Sunday, 28 April 2024
Central

จังหวัดราชบุรี แถลงสถานการณ์โควิด-19 หลังพบผู้ป่วยเพิ่มจากคลัสเตอร์ตลาดบางแค

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2564 ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมแพทย์หญิงปาจรีย์ อารีย์รบ แพทย์ประจำสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี และนายแพทย์ชวนนท์ อิ่มอาบ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ร่วมกันแถลงรายงานสถานการณ์ โควิด-19 และมาตรการควบคุมการระบาดของจังหวัดราชบุรี

โดยสถานการณ์ โควิด-19 จังหวัดราชบุรีช่วงวันที่ 11 - 17 มีนาคม 2564 จังหวัดราชบุรีพบผู้ป่วยยืนยัน รายใหม่ 12 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันระลอกใหม่ปัจจุบัน จำนวน 46 ราย ขณะนี้รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 13 ราย รักษาหาย 33 ราย ทั้งนี้ผู้ป่วยรายใหม่มีความเกี่ยวข้องกับตลาดที่เขตบางแค จากการตรวจเชิงรุกของ กทม. พบเป็นชาวจังหวัดราชบุรี  4 ราย และมีผู้สัมผัสสี่ยงสูงในครอบครัว พบไทม์ไลน์ไปหลายพื้นที่ของจังหวัดราชบุรี จนขยายวงเชื่อมโยงไปถึงบุคคลในโรงเรียนเอกชน สถานที่ราชการ

ประกอบด้วย รายที่ 35 เพศชาย อายุ 28 ปี ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง อาชีพค้าขายที่ตลาดวันเดอร์ บางแค

รายที่ 36,37,38 เพศชาย จำนวน 1 คน  อายุ 49 ปี เพศหญิง จำนวน 2 คนอายุ 47 ปี และ อายุ 41 ปี อาศัยที่ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง อาชีพค้าขายที่ตลาดวันเดอร์ บางแค กทม. รักษาที่ รพ.ราชบุรี 

รายที่ 39,40 เป็นเพศหญิงอายุ 24 ปี และอายุ18 ปี เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของรายที่ 36,37 อาชีพรับราชการ และนักเรียนตามลำดับ รักษาที่ รพ.ราชบุรี

รายที่ 41,42.43 เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงรายที่ 37 เพศชาย อายุ 48 ปี เพศหญิง อายุ 39 ปี เด็กหญิง อายุ 7 เดือนอาศัยที่ตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมือง มีอาชีพรับราชการ รักษารพ.ราชบุรี

รายที่ 44 เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงรายที่ 40 เพศหญิง อายุ 18 ปี ตำบลป่าไก่ อำเภอปากท่อ เป็นนักเรียน รักษาที่ รพ.ปากท่อ

รายที่ 45 เป็นผู้สัมผัสเสียงสูงรายที่ 40 เพศหญิง อายุ 18 ปี ตำบลหนองพันจันทร์ อำเภอบ้านคา เป็นนักเรียน รักษาที่ รพ.บ้านคา

รายที่ 46 เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงซึ่งทำงานที่เดียวกันกับรายที่ 42 เพศหญิง อายุ 34 ปี อาชีพรับราชการ รักษา รพ. ราชบุรี

ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ป่วยรายใหม่ ทั้งหมดได้รับการตรวจแล้ว อย่างไรก็ดีหากสงสัยว่าสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายใหม่ หรือมีประวัติเดินทาง ไปตลาด ทั้ง 6 แห่ง ย่านบางแค ให้รีบปรึกษาแพทย์ หรือเจ้าหน้าสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรับการคัดกรอง ประเมินความเสี่ยงและพิจารณาตรวจหาเชื้อโควิด-19 หลีกเสี่ยงเดินทางไปในชุมชนแออัด


ข่าว/ภาพ : สุพจน์ วรสหวัฒน์ จ.ราชบุรี รายงาน

"ผู้ว่าฯ ปทุมธานี" ประชุมหารือ แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว ตลาดเก่าร้อยปี คลอง 12 หกวา

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 เวลา 09.30 น. ที่ ตลาดเก่า 100 ปี คลองสิบสอง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานการประชุมหารือ แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว ตลาดเก่าร้อยปี คลอง 12 หกวา  

โดยมี นายสุทัศน์  คงแย้ม ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปทุมธานี นายรนัชถ์ชัย พุ่มเจริญ นายอำเภอลำลูกกา  นางสาวธนียา นัยพินิจ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดปทุมธานี นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี นางสาวพิมพกานต์  พิพิธธนานันท์ ผอ.ททท.สำนักงานกรุงเทพ นายภัสพลภ์ ชัยสุริยาทวิกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานี  ผศ.ดร.ดรุณศักดิ์ ตติยะลาภะ รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์  ผู้แทนหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน ประธานชุมชนพัฒนาตลาดเก่า ชุมชนตลาดเก่าร้อยปี คลอง 12 หกวา

พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวตลาดเก่าร้อยปี คลอง 12 หกวา เพื่อเป็นการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ข้อมูลตลาดเก่าร้อยปีให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยว


ภาพ/ข่าว : ประภาพรรณ ขาวขำ รายงาน

"คำรณวิทย์" ห่วงใยเด็กปทุมธานี วางยุทธศาสตร์การศึกษาให้มีที่เรียนระดับมหาลัยจบมามีงานทำ

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 เวลา 10:00 น. ที่โรงเรียนสามโคก ตำบลบ้านงิ้ว อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และหัวหน้าส่วนราชการเข้าเยี่ยมชมและมอบนโยบายในการดำเนินงานเเนวทางการบริหารของโรงเรียนสามโคก สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี

โดยมี นายชูชาติ เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนสามโคก พร้อมด้วยคณะผู้บริหารโรงเรียนและนักเรียน รร.สามโคกให้การต้อนรับ โดยพล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วย นายเสวก ประเสริฐสุข นายเวนิต วัฒนธำรงค์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี นายยุทธนา แสงพงศานนท์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ได้ชมนักเรียนแสดงความสามารถ ทางด้านภาษาต่างประเทศ การแสดงรำไทย โขน กลองยาว โปงลาง รวมถึงด้านกีฬา และมีการจัดบูธนิทรรศการผลงานนักเรียนที่ได้รางวัลในการแข่งขันต่าง ๆ ทั่วประเทศ จากนั้นได้เขียนบันทึกในสมุดเยี่ยมแสดงความชื่นชม ร.ร.สามโคกทุกด้านที่พัฒนาไปมาก และต้องพัฒนาต่อไป ลูก ๆ ร.ร.สามโคกต้องสู้ได้และชนะในทุกเวที

ด้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ผมได้เชิญ ผอ.กิจจา ชูประเสริฐ , ผอ.อารีวรรณ เอมโกษา , ผอ.สมชาย ฟักทอง , ผอ.วรพันธ์ แก้วอุดม , ผอ.วีระพงษ์ ประดิษฐ์ ซึ่งเป็นคณะที่ปรึกษาทางการศึกษาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี มาเพื่อระดมความคิดในการทำงานร่วมกับ นายชูชาติ เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนสามโคก เราต้องการให้โรงเรียนสามโคกสามารถพัฒนาเด็กให้สู้กับโรงเรียนอื่น ๆ ได้ทุกเวที แต่ถ้าหากเรารับเด็กทั้งหมดโดยไม่ผ่านการคัดกรองก็จะไม่มีการแข่งขัน โดยมาร่วมกันอยู่เป็นจำนวนมาที่เดี่ยว ก็จะส่งผลกระทบให้โรงเรียนอื่นๆในพื้นที่เช่นจากที่เคยมีเด็กเกือบ 1,000 คน ทำให้เหลือเพียง 200 คน จึงต้องมีการแก้ไขทั้งระบบให้เด็กนักเรียนในจังหวัดปทุมธานีต้องพัฒนาไปด้วยกันทั้งจังหวัด อย่างเท่าเทียม

ซึ่งวันนี้ได้เห็นความสามารถการแสดงออกของเด็กพบว่าดีมากและไม่แพ้ใครเลย เพียงแต่ขาดการประชาสัมพันธ์รวมถึงไม่ได้สัมผัสกับอีก 22 โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาอื่น ๆ ภายในจังหวัดปทุมธานี เบื้องต้นได้ประสาน ผอ.เขตการศึกษา เพิ่มโรงเรียนสามโคกเป็นโรงเรียนที่ 23 เพื่อให้มีการทำงานร่วมกันกับโรงเรียนอื่น  นอกจากนี้ในวันที่ 23 มีนาคม 2564 จะมีการ MOU กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อให้เด็กที่จบ ม.6 มีการต่อยอดการศึกษาหลากหลายด้านในการประกอบอาชีพในอนาคต ซึ่งทางตนเองและคณะที่ปรึกษาทางการศึกษากำลังวางแผน ยุทธศาสตร์ทางการศึกษาให้เด็กนักเรียนปทุมเรียนจนจบ ระดับมหาวิทยาลัยและมีงานรองรับทำงานเลี้ยงชีวิตและครอบครัวต่อไป ไม่ใช่เรียนจนจบแต่ไม่มีงานทำ

ส่วน นายชูชาติ เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนสามโคก กล่าวว่า เนื่องจากลูก ๆ นักเรียนโรงเรียนสามโคกที่ได้เข้ามาเรียนก็มีความคาดหวังในการที่จะดูแล และสนับสนุน ในเรื่องของวิชาการ ทักษะอาชีพ ศีลปะ ดนตรี และกีฬา ถือว่าเป็นทักษะชีวิตสำหรับเขาที่จะออกไปเป็นคนที่มีคุณภาพ รวมถึง คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ได้ให้นโยบายมาเพื่อสร้างเครือข่ายทางการศึกษาร่วมกับ สถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐานในจังหวัดและเขต

รวมถึงสถาบันระดับอุดมศึกษาเพื่อเติมเต็ม ซึ่งทางโรงเรียนให้ความร่วมมือ ถือว่าคุณครูของโรงเรียนจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้วิชาการ รวมถึงนักเรียนจะได้มีเวทีแสดงออกพบปะกับสังคมเพื่อการเรียนรู้ที่มากขึ้น และคาดหวังว่าลูก ๆ นักเรียนจะได้รับการสานต่อความรู้ความสามารถให้เป็นผู้ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีนำกลับมาตอบแทนท้องถิ่นให้จังหวัดปทุมธานีมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป


ภาพ/ข่าว : ประภาพรรณ ขาวขำ / รายงาน

"คำรณวิทย์" เดินหน้าสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย พร้อมดันเด็กปทุมเป็นทีมชาติ ให้นานาชาติยอมรับ

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 เวลา 15:30 น.  พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เป็นประธานในการมอบทุนการศึกษา ที่สนามกีฬา สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตำบลบ้านปทุม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานในการมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนยากไร้ในโครงการ  “ มอบทุน มอบรัก มอบใจ สู้ภัยโควิด-19 ” พร้อมถุงพอเพียงให้กับนักเรียนจาก 13 โรงเรียน จำนวน 26 ทุน โดยมี พล.ต.ต.สุรพงษ์ อาริยะมงคล อุปนายกและเลขาธิการสนามกีฬาสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย , นายสมนึก เกกีงาม เป็นประธานคณะกรรมการมูลนิธิครอบครัวพอเพียง สาขาจังหวัดปทุมธานี และ นายพงศธรรศ รุจิพุฒธันยพัต นายกสมาคมนักข่าวปทุมธานี กล่าวรายงาน โครงการมอบทุน มอบรัก มอบใจ สู้ภัยโควิด-19

