Monday, 20 May 2024
เซาท์ไทม์

ชุมพร - ร่วมมือทุกหน่วยงาน ลงพื้นที่รับปากประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าแน่นอน ก่อนปีใหม่ 2565 แก้ไขชาวบ้าน อ.หลังสวน ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้นานกว่า50 ปี ร่วม 200 ครัวเรือน

วันที่ 31 สิงหาคม 2564 เวลา 09.30 น. ภายใต้การอำนวยการของนายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร และนายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร (รับผิดชอบด้านความมั่นคงและการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ) ได้มอบหมายให้ ปลัดจังหวัดชุมพร เป็นประธานการประชุม(ครั้งที่ 2) เพื่อบูรณาการเเก้ไขปัญหากับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดติดตามผลความคืบหน้ากรณีชาวบ้านในพื้นที่ ม.7 ม.9 ม.12 และ ม.13 ต.หาดยาย อ.หลังสวน ไม่มีไฟฟ้าใช้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ติดเขตป่าของกรมป่าไม้ และเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานเเห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ณ ห้องประชุม อบต.หาดยาย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ท้องถิ่นจังหวัดชุมพร,  นายก อบต.หาดยาย ,ผู้เเทนรอง ผอ.รมน.จังหวัด ช.พ. (ฝ่ายทหาร) ผู้แทน หน.สนจ.ชพ.,ผู้แทนประชาสัมพันธ์จังหวัดชุมพร ,ผู้แทน ผอ.ทสจ.ชพ.,ผู้แทน ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี),ผอ.ศูนย์ป่าไม้จังหวัดชุมพร,ผจก.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอหลังสวน,หน.อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว,ผู้แทนนายอำเภอหลังสวน,ปลัดอำเภอหลังสวน,กำนันตำบลหาดยายและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่

จากนั้นได้ลงพื้นที่ ม.7 ม.9 และ ม.12  ซึ่งมีเนื้อที่ 13 ไร่ 2 งาน 56 ตร.วา ที่อยู่ในเขตป่า ตาม ม.54 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และได้รับอนุญาตจาก สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี)ให้ดำเนินการโครงการขยายเขตระบบไฟฟ้าแล้ว โดยจะเริ่มดำเนินการปักเสาไฟต้นแรกพร้อมจ่ายไฟฟ้า ในพื้นที่ ม.12 ภายในวันที่ 25 ก.ย.64 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอหลังสวน จะเรียนเชิญ ผวจ.ชพ. เป็นประธานเปิด เฟสเเรกต่อไป

ส่วนพื้นที่ป่าไม้ถาวร ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2504 เนื้อที่ 9 ไร่ 1 งาน 67 ตร.วา กรมป่าไม้ ได้ทำหนังสือ เสนอ รมว.ทส. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อเห็นชอบแล้ว กรมป่าไม้ก็จะให้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี) พิจารณาอนุญาตตามที่ อธิบดีกรมป่าไม้ได้มอบอำนาจให้ต่อไป พื้นที่ขยายเขตไฟฟ้าดังกล่าวทั้ง 2 ส่วนระยะทาง 11.290 กม. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอหลังสวนจะเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างปักเสาไฟฟ้าให้เเล้วเสร็จภายใน 31 ธ.ค.64 นี้

หลังจากนั้นได้ลงพื้นที่ ม.13 ต.หาดยาย ซึ่งชาวบ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จำนวน 178 ครัวเรือน จำนวน 4 เส้นทาง ระยะทาง 8.2 กม. เศษ อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ของอุทยานเเห่งชาติน้ำตกหงาว  การไฟฟ้าภูมิภาคอำเภอหลังสวนจะเป็นเจ้าภาพในการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าโดยได้ทำการสำรวจออกเเบบและประมาณการเสร็จเรียบร้อยแล้วได้ส่งเรื่องเเละรายละเอียดให้ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว เมื่อวันที่ 27 ม.ค.64(ฉบับเเก้ไขล่าสุด) ทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว ได้รับทราบปัญหาและข้อเท็จจริงรวมทั้งได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม ณ ศาลา ม.13 ต.หาดยาย โดยจะเร่งรัดส่งข้อมูลให้ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 (สุราษฎร์ธานี) พิจารณา และในเบื้องต้นปลัดจังหวัดชุมพรได้โทรประสาน ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 เพื่อพิจารณาให้ความอนุเคราะห์ด้วยแล้ว

