Wednesday, 1 May 2024
รถไฟฟ้าสายสีแดง

รฟท. เปิดเวทีซาวเสียงชวนนักลงทุนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงทั้งส่วนหลัก-ต่อขยาย รวม 6 เส้นทาง

นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 1 โครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เพื่อนำเสนอความเป็นมาและวัตถุประสงค์ ขอบเขตการศึกษาภาพรวมของโครงการ ตลอดจนแนวทางการลงทุนและความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนของภาคเอกชน และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปประกอบการศึกษาและจัดทำโครงการ ให้มีความเหมาะสม ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ รฟท. ได้ดำเนินการศึกษาเพื่อจัดแผนการเดินรถเบื้องต้นที่ตอบสนองความต้องการในการเดินทาง ครอบคลุมการเดินรถไฟทุกประเภท ที่จำเป็นจะต้องใช้ทางวิ่งร่วมกัน โดยพิจารณาการจัดช่วงการเดินรถ (Time Slot) เพื่อไม่เกิดความซ้ำซ้อน โดยแบ่งรูปแบบการเดินรถไปตามลักษณะการดำเนินโครงการเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 

ระยะที่ 1 โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยรูปแบบการเดินรถของโครงการจะมีช่วงที่ให้บริการขนานกับเส้นทางการเดินรถของ รฟท. ในส่วนของรถธรรมดาและรถชานเมืองบริเวณช่วงสถานีดังกล่าว

ระยะที่ 2 โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง โดยในระยะการเปิดส่วนต่อขยายช่วงต่าง ๆ อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินรถชานเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ ของ รฟท. บางส่วนในช่วงสถานีที่ให้บริการซ้ำซ้อนกับสถานีของโครงการ หรืออาจจะจอดให้บริการที่สถานีเชื่อมต่อหลักเท่านั้น

ระยะที่ 3 โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ การเดินรถจะเป็นการให้บริการระบบรถไฟชานเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเต็มรูปแบบ โดยมีสถานีศูนย์กลางร่วมกับ รฟท. ที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งโครงการจะมาช่วงต่อการให้บริการรถชานเมืองจากการรถไฟฯ ทั้งหมด

ทั้งนี้โครงการได้ดำเนินการศึกษา ทบทวน วิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจและการเงิน โดยผลการวิเคราะห์แสดงสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมระหว่างรัฐและเอกชน ดังนี้... 

1.) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน สัดส่วนการลงทุนรัฐ 100% 
2.) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัดส่วนการลงทุนรัฐ 100% 
3.) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก สัดส่วนการลงทุนรัฐ คิดเป็น 90.36% และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64%
4.) ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต สัดส่วนการลงทุนรัฐ คิดเป็น 90.36% และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64% 
5.) ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา สัดส่วนการลงทุนรัฐ คิดเป็น 90.36% และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64% 
และ 6.) ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช สัดส่วนการลงทุนรัฐ คิดเป็น 90.36% และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64%

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาระยะเวลาร่วมลงทุนที่ 50 ปี โครงการฯ มีผลตอบแทนทางการเงินในภาพรวมทั้ง 6 โครงการ ดังนี้ ผลตอบแทนโครงการ -0.54% FIRR (%) คิดเป็นมูลค่า -159,154.49 NPV (ล้านบาท) คิดเป็น 0.44 B/C Ratio สำหรับรูปแบบการลงทุนที่แบ่งสัดส่วนการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนดังที่กล่าวไปข้างต้น มีผลตอบแทนทางการเงิน ดังนี้ ผลตอบแทนโครงการ 8.62 IRR (%) คิดเป็นมูลค่า 9,670.51 NPV (ล้านบาท) คิดเป็น 1.08 B/C Ratio

เจาะศักยภาพ ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ โปรเจกต์เชื่อม ‘เศรษฐกิจ-อนาคต’ ชาติ

ตามที่ทราบกันดีว่า การขนส่งและการเดินทางด้วยระบบราง มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 

นั่นเพราะการขนส่งระบบราง มีต้นทุนที่ถูกกว่าการขนส่งทางถนนถึง 2 เท่า อีกทั้งยังสามารถกำหนดเวลาจัดส่งได้ค่อนข้างแน่ชัด ทำหลายๆ ประเทศเดินหน้าพัฒนาระบบราง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับระบบโลจิสติกส์ของตนเองกันอย่างต่อเนื่อง

