวนการปลูกสร้างสวนยาง เก็บเกี่ยว แปรรูป เพื่อผลักดันให้เกิดการซื้อ - ขายผลิตภัณฑ์จากยางพารา ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ผ่านระบบตลาดยางพาราของ กยท. ซึ่งเป็นแนวทางจากแผนยุทธศาสตร์ยางพารา ระยะ 20 ปี (2560-2579) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 

1.การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรฯ และสถาบันเกษตรกรฯ 
2.การเพิ่มประสิทธิภาพ และการยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน  
3.การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 
4.การพัฒนาตลาด และช่องทางการจัดจำหน่าย 
และ 5.การพัฒนาปัจจัยสนับสนุน

‘จุรินทร์’ เผย เริ่มจ่ายเงินประกันรายได้ยางพาราปี 4 แล้ว แนะ ชาวสวนยางอัปเดตสมุดบัญชี ธกส. เพื่อรับเงินส่วนต่าง

(18 เม.ย.66) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ประเด็นการเดินหน้าโครงการประกันรายได้ ปี 4 ที่บริเวณหน้าตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

นายจุรินทร์กล่าวว่า โครงการประกันรายได้เราเดินหน้าปี 4 ทุกตัว แต่ตอนนี้การจ่ายเงินส่วนต่างในส่วนของข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลังไม่มี เพราะราคาดีมาก มันสำปะหลังเราประกันที่ 2.50 บาท/กก. ตอนนี้ไป 3 บาทกว่าเกือบ 4 บาท/กก. และข้าวโพดประกันรายได้ที่ 8.50 บาท/กก. ตอนนี้ไป 12 บาท/กก. ส่วนปาล์มน้ำมัน ประกันรายได้ 4 บาท/กก. ตอนนี้ 5-6 บาท/กก. ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ถือว่าดี ข้าวตอนนี้ราคาเกือบถึงราคาที่ประกัน ถือว่ายังราคาดีอยู่ ข้าวบางตัวราคาสูงกว่าที่ประกัน ส่วนยางพาราต้องจ่าย ซึ่งยางพาราปี 4 เริ่มจ่ายส่วนต่างแล้ว ขอเรียนข่าวดีให้พี่น้องชาวสวนยางทั่วประเทศ เริ่มจ่ายตั้งแต่ 12 เมษายน และจะทยอยจ่ายไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม มีวงเงินเตรียมไว้แล้ว 7,000 กว่าล้านบาทเสนอผ่านครม.ไปแล้ว

ชาวสวนยางเฮ ! ยุครัฐบาลเศรษฐา ยางพาราพุ่ง 74บาท/กก.

นางสาวอัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) กล่าวถึง สถานการณ์ราคายางพาราในปัจจุบัน มีทิศทางที่ดีขึ้น ถ้าเปรียบเทียบราคาเฉลี่ยระหว่างเดือนกันยายน ปี 2566 กับ เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567  ชนิดยางแผ่นรมควันชั้น 3 ขยับขึ้นไปแตะกิโลกรัมละ 74 บาท จากเดิมปี 2566 อยู่ที่กิโลกรัมละ 51 บาท ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคากิโลกรัมละ 70 บาท จากเดิมกิโลกรัมละ 49 บาท ขณะที่น้ำยางสด (DRC 100%) และ ยางก้อนถ้วย (DRC 100%) ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน 

ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคายางในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายก รัฐมนตรี และ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำกับดูแล ได้วางมาตรการปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยจัดตั้งทีมสายลับยางรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกร ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น และ ความต้องการใช้ยางมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ล้อรถยนต์ และรถไฟฟ้า ถุงมือยางและผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ ทั้งนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่า ปี 2567 GDP โลกขยายตัวร้อยละ 2.7 ขณะที่ผลผลิตยางพาราหลายพื้นที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากต้นยางพาราเริ่มผลัดใบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้อุปทานยางในตลาดลดลงส่งผลบวกต่อราคายางมีราคาสูงขึ้น 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top