'ก้าวไกล’ แนะรัฐหนุน ‘แรงงานข้ามชาติ’ เข้าระบบ ชี้!! ยิ่งจับ ยิ่งส่งเสริม ‘ค้ามนุษย์’ เฟื่องฟู

เปิดประเทศสุดลักลั่น สวนความต้องการภาคเศรษฐกิจ ‘สุเทพ’ ชี้ ‘แรงงานข้ามชาติ’ ยิ่งเน้นจับ ยิ่งส่งเสริมขบวนการ ‘ค้ามนุษย์’ เฟื่องฟู

วันที่ 9 พ.ย. 64 นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนแรงงาน พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร สะท้อนทัศนะต่อสถานการณ์แรงงานในขณะนี้ว่า เมื่อรัฐบาลต้องการเปิดประเทศ สิ่งที่ตามมาทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ความต้องการแรงงานเพื่อขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแรงงานต่างชาติที่ยังจำเป็นอย่างมากในหลายภาคส่วน ไม่ว่าภาคประมง ภาคเกษตร ภาคท่องเที่ยว หรือภาคอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่ไม่ควรละเลยคือ ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างชาติ ซึ่งเกี่ยวพันซ้อนทับกับปัญหาหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากขบวนการค้ามนุษย์ ต้นทุนทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงทางสาธารณสุขที่อาจเกิดการระบาดของโควิด-19 ซ้ำรอยกรณีคลัสเตอร์แรงงานต่างชาติจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อกลางเดือนธ.ค. ปีก่อน สิ่งที่น่ากังวลก็คือ เริ่มปรากฏสัญญาณหลายอย่างที่ส่อไปในทางนั้น ซึ่งสะท้อนว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ไม่เคยมีการถอดบทเรียนเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นเลย

“กรณีคลัสเตอร์สมุทรสาคร เกิดขึ้นหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 จากคำสั่งปิดเมืองระลอกแรก ทำให้มีความต้องการแรงงานข้ามชาติสูงในภาคการผลิต แต่ภาครัฐก็ยังดำเนินนโยบายปิดชายแดนอย่างเข้มงวด ไม่ปรับตัวตามสถานการณ์จริงเพื่อทำให้การเข้ามาของแรงงานต่างชาติเป็นไปอย่างถูกกฎหมายภายใต้มาตรการสาธารณสุข ทั้งที่เรื่องนี้สามารถทำได้ ผลที่ตามมาคือ เกิดขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานขึ้น ซึ่งเป็นธุรกิจสีเทาที่จะเกิดไม่ได้เลย หากไม่มีความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตกินสินบาทคาดสินบน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งก็เป็นที่รู้กันดีว่าเจ้าหน้าที่ส่วนไหนมีหน้าที่ในการดูแลชายแดน แต่กลับปล่อยปละละเลยจนเกิดการทะลักเข้ามาของแรงงานเถื่อนได้มหาศาล สุดท้ายจึงเกิดเป็นคลัสเตอร์จังหวัดสมุทรสาครขึ้น นำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอีกครั้ง สร้างความเดือดร้อนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลับไม่สามารถหาตัวเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในความบกพร่องเหล่านี้มารับผิดได้เลย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อมาก”

สุเทพ กล่าวต่อไปว่า เมื่อไม่มีการถอดบทเรียนจนมาถึงการเปิดเมืองในครั้งนี้ จึงยังเห็นนโยบายที่เน้นการปิดชายแดนอย่างเข้มงวดหรือทำให้เป็นเรื่องยากแบบเดิม และสวนทางกับความต้องการของภาคเศรษฐกิจเหมือนเดิม ช่วงที่ผ่านมาจึงเห็นสัญญาณการลักลอบนำเข้าแรงงานข้ามชาติอย่างผิดกฎหมายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งในส่วนที่จับกุมได้ เช่น ที่จังหวัดกาญจนบุรี วันเดียว 260 คน พบว่ามีการจ่ายกันถึงรายละ 18,000 - 23,000 บาทต่อคน ขณะเดียวกัน ส่วนที่จับกุมไม่ได้ก็มี ดังกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถคว่ำและถูกเอาไปทิ้งไว้ข้างทางกว่า 20 คน ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 3 คน ในจำนวนนี้ยังพบผู้ติดเชื้อโควิด- 19 ด้วย   

“สัญญาณเหล่านี้ชัดมากว่ากำลังมีขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานระลอกใหญ่ เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น หากรัฐบาลและกระทรวงแรงงานมีวิสัยทัศน์ในการมองแรงงานเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจเพื่อเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส หันมาส่งเสริมสนับสนุนสวัสดิการและการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเต็มที่ เพื่อจูงใจให้แรงงานต้องการอยู่ในระบบ เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ทั้งแรงงานในประเทศหรือแรงงานข้ามชาติล้วนเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งที่ขาดไม่ได้ทั้งสิ้น ในทางกลับกัน หากบริหารจัดการไม่ดี ปัญหาก็จะวนลูปกลับไปเหมือนกรณีคลัสเตอร์สมุทรสาคร”  

