Thursday, 16 May 2024
แรงงานข้ามชาติ

'รมว.เฮ้ง' กำชับนายจ้างพาแรงงานข้ามชาติ ดำเนินการตามมติครม.ภายในกำหนด 

กระทรวงแรงงาน แนะแนวทางการดำเนินการตามมติครม. 29 ธ.ค. 63  มติครม. 13 ก.ค. 64 มติครม. 28 ก.ย. 64 และกลุ่มคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นสุดโดยผลของกฎหมาย เพื่ออยู่ทำงานได้ถึง 13 ก.พ. 66

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน  ให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานข้ามชาติอย่างยิ่ง โดยมีมติครม.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 63 มติครม.เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 64 และมติครม.เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 64 เพื่อเปิดโอกาสให้นายจ้าง/สถานประกอบการดำเนินการขออนุญาตทำงานให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ภาครัฐสามารถให้ความคุ้มครองและความช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนแรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นการสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งสำหรับคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่อยู่ในประเทศไทย แรงงานไทยในสถานประกอบการ ตลอดจนชุมชนโดยรอบ

“ผมขอสรุปโดยง่าย สำหรับแรงงานข้ามชาติทั้ง 3 สัญชาติ ที่ประสงค์จะทำงานในประเทศไทย หากยังดำเนินการในขั้นตอนใดไม่สำเร็จก็ให้เร่งดำเนินการ โดยติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1- 10 ที่เป็นสถานที่ตั้งของสถานประกอบการ สำหรับกลุ่มมติครม. 29 ธ.ค. 63 ที่ถือ บต.48 มีการชำระค่าธรรมเนียมและยื่นขออนุญาตทำงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในวันที่ 13 ก.ย. 64 ที่ผ่านมา ควรเร่งติดต่อขอรับใบอนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด 
สำหรับกลุ่มมติครม. 13 ก.ค. 64 ที่ถือบัตรชมพู ต้องยื่นเรื่องขอต่อใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานเดิมหมดอายุ ภายใน 31 มี.ค. 65 กลุ่มที่ถือ บต. 23 ต้องยื่นแจ้งขอเปลี่ยนเป็นใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานเดิมหมดอายุ ซึ่งหากยังไม่ได้ตรวจสุขภาพต้องดำเนินการให้ทัน ภายใน 31 มี.ค. 65 ในส่วนกลุ่ม MoU ต้องขอต่อใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานเดิมสิ้นสุด เพื่ออยู่และทำงานต่ออีก 2 ปี

และกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 64 จนถึงวันที่ 3 ส.ค. 64 นายจ้างต้องยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวและชำระค่าธรรมเนียม ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป – 1 ธ.ค. 64 ตรวจและทำประกันสุขภาพ ตรวจลงตราวีซ่า รวมทั้งขอหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางฉบับใหม่กรณีเอกสารเดิมหมดอายุ ภายใน 1 ส.ค. 65  ซึ่งถ้าเอกสารประจำตัวหมดอายุ ต้องทำเล่มใหม่และตรวจลงตรากับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ภายใน วันที่ 1 ส.ค. 65 เพื่อได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานในประเทศไทย ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 66

สำหรับการเข้าตรวจสถานประกอบการตามมติครม.วันที่ 28 ก.ย. 64 นั้น มีผลบังคับใช้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงาน ตั้งแต่ 1 พ.ย. 64  ซึ่งกระทรวงแรงงานจะลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการเป็นเวลา 30 วัน เพื่อให้คำแนะนำนายจ้างและแรงงานข้ามชาติ ในการขออนุญาตทำงานให้แก่ลูกจ้าง เพื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงานตามกฎหมายต่อไป ซึ่งกระทรวงแรงงานขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการให้ความสำคัญและดำเนินการภายในกำหนดเพื่อประโยชน์ของท่านและลูกจ้างในความดูแล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

'ก้าวไกล’ แนะรัฐหนุน ‘แรงงานข้ามชาติ’ เข้าระบบ ชี้!! ยิ่งจับ ยิ่งส่งเสริม ‘ค้ามนุษย์’ เฟื่องฟู

เปิดประเทศสุดลักลั่น สวนความต้องการภาคเศรษฐกิจ ‘สุเทพ’ ชี้ ‘แรงงานข้ามชาติ’ ยิ่งเน้นจับ ยิ่งส่งเสริมขบวนการ ‘ค้ามนุษย์’ เฟื่องฟู