ในส่วนรายละเอียดที่เกี่ยวข้องได้มอบหมายให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอหลังสวน ,นายอำเภอหลังสวน และ อบต.หาดยาย ได้บูรณาการ โดยจัดทำโครงการร่วมกับ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาวในรายละเอียดข้อเท็จจริงและการใช้ประโยชน์ของอุทยานและปัญหาความเดือดร้อนเรื่องประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้ เนื่องจากได้อยู่อาศัยมากว่า40 ปี มีการปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยและประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักแหล่งมีถนนหนทางเข้าออกได้สะดวกเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งไม่สามารถใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า และอินเตอร์เน็ตได้ ปัจจุบันมี นักเรียนชั้นประถมศึกษา และมัธยมฯ จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเรียนออนไลน์ รวมทั้งประชาชนที่ป่วยโควิด19 ต้องได้รับการดูเเลรักษาอย่างทันท้วงที ซึ่งต้องเร่งรัดประสานงานเพื่อให้ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชต่อไปในการขยายเขตไฟฟ้าโดยเร็ว รวมทั้งได้ติดตามผลความคืบหน้าเป็นระยะ จนกว่าชาวบ้านในพื้นที่จะมีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน และในระดับจังหวัดที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานจังหวัดชุมพร(ศดธ.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบแก้ไขปัญหา และติดตามผลความคืบหน้ากรณีเรื่องร้องเรียนดังกล่าวต่อไป อีกทางหนึ่งด้วย


ภาพ/ข่าว  ธนากร โกศลเมธี รายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร

นราธิวาส - สภาเกษตรนราฯ วอนรัฐช่วย ระบายผลไม้จังหวัดชายแดนภาคใต้ ราคาตกต่ำ ด้านแม่ทัพภาค 4 ย้ำ “ทหารไม่ทอดทิ้งประชาชน รับซื้อลองกองสานใจสู่สันติ กระจายผลผลิตสู่ตลาด ช่วยเกษตรกรใต้มีรายได้ สู้วิกฤติโควิด-19

นายแวฮามะ บากา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ผลไม้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมากมาย เนื่องจากเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ อาทิ มังคุด ทะเรียน เงาะ และลองกอง ซึ่งผลไม้อื่นๆเริ่มน้อยลงแล้ว แต่ที่มีผลไม้ที่กำลังออกผลผลิตจำนวนมากขณะนี้ คือ ผลไม้ลองกอง โดยมีผลผลิต ผลไม้ลองกอง ในพี้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด ปีนี้ประมาณ 13,000 ตัน แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่โรคระบาดสีแดงเข้ม ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการคุมเข้มพื้นที่เป็นกรณีพิเศษ เพื่อป้องกันการระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ มาตรการปิดพื้นที่หมู่บ้าน เคอร์ฟิวเวลา ออกเคหะสถาน การงดการเดินทางข้ามจังหวัด และอื่น ๆ เป็นต้น ทำให้พื้นที่และประชาชน ร่วมถึงพี่น้องเกษตรกร ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตามในการแก้ปัญหาผลไม้ที่ขายไมได้และราคาตกต่ำ ในส่วนจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ทางสำนักงานเกษตรจังหวัด พานิชย์จังหวัด สหกรณ์จังหวัด และ ไปรษณีย์ได้บูรณการร่วมกันช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวน แต่ผลไม้พื้นที่ผลผลิตยังจำนวนมาก ที่เกษตรกรขายไม่ได้ แม้จะระบายสู่ตลาดต่างจังหวัดและในพื้นที่บางส่วน  ผลผลิตโดยเฉพาะลองกอง ยังต้องให้ทุกฝ่าย มาช่วยซื้อ หรือระบายจำหน่าย ช่วยเกษตรอีกจำนวนหลายตัน จึงอยากให้หน่วยงานของรัฐ เข้ามาช่วยเหลือผลัดดันผลไม้สู่ตลาดถึงมือผู้บริโภคให้มาก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้าน พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เปิดกับผู้สื่อข่าวว่า กล่าวว่า ทางกองทัพบก โดยผู้บัญชาการทหารบได้ให้นโยบายในเรื่องการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ covid-19  ทั้งเรื่องการขนส่ง และการซื้อขายที่มีความยากลำบาก โดยให้หน่วยในภูมิภาคในส่วนของกองทัพบกช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ด้วยการเข้าดำเนินการประสานงาน ทั้งตลาดกลางในการรับซื้อ  ที่ผ่านมากองทัพภาคที่ 4 มีการดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนทุเรียน มังคุด และอื่น ๆ