ในวันนี้เกิดจาก สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย , มูลนิธิครอบครัวพอเพียง สาขาจังหวัดปทุมธานี , พุทธสมาคมจังหวัดปทุมธานี , มูลนิธิมงคลจงกล ธูปกระจ่าง และสมาคมนักข่าวปทุมธานี ได้ตระหนักถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี จึงได้ร่วมมอบทุนการศึกษาพร้อมถุงพอเพียงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมชมการฝึกซ้อมของเยาวชนทีมชาติไทยที่ได้ฝึกซ้อมภายในกีฬาสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยแห่งใหม่

ด้าน พล.ต.ต.สุรพงษ์ อาริยะมงคล อุปนายกและเลขาธิการสนามกีฬาสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชมรมกรีฑาเดิมตั้งอยู่หลังสนามกีฬาแห่งชาติปทุมวัน ต่อมาบริเวณนั้นเริ่มแออัดใกล้ศูนย์การค้า เห็นว่ามีผลกระทบต่อความมุ่งมั่นของนักกีฬาเรา หลังเอเชียเกมส์ปี 2541 ได้ย้ายออกมาอยู่ที่สนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต  โดยที่ดินบริเวณนี้ซื้อตั้งแต่ ปี 2553 จากนั้นเมื่อ 3 ปี ที่แล้วเริ่มทำลานกีฬา จากนั้นเมื่อปี 2563 ได้สร้างสนามลู่วิ่ง ที่มีมาตรฐานเทียบระดับโลก เราสามารถจัดการแข่งขันระดับนานาชาติได้  เราได้จัดชิงแชมป์ประเทศไทยได้รับถ้วยพระราชทานจากในหลวง เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา

สำหรับในอนาคตสนามกรีฑาแห่งนี้จะเป็นที่ทำการของ สมาพันธ์กีฑาเอเชีย ที่ได้ย้ายมาจากประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อที่นี่มีอาคารพร้อมที่พักพร้อมจะได้ย้ายเข้ามาทันที ประกอบด้วย สมาพันธ์กรีฑาเอเชีย สมาพันธ์กรีฑาเซาท์อีสเอเชีย และสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ที่แห่งนี้จะเป็นศูนย์พัฒนาการกรีฑาของประเทศไทย และเป็นศูนย์ฝึกของนักกีฬากรีฑาทีมชาติรวมถึงนักกีฬากรีฑาจากนานาชาติที่จะมาซ้อมกับเราที่นี่ด้วย

โดย ที่ท่าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ได้มีนโยบายพัฒนาเยาวชนของจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเราคิดว่ากีฬานั้นเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด ที่สร้างกรอบวินัยและสุขภาพที่แข็งแรงให้เยาวชน คนใดที่มีพรสวรรค์ก็จะก้าวสู่ทีมชาติในอนาคต คนที่มีการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอถึงจะไม่เก่งจนไปถึงระดับทีมชาติแต่ก็จะมีสุขภาพที่ดี ครั้งนี้โอกาสมาถึงแล้ว เพราะเรามีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ที่ใส่ใจเยาวชน และรักกีฬาจริง ๆ วันนี้เรานับหนึ่งเพื่อเดินไปด้วยกัน ที่จะส่งเสริมเอาลูกหลานชาวปทุมธานีออกมาเล่นกีฬาอย่างทั่วถึง และพัฒนาจะไปสู่ระดับชาติได้อย่างแน่นอน


ภาพ/ข่าว : ประภาพรรณ ขาวขำ / รายงาน

หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัย จากบรรพบุรุษ สู่ความภาคภูมิในยุคปัจจุบัน

เมื่อพูดถึงเครื่องปั้น ดิน เผา คีรีมาศสุโขทัย ใครๆก็ต้องเคยได้ยินว่า มีชื่อเรื่องปั้นดินเป็นหม้อ เป็นโอ่ง เป็นไห่ เป็นแจกัน เป็นถ้วย เป็นชาม หรือเป็นกระถางต้นไม้ ปัจจุบันปั้นเป็นรูปสัตว์นานาชนิดต่างๆ ตุ๊กตา หุ่นจำลอง ปั้นเป็นภาชนะจากดินต่าง ๆ มากมายหลากหลาย 

หมู่บ้านที่เป็นถิ่นฐานเริ่มๆในการทำเครื่องปั้นจากดินอาชีพนี้ มานานนม จะมาเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา คือบ้านหน้าวัดลาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 ของตำบลทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย  เป็นหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุโขทัย กว่า 200 ครัวเรือน  ที่ยังคงรักอาชีพในการผลิต เครื่องปั้นดินเผาเพื่อเป็นอาชีพเสริม และอาชีพหลักของคนพื้นที่นี้มาต่อเนื่อง ต้องยอมรับว่าหมู่บ้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา หน้าวัดลายหมู่บ้านนี้ มีความเชี่ยวชาญในการปั้น เพราะได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ผ่านกาลเวลามานับร้อยปี 

จากอดีตที่เป็นเครื่องปั้นดินเผาใช้ในครัวเรือน เช่น หม้อ เตา กระทะ โอ่งน้ำ ปัจจุบันรูปแบบการปั้นเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เช่น กระถางแคคตัส หม้อดินจิ้มจุ่ม และของประดับสวนต่างๆ แต่ยังคงเอกลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นหัตกรรมทางฝีมือของชุมชนให้คงไว้ ถึงจะมีการเปลี่ยนแปลงตามยุค ตามความนิยม ทันสมัย รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ของสิ่งที่ปั้นขึ้นมา แต่ยังคงไม่ทิ้งความเป็นเอกลักษณ์รูปแบบ รูปทรง และลวดลาย ลักษณะดั่งเดิมให้คงไว้เสมอไป