เฉกเช่นเดียวกันกับประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลที่พยายามยก ‘ระบบราง’ ให้กลายเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบรางระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ประชาชนเดินทางจากย่านชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองได้สะดวกยิ่งขึ้น ผ่าน ‘รถไฟฟ้าหลากสี’ ที่ทยอยเปิดให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในเส้นสายรถไฟฟ้าที่มีบทบาทดังกล่าวชัดสุดในตอนนี้ คือ ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ ซึ่งนอกจากจะทำให้การเดินทางจากชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองได้สะดวกมากขึ้นแล้ว ยังเชื่อมโยงความเจริญ รวมถึงโอกาสในการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ตลอดแนวเส้นทาง 41 กิโลเมตร และพื้นที่โดยรอบ 13 สถานี ให้มีความคึกคักยิ่งขึ้นได้อย่างน่าสนใจ

ทั้งนี้หากมองย้อนโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ตามนโยบายเดิมที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น เกิดขึ้นมาเพื่อทดแทนระบบรถไฟดีเซลระบบเดิม รวมทั้งขยายขอบเขตการให้บริการรถไฟฟ้าสู่ย่านชานเมืองให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น จากตอนเหนือของกรุงเทพฯ เริ่มตั้งแต่อยุธยา ไปจรดตอนใต้กรุงเทพฯ คือ ‘มหาชัย’ แต่ในระยะแรกที่เปิดให้บริการไปแล้วคือ ‘รังสิต - บางซื่อ’ และ ‘ตลิ่งชัน - บางซื่อ’ 

(ส่วนต่อขยายอื่นๆ คาดว่า จะเริ่มทยอยเปิดประมูลภายในปลายปี 2565)

ศูนย์รวมแห่งระบบราง
นอกจากนี้ หากสังเกตให้ดี เส้นทางส่วนใหญ่ของรถไฟฟ้าสายสีแดง จะขนานไปกับแนวเดียวกับรถไฟระบบเดิม เหตุผลก็เพื่อให้บริการเชื่อมต่อกับระบบรถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง และรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ในอนาคตได้ด้วยนั่นเอง พูดง่ายๆ ก็คือ รถไฟฟ้าสายสีแดง เหมือนจะถูกวางตำแหน่งให้เป็นแกนกลางหลักของระบบขนส่งทางราง ก็คงจะดูไม่ผิดนัก

เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีแดง มีพิกัดของสถานีหลักอยู่ตรง ‘บางซื่อ’ ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน และจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการเดินทางด้วยระบบรางจากกรุงเทพฯ ไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ รองรับทั้งรถไฟฟ้าในเมือง (สายสีน้ำเงิน) รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูงในอนาคตนั่นเอง 

กระจายความแออัดของสังคมเมือง
ไม่เพียงเท่านั้น หากมองข้อดีของ รถไฟฟ้าสายสีแดง ในมิติการเดินทางของพี่น้องประชาชนแล้ว จะช่วยสร้างการกระจายของพื้นที่อยู่อาศัยจากใจกลางเมือง ไหลไปสู่พื้นที่รอบนอก ช่วยลดปัญหาการจราจร และความแออัดของกรุงเทพฯ ภายใต้รถไฟฟ้าสายสีแดงที่ช่วยพาคนเข้าสู่ใจกลางเมืองได้อย่างว่องไว

โอกาสทางเศรษฐกิจจากเส้นเลือด (สีแดง) สายใหม่
ขณะเดียวกัน หากมองในมิติด้านเศรษฐกิจ การมาของรถไฟฟ้าสายสีแดง ยังจะทำให้เกิดพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ในแถบชานเมือง ทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรร ซึ่งจะมีราคาที่ดินถูกกว่าบ้านในกรุงเทพฯ

เรียกว่าไล่ไปตั้งแต่รอบ ‘สถานีกลางบางซื่อ’ จะเริ่มถูกเรียกขานให้เป็นทำเลทองแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ชัดขึ้น โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มมีโครงการที่อยู่อาศัยทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกเกิดขึ้นในย่านบางซื่อ และบริเวณใกล้เคียง จากแบรนด์ระดับท็อปของไทยเรียงหน้ากันมาจับจองทำเล

ทั้งนี้ มีการคาดเดากันว่า หากในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ไม่เกิดวิกฤตโรคร้ายโควิด-19 เชื่อว่าในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเกือบ 40 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนักท่องเที่ยวเฉพาะที่เข้ามาผ่านสนามบินดอนเมือง จะเลือกใช้งานรถไฟฟ้าสายสีแดงเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองโดยอัตโนมัติ 

อย่างไรก็ตาม แม้ตอนนี้จะยังไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาได้เท่าเหมือนก่อนโควิด-19 ระบาด แต่ในอนาคตเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม ก็เชื่อได้ว่า ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ จะเป็นพระเอกหลักในการนำพานักท่องเที่ยว เข้าสู่กรุงเทพมหานครได้อย่างแน่นอน

สถานีดอนเมือง ‘ลิฟต์-บันไดเลื่อน’ ปิดใช้งาน 3 เดือน ลำบาก ‘คนท้อง-คนชรา’ ต้องหอบสังขารเดินขึ้นบันได

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 66 – แฟนเพจเฟซบุ๊ก ‘Drama-addict’ ได้รับการร้องเรียนจากลูกเพจเกี่ยวกับ สถานีรถไฟฟ้าดอนเมือง โดยระบุข้อความดังนี้

“จ่ารบกวนหน่อยค่ะ สถานีดอนเมืองของรถไฟสายสีแดงที่เชื่อมไปสนามบินดอนเมือง ทั้งลิฟต์ ทั้งบันไดเลื่อนปิดใช้งานมา 2-3 เดือนแล้ว คนท้อง คนแก่ เดินขึ้นลงบันได เหนื่อยมากเลยค่ะ

แจ้งหน่วยงานไปแล้วก็ไม่เห็นแก้ไขเขาแจ้งว่า “ชำรุด-ปิดให้บริการชั่วคราว” แต่ 2 เดือนกว่าแล้วค่ะ ทางเดินเลื่อนระหว่างไปสนามบินเหมือนกันค่ะ บางท่านมีกระเป๋าเดินทางก็ต้องยกขึ้นบันไดค่ะ เพราะตรงนี้เป็นสถานีรถไฟปกติด้วยค่ะ ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้าสายสีแดง”

ทั้งนี้ ได้มีคอมเมนต์จากลูกเพจ เข้ามาแสดงควมคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ไม่ได้มีเพียงสถานีดอนเมืองเท่านั้นที่เป็นเช่นนี้ แต่ลิฟท์และบันไดเลื่อนสถานีอื่น ๆ ของสายสีแดงหลายสถานี เท่าที่มีคนแจ้งเข้ามา นอกจากดอนเมืองแล้วยังมีสถานีหลักสี่ หลักหก ก็ใช้ไม่ได้เช่นกัน

‘รฟท.’ ไฟเขียว!! รถไฟฟ้าสายสีแดง 20 บาทตลอดสาย หวังช่วยลดค่าใช้จ่าย - จูงใจประชาชนใช้บริการมากขึ้น

เมื่อวานนี้ (21 ก.ย. 66) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด รฟท.) ว่า ที่ประชุมฯ ได้อนุมัติดำเนินการตามนโยบาย 20 บาทตลอดสายของรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต เบื้องต้นจะเสนอเรื่องดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาในสัปดาห์หน้า ซึ่งตามขั้นตอน ในการขอปรับค่าโดยสารจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ตามมาตรา 27 ที่ระบุว่าหากหน่วยงานมีมาตรการหรือโครงการใด ๆ ที่กระทบต่อรายได้ขององค์กรสามารถดำเนินการได้ซึ่งจะต้องกำหนดแผนหรืองบประมาณที่ใช้จ่าย รวมทั้งระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับด้วย หากกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบแล้ว จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษานโยบายดังกล่าว พบว่า รฟท.จะสูญเสียรายได้ และรัฐต้องสนับสนุนเงินชดเชยประมาณ 80 ล้านบาทต่อปี แต่การลดค่าโดยสารนั้น จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนให้หันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 5-20% ต่อปี ซึ่งจะมีผลทำให้รายได้ของ รฟท. เพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรถไฟชานเมืองสายสีแดง มีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 2 หมื่นคนต่อวัน

ข้อควรรู้!! ก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง - สีม่วง’ อ่วม!! ขาดทุนหนัก 7 ล้าน / วัน

รัฐบาลมีนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยจะเปิดให้บริการ 2 สายก่อน คือสายสีแดงและสายสีม่วง มาดูกันว่าในปัจจุบันรถไฟฟ้าทั้งสองสายนี้ขนผู้โดยสารวันละเท่าไหร่ มีรายได้มากน้อยเพียงใด สายสีแดงหรือสายสีม่วงขาดทุนมากกว่า?

