ราชบุรี- ชาวมอญนครชุมน์ ปั้นตุ๊กตาเสียกระบาลลอยน้ำ ปัดรังควานโรคโควิด-19

ชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญ ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี จัดพิธีเทาะฮะป่านโหน่ก ทิ้งกระบาลใหญ่ โดยปั้นตุ๊กตาเสียกระบานขับไล่โรคห่า (โควิด) และโรคภัยต่าง ๆ นำไปลอยน้ำและทางสามแพร่ง ตามประเพณีความเชื่อหลงเหลืออยู่

ที่ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอาหารมอญ  ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ชาวบ้านผู้สูงอายุ เป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่ได้มาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองมาแต่สมัยโบราณของบรรพบุรุษ  ซึ่งนำพิธีกรรมและความเชื่อต่าง ๆ มาใช้ในช่วงที่สำคัญของการเกิดสถานการณ์ที่ถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจที่ดีให้แก่ชาวบ้านในชุมชนตามประเพณี ทุก ๆ ปีจะมีชาวบ้านมาช่วยกันจัดกิจกรรมในช่วงเดือน 7 ร่วมกันนั่งปั้นหุ่นตุ๊กตาเสียกระบานเป็นรูป ตุ๊กตา คน วัว ควาย สัตว์เลี้ยง   เพื่อนำไปประกอบพิธีกรรม ใส่กระธงทิ้งบริเวณทางสามแพร่ง และสร้างแพลอยน้ำ ตามความเชื่อ เพื่อให้โรคภัยต่าง ๆ โรคเฉพาะโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดรุ่นแรงอยู่ในขณะนี้  หมดหายไปจากแผ่นดิน ถือเป็นประเพณีที่ชาวมอญนครชุมน์ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

นายคมสรร จับจุ ประธานกลุ่มอนุรักษ์มอญนครชุมน์ และรองประธานสภาวัฒนธรรม ต.นครชุมน์   กล่าวว่า เป็นวิถีทางตามความเชื่อ  1 ปี จัดเพียงครั้งเดียว  ช่วงเดือน 7 ชาวมอญเมืองนครชุมน์  ยังมีความเชื่อแบบดั้งเดิมอยู่ เพราะเชื่อมาแต่ครั้ง ปู่ ย่าตา ยาย แล้วว่า พอถึงเดือน 7 จะต้องมีพิธีกรรมนี้คือ การหนีภัยจากโรคร้าย ทางชาวมอญ จะเรียกว่าทิ้งกระบาลใหญ่ หรือเรียกว่า “ เทาะฮะป่านโหน่ก ”  เทาะฮะป่านก็คือการทิ้งกระบาล ส่วนโหน่ก หมายถึง เป็นพิเศษ ด้วยความกลัวภัยจากโรคร้ายต่าง ๆ ซึ่งจะเกิดขึ้น จึงมีการปั้นหุ่นตุ๊กตาเสียกระบาลจากแป้งข้าวเจ้า เป็นรูปตัวคน สัตว์เลี้ยง ช้าง ม้า วัว ควาย เพราะเชื่อกันว่า บ้านมีทั้งสัตว์เลี้ยง คน ลูกหลาน  บ้านหลังหนึ่งมีคนกี่คนก็จะปั้นตุ๊กตาตามจำนวน มีสัตว์เลี้ยงกี่ตัวก็จะปั้นเท่านั้น จากการร่วมใจในชุมชนช่วยกันปีละครั้งสร้างแพขึ้นมา 2  ลำ โดยลำหนึ่งจะต้องไปทิ้งตรงทางสามแพร่ง ที่ไปทางทุ่ง ส่วนอีกลำต้องไปลอยทางน้ำ