เรียกได้ว่า แบบใหม่ก็จัดให้ แบบเดิม แบบเก่าก็จัดได้ ภาพที่เห็นแก่นักท่องเที่ยว และลูกค้าที่เดินทางมาจับจ่ายซื้อของเครื่องปั้นดินเผา และมาเยี่ยมชมผลงานของทางร้านและหมู่บ้านแห่งนี้ จะพบภาพคุณยายโหง เหน่งแดง นั่งตกแต่งเครื่องปั้นดินเผา เป็นภาพที่จะพบเห็นมาตลอด "ในช่วงเวลาที่ท่านทำเครื่องปั้นดินเผามากว่า 50 ปี"

แม่จันแรม อ้นทอง กล่าวว่า "ความภูมิใจ ที่ได้สานต่อการปั้นดิน และวิธีการปั้นดินจากอดีตจนถึงปัจจุบัน หมู่บ้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่นี้ ยังมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้การทำเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถลงมือทำเครื่องปั้นดินเผาได้ด้วยตัวเอง ในกิจกรรมสร้างสรรค์เครื่องปั้นดินเผา ด้วยการขึ้นรูปบนแป้นหมุน กิจกรรมเพ้นท์กระถางแคคตัส และกิจกรรมปัดเงินปัดทองลงบนเครื่องปั้นดินเผา"

ติดต่อสอบถามหรือจะมาชมงานที่ศูนย์การเรียรู้วิทยาลัยใต้ถุนบ้าน  และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนทุ่งหลวง ตำบลทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย โทร 085-973-7080 , 081-281-1367 เฟซบุ๊ค เครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง & โฮมสเตย์ บ้านทุ่งหลวง Sukhothai


ภาพ/ข่าว สุริยา ด้วงมา

ทนไม่ไหว ! ชาวบ้านเพชรบูรณ์ร้องศูนย์ดำรงธรรม เร่งแก้ปัญหากลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้านไม่โปร่งใส

ที่วัดศรีจันดาธรรม หมู่ 12 ตำบลปากช่อง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ นายชาครินทร์ อินอิ่มวรปราชญ์ นายอำเภอหล่มสักเป็นประธานการประชาคมชาวบ้านเพื่อหาข้อยุติ ในกรณี นายกิจสุพัฒน์ ฉัตรวิโรจน์ ผู้ร้องขอความเป็นธรรมต่อศูนย์ดำรงธรรมอำเภอหล่มสัก

กล่าวว่า นายสุเทพ พั้วพวง ประธานกลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้านน้ำดุกป่าฉำฉา (น้ำดุกหลังศูนย์ฯ) พร้อมคณะกรรมการ ปฏิบัติหน้าที่ไม่โปร่งใส เลือกปฏิบัติเป็นสองมาตรฐาน มีพฤติกรรมฉ้อฉล ไม่เคยจัดการประชุมสมาชิกในแต่ละปี ให้รับทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของกลุ่มรวมฌาปนกิจหมู่บ้านทั้งไม่ชี้แจงรายละเอียดการเงินกับสมาชิก

ทางผู้ร้องจึงได้จัดประชุมสมาชิกกลุ่ม และกรรมการกลุ่มฯ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาโดยสันติวิธีร่วมกัน โดยมีสักขีพยานได้แก่นายอำเภอหล่มสัก นายปรัชญา ปิยะวงษ์ ปลัดอำเภอหล่มสัก ผู้กำกับการ สภ.บ้านกลาง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอหล่มสัก นายไกร แรงงาน กำนัน ต.ปากช่อง ผู้ใหญ่บ้านในตำบลปากช่อง ผู้สังเกตการณ์จากหลายหน่วยงาน ฯลฯ และสมาชิกที่เข้าร่วมกลุ่มฯจาก 7 หมู่บ้านใน ตำบลปากช่อง กว่า 400 ครอบครัว

ทั้งนี้ผู้ร้องขอความเป็นธรรมได้กล่าวในที่ประชุมว่านายสุเทพ พั้วพวง ประธานกลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้านน้ำดุกป่าฉำฉา (น้ำดุกหลังศูนย์ฯ) ปฏิบัติหน้าที่ไม่โปร่งใส เลือกปฏิบัติเป็นสองมาตรฐานต่อสมาชิกที่สูญเสียบุคคลในครอบครัว มีพฤติกรรมฉ้อฉลส่อแววทุจริต เช่นการพิจารณาจ่ายเงินค่าทำศพมีความเหลื่อมล้ำ บางศพได้รับ บางศพไม่ได้รับ  โดยนายกิจสุพัฒน์ ฉัตรวิโรจน์  ซึ่งเป็นผู้เสียหาย กล่าวว่า ตนเองสมัครเป็นสมาชิกของกลุ่มและส่งเงินสมทบค่าทำศพมาตลอด จนเมื่อปลายปี 2563 บุตรชายของตนซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้เสียชีวิตลง ทางคณะกรรมการกลุ่มฌาปนกิจไม่จ่ายเงินให้

โดยอ้างว่า บุตรชายตนเองไปตั้งถิ่นฐานอยู่ กทม นานแล้ว เสมือนได้แยกครอบครัวออกไปจากครอบครัวของตนเองที่เป็นสมาชิกกลุ่มอยู่ ซึ่งทำให้สมาชิกจำนวนมากเกิดความกังวลว่าจะเจอกับเหตุการณ์แบบนี้หรือไม่ เพราะมีหลายครอบครัวที่ลูกหลานได้ออกไปทำงานอยู่ต่างถิ่น หากเสียชีวิตทางกลุ่มจะจ่ายเงินให้หรือไม่ รวมทั้งที่ผ่านมาทางกลุ่มไม่เคยมีการประชุมชี้แจงการดำเนินงานให้สมาชิกทราบ รวมถึงสถานะทางการเงินกับสมาชิก ตนจึงร้องขอความเป็นธรรมกับทางศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ทางศูนย์ดำรงธรรมได้เชิญนายสุเทพ พั้วพวง มาให้ปากคำเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 และได้ชี้แจงข้อร้องเรียนให้ผู้ร้องได้รับทราบเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564