1. รถไฟฟ้าสายสีแดง
รถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นการลงทุนทั้งหมดโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีเส้นทางจากบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร และจากบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมด 41 กิโลเมตร ค่าโดยสารในปัจจุบัน 12-42 บาท 

จากข้อมูลการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2566 พบว่า

(1) ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 19,611 คน
(2) รายได้เฉลี่ยต่อวัน 0.59 ล้านบาท
(3) ค่าจ้างบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาต่อวัน 1.31 ล้านบาท
(4) ขาดทุนเฉลี่ยต่อวัน 0.72 ล้านบาท

2. รถไฟฟ้าสายสีม่วง
รถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นการลงทุนทั้งหมดโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีเส้นทางจากเตาปูน-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร ค่าโดยสารในปัจจุบัน 17-42 บาท 

จากข้อมูลการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2566 พบว่า

(1) ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 56,255 คน
(2) รายได้เฉลี่ยต่อวัน 1.41 ล้านบาท
(3) ค่าจ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาต่อวัน 7.39 ล้านบาท
(4) ขาดทุนเฉลี่ยต่อวัน 5.98 ล้านบาท

3. ในปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงขาดทุนรวมกันวันละเกือบ 7 ล้านบาท! รถไฟฟ้าสายสีแดงขาดทุนวันละ 0.72 ล้านบาท ในขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงขาดทุนมากกว่า โดยขาดทุนถึงวันละ 5.98 ล้านบาท รวมทั้งสองสายขาดทุนวันละ 6.7 ล้านบาท

4. ถ้าเก็บ 20 บาท ตลอดสาย จะขาดทุนหนักขึ้น!!
รมว.คมนาคม บอกว่าจะเร่งผลักดันรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เฉพาะสายสีแดงและสายสีม่วงเป็นสายนำร่องให้ได้ภายใน 3 เดือน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้ผู้โดยสาร กรณีนี้หากผู้โดยสารจ่าย 20 บาท เพื่อใช้สายสีแดง (หรือสายสีม่วง) เมื่อเปลี่ยนไปใช้สายสีอื่นจะต้องจ่ายค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าโดยสารของสายนั้น ๆ 

การเก็บ 20 บาท ตลอดสาย แต่ไม่สามารถใช้ข้ามสายได้ จะไม่ทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาก และจะสร้างความไม่พอใจให้กับผู้โดยสารที่ในปัจจุบันจ่ายค่าโดยสารต่ำกว่า 20 บาท โดยเฉพาะผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งจ่ายเริ่มต้นเพียง 12 บาท เท่านั้น

เมื่อมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นไม่มาก รายได้จากค่าโดยสารก็จะต่ำกว่าเดิม เป็นผลให้รถไฟฟ้าทั้งสองสายขาดทุนหนักขึ้น

5. สรุป
เห็นด้วยกับการทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง แต่ก่อนเริ่มใช้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย รมว.คมนาคม จะต้องรู้ว่ารัฐจะต้องสูญเสียรายได้ไปเท่าไหร่? คุ้มหรือไม่กับประโยชน์ที่จะได้รับจากการมีผู้ใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น? และที่สำคัญจะมีผู้ใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกี่คน?

'เพื่อไทย' ตอกย้ำ!! ทำทันทีเพื่อประชาชน รถไฟฟ้า 'สีม่วง-แดง' 20 บาทตลอดสาย

(16 ต.ค. 66) นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีคลองบางไผ่ถึงสถานีเตาปูน และสายสีแดง สถานีกลางบางซื่อถึงสถานีรังสิต สูงสุดไม่เกิน 20 บาท โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 

...และทันทีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมด้วยนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย สส. และ สก.ของพรรคเพื่อไทย ได้มาร่วมทดลองใช้บริการและตรวจสอบความพร้อมการให้บริการรถไฟฟ้าในราคาค่าโดยสารใหม่ 20 บาท ที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือสถานีกลางบางซื่อด้วย...

1. นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยประกาศหาเสียงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยการปรับราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง จากเดิมประชาชนต้องจ่าย 14-42 บาท และสายสีแดง 12-42 บาท มาเป็นราคาเดียว 20 บาท ช่วยลดภาระค่าครองชีพ ทำให้พี่น้องประชาชนตอบรับในการเดินหน้านโยบายของพรรคเพื่อไทยตามที่ได้หาเสียงไว้ และติดตามเฝ้ารอนโยบายอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์อีกมากมายที่จะทยอยตามมา

2. นางสาวชญาดา วิภัติภูมิประเทศ รองประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่พบปะประชาชน ต่างมีเสียงสะท้อนให้ สก. พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ในราคาไม่แพง ทุกคนมีสิทธิ์ใช้บริการของรัฐอย่างเท่าเทียม จึงเห็นด้วยและสนับสนุนนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ขอขอบคุณรัฐบาลที่ผลักดันให้เป็นจริงในเวลาไม่นาน และขอให้ลดค่าบริการของรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ เช่นกัน