วันที่ 9 พ.ย. 64 นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนแรงงาน พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร สะท้อนทัศนะต่อสถานการณ์แรงงานในขณะนี้ว่า เมื่อรัฐบาลต้องการเปิดประเทศ สิ่งที่ตามมาทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ความต้องการแรงงานเพื่อขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแรงงานต่างชาติที่ยังจำเป็นอย่างมากในหลายภาคส่วน ไม่ว่าภาคประมง ภาคเกษตร ภาคท่องเที่ยว หรือภาคอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่ไม่ควรละเลยคือ ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างชาติ ซึ่งเกี่ยวพันซ้อนทับกับปัญหาหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากขบวนการค้ามนุษย์ ต้นทุนทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงทางสาธารณสุขที่อาจเกิดการระบาดของโควิด-19 ซ้ำรอยกรณีคลัสเตอร์แรงงานต่างชาติจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อกลางเดือนธ.ค. ปีก่อน สิ่งที่น่ากังวลก็คือ เริ่มปรากฏสัญญาณหลายอย่างที่ส่อไปในทางนั้น ซึ่งสะท้อนว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ไม่เคยมีการถอดบทเรียนเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นเลย

“กรณีคลัสเตอร์สมุทรสาคร เกิดขึ้นหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 จากคำสั่งปิดเมืองระลอกแรก ทำให้มีความต้องการแรงงานข้ามชาติสูงในภาคการผลิต แต่ภาครัฐก็ยังดำเนินนโยบายปิดชายแดนอย่างเข้มงวด ไม่ปรับตัวตามสถานการณ์จริงเพื่อทำให้การเข้ามาของแรงงานต่างชาติเป็นไปอย่างถูกกฎหมายภายใต้มาตรการสาธารณสุข ทั้งที่เรื่องนี้สามารถทำได้ ผลที่ตามมาคือ เกิดขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานขึ้น ซึ่งเป็นธุรกิจสีเทาที่จะเกิดไม่ได้เลย หากไม่มีความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตกินสินบาทคาดสินบน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งก็เป็นที่รู้กันดีว่าเจ้าหน้าที่ส่วนไหนมีหน้าที่ในการดูแลชายแดน แต่กลับปล่อยปละละเลยจนเกิดการทะลักเข้ามาของแรงงานเถื่อนได้มหาศาล สุดท้ายจึงเกิดเป็นคลัสเตอร์จังหวัดสมุทรสาครขึ้น นำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอีกครั้ง สร้างความเดือดร้อนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลับไม่สามารถหาตัวเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในความบกพร่องเหล่านี้มารับผิดได้เลย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อมาก”

สุเทพ กล่าวต่อไปว่า เมื่อไม่มีการถอดบทเรียนจนมาถึงการเปิดเมืองในครั้งนี้ จึงยังเห็นนโยบายที่เน้นการปิดชายแดนอย่างเข้มงวดหรือทำให้เป็นเรื่องยากแบบเดิม และสวนทางกับความต้องการของภาคเศรษฐกิจเหมือนเดิม ช่วงที่ผ่านมาจึงเห็นสัญญาณการลักลอบนำเข้าแรงงานข้ามชาติอย่างผิดกฎหมายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งในส่วนที่จับกุมได้ เช่น ที่จังหวัดกาญจนบุรี วันเดียว 260 คน พบว่ามีการจ่ายกันถึงรายละ 18,000 - 23,000 บาทต่อคน ขณะเดียวกัน ส่วนที่จับกุมไม่ได้ก็มี ดังกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถคว่ำและถูกเอาไปทิ้งไว้ข้างทางกว่า 20 คน ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 3 คน ในจำนวนนี้ยังพบผู้ติดเชื้อโควิด- 19 ด้วย   

“สัญญาณเหล่านี้ชัดมากว่ากำลังมีขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานระลอกใหญ่ เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น หากรัฐบาลและกระทรวงแรงงานมีวิสัยทัศน์ในการมองแรงงานเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจเพื่อเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส หันมาส่งเสริมสนับสนุนสวัสดิการและการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเต็มที่ เพื่อจูงใจให้แรงงานต้องการอยู่ในระบบ เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ทั้งแรงงานในประเทศหรือแรงงานข้ามชาติล้วนเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งที่ขาดไม่ได้ทั้งสิ้น ในทางกลับกัน หากบริหารจัดการไม่ดี ปัญหาก็จะวนลูปกลับไปเหมือนกรณีคลัสเตอร์สมุทรสาคร”  