ผลสรุปว่าผู้ถูกร้องยอมเจรจาว่าจะจ่ายเงินสงเคราะห์ศพให้ทางผู้ร้องแต่ต้องรอมติจากสมาชิกในการประชุมใหญ่  ที่จะประชุมกันในวันที่ 18 มีนาคมนี้ก่อน โดยทางผู้ร้องมีข้อต่อรอง 2 ประการคือให้ปลดล็อคการสืบทอดอำนาจของประธานและกรรมการโดยให้มีการเลือกตั้งเป็นวาระ ให้ประธานและกรรมการกล่าวขอโทษในการทำงานผิดพลาดต่อสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม แต่พอมาวันที่ 14 มีนาคม ทางผู้ร้องมีพฤติกรรมที่ส่อว่าจะไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงโดยออกแบบกฎกติกาข้อบังคับของกลุ่มฌาปนกิจขึ้นมาใหม่และแจกให้สมาชิกบางส่วน ซึ่งทางผู้ร้องเกรงว่าเหตุการณ์จะบานปลายและจะจบด้วยสันติวิธีไม่ได้

ในการประชุมทางกลุ่มฌาปนกิจได้ชี้แจงข้อสงสัยต่าง ๆ ของผู้ร้องและสมาชิก แต่ก็ยังไม่กระจ่างในหลายกรณี โดยนายประสิทธิ์ จงธรรม์ กรรมการกลุ่มได้กล่าวกลางที่ประชุมว่า สมาชิกอย่ากังวลกับการทำงานของกรรมการ หากมีการเสียชีวิตของสมาชิกสามารถจ่ายเงินได้ทันที 3 ศพ ส่วนกรณีการเสียชีวิตบุตรชายของนายกิจสุพัฒน์ เนื่องจากบุตรชายของนายกิจสุพัฒน์ไม่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนของกลุ่มจึงไม่สามารถจ่ายเงินให้ได้ หากสมาชิกอยากให้จ่ายก็ให้สมาชิกรับผิดชอบหาเงินมาจ่ายเอง ไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการ พร้อมทั้งประกาศยุติการดำเนินงานของกลุ่มฌาปนกิจที่ตั้งมานนกว่า 25 ปีลง และจะเปิดกลุ่มใหม่ หากใครสนใจจะเข้าให้มายื่นความจำนงกับกรรมการแต่ละเขตต่อไป

ทางด้านนายอำเภอหล่มสัก กล่าวว่า ในส่วนกรณีของปัญหาการจ่ายเงินค่าศพของสมาชิก เป็นสิทธิ์ที่ทางคณะกรรมการจะพิจารณา ทางอำเภอจะเข้าดูในด้านเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น รายชื่อคณะกรรมการ หลักฐานทางการเงินและการจดแจ้งขึ้นทะเบียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับกลุ่มให้มีชัดเจน ถูกต้องและโปร่งใส โดยจะให้ปลัดอำเภอเข้ามาให้คำแนะนำและดำเนินการให้ถูกตามตามระเบียบทางราชการภายในสองอาทิตย์ ทั้งนี้กลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้านน้ำดุกป่าฉำฉา (น้ำดุกหลังศูนย์ฯ) รวมตัวดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2538 มีสมาชิกแรกเริ่ม 100 ครอบครัว ในพื้นที่ หมู่ 2,5,11,12,13,14,17 ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ปัจจุบันมีสมาชิก 458 ครอบครัว


ภาพ/ข่าว  มนสิชา  คล้ายแก้ว

กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย ยกทัพมะม่วงคุณภาพดีให้คนกรุงได้ลิ้มลองในงาน “Mango of SIAM ที่สุดแห่งมะม่วงไทย ถูกใจทั่วโลก”

ระหว่างวันที่ 2 - 6 เม.ย. 2564 นี้ ณ ห้างสรรพสินค้า ICONSIAM พร้อมรณรงค์แคมเปญ “ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” อุดหนุนชาวสวนผลไม้

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้นโยบายเกี่ยวกับการประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนถึงความร่วมมือและความเป็นไปได้ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ได้แก่ ICONSIAM, Central Pattana, The Mall, Tops Market, Makro, Lotus, Big C เพื่อวางแผนภาพรวมทั้งปีในการเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำสินค้าเกษตรเข้าไปจำหน่ายตามฤดูกาล ภายใต้ความร่วมมือการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2564 และช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19

สำหรับในช่วงระยะเวลานี้สิ่งที่จำเป็นต้องเร่งทำเป็นกรณีพิเศษคือเรื่องผลไม้ ซึ่งผลไม้เขตร้อนเริ่มออกสู่ตลาดแล้ว และจะออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมถัดจากนี้ไป ผลไม้ไทยถือว่ามีคุณภาพมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่งทางด้านการตลาดต้องดำเนินการทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินการช่วยระบายผลไม้ทั้งในส่วนตลาดออฟไลน์และตลาดออนไลน์ควบคู่กันไปด้วยเพื่อไม่ให้ผลผลิตกระจุกตัว โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศขณะนี้ประสบปัญหาเรื่องการส่งออกผลไม้ในภาพรวมยังทำได้ไม่ 100% จึงต้องหันมาส่งเสริมด้านการตลาดในประเทศเพื่อช่วยชาวสวนเพิ่มให้มากขึ้น

กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับ ICONSIAM ได้กำหนดจัดงาน “Mango of SIAM ที่สุดแห่งมะม่วงไทย ถูกใจทั่วโลก” ระหว่างวันที่ 2 – 6 เมษายน 2564 ณ บริเวณชั้น G ห้างสรรพสินค้า ICONSIAM โดยเชิญ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน วัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้เพื่อช่วยชาวสวนผลไม้กระจายผลผลิต โดยเฉพาะระยะนี้เป็นเทศกาลของมะม่วงซึ่งมีผลผลิตจากหลายพื้นที่ทยอยออกสู่ตลาด กรมฯ จึงร่วมกับสมาคมชาวสวนมะม่วงไทยคัดสรรผลผลิตและผลิตภัณฑ์มะม่วงคุณภาพดีที่ได้รับการรับรองมาตรฐานมาร่วมออกบูธจำหน่าย รวม 25 บูธ

ประกอบด้วย สินค้ามะม่วงจากสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย 8 บูธ ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา (ผลสดและผลิตภัณฑ์), จ.พิจิตร (ผลสด ผลิตภัณฑ์ และกิ่งพันธุ์), จ.พิษณุโลก (ผลสดและกิ่งพันธุ์), จ.เพชรบูรณ์ (ผลสด), จ.ราชบุรี (ผลสด), จ.นครราชสีมา (ผลสด), จ.สระแก้ว (ผลสด GI) สินค้าเกษตรจากตลาดเกษตรกร 5 บูธ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แปรรูปมะม่วงมหาชนก จ.เชียงใหม่, มะม่วงดองแช่อิ่ม จ.ชลบุรี, มะม่วงน้ำปลาหวานต้นหอม จ.สมุทรปราการ, มะม่วงพันธุ์ต่างประเทศ อบแห้ง จ.ลำพูน, มะม่วงน้ำปลาหวานมะดัน มะดันแช่อิ่ม จ.นครนายก

สินค้าเกษตรจากกลุ่มแปลงใหญ่ 6 บูธ ได้แก่ แปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอม จ.สมุทรสาคร, แปลงใหญ่ส้มโอ ลิ้นจี่ จ.สมุทรสงคราม, แปลงใหญ่ทุเรียน มังคุด จ.จันทบุรี, แปลงใหญ่อะโวคาโด จ.ตาก, แปลงใหญ่สับปะรด (พันธุ์ใหม่) จ.ระยอง, แปลงใหญ่ขนุน จ.ชลบุรี และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่เกี่ยวกับมะม่วงและการบริการต่าง ๆ จำนวน 5 บูธ ได้แก่ อุปกรณ์ทางการเกษตร ปุ๋ย สารชีวภัณฑ์ ฮอร์โมน ที่เหมาะสมสำหรับชุมชนเมือง รวมทั้งการให้บริการขนส่ง เช่น ไปรษณีย์ไทย, Kerry เป็นต้น

กิจกรรมภายในงาน นอกจากจะมีการออกร้านจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ยังได้จัดแสดงนิทรรศการประกอบเพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าชมงาน เช่น เทคโนโลยีการผลิตมะม่วงคุณภาพดี ตั้งแต่การปลูก การดูแลรักษามะม่วง ศัตรูสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง การพัฒนาคุณภาพมะม่วงส่งออก/ดัชนีการเก็บเกี่ยวมะม่วง การแสดงความหลากหลายทางสายพันธุ์มะม่วง และมะม่วงที่ได้รับการรับรองเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

สำหรับมะม่วงที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้จำแนกออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 มะม่วงไทยพันธุ์การค้า จำนวน 16 พันธุ์ ได้แก่ น้ำดอกไม้เบอร์สี่ น้ำดอกไม้สีทอง เขียวเสวย ฟ้าลั่น โชคอนันต์ มหาชนก อกร่อง (อกร่องทอง อกร่องเขียว อกร่องพิกุลทอง) แรด ขายตึก เพชรบ้านลาด มันเดือนเก้า มันขุนศรี มะม่วงเบา น้ำดอกไม้มัน แก้ว หนังกลางวัน

กลุ่มที่ 2 มะม่วงไทยพันธุ์หายาก/โบราณ จำนวน 10 พันธุ์ ได้แก่ ยายกล่ำ สายฝน เจ้าคุณทิพย์ พิมเสนมัน พิมเสนเปรี้ยว งาช้างแดง นาทับ สาวน้อยกระทืบหอ ลิ้นงูเห่า แก้วลืมรัง

กลุ่มที่ 3 มะม่วงพันธุ์ต่างประเทศ/ลูกผสม จำนวน 6 พันธุ์ ได้แก่ อ้ายเหวิน อี้เหวิน จินหวง อาร์ทูอีทู แดงจักรพรรดิ แก้วขมิ้น

กลุ่มที่ 4 มะม่วงที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ยายกล่ำนนทบุรี น้ำดอกไม้สระแก้ว น้ำดอกไม้ฉะเชิงเทรา และการซื้อขายสินค้าเกษตรผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมบนเวที เช่น การแข่งขันแกะสลักผลไม้ ตำผลไม้ลีลา เชฟชื่อดังมาร่วมโชว์ปรุงเมนูมะม่วงเลิศรส การถาม-ตอบความรู้มะม่วง สาธิตต่าง ๆ กิจกรรมนาทีทอง ลุ้นโชควงล้อมะม่วงมหาสนุก เป็นต้น จึงขอเชิญชวนผู้บริโภคทั้งในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง ร่วมอุดหนุนสินค้าเกษตรไทยช่วยสนับสนุนชาวสวนผลไม้ภายใต้ Campaign “ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” พร้อมชมบรรยากาศดี ๆ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศได้ที่ห้างสรรพสินค้า ICONSIAM

สมุทรปราการแตก พบโควิดรวดเดียว 12 ราย รอผลอีก 40 ราย

วันที่ 19 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าสาธารณสุข จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ซอยสุขุมวิท 117  (ซอยภานุวงศ์) ภายในไซค์งานก่อสร้าง ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ไปนำตัวแรงงานก่อสร้าง จำนวน  12 ราย แยกเป็นพม่า 1 ราย กัมพูชา 6 ราย คนไทย 5 ราย ที่ติดโควิด 19 ไปรักษาตัวตามสถานที่ที่จัดไว้