3. คณะของพรรคเพื่อไทยลงพื้นที่ตรวจความพร้อมให้บริการรถไฟฟ้าที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ประกอบด้วย สก.พรรคเพื่อไทย ได้แก่ นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร, นางสาวชญาดา วิภัติภูมิประเทศ รองประธานสภากรุงเทพมหานคร, นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.ลาดกระบัง, นายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก.เขตบางรัก, นายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย ส.ก.เขตบึงกุ่ม, นางสาวมธุรส เบนท์ เขตสะพานสูง, นางสาวนภัสสร พละระวีพงษ์ ส.ก.เขตบางกะปิ นายรัฐพงศ์ ระหงษ์ อดีตผู้สมัคร สส.กทม., นายภัทร ภมรมนตรี อดีตผู้สมัคร สส.กทม., นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ อดีตผู้สมัคร สส.พรรคเพื่อไทย

‘สุริยะ’ ปลื้ม!! วันแรกรถไฟฟ้า 20 บาท ตอบรับดี ยัน!! เดินหน้าต่อเนื่อง ไม่สิ้นสุดแค่ 30 พ.ย. 67

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนนั้น

และได้มีการประกาศใช้มาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ในอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายนั้น รฟท. และ รฟม.ได้รายงานถึงผลการสอบถามความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ พบว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่ให้ผลตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงดึงดูดให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะระบบรางมากขึ้น

ยันมาตรการต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ 1 ปี
นายสุริยะกล่าวว่า การที่ ครม.อนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายสูงสุด 20 บาทตลอดสาย โดยระบุจนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2567 นั้น ยืนยันว่า เมื่อครบกำหนดในช่วงวันดังกล่าวจะยังไม่ได้มีการยกเลิกมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย และจะใช้มาตรการนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือและลดค่าครองชีพให้แก่พี่น้องประชาชน ตามนโยบาย ‘Transport Future for All : คมนาคมแห่งอนาคต เพื่อประชาชนทุกคน’

ส่วนการกำหนดระยะเวลาในวันที่ 30 พ.ย. 2567 ตามที่เสนอเรื่องต่อ ครม.นั้น ดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กระทรวงคมนาคมจะต้องประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปริมาณผู้โดยสาร และรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการชดเชยจากภาครัฐ และคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทางและการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เป็นต้น เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการดำเนินมาตรการดังกล่าวในปีถัดไป

คาดผู้โดยสารเพิ่มปี 68 ใช้งบชดเชยลดลง
อย่างไรก็ตาม การเสนอต่ออายุมาตรการ 20 บาทตลอดสายในปีหน้า รัฐจะชดเชยเงินรายได้ในจำนวนที่ลดลง เนื่องจากจะมีปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น จึงต้องประเมินผลมาตรการเป็นรายปี ซึ่งนับเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ประชาชน ลดภาวะมลพิษ และการใช้พลังงานภายในประเทศ สนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค จากการเพิ่มการเดินทางของประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะด้วย

ทั้งนี้ ตามมติ ครม.ให้กระทรวงคมนาคมประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปริมาณผู้โดยสารและรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการชดเชยจากภาครัฐและคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทางและการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินมาตรการดังกล่าวในปีถัดไป

ส่วนขอรับชดเชยส่วนต่างของ รฟท.ซึ่งกำกับดูแลรถไฟฟ้าสายสีแดง เมื่อสิ้นสุดมาตรการแล้วให้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามส่วนต่างรายได้ที่เกิดขึ้น ซึ่ง รฟท.เสนอขอรับเงินชดเชยประมาณ 6.43 ล้านบาทต่อเดือนหรือ 77.15 ล้านบาทต่อปี ส่วนกรณี รฟม.ซึ่งกำกับดูแลรถไฟฟ้าสายสีม่วง ไม่ขอรับเงินชดเชยรายได้ของภาครัฐโดยตรง แต่จะนำเงินส่วนแบ่งรายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่มีกำไรมาชดเชย

ถอดรหัสประโยชน์หลากเด้ง 'รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย' ความเหลื่อมล้ำคนเมืองที่ถูกเคลียร์ไปพร้อมๆ กับการลดราคา