สุเทพ กล่าวต่อไปว่า หากพิจารณาจากความต้องการของภาคเศรษฐกิจขณะนี้ คาดว่า ไทยยังมีความต้องการแรงงานต่างชาติไม่น้อยกว่า 5 แสนคน เพราะแรงงานกลุ่มเดิมที่กลับภูมิลำเนาไปยังไม่สามารถกลับเข้ามาได้หรือกลับมาได้ยาก เนื่องจากการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายมีต้นทุนสูง มีต้นทุนจากการตรวจคัดกรองตามระบบสาธารณสุขเพิ่มเข้ามา ขณะเดียวกันระบบราชการที่ล่าช้าก็เป็นอีกช่องว่างหนึ่งที่ภาคธุรกิจรอไม่ได้ ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ตกค้างในประเทศน่าจะอยู่ประมาณหนึ่งล้านคน บางส่วนเมื่อหมดอายุลง การขึ้นทะเบียนใหม่ก็มีภาระต้นทุนแพงกว่าการใช้แรงงานผิดกฎหมาย 

‘ก.แรงงาน’ เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วย “การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ” ภายหลังโควิด-19 ฟื้นเศรษฐกิจไทย!!

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เตรียมพร้อมกำลังแรงงานข้ามชาติต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

วันที่ 21 ธันวาคม 2564 เวลา 09.30 น นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังแรงงานข้ามชาติต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดคลี่คลายลงหรือกลับสู่สภาวะปกติ ณ โรงแรมโนโวเทล มารีน่า ศรีราชา จังหวัดชลบุรี

นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง กล่าวว่ารัฐบาลโดยการนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการชะลอ และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น จึงได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมทุกมิติของการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงาน ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยให้มีสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และเป็นธรรม ตามหลักการเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทยได้รับการดูแลคุ้มครองเท่าเทียมกับแรงงานชาวไทย และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของสากล

“นายกฯ“ สั่ง คุมเข้มชายแดน สกัดแรงงานเถื่อนเข้าเมืองผิดกฎหมาย-ค้ายาเสพติด ขยายผลปราบปราม ป้องก่อเหตุกระทำผิด

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตามแนวชายแดน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง เพิ่มความเข้มงวด เฝ้าระวังสกัดกั้นขบวนการขนย้าย ค้าแรงงานต่างด้าวที่แอบลักลอบเข้าประเทศไทยตามแนวชายแดนโดยผิดกฎหมาย รวมถึงการลักลอบขนยาเสพติดเข้าประเทศไทย  หลังพบการรายงานการจับกุมการลักลอบขนย้ายแรงงานเถื่อนผ่านชายแดนมีความถี่มากขึ้น 

นายธนกร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 65 เจ้าหน้าที่ตรวจยึดของกลางยาบ้า บริเวณเส้นทางธรรมชาติริมฝั่งแม่น้ำโขง พื้นที่บ้านแพงใต้ จังหวัดนครพนม  จำนวน 5 กระสอบ 378 มัด ประมาณ 756,000 เม็ด และส่งมอบให้กับ สภ.บ้านแพง ดำเนินการตามกฎหมาย ขณะที่กองกำลังผาเมือง จับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สัญชาติเมียนมา จำนวน 34 คน เป็นชาย14 หญิง 16 คน เด็กชาย2 คน เด็กหญิง2คน บริเวณ บ.หนองบัวคำ ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ จากการสอบถามต้องการมาทำงานในพื้นที่จังหวัด และกทม.