โดยการจัดซื้อนำไปขายยังส่วนกลาง และสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ตลอดจนแจกจ่ายให้กับทหารกองประจำการหน่วยต่าง ๆ ได้รับประทาน และในขณะนี้พี่น้องเกษตรกรที่ปลูกลองกองมีผลผลิตออกมามากพอสมควร จึงได้ให้ศูนย์สันติวิธีของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นศูนย์กลางในการให้สมาชิกโครงการสานใจสู่สันติ ซึ่งเป็นพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ดำเนินการเป็นผู้แทนในการรับซื้อ จากทั้งในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสงขลา จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี ในวันนี้สามารถรวบรวมผลผลิตลองกองที่รับซื้อมาได้จำนวนกว่า 6.5 ตัน เพื่อส่งไปให้กับพี่น้องสมาชิกชมรมพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหารกองทัพบก ที่มียอดการสั่งซื้อไว้ โดยชมรมพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้มาร่วมกันรับซื้อ และจัดส่งผลผลิตลองกองตามโครงการดังกล่าว ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ได้ร่วมกันทำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรในการรับซื้อ และประสานงานเพื่อส่งต่อให้ผู้บริโภค นำไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของ กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี  จังหวัดนครราชสีมา ให้ได้มีโอกาสรับประทานลองกองพันธุ์ดี รสชาติอร่อย ในราคาที่เป็นธรรม อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในการกระจายผลผลิตทางการเกษตร เพื่อบรรเทาผลกระทบจากกรณีผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดและมีราคาตกต่ำอีกด้วย

มทภ.4 ยังกล่าวอีกว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีผู้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้พยายามเข้ามาทำลายระบบสาธารณูประโภคสาธารณะ เช่น การก่อเหตุกับขบวนรถไฟขนส่งสินค้า และอื่นๆ อย่างไรก็ตามความพยายามการก่อเหตุของผู้ก่อเหตุรุนแรงอาจจะเกิดจากช่องว่างในการทำงานอยู่บ้าง แต่ในวันนี้มีการปรับปรุงซ่อมแซมเปิดให้บริการขนส่งได้เป็นปกติ สามารถนำผลผลิตทางการเกษตรไปขายสู่ท้องตลาดได้ ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนพบเห็นสิ่งผิดปกติให้แจ้งทางหน่วยในพื้นที่ได้รับทราบ หรือแจ้งมายังสายตรงแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ตลอดที่หมายเลขโทรศัพท์ 061-173-2999 การขนส่งทางรถไฟเป็นขนส่งสำคัญที่คอยพยุงให้ความช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์  พี่น้องเกษตรกร อย่าเหยียบย่ำซ้ำเติมในภาวะวิกฤติแบบนี้


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

นาราธิวาส - ผบ.พล.ร.15 จัดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ Big Cleaningday ณ ศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน พล.ร.15 โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ บ้านโคกป่ายาบือซา

พลตรีไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่15 ในฐานะ ผู้อำนวยการหลักสูตรศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน กองพลทหารราบที่15  เดินทางมาเป็นประธานกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ Big Cleaningday ณ ศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน กองพลทหารราบที่ 15 โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ บ้านโคกป่าฆาบือซา ตำบลกะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยมี พันเอก ยุทธนา สายประเสริฐ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 151 ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรภาครัฐ เอกชน กำลังพลจิตอาสา และ ประชาชนจิตอาสา เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งภายในกิจกรรมกำลังพลจิตอาสา หน่วยงานส่วนราชการ ทุกภาคส่วน ร่วมแรง ร่วมใจกัน ช่วยกันพัฒนาทำความสะอาดปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณโดยรอบ เพื่อให้ศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน กองพลทหารราบที่ 15 สามารถมีความพร้อมต่อการรองรับการฝึกในอนาคตต่อไป โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 อย่างเคร่งครัด

โดยการจัดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ Big Cleaningday ณ ศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน กองพลทหารราบที่ 15 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งเป็นศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน กองพลทหารราบที่15

สถานีฝึกปฏิบัติหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประจำหลักสูตรจิตอาสา (หลักสูตรพื้นฐาน) ภาค 4 ที่ใช้พื้นที่โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง บ้านโคกปาฆาบือซา  เป็นสถานที่ทำการฝึกหลักสูตรจิตอาสาพระราชทาน ภาค 4 โดยพลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน ภาค 4 เป็นผู้บัญชาการศูนย์ฝึกจิตอาสาภาค 4 และแต่งตั้งให้ พลตรี ไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 เป็นผู้อำนวยการหลักสูตร ทำหน้าที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนการจัดเตรียมสถานีฝึกปฏิบัติหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งเป็น 2 สถานีศึกษา คือ สถานีฝึกการแก้ปัญหาตามภูมิศาสตร์สังคมที่ประกอบไปด้วย 7 ฐานการฝึกย่อย และสถานีฝึกเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ในลักษณะชุมชนต้นแบบ ที่มีจำนวน 9 ฐานการฝึกย่อย ให้มีความพร้อมสำหรับการฝึกอบรมของศูนย์ฝึกจิตอาสาภาค 4 รุ่นที่ 1 ประจำปี 2564 ที่เดิมนั้นมีแผนการปฏิบัติจะเปิดการฝึกในมีนาคม 2564 แต่เนื่องจากสถานการณ์ไวรัส covid-19 จึงได้เลื่อนการฝึกไปโดยไม่มีกำหนด แต่คาดว่าหากสถานการณ์คลี่คลายลง จะทำการเปิดการฝึกได้ในเร็ววันนี้