โดยสื่บเนื่องจากเมื่อวานนี้ทาง ทีมสาธารณสุข จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก (active case finding) กับ กลุ่มแรงงานก่อสร้างไซค์ดังกล่าว จำนวน 600 คน ผลปรากฏว่า มีผู้ติดเชื้อ จำนวน 12 คน และ รอการยืนยันผลการติดเชื้ออีก 40 คน ในช่วงเย็นนี้  จึงได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ กำชับ แจ้งการห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน และแจ้งแนวทางปฏิบัติกับผู้ประกอบการทราบ

จากการสอบถาม นายสุรัตน์ พัศดุ เจ้าหน้าที่สาธารณะสุขชำนาญการ สาธารณะสุข อำเภอเมืองสมุทรปราการ กล่าว่า ตอนนี้มีผู้ติดเชื่อโควิด 19 จำนวน 12 ราย แบ่งเป็นพม่า 1 ราย กัมพูชา 6 ราย คนไทย 5 ราย โดยทามไลน์อยู่ระหว่างการสอบสวน โดยในไซค์งานก่อสร้างนี้ก่อนเข้ามาก็มีการตรวจสุขภาพมาแล้วโดยทางไซค์งานนี้ก็มีมาตรการป้องกันอยู่แล้ว

โดยการพบครั้งนี้เป็นการตรวจเชิงรุก โดยเมื่อวานตรวจ 600 ราย ผลออกมาเมื่อเช้านี้ พบ 12 ราย และรอยืนยันอีก 40 ราย ในเย็นวันนี้ ว่าติดหรือไม่ติด  โดยตอนนนี้พื้นที่ดังกล่าวได้ปิดกั้นไม่ให้เข้าออกในส่วนของคนงาน และจะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจเพิ่มเติมในรัศมี 500 เมตร ถ้ามีทามไลน์กับชุมชนด้วยทางเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติม โดยทั้ง 12 ราย ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการแสดง โดยเจ้าหน้าที่สวอตเจอเชื้อ ไม่ได้ป่วยไปโรงพยาบาล 


ภาพ/ข่าว ก๊วก สมุทรปราการ

บรรยากาศสุดฟินที่เพชรบูรณ์ กับสีสัน ช้อปเพลิน เดิน กิน ที่ถิ่นท้ายดง “TAIDONG WALKING STREET”

นายนาวิน สังฆมาตร นายอำเภอวังโป่ง เป็นประธานเปิด “TAIDONG WALKING STREET”( ถนนคนเดินท้ายดง ) ช้อปเพลิน เดิน กิน ที่ถิ่นท้ายดง ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในแนวคิดในการพัฒนาชุมชน ให้เป็นที่รู้จักและการกำหนดให้แหล่งเรียนรู้ของตำบล เป็นแหล่งตลาดใหม่

โดยองค์การบริหารส่วนตำบลท้ายดง ให้ความสำคัญของเด็กและเยาวชนพร้อมด้วยผู้สูงอายุในสังคมปัจจุบัน โดยการพยายามหาแนวทางในการขับเคลื่อนกลุ่มของสภาเด็กเยาวชนตำบลท้ายดง และโรงเรียนสร้างสุขผู้สูงวัยตำบลท้ายดง จึงจัดกิจกรรม “TAIDONG WALKING STREET”( ถนนคนเดินท้ายดง ) ช้อปเพลิน เดิน กิน ที่ถิ่นท้ายดง โดยมีนางสาวฉัตรนภา เมืองแป้น นายก อบต.ท้ายดง เป็นผู้กล่าวรายงาน  เพื่อเป็นการผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวของตำบลท้ายดง และสนับสนุนการแสดงกิจกรรม สืบทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและการแสดงของกลุ่มเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน

นอกจากนี้ ภายในกิจกรรม ก็ได้มีอีกหนึ่งสีสันและไฮไลท์เด็ด ให้ผู้ร่วมงานและนักท่องเที่ยวได้รับชม โดยมีการแสดงของสภาเด็กและเยาวชนตำบลท้ายดง ที่ออกมาโชว์สเต๊ปการเต้นเข้าจังหวะ ด้วยท่วงท่าที่หลากหลาย น่ารัก สมวัย สร้างความสนุกสนาน และตามด้วยการแสดงที่อ่อนช้อย ของโรงเรียนสร้างสุขผู้สูงวัยตำบลท้ายดง ที่ต่างพร้อมใจกันแต่งกายด้วยผ้าซิ่น สวมใส่เสื้อสีชมพู มีผ้าขาวม้าพาดไหล่ สะพายกระติ๊บข้าวเหนียว ออกมาโชว์ในชุด เซิ้งกระติ๊บอย่างพร้อมเพียง งดงาม

และนอกจากนั้น ยังมีร้านขายอาหาร ร้านขายของฝาก ของที่ระลึก ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านเสริมความงาม รวมทั้งกิจกรรมกีฬาและสันทนาการต่างๆ มาคอยให้บริการอย่างครบครัว และที่จะขาดไม่ได้เลยทีเดียว เมื่อใครได้มาถึงที่นี่แล้ว จะต้องมาร่วมเช็คอิน ถ่ายรูปกับมุมเซลฟี่ต่างๆ ที่ทางถนนคนเดินท้ายดง ได้จัดแต่งไว้ให้อย่างหลากหลาย โดยจะเปิดให้บริการ ในทุกวันพฤหัสบดี เริ่มตั้งแต่เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป จนถึงช่วงเวลา 19.00 น.