ผช.รมว.แรงงาน เปิดประชุมทวิภาคี ระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา เพื่อส่งเสริมการสรรหาแรงงานอย่างมีจริยธรรมและยุติธรรม ช่วงระหว่างและหลังการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

วันที่ 14 มกราคม 2565 เวลา 09.00 น. นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวต้อนรับพิธีเปิดการประชุมทวิภาคีเพื่อส่งเสริมการสรรหาแรงงานอย่างมีจริยธรรมและยุติธรรมระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศไทยในช่วงระหว่างและหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล Zoom โดยกล่าวว่า แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบันแรงงานข้ามชาติจากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่ขึ้นทะเบียนมีจำนวนกว่า 2.1 ล้านคน โดยแรงงานกัมพูชามีจำนวน 448,492 คน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในภาคการก่อสร้าง การเกษตร งานบริการต่าง ๆ การผลิตหรือจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม การค้าส่ง ค้าปลีก และแผงลอยในตลาด

ประเทศไทยและกัมพูชามีการลงนามใน MOU ฉบับแรก ว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างกัน เมื่อปี พ.ศ. 2546 ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมให้การโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานชาวกัมพูชามาทำงานในประเทศไทยเป็นปกติและปลอดภัย ส่งเสริมให้มีการจ้างงานอย่างมีจริยธรรมได้อย่างครอบคลุม สามารถป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ และขจัดการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติได้จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานได้พัฒนากฎหมายและข้อบังคับอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการสรรหาแรงงานอย่างมีจริยธรรมและยุติธรรม โดยมีนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้ พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2561 กำหนดห้ามการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดหางานจากแรงงานข้ามชาติ และควบคุมให้กระบวนการจ้างแรงงานข้ามชาติเป็นไปอย่างโปร่งใสและยุติธรรม ตลอดจนเคารพสิทธิของแรงงาน และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และจากการระบาดของโรคโควิด-19

ประเทศไทยจำเป็นต้องชะลอการนำแรงงานเข้ามาทำงานตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2563 กระทรวงแรงงานจึงได้กำหนดมาตรการและแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวภายในประเทศตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อบรรเทาภาวะการขาดแคลนแรงงานของนายจ้างและสถานประกอบการ รวมถึงมีการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวให้อยู่ต่อและทำงานในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไป ตลอดจนผ่อนผันให้คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้สามารถทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นมาตรการเดียวกันกับที่ใช้ช่วยเหลือแรงงานไทย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เช่น การให้บริการฉีดวัคซีน การให้คำแนะนำในการป้องกันและดูแลตนเอง การบริจาคอาหารกรณีแรงงานภาคก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานประกอบการ

ปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้บูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมการปกครอง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพิจารณากำหนดแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยตามระบบ MOU ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้นายจ้างและสถานประกอบการมีแรงงานที่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนกิจการตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศ แก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมือง สามารถควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างเป็นระบบ และเพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกกฎหมายอันจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข ความมั่นคง และระบบการจ้างงานของประเทศ ทั้งนี้ นายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการดำเนินการ เช่น ค่ากักตัว ค่าตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นต้น

 

ทลายเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ จับมาเฟียอินเดีย!! หนีข้อหาฉกรรจ์ ปล้นฆ่า ลักพาตัว ทรมานเหยื่อเรียกค่าไถ่ ฟอกเงิน และหนีกบดานไทย

ตามนโยบายของ  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เรื่องการควบคุมกำกับดูแลชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักอาศัยหรือเข้ามาเพื่อท่องเที่ยวในประเทศไทย โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. มอบหมายให้ สตม. ดำเนินการตรวจสอบชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในขณะที่พำนักในประเทศไทย กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หรือเป็นลักษณะการกระทำผิดเข้าข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ หรือทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ                    

สํานักงานตรวจคนเข้าเมือง โดย พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธ์ ผบช.สตม., พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.มานัด ศรีวงษา ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.ทรงโปรด สิริสุขะ รอง ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.ไกลเขต บุรีรักษ์ รอง ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.รัชธพงศ์ เตี้ยสุด รอง ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.หฤษฎ์ เอกอุรุ รอง ผบก.ตม.3 และ พ.ต.อ.จิรพงศ์ รุจิรดำรงค์ชัย ผกก.สส.บก.ตม.3  ร่วมแถลงข่าวการจับกุมคดีที่น่าสนใจดังนี้

1.“จับมาเฟียอินเดีย หนีข้อหาฉกรรจ์ ทั้งปล้นฆ่า ลักพาตัว ทรมานเหยื่อเรียกค่าไถ่ และฟอกเงิน หนีกบดานไทย”