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 ในฐานะ ผู้อำนวยการหลักสูตรศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน กองพลทหารราบที่15  กล่าวว่า ฟาร์มตัวอย่างแห่งนี้ถือเป็นจุดสำคัญพื้นฐานของหลักสูตร ที่เป็นหนึ่งใน 5 หมวดวิชา ให้เราเรียนรู้ใช้องค์ความรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปต่อยอดเสริมสร้างความรู้ให้กับชุมชนและพี่น้องประชาชน โดยเรามีกองอำนวยการอยู่ที่ค่ายจุฬาภรณ์ มีสถานที่และมีวิทยากรที่ได้ผ่านการอบรม มีขีดความสามารถตรงตามเนื้อหาของรายวิชาแต่ละฐานแต่ละสถานี เราได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง จนมีความพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร ผ่านกระบวนการเข้าศึกษาผ่านการคัดเลือกตัวบุคคล ถึงแม้จะเลื่อนการอบรมออกไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่อย่างไรก็ตามการเตรียมความพร้อมยังคงดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเปิดให้เรียบร้อย หากสถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลายลงก็พร้อมเปิดในทันที เพื่อการเรียนรู้สร้างงานสร้างอาชีพ และคาดว่าจะขยายไปทุกจังหวัดของชายแดนภาคใต้ เช่นเดียวกับ 15 ฟาร์มตัวอย่างที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ บ้านเรานั้นหากในโคกมีผัก ในหนองมีปลา ในนามีข้าว อยู่ที่ไหนมีกินมีใช้ไม่มีอดตายแน่นอน


ภาพ/ข่าว  ปทิตตา หนดกระโทก ผู้สื่อข่าวนราธิวาสรายงาน

ปัตตานี - จัดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ 12 อำเภอ บรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรในสถานการณ์การโควิด-19เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันที่ 26 สิงหาคม 2564 เวลา 09.00 น. หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดปัตตานี ได้บูรณาการเปิดให้บริการประชาชนภายใต้โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564 ณ สำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานี

นายชาลี สิตบุศย์ เกษตรจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า การจัดงานคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 14 หน่วยงาน กิจกรรมภายในงานมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ การปล่อยขบวนรถคาราวานออกให้บริการความรู้และปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกร ณ จุดให้บริการในพื้นที่ทั้ง 12 อำเภอ มีเป้าหมายเกษตรกร 360 ราย เพื่อให้บริการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรอย่างรวดเร็วทั่วถึงและครบถ้วน เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

นราธิวาส - "สธ. และ ศธ. ห่วงใยคนในสถาบันศึกษาปอเนาะ จ.นราธิวาส" จัดเสวนายุคใหม่แบบ WHF Online สร้างความเข้าใจในการเรียนการสอน จากสถานการณ์ Covid-19

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่หอประชุมจำลอง ศรีเลขา โรงเรียนนราธิวาส อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส นายณัฐพงษ์ นวลมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เขตตรวจราชการที่ 7 เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน เรื่องการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จังหวัดนราธิวาส ภายใต้กิจกรรม "สธ. และ ศธ. ห่วงใยคนในสถาบันศึกษาปอเนาะ จังหวัดนราธิวาส"เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริหาร ครูอาสาสมัครในสถาบันศึกษาปอเนาะ

โดยมี นายแพทย์สมหมาย บุญเกลี้ยง ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต , นายแพทย์วิเศษ สิรินทโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส , นายธวัชชัย ไชยกันย์ รองศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส , ดร.มุทริกา จินากุล หัวหน้ากลุ่มพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพวัยเรียนและวัยรุ่นสำนักงานอนามัยที่ 12 ยะลา , นายแพทย์วิบูลย์ คลายนา เภสัชกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานอนามัยที่ 12 ยะลา และฮัจญีอัสอารี ลาเต๊ะ (บาบอซู) ตัวแทนสถาบันศึกษาปอเนาะ พร้อมกันนี้มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ Google Meet พร้อมกันนี้ได้มอบเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วจำนวน 20 เครื่อง ชุด PPE จำนวน 30 ชุด อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นกว่า 20,000 บาทให้บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลสนามจังหวัดนราธิวาส

ทางด้านนายณัฐพงษ์ นวลมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เขตตรวจราชการที่ 7 กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สถาบันศึกษาปอเนาะ จังหวัดนราธิวาส มีข้อกำหนดโดยการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ระบบ On-Hand เป็นหลักเพราะจะมาอยู่ร่วมกันไม่ได้ ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา โควิด-19 จำนวนมากในขณะนี้ ซึ่งประเด็นที่น่ากังวลก็คือประเด็นของนักเรียนที่กลับไปบ้านแล้วกลับเข้ามาในสถาบันปอเนาะ ซึ่งเป็นประเด็นที่เรากังวล ถ้าหากมีนักเรียนคนใดคนหนึ่งกลับมาอยู่ในสถาบันการศึกษาปอเนาะจะต้องกักตัวก่อน 14 วัน ซึ่งในบางสถาบันศึกษาปอเนาะ จะเป็นนักเรียนที่อยู่ประจำ เพราะฉะนั้นกลุ่มคนเหล่านี้จะออกนอกพื้นที่ไม่ได้ โดยจะต้องอยู่ในสถาบันศึกษาปอเนาะทุกวันและต้องได้รับการดูแลอย่างเต็มที่แบบ 100% โดยห้ามคนในออกคนนอกเข้าไม่เช่นนั้นการแพร่ระบาดจะเกิดขึ้น ส่วนในการจัดการเรียนการสอนจะเป็นไปใน 3 รูปแบบ ดังนี้

1.ใช้ระบบ ON-HAND เป็นหลัก ซึ่งครูก็จะสามารถที่จะประสานกับนักเรียนในสถาบันศึกษาปอเนาะ ผ่านทางบาบอโดยมอบนโยบายในการจัดการเรียนการสอนต่างๆให้กับนักเรียนได้อ่านและตอบ

2.ใช้ระบบ ON–DEMAND ซึ่งบางคนมีมือถือเครื่องมือสื่อสารที่จะสามารถติดต่อสื่อสารกับครูได้ ซึ่งจะใช้คลิปเป็นหลักในการจัดการเรียนการสอนดังกล่าว

3.ใช้ระบบ ON-AIR ซึ่งในบางพื้นที่ก็สามารถจัดการเรียนการสอนได้แต่ก็มีน้อย ก็จะสามารถจัดการเรียนการสอนใน 3 รูปแบบได้

ซึ่งในขณะนี้การจัดการเรียนการสอนแบบ ON-SITE ไม่ได้เด็ดขาด เพราะพื้นที่จังหวัดนราธิวาสเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม การจัดการเรียนการสอนแบบ ON-SITE  ก็จะต้องได้รับการอนุมัติจาก ศบค.เป็นหลัก โดยในขณะนี้การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์เป็นปัญหาและอุปสรรคในด้านเครื่องมือต่าง ๆ อาทิเช่น โทรศัพท์มือถือ โน๊ตบุ๊ก รวมถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทางกระทรวงศึกษาธิการก็ได้รับทราบถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว และร่วมหารือหาทางแก้ไข และในส่วนของเด็กยากจนที่ยังขาดอุปกรณ์ในการเรียนการสอนนั้นในขณะนี้ต้องยึด ศบค.เป็นหลักคือเงินอุดหนุนบางส่วน สามารถที่จะสนับสนุนจัดอุปกรณ์การเรียนการสอน เช่นโทรศัพท์มือถือ ซึ่งต้องรอทำการตกลงกันระหว่างกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายณัฐพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ยังกล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันโรค covid-19 ในกิจกรรม "สธ. และ ศธ. ห่วงใยคนในสถาบันปอเนาะ" สืบเนื่องจากการตรวจราชการในหลายพื้นที่ในห้วงที่ผ่านมานั้น ยังมีประเด็นที่น่ากังวลคือ การสร้างการรับรู้รวมถึงแนวทางการป้องกันมาตรการการป้องกัน covid-19 ยังไม่รัดกุมเท่าที่ควร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งสร้างการรับรู้ระหว่างรัฐกับประชาชนทั่วไป รวมถึงนักเรียนนักศึกษาในประเด็นดังกล่าวให้มากขึ้น และควรจะต้องดำเนินการให้เร็ว ครอบคลุมให้มากที่สุด ทางสาธารณสุขในพื้นที่ และศึกษาธิการจังหวัด จึงได้ร่วมกันประชุมหารือ หาแนวทางมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับสถานศึกษาในพื้นที่ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม หรือสถาบันการศึกษาปอเนาะ โดยสถานศึกษานั้น ๆ จะต้องปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 ตามที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)กำหนด

ส่วนเรื่องของการฉีดวัคซีน โควิด-19 นั้น ขณะนี้ทางศึกษาธิการจังหวัดได้ดำเนินการให้บุคลากรทางการศึกษาทุกแห่ง ได้ฉีดวัคซีนวัคซีน เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนแล้ว โดยหลังจากนี้ ศึกษาธิการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้เร่งชี้แจงสร้างความเข้าใจถึงมาตรการต่าง ๆ ต่อสถานศึกษาในความรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดการรับรู้ และมีการปฏิบัติเรื่องการป้องกันโควิด-19 ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