หากย้อนกลับไปในช่วงก่อนเลือกตั้ง นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย อย่างค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ถูกปรามาสอย่างรุนแรง ว่าคงไม่สามารถทำได้จริง และมองนโยบายนี้เป็นเพียงนโยบายหาเสียงไว้เรียกคะแนนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากมองถึงวันที่นโยบายนี้ถูกเข็นออกมา…นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ยกเหตุผลประกอบที่พอฟังดี ๆ นี่ไม่ใช่แค่นโยบาย แต่จะเป็นหมัดเด็ดซื้อใจเพื่อโกยฐานคนกรุงและปริมณฑล หากมีโอกาสทำ ได้มากพอสมควร

ตอนนั้น เศรษฐา ร่ายยาวว่า ปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง เป็นปัญหายอดนิยมคู่กรุงเทพฯ มานานตั้งแต่รถไฟฟ้าเริ่มเปิดบริการตั้งแต่ปี 2542 โดยเป้าหมายแท้จริงตอนที่จะเริ่มสร้างนั้น ก็เพื่อสร้างระบบขนส่งมวลชนที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ในความเป็นจริง กลับตาลปัตรมิได้เป็นเช่นหวัง เพราะปัจจุบันรถไฟฟ้ากลายเป็นระบบขนส่งของชนชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้น เนื่องด้วยค่าบริการที่คนในสังคมหลาย ๆ กลุ่มเข้าไม่ถึง 

ที่กล่าวว่าหลายกลุ่มในสังคมเข้าไม่ถึงก็เพราะว่า ถ้าเปรียบเทียบราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ ต่อเที่ยวคิดเป็น 11% ของค่าแรง (ไปกลับก็ 22%) ซึ่งแพงมากเทียบกับอัตราส่วนเพียงแค่ 1.5% ของค่าแรงที่เกาหลีใต้ 2.9% ที่ญี่ปุ่น หรือ 3.5% ที่สิงคโปร์ ซึ่งสังเกตได้ว่าในประเทศเหล่านั้นการขึ้นรถไฟฟ้าเป็นเรื่องปกติ จนเหมือนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน 

นอกจากนี้แล้ว ประเด็นอัตราค่าโดยสารที่แพงกว่าคนอื่นนี้ ถูกซ้ำเติมโดยสภาวะเงินเฟ้อและวิกฤตโควิดในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาอีก ในเมื่อสินค้าจำเป็นแพงขึ้นและรายได้ลดลง รถไฟฟ้าก็กลายเป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือยและเข้าไม่ถึงยิ่งไปกว่าเดิม ทำให้ประชาชนหลายคน ต้องยอมเสียเวลาเดินทางหลายต่อ นั่งรถตู้มาจากบ้าน ต่อรถเมล์ และเดินเพื่อให้ไปถึงที่หมาย เพียงเพราะไม่สามารถจ่ายค่ารถไฟฟ้าได้ เผลอ ๆ จะต้องเสียเวลาเดินทางเพิ่มขึ้นอีกเป็นชั่วโมง

เกมนี้ พรรคเพื่อไทย จึงฉลาดที่พยายามย้ำคำว่า “รถไฟฟ้าควรเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ประชาชนชาวไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้” และเลือกสร้างนโยบายที่จะเข้าไปแตะราคาค่ารถไฟฟ้าให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งเตรียมเร่งเจรจากับทุกภาคส่วนเพื่อลดค่าโดยสารลงให้เหลือ 20 บาทตลอดสายกับเส้นสีอื่น ๆ ให้เป็นอัตราขั้นต่ำที่เข้าถึงได้ และเป็นสิ่งที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว (เช่น ฝรั่งเศส)

กล่าวโดยสรุป ประโยชน์จากนโยบายการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ก็เพื่อปลดล็อกรถไฟฟ้าให้เหมาะต่อกลุ่มคนเมืองจำนวนมาก ด้วยราคาที่ไม่เกินเอื้อม

ขณะเดียวกัน การเข้าถึงระบบการเดินทางที่มีคุณภาพ สะดวก ปลอดภัย ตอบโจทย์ จะทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวเมืองดีขึ้นอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ถ้ามองเชื่อมไปถึงประโยชน์ภาพใหญ่ของประเทศ นโยบายนี้ก็จะเพิ่ม ‘ประสิทธิภาพของเมือง’ ซึ่งตีเป็นมูลค่าเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ในทางตรง ขณะที่ในทางอ้อมนโยบายนี้ก็จะจูงใจให้คนเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น จนลดการใช้รถใช้ถนน ลดปริมาณจราจรบนท้องถนน ช่วยบรรเทาปัญหารถติด สามารถคืนเวลาทำมาหากินที่เสียไปเปล่า ๆ กับการเดินทางบนท้องถนน ซึ่งสามารถนำไปใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้มหาศาล และยังทำให้ประชาชนชาวไทย ไม่ต้องอดหลับอดนอน มีเวลากับตัวเอง กับครอบครัวมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน

ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายนี้ยังจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในทางบวก จะช่วยลดการปล่อยมลภาวะอันเกิดจากการลดอัตราการใช้รถใช้ถนน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ก่อให้เกิดปัญหา PM 2.5 ซึ่งเป็นภัยเงียบของประชาชนอีกด้วย 

เรียกได้ว่า ถ้าเพื่อไทยทำแล้วเกิดผลลัพธ์เชิงบวกได้แบบโดมิโน่ แถมอาจเข้ามาเป็นฮีโร่ปลดล็อกราคาสายรถไฟฟ้าสีอื่น ๆ นอกจาก 'ม่วง-แดง' โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสายหลักสีเขียว (ไม่ต้องถึง 20 บาทก็ได้) โอกาสที่ชื่อเพื่อไทยจะไม่หลุดไกลจากสารบบคนกรุง ในวาระการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็มีความเป็นไปได้สูง

‘คมนาคม’ ดันเพิ่มส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วง ‘รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์’ ชง ครม. เคาะ 24 ต.ค.นี้

(20 ต.ค. 66) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ว่าได้เร่งรัดการดำเนินการรถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสีแดง) ส่วนต่อขยาย ซึ่งขณะนี้ได้เสนอช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) รอบรรจุเป็นวาระในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะพิจารณาในการประชุมวันที่ 24 ต.ค.นี้ 

อย่างไรก็ตามส่วนอีก 2 เส้นทาง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา จะเสนอ สลค. ในช่วงต้นสัปดาห์หน้า ส่วนช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เบื้องต้นสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นชอบทางวาจามาแล้ว คาดว่าจะเสนอ สลค. เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ได้ประมาณเดือน พ.ย.นี้ และคาดว่าจะสามารถเปิดประกวดราคา (ประมูล) ทั้ง 3 เส้นทางได้ในต้นปี 67 

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายต่าง ๆ โดยเฉพาะสายสีแดงจะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีระบบฟีดเดอร์ที่ดีป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรางให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยได้มอบให้ ขร. และกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) หารือร่วมกันในการจัดฟีดเดอร์เข้าถึงทุกสถานีโดยเร็วที่สุด ซึ่งเบื้องต้นมี 2 แนวทาง 

1.ปรับปรุงเส้นทางเดิม โดยเป็นแนวทางที่ทำได้เร็วที่สุด 
2.กำหนดเส้นทางใหม่ คาดว่าหากทำได้จะช่วยดึงดูดผู้โดยสารมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น

สำหรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง คาดว่าจะเสนอกลับไปยัง ครม. พิจารณาได้ภายในปี 66 ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และคาดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในปลายปี 67 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้บริการให้กับประชาชนมากขึ้น และช่วยคุ้มครองผู้โดยสาร อาทิ กรณีที่รถไฟฟ้าล่าช้า หรือรถไฟขัดข้อง ซึ่งจะกำหนดมาตรการเยียวยาที่ชัดเจนให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตาม 

ทั้งนี้จะช่วยทำให้ค่าโดยสารมีความเป็นธรรม และราคาถูกลงด้วย เพราะกำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามทุกระบบเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนไม่ว่าจะเป็นของผู้ประกอบการรายใดก็ตาม รวมทั้งการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลก็จะง่ายขึ้น อาทิ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพราะกฎหมายจะเขียนชัดเจนว่า ต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล โดยต้องเสนอมายังคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อกำหนดกลไกเยียวยาผู้ประกอบการต่อไป 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เน้นการพัฒนาระบบรางเชื่อมโลกทั้งหมด จึงได้สั่งการให้ติดตาม และเร่งรัดการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ระยะ (เฟส) ที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) และโครงการรถไฟทางคู่สายต่างๆ รวมทั้งเคลียร์ปัญหาต่าง ๆ ให้จบภายในสิ้นปี 66 โดยเฉพาะสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ที่ยังติดประเด็นเรื่องการดำเนินงานกับโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งเป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกัน 

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตลอดจนสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร(กม.) ที่ยังรอความชัดเจนเรื่องการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ซึ่งในประเด็นนี้ตนจะเป็นผู้เจรจากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยด้วยตัวเอง เชื่อว่าเรื่องนี้มีทางออกแน่นอน และยืนยันว่าต้องสร้างสถานีอยุธยา 