ก่อนการจับกุมครั้งนี้ สตม.ได้รับการประสานงานจากหน่วยงานความมั่นคง ว่ามีบุคคลสัญชาติอินเดีย มีพฤติกรรม เป็นอาชญากรก่อคดีเกี่ยวกับการปล้นฆ่า สังหารบุคคลอื่น ซ้อมทรมาน ยาเสพติด ลักพาตัวเรียกค่าไถ่ ค้ามนุษย์ ตลอดจนความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน โดยทางการอินเดียได้มีการออกหมายจับและยื่นความจำนงต่อตำรวจสากลให้บุคคลดังกล่าวซึ่งก็คือ นายฮาร์มาน (ขอสงวนสกุล) อายุ 29 ปี  สัญชาติอินเดีย เป็นบุคคลที่ตำรวจสากลต้องการตัว หรือมีหมายแดง (Red Notice)

เมื่อทราบข้อมูลชุดสืบสวนได้ทำการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้นก็ทราบว่านายฮาร์มานฯ ได้เดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 อยู่ในราชอาณาจักรด้วยเหตุผลทางธุรกิจ โดยข้อมูลในระบบระบุวันหมดอายุเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 62 และมีข้อมูลว่าพักอาศัยอยู่ในเขตเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งได้สืบสวนต่อจนทราบว่านายฮาร์มานฯ ได้พักอาศัยอยู่ละละแวกพัทยาเหนือจึงได้เฝ้าติดตาม จนกระทั่งได้พบนายฮาร์มานฯ บริเวณหน้าเซเว่นริมถนนพัทยาเหนือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.บก.ตม.3 ได้แสดงตัวและข้อตรวจสอบก็พบว่า อยู่เกินในราชอาณาจักรจริง จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบว่า “ เป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด (จำนวน 448 วัน) ” นำส่ง พงส.กก.สส.บก.ตม.3 ดำเนินคดีต่อไป

2.“ทลายเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ จับคนขน ขยายผลตัวสั่งการ และเข้าจับให้ที่พักพิง”

เจ้าหน้าที่ ตม.จว.ประจวบคีรีขันธ์ ได้บูรณาการกำลังออกตรวจพื้นที่รับผิดชอบ เมื่อมาถึงบริเวณแยกสิบศพ ต.เกาหลัก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปรากฏว่าพบรถกระบะคันหนึ่ง หยุดอยู่ที่แยกแต่เมื่อพบเห็นเจ้าหน้าที่ก็ได้ขับรถพุ่งออกจากแยกด้วยความเร็วน่าสงสัย ชุดจับกุมจึงได้ติดตามรถคันดังกล่าวไปและแจ้งให้จุดสกัดสามร้อยยอดดำเนินการสกัดจับเอาไว้ ซึ่งได้ตรวจพบว่ารถยนต์กระบะคันดังกล่าว มีนายยียี (สงวนสกุล) สัญชาติเมียนมา อายุ 35 ปี เป็นผู้ขับ มีนายอ่าว (สงวนสกุล) นั่งโดยสารข้าง ๆ และมีผู้โดยสารเป็นคนต่างด้าว สัญชาติเมียนมา อีก 14 คน ซักถามได้ข้อมูลว่าบุคคลต่างด้าว 14 คน หลบหนีเข้าเมืองผ่านช่องทางธรรมชาติมีนายยียี และนายอ่าว ได้ขับรถมารับ ส่วนนายยียีและนายอ่าวรับตรงกันว่าได้รับการติดต่อจากนายเม ให้มารับบุคคลต่างด้าวจำนวน 14 คนดังกล่าว จึงจับกุมตัวนายยียี นายอ่าว และบุคคลต่างด้าวอีก 14 ราย พร้อมกับยึดรถยนต์กระบะและโทรศัพท์ของกลางนำส่งเพื่อดำเนินคดี

ในการนี้ได้แจ้งข้อกล่าวหา นายยียีและนายอ่าวแจ้งว่า “ร่วมกันช่วยเหลือซ่อนเร้นหรือช่วยเหลือด้วยประการใด ๆ แก่บุคคลต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายให้พ้นจากการจับกุม”  บุคคลดต่างด้าวอีก 14 คน แจ้งว่า “เป็นคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต” เหตุเกิดที่ ริมถนนเพชรเกษม หมู่ 5 ต.ไร่เก่า อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 29 ม.ค.65 เวลาประมาณ 04.30 น.

