รฟท. เปิดเวทีซาวเสียงชวนนักลงทุนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงทั้งส่วนหลัก-ต่อขยาย รวม 6 เส้นทาง

นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 1 โครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เพื่อนำเสนอความเป็นมาและวัตถุประสงค์ ขอบเขตการศึกษาภาพรวมของโครงการ ตลอดจนแนวทางการลงทุนและความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนของภาคเอกชน และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปประกอบการศึกษาและจัดทำโครงการ ให้มีความเหมาะสม ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ รฟท. ได้ดำเนินการศึกษาเพื่อจัดแผนการเดินรถเบื้องต้นที่ตอบสนองความต้องการในการเดินทาง ครอบคลุมการเดินรถไฟทุกประเภท ที่จำเป็นจะต้องใช้ทางวิ่งร่วมกัน โดยพิจารณาการจัดช่วงการเดินรถ (Time Slot) เพื่อไม่เกิดความซ้ำซ้อน โดยแบ่งรูปแบบการเดินรถไปตามลักษณะการดำเนินโครงการเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 

ระยะที่ 1 โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยรูปแบบการเดินรถของโครงการจะมีช่วงที่ให้บริการขนานกับเส้นทางการเดินรถของ รฟท. ในส่วนของรถธรรมดาและรถชานเมืองบริเวณช่วงสถานีดังกล่าว

ระยะที่ 2 โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง โดยในระยะการเปิดส่วนต่อขยายช่วงต่าง ๆ อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินรถชานเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ ของ รฟท. บางส่วนในช่วงสถานีที่ให้บริการซ้ำซ้อนกับสถานีของโครงการ หรืออาจจะจอดให้บริการที่สถานีเชื่อมต่อหลักเท่านั้น

ระยะที่ 3 โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ การเดินรถจะเป็นการให้บริการระบบรถไฟชานเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเต็มรูปแบบ โดยมีสถานีศูนย์กลางร่วมกับ รฟท. ที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งโครงการจะมาช่วงต่อการให้บริการรถชานเมืองจากการรถไฟฯ ทั้งหมด

ทั้งนี้โครงการได้ดำเนินการศึกษา ทบทวน วิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจและการเงิน โดยผลการวิเคราะห์แสดงสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมระหว่างรัฐและเอกชน ดังนี้... 

1.) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน สัดส่วนการลงทุนรัฐ 100% 
2.) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัดส่วนการลงทุนรัฐ 100% 
3.) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก สัดส่วนการลงทุนรัฐ คิดเป็น 90.36% และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64%
4.) ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต สัดส่วนการลงทุนรัฐ คิดเป็น 90.36% และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64% 
5.) ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา สัดส่วนการลงทุนรัฐ คิดเป็น 90.36% และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64% 
และ 6.) ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช สัดส่วนการลงทุนรัฐ คิดเป็น 90.36% และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64%

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาระยะเวลาร่วมลงทุนที่ 50 ปี โครงการฯ มีผลตอบแทนทางการเงินในภาพรวมทั้ง 6 โครงการ ดังนี้ ผลตอบแทนโครงการ -0.54% FIRR (%) คิดเป็นมูลค่า -159,154.49 NPV (ล้านบาท) คิดเป็น 0.44 B/C Ratio สำหรับรูปแบบการลงทุนที่แบ่งสัดส่วนการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนดังที่กล่าวไปข้างต้น มีผลตอบแทนทางการเงิน ดังนี้ ผลตอบแทนโครงการ 8.62 IRR (%) คิดเป็นมูลค่า 9,670.51 NPV (ล้านบาท) คิดเป็น 1.08 B/C Ratio

นอกจากนี้ โครงการจะดำเนินการวิเคราะห์และศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนและเอกชนที่เหมาะสมในการดำเนินงานโครงการ เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินงาน โดยมีรูปแบบให้ผลตอบแทนแก่เอกชน แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้ 

1.) Net Cost 
2.) Gross Cost 
3.) Modified Gross Cost โดยกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ จะใช้ระยะเวลาประมาณ 14 เดือน

โดยมีขั้นตอนในการดำเนินการ 

1.) การประกาศเชิญชวนและขายซองเอกสารประกอบข้อเสนอ 
2.) เอกชนจัดเตรียมเอกสารและยื่นข้อเสนอ 
3.) ประเมินข้อเสนอของเอกชนและการเจรจาต่อรอง 
และ 4. การขออนุมัติร่างสัญญาร่วมลงทุนและผลการคัดเลือก 

ซึ่งโครงการดังกล่าว จัดเป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว โดยหวังให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงข่ายระบบรางได้เต็มประสิทธิภาพ


ที่มา: https://www.thaipost.net/news/12742/