ส่องเล่ห์มะกัน!! ใต้ข้อพิพาท ‘ไต้หวัน - จีน’ ผ่านเหลี่ยมการเมืองของ ‘โจ ไบเดน’

มีอะไรน่าสนใจ ภายหลังจาก โจ ไบเดน ได้กลับมาพูดคุยกับ สี จิ้นผิง ผ่านทางออนไลน์อีกครั้งเมื่อวันอังคารที่ 5 ตุลาคม 2021 จากก่อนหน้านี้ที่เคยต่อสายตรงไปคุยกันแล้วเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งทางโจ ไบเดน ก็ได้ออกมายืนยันเองว่า ได้พูดคุยกับจีนเกี่ยวกับข้อพิพาทในไต้หวันที่กำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวทำเนียบขาวกลับมองว่า ประเด็นที่ทั้ง 2 ผู้นำคุยกันครั้งล่าสุดนี้ ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากครั้งที่แล้วมากนัก ซึ่งสอดคล้องกันกับแหล่งข่าวจีนที่ยืนยันว่าไม่มีอะไรมากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความไม่มีอะไร กลับมีเรื่องสะกิดใจจากถ้อยแถลงของ โจ ไบเดน ที่เอ่ยผ่านสื่อหลังจากที่ได้พูดคุยกับผู้นำจีนครั้งล่าสุดนี้ว่า...

“ผมกับสี เราคุยกันเรื่องไต้หวัน และเราตกลงกันว่าจะยังคงรักษาข้อตกลงไต้หวันกันอยู่ และทางจีนก็จะไม่ทำอะไรที่เกินเลยไปกว่าที่ได้ระบุใน >> ข้อตกลงนี้”

อะไรคือ ‘ข้อตกลงนี้’ ที่โจ ไบเดน อ้างถึง และจีนต้องทำตามอะไร? นี่คือเรื่องจะมาขยายปมกัน!!

ข้อตกลงที่ว่านี้ มีอยู่ 2 ฉบับ ซึ่งเป็นการตกลงกันมาตั้งแต่ปี 1979 หลังจากสหรัฐฯ ได้รับรองสถานะของรัฐบาลจีนปักกิ่ง ตอนที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ได้เยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ โดยขณะนั้น เติ้ง ดำรงตำแหน่งรองผู้นำสูงสุดของจีน และนับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำทั้ง 2 ประเทศมีการสานสัมพันธ์ไมตรีกันอีกครั้ง ตั้งแต่จีนแผ่นดินใหญ่เปลี่ยนผ่านสู่การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 1949 

ผลจากการเยือนสหรัฐฯ ของเติ้ง เสี่ยวผิง ในครั้งนั้น ได้บรรลุข้อตกลงในเรื่องนโยบายจีนเดียวของจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ทำให้สหรัฐฯ จำเป็นต้องตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน ด้วยการถอนสถานทูตสหรัฐฯ ออกจากกรุงไทเป มาเปิดใหม่ที่ปักกิ่ง และถือว่ากิจการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไต้หวัน เป็นส่วนหนึ่งของจีนและต้องคุยผ่านปักกิ่ง ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ได้รับรองไปแล้วว่า >> ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน 

แต่ก็มีข้อแลกเปลี่ยนของข้อตกลงนี้ นั่นก็คือ >> จีนจะต้องให้การสนับสนุนสหรัฐฯ ร่วมต้านกองทัพโซเวียตในสงครามโซเวียต-อัฟกานิสถาน ที่สหรัฐฯ ถือว่าเป็นศัตรูอันดับ 1 ในยุคสงครามเย็น เพื่อกันไม่ให้โซเวียตสามารถแผ่อิทธิพลในดินแดนเอเชียตะวันออกกลางได้ 

อย่างไรก็ตาม ในเกมซ่อนกลนี้นั้น ทางสภาคองเกรซของสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมายใหม่ในปีเดียวกันที่เรียกว่า ‘Taiwan Relations Act’ ซึ่งร่างกฎหมายนี้อนุญาตให้รัฐบาลสหรัฐฯ ขายอาวุธให้กับไต้หวันเพื่อป้องกันตนเองได้ เพียงแต่สหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องยกทัพไปช่วยไต้หวันในกรณีที่ถูกโจมตีโดยประเทศใดก็ตาม 

เท่ากับว่า จีนได้สถานทูต ส่วนไต้หวันได้อาวุธเท่าที่ซื้อได้ โดยไม่ต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาลจีน เป็นการเล่นการเมือง 2 หน้าที่แยบยลของสหรัฐฯ

จากข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับนี้นั้น จึงกลายเป็นชนวนที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในประเด็นความขัดแย้งของไต้หวันกับจีนในปัจจุบัน โดยรัฐบาลจีนได้กล่าวหาว่า สหรัฐฯ ได้จัดส่งอาวุธให้กับรัฐบาลไต้หวันเป็นจำนวนมากในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา และล่าสุดไต้หวันเตรียมติดตั้งระบบขีปนาวุธปล่อยนำวิถี Patriot PAC-3 (MSE) อันทันสมัยเตรียมส่งมอบไม่เกินปี 2025 นี้ 

หลังจากนั้น จึงเกิดประเด็นร้อนแรง โดยรัฐบาลจีนได้แสดงแสนยานุภาพ ด้วยการส่งฝูงบินรบกว่า 148 ลำรุกล้ำน่านฟ้าไต้หวันหลายครั้งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันชาติจีน โดยมีรัฐมนตรีกลาโหมไต้หวัน นาย ชิว กั๋วเฉิง ออกมาพูดผ่านสื่อว่า จีนได้เตรียมกองทัพเต็มอัตราศึกเพื่อบุกยึดเกาะไต้หวันภายในปี 2025 นี้ จนกลายเป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความแตกตื่นไม่น้อย และยิ่งบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไต้หวัน ให้ตกต่ำลงสุดๆ ในรอบ 40 ปีกันเลยทีเดียว  

และนี่ก็เลยเป็นที่มาของการยกหู คุยกันทางออนไลน์เป็นครั้งที่ 2 ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ว่าทั้งสองประเทศจะเอาอย่างไรกับไต้หวัน เพราะสำหรับ สี จิ้นผิง คงไม่ยอมถอยแน่ หากเกี่ยวพันกับสิทธิในอำนาจอธิปไตยของจีน

แต่สำหรับโจ ไบเดน นักการเมืองสหรัฐฯ ที่คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองสหรัฐฯ มานานถึง 50 ปี เป็นวุฒิสมาชิกในสมัยประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ที่เป็นผู้บรรลุข้อตกลงนโยบายจีนเดียวกับเติ้ง เสี่ยวผิง ในวันนั้น และ เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาผ่านร่างกฎหมาย Taiwan Relations Act ด้วย

คงทรงตัวเหยียบเรือ 2 แคม เล่นการเมือง 2 หน้าได้อย่างถึงแก่นได้ต่อไปไม่ยาก...


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: CNBC / Aljazeera / Wikipedia