ตราด - ผบ.มชด. เยี่ยมบำรุงขวัญกำลังพลที่ปฏิบัติราชการชายแดน เมืองตราดให้กำลังใจ ต้านภัยโควิด

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 64 น.อ.เกียรติกูล สุวรรณ รองเสนาธิการทัพเรือภาคที่ 1/ผู้บังคับหมวดเรือชาดตระเวนชายแดน พร้อมด้วย น.อ.ศุภสิทธิ์ บูรณะโอสถ เสนาธิการกองเรือปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 1 / รองผู้บังคับหมวดเรือชาดตระเวนชายแดน ตรวจพื้นที่และเยี่ยมบำรุงขวัญกำลังพลของเรือใน มชด./1 ณ ท่าเทียบเรือฐานส่งกำลังบำรุงทหารเรือตราด ทัพเรือภาคที่ 1 อ.แหลมงอบ จว.ตราด และประชุม ผบ.เรือ/ผค.เรือ เพื่อรับฟังปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งตรวจความพร้อมของเรือ โดยทำการฝึกสถานีป้องกันภัยทางอากาศ และสถานีป้องกันความเสียหาย และในโอกาสนี้ ผบ.มชด. ได้มอบอุปกรณ์การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส Covid-19 ให้กับกำลังพลประจำเรือ อีกด้วย

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID -19) ยังไม่เบาบางลง พล.ร.ท.โกวิท อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 มีความห่วงใยกำลังพล โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าในทะเล จึงให้ผู้บังคับหน่วยในการบังคับบัญชา ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้มีความปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 เพื่อให้ขีดความสามารถในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน กระทำได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเน้นย้ำให้ทุกหน่วย มีการฝึกฝนให้ชำนาญอยู่เสมอ

หมวดเรือลาดตระเวนชายแดน มีการจัดเรือออกลาดตรวจการณ์ทาง ทะเล อย่างสม่ำเสมอ โดย น.อ.เกียรติกูล สุวรรณ รองเสนาธิการทัพเรือภาคที่ 1/ผู้บังคับหมวดเรือลาดตระเวนชายแดน(ผบ.มชด.)ได้กำชับเรือใน มชด. ทั้งสองหมู่ (มชด./1 และ มชด./2) ให้ตื่นตัวตลอดเวลา พร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด พร้อมทั้งให้ประสานงานด้านการข่าวกับทุกหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ เพื่อให้การรักษาอธิปไตย การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และการรักษากฎหมายในทะเล ตลอดจนการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตลอด 24 ชม.


ภาพ/ข่าว  กองกิจการพลเรือนทัพเรือภาคที่ 1

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

กระบี่ - ตำรวจน้ำ ส่งต่อบุญเพื่อชาวเล ฝ่าวิกฤติโควิด-19 บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ริมทะเล

ตำรวจน้ำ กองกำกับการ 9 โดย พ.ต.อ. จตุรวิทย์ คชน่วม ผกก.9 ฯ ได้กล่าวว่าด้วยปัจจุบันได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ที่มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนเป็นวงกว้างทั่วทั้งประเทศ โดย พล.ต.ต. สมควร พึ่งทรัพย์ ผบก.รน. ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญและให้ ทุกหน่วยช่วยเหลือประชาชน อย่างเต็มที่

ในส่วนของตำรวจน้ำจังหวัดกระบี่ ตรัง และสตูล จึงได้มีมาตรการ เร่งด่วนในด้านต่าง ๆ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะประชาชนที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ริมทะเล ประกอบอาชีพประมง เดินทางโดยเรือเป็นปกติชีวิต ซึ่งการเข้าไปช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยากลำบากต้องอาศัยเรือเป็นหลักตำรวจน้ำ เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการการช่วยเหลือประชาชน(ชาวเล) ที่ได้รับผลกระทบ กรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19)

เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ริมทะเล และต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ตลอดทั้งสนับสนุนมาตรการตามประกาศของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดกระบี่ ตรัง และสตูล ณ บริเวณบ้านคลองหิน หมู่ที่ 7 ตำบลไสไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ จำนวน 40 ครัวเรือน สิ่งของต่าง ๆ ที่เรานำไปส่งต่อให้ประชาชน ส่วนหนึ่งมาจากการร่วมกันของข้าราชการตำรวจน้ำกองกำกับการ 9ฯ ที่ได้ร่วมกันทำบุญในครั้งนี้และได้รับการสนับสนุน จากพล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ร่วมสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาฟ้าทะลายโจร อุปกรณ์ป้องกันและเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนที่กักตัว ตามโครงการฯ ในยามวิกฤตแบบนี้ขอเป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งในการที่จะช่วยเหลือประชาชน ให้ฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี / ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