ภาพ/ข่าว : เดชา มลามาตย์ และ ยุทธ ศรีทองสุข

ผู้ว่าฯ ปู คืนสู่สาคร คนแห่ต้อนรับเนืองแน่น ด้านพ่อเมืองบอกรักและคิดถึงที่สุดสมุรสาคร อีก 1 เดือนพร้อมสู้ต่อ

เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ของวันที่ 19 มีนาคม 2564  ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์  แพทย์ผู้ให้การดูแลฯ ได้เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกับ นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นางชุติพร วิจิตร์แสงศรี (ภริยา) นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสมุทรสาคร และ นางสาววีราพร หรือ น้องน้ำหวาน วิจิตร์แสงศรี (บุตรสาว) เพื่อพบปะกับ นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร หัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชนที่มาร่วมกันต้อนรับอย่างเนืองแน่น

โดยเมื่อขบวนรถของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครมาถึง คนที่มาต้อนรับก็ปรบมือส่งเสียงดีใจ ที่ท่านเดินทางกลับมาที่สมุทรสาครด้วยใบหน้าที่สดใส มีรอยยิ้มและสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้น แม้จะยังไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดและครอบครัว ก็ได้โบกมือทักทายทุกคน พร้อมกับยกมือไหว้ขอบคุณที่ทุกคนรักและมารอต้อนรับ ก่อนที่จะเข้าห้องประชุมพันท้ายนรสิงห์ฯ เพื่อพบปะกับผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ประมาณ 30 คน

สำหรับในห้องประชุมหลังจากที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ ได้เล่าให้ฟังถึงอาการท่านผู้ว่าฯ และแนวทางการรักษา ตลอดจนกำลังใจที่มีส่วนสำคัญทำให้ท่านผู้ว่าฯ ฟื้นคืนร่างกายกลับมาได้โดยเร็วแล้วนั้น ทางนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ก็ได้กล่าวถึงความรู้สึกตั้งแต่เริ่มแรกที่รู้ว่าติดเชื้อโควิด – 19 จนกระทั่งนอนอยู่ในโรงพยาบาลแบบไม่รู้สึกตัว 43 วัน และต้องพักรักษาอยู่ในโรงพยาบาลศิริราชทั้งหมด 82 วัน

ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ตนเองได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ผ่านการเล่าเรื่องจากแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องของโรงพยาบาลสนามที่ตนมุ่งหวังและเชื่อมั่นว่าจะเป็นแนวทางในการป้องกันแก้ไขสถานการณ์โควิดให้ลุล่วงไปได้อย่างแน่นอน จนกระทั่งเมื่อตนเองรู้สึกตัวและสามารถขยับร่างกายได้แล้วนั้น ก็ได้อ่านข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับโควิดที่สมุทรสาครมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้รับรู้ความเคลื่อนไหว ความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น น้ำใจจากทุกภาคส่วนที่หลั่งไหลสู่สมุทราสคร และความรัก ความสามัคคีของคนสมุทรสาคร ตลอดจนกำลังใจที่ส่งต่อมาให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครอย่างล้นหลาม

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะบอกกับคนสมุทรสาครคือ “รักและคิดถึงสมุทรสาครมากที่สุด” แม้ตนเองจะไม่ใช่คนสมุทรสาคร แต่การที่ได้มาทำงานที่นี่กว่า 1 ปี ก็รักและคิดถึงที่นี่มากแม้ว่าที่นี่ไม่ใช่บ้านก็เสมือนบ้านของตนเอง โดยสถานการณ์โควิด – 19 วันนี้ เป็นบททดสอบที่สำคัญยิ่ง ซึ่งคนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครจะต้องมีส่วนรับผิดชอบในการควบคุมสถานการณ์ ทั้งนี้ตนก็เชื่อว่าการระบาดครั้งนี้จะต้องมีจุดจบ สมุทรสาครจะต้องสามารถกลับขึ้นมายืนได้อีกครั้ง ด้วยความร่วมมือของคนสมุทรสาคร ที่จะทำให้เราสามารถต่อสู้ชนะโควิดได้ในเร็ววันนี้ ส่วนตัวนั้นขอเวลาอีกประมาณ 1 เดือนในการพักฟื้นร่างกายตามคำสั่งของแพทย์ หลังจากนั้นจะกลับมาทำงานรับใช้พี่น้องชาวสมุทรสาคร 

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ยังบอกทิ้งท้ายด้วยอารมณ์แห่งความสุขและเรียกรอยยิ้มด้วยว่า ถ้าวันที่หายเป็นปกติสุขภาพร่างกายแข็งแรงดีแล้ว คิดว่าจะลงพื้นที่ไหนเป็นจุดแรกนั้น คงตอบไม่ได้ เพราะทุกพื้นที่สำคัญเหมือนกันหมด หากจะระบุไปที่ใดที่หนึ่งกลัวจะทำให้พื้นที่อื่นเกิดความน้อยใจ เพราะการทำงานเลือกพื้นที่ไม่ได้ คงต้องดูความเหมาะสมหรือความจำเป็นในขณะนั้น อีกอย่างหนึ่งคือ บอกไม่ได้ตอนนี้ เพราะกลัวภริยาจะรู้ ห้ามไม่ให้ไปทำงาน

ทั้งนี้หลังจากที่ใช้เวลาในห้องประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ก็ได้มีการรับประทานอาหารร่วมกันเป็นมื้อแรกที่สมุทรสาคร โดยมีเมนูโปรดของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครคือ ข้าวผัดปู ต้มส้มปลากระบอก ปลาหมึกผัดกะปิ กุ้งซอสมะขาม ลอดช่องวัดเจษ และลำไยพวงทอง ส่วนการรับประทานอาหารนั้นก็จัดเป็นเซ็ตสำหรับแต่ละท่าน มีการเว้นระยะห่างตามมาตรการ New Normal


ภาพ/ข่าว  ชูชาต แดพยนต์ สมุทรสาคร


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top