พิธีจัดขึ้นที่ทางสามแพร่งกลางหมู่บ้าน โดยใช้ผู้ทำพิธีกรรมเป็นคนปัดเป่าภยันตรายต่าง ๆ ทั้งหมดบอกว่า “ พวกเราจะหนีขึ้นแพไปแล้วนะเจ้าโรคร้าย ตามไปกินหุ่นพวกนี้ ตามไปกินคนในแพ  เพราะว่าแพนี้จะไปมหาสมุทร ” เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ ในขณะที่ทุกคนเดือดร้อน เกิดความทุกข์จากความเศร้าจากโรคต่าง ๆ เพราะว่าสมัยก่อนจะมีโรคห่า หรือ อหิวาตกโรค ทำร้ายผู้คนตายในสมัยอดีตที่ผ่านมา เช่น สมัยเมืองหริภุญชัย จ.ลำพูน ชาวมอญที่ลำพูนแทบจะร้างเพราะหนีโรคห่าไปเมืองหงสาวดีกันหมด นอกจากนี้ยังมีสมัยพุทธกาลได้เกิดโรคห่าระบาดเหมือนกัน ต้องมีการปัดเป่าปัดรังควานด้วยพุทธมนต์เป็นบทสวดเฉพาะของเรื่องการกำจัดโรคภัยนี้ ในชุมชนที่นี่ก็เหมือนกัน ปีนี้ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ไม่ได้มีการรวมคนกันมากนัก เอาที่สะดวกพอทำได้เสร็จพิธีกรรม มีการเว้นระยะห่างพอสมควร เพื่อให้ขนบธรรมเนียมประเพณีนี้ยังคงอยู่ต่อไปให้ลูกหลานรู้ว่า นี่คือวิธีการเรียกขวัญให้กับคนชุมชน ให้กับลูกหลาน ในขณะที่กำลังมีภัยจากโรคระบาด หรือภัยพิบัติต่าง ๆ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กลับคืนมา

นายคมสรร จับจุ ประธานกลุ่มอนุรักษ์มอญนครชุมน์ และรองประธานสภาวัฒนธรรม ต.นครชุมน์ กล่าวอีกว่า  สำหรับปีนี้สถานการณ์ยิ่งชัดเจน ชาวบ้านได้นำเงินมาร่วม เพราะทุกคนกลัว ได้เงินแต่ละบ้านช่วยกันบ้านละ 10 - 20 บาท ได้เงินกว่า 2,000 บาท ช่วยค่าแป้ง ค่าขนมจีน  ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ช่วยเครื่องคาวต่าง ๆ เพื่อนำมาประกอบพิธี ให้งานสำเร็จลุล่วงไป  และยังมีการทำอาหารไปเลี้ยงพระด้วย เป็นงานบุญที่ชาวบ้านร่วมด้วยช่วยกัน  เรื่องนี้ถือเป็นวิถีดั้งเดิมของชาวมอญ และเป็นความเชื่อ เช่น หากเกิดทุกข์ภัยเล็ก ๆ  ก็จะบอกว่าผีมาเข้า ผีมาสิง  ก็จะทิ้งกระบาลเล็ก คือการเรียกขวัญให้ขวัญนั้นกลับมาไม่ให้ตกใจ  ยิ่งในตอนเด็กจะเล่นตุ๊กตาแบบนี้ไม่ได้ เขาบอกว่าจะมีสื่อทางวิญญาณ หรือสื่อที่มองไม่เห็นอยู่ในรูปปั้นที่เหมือนคน หรือเหมือนสัตว์ต่าง ๆ เด็กมอญจะไม่มีโอกาสได้ปั้นเล่นแบบนี้  แต่หากเกี่ยวกับความเชื่อจริง ๆ เพื่อหนีโรคร้าย โรคภัยจากโรคระบาด สามารถมาปั้นได้ โดยตั้งแต่เกิดโรคโควิด-19 มานั้น ในชุมชนนครชุมน์ยังไม่มีใครติดโรคโควิด -19  ในหมู่บ้านเลย จากการได้พบเจอ น้อยนักที่จัดทำพิธีกรรมแบบนี้ อาจจะเหลือไม่กี่ที่แล้วในประเทศไทย เพราะชุมชนมอญนครชุมน์ มีรากเหง้ากันมาในสมัยหงสาวดี มีต้นตระกูลหรือบรรพบุรุษได้นำเอาสรรพวิชาความรู้ และภูมิปัญญากลับมาทางนี้หมดแล้ว โดยการย้ายถิ่นขนานแท้ ได้ทั้งเรื่องของความเชื่อ รวมทั้งพิธีกรรมต่าง ๆ ได้ทั้งการนับถือผี ยังมีการนับถือพุทธ ที่ยังชัดเจนอยู่ และยังยึดมั่นอยู่อย่างมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับการจัดพิธีกรรมปั้นหุ่นตุ๊กตาเสียกระบาล คน สัตว์เลี้ยง ขับไล่โรคภัย ของชาวบ้านนครชุมน์แห่งนี้ สื่อให้เห็นความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจ การแสดงออกถึงวัฒนธรรมประเพณีที่ยังคงมีการสืบทอดต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งการทำอาหาร การละเล่นของชาวมอญ และการจัดพิธีกรรมตามความเชื่อ โดยความมุ่งหวังเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจของชาวบ้านให้กลับคืนมา และหวังให้โรคร้ายหมดไปจากแผ่นดินโดยเร็ว


ภาพ/ข่าว  ตาเป้ จ.ราชบุรี