รฟท. เดินหน้ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีนต่อ พร้อมลงนามก่อสร้างงานโยธาอีก 3 สัญญา คาดให้บริการได้ในปี 2569
วันที่ 29 มีนาคม 2564 ณ ห้องประชุมอาคารสโมสร กระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) จำนวน 3 สัญญา ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย
โดยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทคู่สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านโพ ผู้แทนจากบริษัท เอ.เอสแอสโซศซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ผู้แทนจาก บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) สัญญาที่ 4-6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว-สระบุรี ผู้แทนจาก บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมีแขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า พิธีลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) จำนวน 3 สัญญา ในวันนี้ เป็นโครงการที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมไทยสู่โลก และเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสนใจและเร่งรัด ติดตามความก้าวหน้าของโครงการมาโดยตลอด และในขณะเดียวกัน เส้นทางนี้ก็จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเชื่อมไทยไปสู่ สปป.ลาว และจีน
โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เรียกว่า Belt and Road Initiative หรือ BRI ที่จะเชื่อมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปถึงยุโรปได้ด้วยทางรถไฟ โดยกระทรวงคมนาคมพยายามเร่งรัดโครงการให้เดินหน้าโดยเร็ว ล่าสุด ก็ได้มีการลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา
ส่วนวันนี้เป็นการลงนามในสัญญาก่อสร้างเพิ่มเติม 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านโพ วงเงินก่อสร้าง 11,525,350,500 บาท สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงินก่อสร้าง 6,573,000,000 บาท และสัญญาที่ 4-6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว-สระบุรี วงเงินก่อสร้าง 9,428,999,969.37 บาท มีระยะเวลาก่อสร้างแต่ละสัญญา 1,080 วัน รวมวงเงินก่อสร้างทั้ง 3 สัญญา 27,527,350,469.37 ล้านบาท
ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับสัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านโพ ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางรถไฟเป็นทางยกระดับ 23 กม. งานก่อสร้างทางวิ่งเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบรถไฟฟ้า งานระบบระบายน้ำ งานรื้อย้ายรางและระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ประกอบด้วย ทางรถไฟระดับพื้นในศูนย์ซ่อมบำรุง งานอาคารภายในศูนย์ซ่อมบำรุงรวมถนนต่อเชื่อม ได้แก่ อาคารระบบซ่อมบำรุงขบวนรถไฟ 19 อาคาร อาคารควบคุมระบบการจัดการเดินรถและฝึกอบรม 4 อาคาร อาคารสำหรับระบบซ่อมบำรุงทาง 8 อาคาร งานก่อสร้างถนนงานระบบระบายน้ำและงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ
สัญญาที่ 4 - 6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว-สระบุรี ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางรถไฟ ระยะทางรวม 31.60 กม. แบ่งเป็น คันทางระดับดิน 7.02 กม. และทางยกระดับ 24.58 กม. งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบรถไฟฟ้า 7 แห่ง รวมทั้งงานรื้อย้ายสถานีเดิม งานปรับปรุงย้ายถนนเดิม งานก่อสร้าง สะพานข้ามทางรถไฟ งานระบบระบายน้ำ และงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ
ภายหลังเปิดงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ถือเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative: BRI) ที่เชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางของไทย อาเซียนและจีนให้เป็นหนึ่งเดียว
โดยเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นการยกระดับมาตรฐานรถไฟไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว สนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว กระจายรายได้ นำความเจริญสู่ท้องถิ่นตลอดแนวเส้นทางโครงการ