นราธิวาส - ผบ. ฉก.นราธิวาส ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ทหารและพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อ.สุไหงโกลก

พลตรี ไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 / ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส พร้อมด้วยพันเอก เฉลิมพร ขำเขียว รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 / รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส  เดินทางลงพื้นที่ เป็นประธานการประชุมติดตามผลการปฏิบัติตามแผนยุทธการ 46421 ควบคุมพื้นที่รอบเขาตะเว และหมู่บ้านเชิงเขา ณ ที่ทำการทางยุทธวิธี หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส  กองร้อยทหารพราน 4811 ตำบลริโก๋ อำเภอสุไหงปาดี โดยมี พันเอกกำธร ศรีเกตุ รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส , พันเอก เอกพล เลขนอก ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 48 , พันเอก จิรวัฒน์ จุฬากาญจน์ ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 49 และส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

จากนั้น ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ (ชป.จรยุทธ์) ของกองร้อยทหารพราน ที่ 1005 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 10 บ้านปะดังยอ ตำบลมูโน๊ะ อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส โดยได้เน้นย้ำการปฏิบัติในการ รปภ.พื้นที่ให้มีความปลอดภัย และการติดตามพฤติกรรมกลุ่มเครือญาติ ผกร. ทำลายเครือข่ายโครงสร้างหมู่บ้าน Support site จนทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือ กลุ่ม ผกร. และเป็นแหล่งพักพิงได้ ตลอดจนทำลายความพยายามก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่

พร้อมทั้งเน้นย้ำการปฎิบัติให้เป็นตามนโยบาย/สั่งการของ พลโทเกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในการรักษาความปลอดภัยพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน และให้กำลังพลเพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งยังเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมมอบเครื่องบริโภค เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับกำลังพล ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์(ชป.จรยุทธ์) ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

พัทลุง - เปิดศูนย์พักคอยรองรับชาวพัทลุงที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ในขณะที่จังหวัดพัทลุง ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ป่วย เพิ่มจำนวน 17 ราย ทำให้มียอดสะสม 2,377 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เทศบาลตำบลหนองพ้อ อ.ควนขนุน จังหวัดพัทลุง เปิดศูนย์พักคอยหรือสถานที่ควบคุมกักกันเพื่อสังเกตอาการโรคติดเชื้อไว้รัส โคโรน่า 2019 ตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้หนึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีศูนย์พักคอยขึ้นจำนวน  1 แห่งรองรับประชาชนที่มาจากพื้นที่เสี่ยง  เพื่อเฝ้าสังเกตอาการจำนวน  14 วัน  หากไม่มีอาการป่วยก็สามารถเดินทางกลับสู่ครอบครัวได้  แต่หากมีอาการป่วยก็จะส่งเข้ารับการรักษาตามกระบวนการต่อไป

นายไตรศักดิ์ รักใหม่ นายกเทศมนตรีตำบลหนองพ้อ บอกว่า สำหรับศูนย์พักคอยของเทศบาลตำบลหนองพ้อ ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนบ้านโคกวา หมู่ 4  ตำบลควนขนุน อ.ควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ ได้มีการยกเลิกทำการเรียนการสอนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยทางเทศบาลได้จัดซื้อซุ้มไม้ไผ่ วางเป็นหลัง ๆ อาศัยหลังละ 1 คน เพื่อให้สะดวกและป้องกันการติดเชื้อหากบุคคลที่กักตัว บุคคลหนึ่งบุคคลใด มีอาการป่วย โดยที่ศูนย์ดังกล่าว สามารถรองรับผู้กักตัวเบื้องต้นได้จำนวน 4 ราย และล่าสุด มีประชาชนเข้ากักตัวแล้วจำนวน 2 ราย ซึ่งเป็นบุคคลเสี่ยงในพื้นที่ จำนวน 1 ราย และเดินทางมาจากพื้นที่สีแดง เพื่อกลับบ้านในพัทลุงจำนวน 1 ราย

นายไตรศักดิ์ ฯ ยังบอกด้วยว่า ในการควบคุมดูแลที่ศูนย์ดังกล่าว จะมีการสลับสับเปลี่ยนระหว่างเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเทศบาลตำบลหนองพ้อ และทางอำเภอควนขนุน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นตัวแทนจาก สาธารสุขคอยควบคุมดูแลอยู่ตลอดด้วย อย่างไรก็ดีหากในพื้นที่ มียอดผู้เดินทางเข้ามาเพิ่ม ทางเทศบาลก็พร้อมจะขยายตัวอาคารเพื่อรองรับประชาชนที่ต้องกักตัวเพื่อดูอาการได้อีก