สุเทพ กล่าวต่อไปว่า หากพิจารณาจากความต้องการของภาคเศรษฐกิจขณะนี้ คาดว่า ไทยยังมีความต้องการแรงงานต่างชาติไม่น้อยกว่า 5 แสนคน เพราะแรงงานกลุ่มเดิมที่กลับภูมิลำเนาไปยังไม่สามารถกลับเข้ามาได้หรือกลับมาได้ยาก เนื่องจากการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายมีต้นทุนสูง มีต้นทุนจากการตรวจคัดกรองตามระบบสาธารณสุขเพิ่มเข้ามา ขณะเดียวกันระบบราชการที่ล่าช้าก็เป็นอีกช่องว่างหนึ่งที่ภาคธุรกิจรอไม่ได้ ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ตกค้างในประเทศน่าจะอยู่ประมาณหนึ่งล้านคน บางส่วนเมื่อหมดอายุลง การขึ้นทะเบียนใหม่ก็มีภาระต้นทุนแพงกว่าการใช้แรงงานผิดกฎหมาย 

“การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติยิ่งยาก ขบวนการค้ามนุษย์ก็ยิ่งเฟื่องฟูขึ้น แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เห็นว่าจะเอาผิดใครได้ จึงไม่รู้ว่าทำให้การขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องยากนั้น เป็นการขยิบตาเอื้อประโยชน์ทางนโยบายให้ใครหรือไม่ ในเรื่องนี้มีข้อเสนอจากภาคเอกชนรัฐว่า ควรมีการทำเอ็มโอยูแบบรัฐต่อรัฐในการนำเข้าแรงงานให้ชัดเจน ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และตรวจโรคอย่างถูกหลักของระบบสาธารณสุข ทราบว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีท่าทีขานรับ ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ที่ผ่านมาก็พูดแบบนี้มาตลอด ดังนั้นจึงควรต้องทำอย่างรวดเร็วและจริงจังในทางปฏิบัติด้วย เพราะยิ่งช้ายิ่งไม่ส่งผลดีต่อทั้งภาคเศรษฐกิจ สถานการณ์ทางสาธารณสุข รวมถึงปัญหาทางสิทธิมนุษยชนจากขบวนการค้ามนุษย์”

ทั้งนี้ สุเทพ มีข้อเสนอว่า หลังจากนี้ สิ่งที่ต้องรีบทำทันที คือการช่วยเหลือแรงงานต่างชาติที่ตกค้างในประเทศด้วยการทบทวนปรับลดค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียน เพื่อจูงใจให้นายจ้างนำลูกจ้างมาขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง และขอเรียกร้องให้รัฐบาลนิรโทษกรรมความผิดในการลักลอบเข้าเมืองเป็นการชั่วคราว ไม่ควรมีท่าทีจากรัฐมนตรีเหมือนก่อนหน้านี้ ที่สั่งตั้งทีมตรวจจับตรวจ ค้นนายจ้างว่าจ้างแรงงานผิดกฎหมายหรือไม่ จะต้องมองอย่างเข้าใจว่า นายจ้างเองก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด หลายรายยังไม่ฟื้นและไม่สามารถรับภาระต้นทุนการขึ้นทะเบียนที่สูงมากได้ เชื่อว่า หากการทำถูกกฎหมายไม่ใช่เป็นการสร้างภาระก็คงไม่มีใครอยากทำผิดกฎหมาย สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ต้องการเข้ามาใหม่ ก็ควรเปิดให้เข้ามาได้ โดยผ่านการคัดกรองตรวจหาเชื้อ รวมถึงถ้าสามารถจัดหาวัคซีนมาให้ฉีดได้โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติก็จะยิ่งเป็นการลดความเสี่ยงทางสาธารณสุข

“การแก้ปัญหาแรงงานลักลอบเข้าเมืองที่แท้จริงคือการทำให้ถูกกฎหมาย ไม่ใช่การอ้างบังคับใช้กฎหมาย แต่ไปเอื้อต่อการทุจริตเชิงนโยบายของเจ้าหน้าที่ ราวกับมีเจตนาต้องการให้การขึ้นทะเบียนต้องมีราคาแพง เพื่อกีดกันการเข้ามาของแรงงานอย่างถูกต้อง เหมือนกับต้องการส่งเสริมกลไกธุรกิจสีเทาหรือขบวนการค้ามนุษย์มีช่องให้สามารถทำงานได้” สุเทพ ระบุ