“ในการเจรจาจะนำทุกสิ่งวางขึ้นบนโต๊ะทั้งหมด ทั้งประโยชน์ที่จะได้รับ และผลเสีย มั่นใจว่าสถานีอยุธยาสามารถอยู่ร่วมกันกับชุมชน เมืองเก่าได้ และอาจเป็นสถานีที่สวยที่สุด เป็นแลนด์มาร์กดึงดูดให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมก็ได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันโครงการรถไฟไฮสปีดเฟสที่ 1 มีความคืบหน้าประมาณ 27% ซึ่งตามแผนต้องแล้วเสร็จภายในปี 70 โดยปัญหาต่าง ๆ ของ 2 สัญญานี้มีทางออกแล้ว 90%” นายสุรพงษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการมอบนโยบาย ขร. วันนี้ นายสุรพงษ์ ได้เร่งรัดให้การก่อสร้างโครงการรถไฟไฮสปีด ไทย-จีน ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ให้แล้วเสร็จภายในปี 2569 หรือเร็วกว่าแผนที่กำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2570

‘กรมราง’ เผย!! รถไฟฟ้าสาย ‘สีม่วง-สีแดง’ ปังไม่หยุด  ชี้!! ราคา 20 บาท ดันผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

(22 ต.ค. 66) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์แรกหลังจากมีนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท มีผู้ใช้บริการระบบรางรวมทั้งสิ้น 1,199,196 คน-เที่ยว จากเมื่อเสาร์ที่ 14 ตุลาคม มีจำนวน 1,124,698 คน-เที่ยว ประกอบด้วย

1.) รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการเดินรถไฟ 213 ขบวน มีผู้ใช้บริการรวม 75,524 คน-เที่ยว โดยเมื่อเสาร์ที่ 14 ตุลาคม มีจำนวน 72,634 คน-เที่ยว แบ่งเป็น ขบวนรถเชิงพาณิชย์ 30,072 คน-เที่ยว และขบวนรถเชิงสังคม 45,452 คน-เที่ยว

2.) รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,123,672 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 71,608 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.81 เทียบเมื่อเสาร์ที่ 14 ตุลาคมมีจำนวน 1,052,064 คน-เที่ยว

โดยรถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 174 เที่ยววิ่ง จำนวน 54,703 คน-เที่ยว ,รถไฟฟ้าสายสีแดง ให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง จำนวน 22,317 คน-เที่ยว รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลใช้บริการสายสีแดงฟรี 12 คน-เที่ยว

รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ให้บริการ 216 เที่ยววิ่ง จำนวน 44,417 คน-เที่ยว ,รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ให้บริการ 324 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 9 เที่ยววิ่ง) จำนวน 367,629 คน-เที่ยว

รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) ให้บริการ 1,102 เที่ยววิ่ง จำนวน 594,520 คน-เที่ยว ,รถไฟฟ้า BTS สายสีทอง ให้บริการ 217 เที่ยววิ่ง จำนวน 8,063 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองให้บริการ 216 เที่ยววิ่ง จำนวน 30,023 คน-เที่ยว

“จากข้อมูลข้างต้น พบว่าวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์แรก ภายหลังจากดำเนินการตามนโยบายอัตราค่าโดยสารสายสีแดงและสายม่วงสูงสุด 20 บาท เมื่อเทียบกับวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา มีประชาชนมาใช้บริการสายสีแดง 22,317 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 5,946 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.32 ส่วนสายสีม่วงมีผู้ใช้บริการ 44,417 คน-เที่ยวเพิ่มขึ้น 6,880 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.33” นายพิเชฐกล่าว

นายพิเชฐกล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้ใช้บริการสายสีน้ำเงิน367,629 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 32,909 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.83 เนื่องจากมีสถานีเชื่อมต่อกับสายสีม่วงที่สถานีเตาปูน และมีการจัดกิจกรรมที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์นี้ ได้แก่ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 28 งาน Thailand Gameshow 2023 และงาน Homepro Living Expo โดยเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมสายสีน้ำเงินได้จัดขบวนรถเสริมรวม 9 เที่ยววิ่ง

นายพิเชฐกล่าวว่า สำหรับในวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม นี้ กรมได้ประสานผู้ให้บริการรถไฟฟ้า ติดตามสถานการณ์ผู้ใช้บริการระบบราง และพิจารณาเพิ่มความถี่ ขบวนรถเสริม รวมทั้งเพิ่มบุคลากรในการบริหารจัดการภายในสถานีรถไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่น โดยเฉพาะช่วงเย็นถึงหัวค่ำ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่กรมสุ่มลงพื้นที่เพื่อติดตามและประสานการแก้ไขปัญหาหน้างานอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top