อย่างไรก็ดีในส่วนของจังหวัดพัทลุง วันนี้ทางจังหวัดรายงานตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นจำนวน17 ราย ทำให้จังหวัดพัทลุงมียอดผู้ป่วยสะสม จำนวน  2,377  ราย ในขณะที่ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านได้ จำนวน  59 ราย  ยอดผู้ป่วยรักษาหายสะสม  2,073 ราย และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 19 ราย

ชุมพร - พ่อเมืองชุมพร ลงพื้นที่ติดตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของล้งทุเรียน สร้างความเชื่อมั่นทุเรียนชุมพร

วันที่ 18 สิงหาคม 2564  14.30 น.  นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย นายแพทย์จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร นายพิทักษ์ พิศสิริวัฒนสุทธิ์ ปลัดจังหวัดชุมพร และหัวหน้าส่วนราชการ ลงพื้นที่อำเภอหลังสวน ตรวจติดตามและให้กำลังใจล้งทุเรียน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ในมาตรฐานความปลอดภัย และมาตรการป้องกันโควิด-19 ของทุเรียนชุมพร ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่า จีนที่รับทุเรียนส่งออกจากประเทศไทย พบเชื้อโควิด-19 ในกล่องบรรจุทุเรียน ที่มาจากจังหวัดชุมพร จึงส่งผลกระทบต่อการรับซื้อทุเรียนในพื้นที่

นายแพทย์จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ในส่วนของล้งผลไม้ จังหวัดชุมพรมีการออกแบบในการทำความสะอาด เพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 ซึ่งทุกล้งผลไม้สามารถปฏิบัติได้ดี แต่มีผู้ที่เดินทางมาจากหลายจังหวัด ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงในการป้องกันการระบาดเช่นกัน ก็มีการพบการติดเชื้อในบางล้ง แต่ไม่มาก ส่วนจะเกิดจากการซื้อขายระหว่างบุคคล ได้ส่งเสริมให้ ทุกล้งใช้ ที่ตรวจ ATK เพื่อเฝ้าระวังคนงาน ในส่วนของผู้ที่จะเข้ามาซื้อขายก็จะมีขั้นตอนเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการระบาดอยู่แล้ว

ด้านนายอุดม ศรีสมทรง พาณิชย์จังหวัดชุมพร กล่าวว่า จากข่าวที่มีการพบเชื้อโควิด19ในกล่องบรรจุทุเรียน ทำให้ล้งทุเรียนในจังหวัดชุมพร ตระหนักถึงความปลอดภัย และความสะอาดมากยิ่งขึ้น มีการหยุดทำความสะอาด และปฏิบัติตามมาตรการ ตรงตามมาตรฐานมากยิ่งขึ้น โดยจากข่าวดังกล่าวทำให้ราคาตกลงบ้าง แต่ในขณะนี้ราคากลับขึ้นมาเป็นปกติแล้ว

นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า จังหวัดชุมพรช่วงนี้เป็นฤดูกาลผลไม้ และอยู่ในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทางจังหวัดชุมพร ได้ออกมาตรการ และคำแนะนำ พร้อมประชาสัมพันธ์ถึงการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคโควิด -19 มาโดยตลอด และจากกรณีที่มีข่าวว่าพบเชื้อโควิด-19 จากทุเรียนที่ส่งไปจากอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร แต่พบที่กล่องบรรจุ ไม่ได้พบที่ตัวทุเรียนซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่า เป็นการติดเชื้อจากไหน อาจเป็นช่วงของการขนส่ง จากเมืองไทยไปยังประเทศจีน  จึงเชื่อมั่นได้ว่า ทุเรียนจากจังหวัดชุมพรไม่มีการติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด ขอให้มั่นใจได้ ทั้งชาวไทยและชาวจีนว่า ทุเรียนของจังหวัดชุมพร มีมาตรฐานสูงในการรักษาความปลอดภัยทั้งจากเชื้อโควิด-19 หรือเชื้ออื่น ๆ อีกทั้งล้งผลไม้ส่วนใหญ่ ที่ส่งออกไปยังประเทศจีน ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการส่งออกในระดับสากล ทั้งการทำความสะอาด ทางด้านตัวพนักงานเอง หรือสถานที่ บางล้งหยุดรับซื้อ เพื่อทำความสะอาด บางล้งทำความสะอาดพร้อมกับรับซื้อ โดยการลงพื้นที่มาตรวจในครั้งนี้ พบว่ามาตรฐานดีทุกล้ง ปฏิบัติตามมาตรการที่ทางจังหวัดได้กำหนดไว้ จึงขอให้มั่นใจได้


ภาพ/ข่าว  ธนากร โกศลเมธี รายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top