ของกลาง

1.รถยนต์กระบะ ยี่ห้อ อีซูสุ สีขาว ทะเบียนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 1 คัน

2. โทรศัพท์มือถือ จำนวน 3 เครื่อง

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขยายผลสืบสวนทราบภายหลังว่านายเมฯ คือ นาย AUNG (สงวนสกุล) หรือโกเม  อายุ 45 ปี พักอาศัยละแวกอำเภอปราณบุรี จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานและประสานกับร้อยเวรสอบสวน สภ.สามร้อยยอด จนศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกหมายจับที่ 50/65 ลงวันที่ 3 ก.พ.65 และ สภ.สามร้อยยอดได้ดำเนินการจับกุมตัวนาย AUNGฯ ได้ในวันเดียวกัน โดยกล่าวหาว่า “ร่วมกันช่วยเหลือซ่อนเร้นหรือช่วยเหลือด้วยประการใด ๆ แก่บุคคลต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายให้พ้นจากการจับกุม”

จากรวบรวมข้อมูลเครือข่ายพบว่าการจับกุมหลายครั้งมีความเกี่ยวพันกับขบวนการดังกล่าว ในกรณีนี้นายเม จะเป็นผู้ประสานงานให้คนในเครือข่ายจากกรุงเทพฯ, สมุทรสาคร หรือปทุมธานีเดินทางมารับช่วงต่อซึ่งได้ขยายผลจนทราบว่าหลังจากรับคนที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้วจะส่งต่อไปยังจุดพักคอยซึ่งเป็นบ้านหลังหนึ่งย่านตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

เมื่อทราบแล้วจึงได้เข้าไปเฝ้าสังเกตการณ์ก็พบว่าบ้านดังกล่าวมีลักษณะเป็นทาวน์เฮ้า 2 ชั้น มีรถหลายคันขับเข้ามาสถานที่ดังกล่าวและส่งคนลง 2-5 คนต่อครั้ง ซึ่งเฝ้าสังเกตการณ์พบว่าในเวลาต่อมามีรถตู้สีทองเดินทางเข้ามาสถานที่ดังกล่าวและนำคนขึ้นโดยสารรถหลายคน ซึ่งเชื่อว่าจะมีการขนย้ายเพื่อไปยังสถานที่อื่นจึงได้เข้าไปแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่เพื่อขอตรวจสอบ ผลการตรวจสอบพบ บุคคลต่างด้าว สัญชาติเมียนมา จำนวน 17 คน และคนไทย 1 คน เป็นผู้ขับรถตู้ ทราบชื่อภายหลังว่าคือนาย สมบัติ (ขอสงวนสกุล) อายุ 44 ปี ซักถามบุคคลต่างด้าวพบว่า นางสาวMI (สงวนสกุล) หนึ่งในคนต่างด้าวเป็นเจ้าของสถานที่พักดังกล่าวและเป็นผู้ติดต่อประสานงานพาบุคคลต่างด้าวทั้งหมดเข้ามาพักยังบ้านหลังดังกล่าวและเป็นผู้ติดต่อประสานงานให้นายสมบัติฯ นำรถมารับ จึงได้จับกุมตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องพร้อมกับยึดของกลางนำส่งร้อยเวรสอบสวน สภ.คลองหลวง เพื่อดำเนินคดีต่อไป แจ้งข้อกล่าวหาว่า

1.คนต่างด้าว 16 ราย “เป็นคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต”

2.นายสมบัติฯและนางสาว MI “ร่วมกันช่วยเหลือซ่อนเร้นหรือช่วยเหลือด้วยประการใด ๆ แก่บุคคลต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายให้พ้นจากการจับกุม”

ของกลาง 

1.รถตู้โดยสารส่วนบุคคล สีทอง ทะเบียนจังหวัดกรุงเทพฯ จำนวน 1 คัน

2. โทรศัพท์มือถือ จำนวน 5 เครื่อง

สถานที่ วันเวลา จับกุม บ้านทาวน์เฮ้า 2 ชั้น ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2565 เวลาประมาณ 12.28 น.

จากการซักถามผู้ต้องหาให้การสอดคล้องกันว่า หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย ผ่านชายแดนช่องทางธรรมชาติ ปลายทางเพื่อหางานที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนถูกจับกุมได้มาพักคอยที่บริเวณที่เกิดเหตุเพื่อรอติดต่อว่าจะได้ไปทำงานที่ใด ส่วนนางสาว MI ให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับนายหน้าคนอื่น ๆ เพื่อนำคนต่างด้าวส่งไปลักลอบทำงานยังสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะมีการขยายผลดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top