‘บิ๊กตู่’ ชวน ‘โจ ไบเดน’ ร่วมประชุมเอเปคปีหน้า หลังโชว์วิชั่น แก้ปัญหาภูมิอากาศบนเวทีโลก

‘บิ๊กตู่’ เชิญ ปธน.โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เข้าร่วมประชุมเอเปคปีหน้า ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ด้านนายกฯ สหราชอาณาจักรชมเปาะ ไทยมุ่งมั่นแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลัง ‘บิ๊กตู่’ ประกาศเจตนารมณ์ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 21.00 น. ของวันที่ 1 พ.ย. ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร (ตรงกับเวลา 04.00 น.ของประเทศไทย) ระหว่างงานเลี้ยงรับรองผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือสมัยที่ 26 (COP26)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พบปะพูดคุย พร้อมทั้งเชิญประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ระหว่างงานเลี้ยงรับรองผู้นำ COP 26 หลังจากได้พบกันในการประชุมสุดยอดอาเซียน สัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมสอบถามถึงสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งเชิญประธานาธิบดีไบเดน เยือนไทยในโอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565

นอกจากนี้ นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้ทักทายพูดคุยกับพล.อ.ประยุทธ์ พร้อมกล่าวชื่นชมในความมุ่งมั่นพยายามของไทยในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 พร้อมทั้ง ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่าง ๆ กับบรรดาผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุม

โดยก่อนหน้านี้ ในช่วงเวลา 16.00 น. วันที่ 1 พ.ย. (ตามเวลาท้องถิ่นที่เมืองกลาสโกว์) พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม โดยยืนยันว่า ไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ ทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญของโลกเพื่ออนาคตของลูกหลานของพวกเราทุกคน

“ผมมาร่วมประชุมวันนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ และทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการแก้ปัญหาครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของโลก เพราะภารกิจนี้คือความเป็นความตายของโลกและอนาคตของลูกหลานของพวกเราทุกคน 

ปัจจุบันไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกในปริมาณเพียงประมาณร้อยละ 0.72 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งโลก แต่ประเทศไทยกลับเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ผมไปร่วมการประชุมสุดยอดเรื่องภูมิอากาศของสหประชาชาติที่กรุงปารีสเมื่อปี 2015 โดยไทยอยู่ในประเทศกลุ่มแรกที่ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีของความตกลงปารีส คำมั่นสัญญาของไทย มิใช่คำมั่นที่ว่างเปล่า ในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้ปฏิบัติตามคำมั่นทุกประการที่ให้ไว้กับประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง และมีการดำเนินการอย่างแข็งขันภายในประเทศ” 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยได้กำหนดเป้าหมาย NAMA (นา-มา) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคพลังงานและขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 7 ภายในปี 2020 แต่ทว่าในปี 2019 ไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้วร้อยละ 17 ซึ่งเกินเป้าหมายที่เราตั้งไว้กว่า 2 เท่า และก่อนเวลาที่ได้กำหนดไว้มากกว่า 1 ปี 

นอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศแรก ๆ ที่จัดส่ง NDC (เอ็น ดี ซี) ฉบับปรับปรุงปี 2020 และจัดทำแผนงานต่าง ๆ ในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ล่าสุด ไทยได้ส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับต่ำให้กับ UNFCCC โดยไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่จัดทำยุทธศาสตร์นี้

“วันนี้ผมจึงมาพร้อมกับเจตนารมณ์ที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 และด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ผมมั่นใจว่าประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับ NDC ของเราขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ ซึ่งจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2050 

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทยในปี 2565 (ค.ศ. 2022) ว่าไทยได้กำหนดให้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ เป็นวาระหลักในการประชุมฯ 

“ผมคิดว่าหมดเวลาสำหรับความล้มเหลวแล้ว และโลกกำลังบอกเราว่าการประทุษร้ายธรรมชาติต้องยุติเพียงเท่านี้ เพื่อการดำรงไว้ซึ่งแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ และอากาศที่ทุกคนต้องหายใจร่วมกัน ดังนั้น มนุษย์จะต้องมีความกล้าหาญ มีความชาญฉลาด มีการรู้คิดและมีความอดทนอย่างสูงสุด เพื่อนำชัยชนะมาสู่ลูกหลานของเรา ผมขอย้ำว่าเราทุกคนไม่มีแผนสองในเรื่องการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มีโลกที่สองซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว