Wednesday, 2 July 2025
POLITICS NEWS

“ธรรมนัส” ลั่น ปม “บิ๊กตู่” แบ่งงานคุมใต้ไม่มีปัญหา ยัน ไม่ได้ตีหัวเมืองใคร ปัดตอบ รมต.นินทานายกฯ เชื่อ พรรคร่วมไม่ตีจาก ไม่หวั่นศาล รธน.วินิจฉัย สถานะส.ส.-รมต.ปมติดคุก ตปท. 5 พ.ค.นี้ 

เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี ที่ 85/2564 เรื่องมอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัดที่มอบหมายให้ ร.อ.ธรรรมนัส ดูแลภาคใต้ ว่า ช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาทำงานในฐานะรมช.เกษตรฯ และตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม รวมถึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพปชร. แต่งตั้งและมอบหมายให้ทำหน้าที่ต่าง ๆ ถือว่าได้ลงพื้นที่ทุกจังหวัดและทำพื้นที่มาตลอด

ดังนั้นการแบ่งงานให้รัฐมนตรีรับผิดชอบในแต่ละจังหวัด ไม่ใช่ประเด็นและไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไร ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายให้ดูแลจังหวัดไหน ก็ไปเกือบทุกจังหวัดอยู่แล้ว ไปเยี่ยมประชาชนเดือดร้อนทุกที่ และการแบ่งงานเป็นอำนาจของนายกฯไม่ใช่อำนาจของรัฐมนตรี เมื่อตัดสินใจมอบหมายว่าให้ใครทำแล้ว หน้าที่ของรัฐมนตรีคือต้องทำให้ดีที่สุด ทั้งนี้ยังไม่ได้คุยกับทางพรรคประชาธิปัตย์ ในเรื่องนี้ ส่วนนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ก็คุยกันอยู่แล้ว 

ผู้สื่อข่าวถามว่าการมอบหมายให้ไปดูภาคใต้ ถูกมองว่าไปตีหัวเมืองพรรคร่วมรัฐบาล ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่ใช่ 

เมื่อถามว่าเรื่องนี้อาจทำให้มีปัญหากับพรรคประชาธิปัตย์ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า คิดมากกันเอง อย่าไปคิดมาก เพราะเราทำงาน เป้าหมายสูงสุดคือพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่มีเรื่องอื่น เมื่อถามย้ำว่าจะกลายเป็นความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนเป็นส.ส.พรรคพปชร. แต่มีพรรคพวกเยอะ ทุกพรรคเราเป็นเพื่อนกัน เป็นพวกกัน มีอะไรก็หันหน้าพูดคุยกัน 

เมื่อถามว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นในลักษณะยังไม่ค่อยพอใจ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่ทราบเพราะเป็นความเห็นส่วนตัวของนายจุรินทร์ 

ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่นายกฯระบุในครม.เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ว่ามีคนนินทา ร.อ.ธรรมนัส กล่าวพร้อมกับหัวเราะว่า เรื่องนี้ไม่ทราบและตนก็ไม่ค่อยอยู่ในครม.เพราะส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ 

เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านเรียกร้องให้นายกฯลาออกเพราะบริหารจัดการแก้โควิด-19 ล้มเหลว รวมถึงไม่แก้รัฐธรรมนูญตามที่สัญญา ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เรื่องโควิด-19 เวลานี้ ถ้าพูดภาษาทหารก็เป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 เป็นการต่อสู้ของมนุษย์ที่เป็นสิ่งที่ชีวิตกับสิ่งที่มองไม่เห็น และกระทบมนุษย์ทั่วโลก ดังนั้นคนไทยต้องช่วยกันทุกฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤต ทั้งรัฐและเอกชนเดินหน้าไปด้วยกัน คนไทยเรารักกันเมื่อมีวิกฤตต้องช่วยกัน อย่าเอาการเมืองมาเล่นมากเกินไป ส่วนข้อเรียกร้องของฝ่ายค้านก็เป็นเรื่องของฝ่ายค้าน โดยการแก้ปัญหารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภาที่ต้องขับเคลื่อน 

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าพรรคร่วมรัฐบาลอาจใช้สถานการณ์โควิด ตีตัวออกห่างจากพรรคพปชร.และนายกฯ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนเชื่อมั่นว่าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคต่างก็คิดว่าเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เวลานี้ประชาชนเดือดร้อนไม่ควรมาคุยเรื่องการเมือง แต่ให้ช่วยเหลือประชาชนเพราะคำตอบสุดท้ายประชาชนก็จะดูและพิจารณาว่าพรรคร่วมพรรคใดที่ประชาชนจะไว้วางใจและคิดว่าการออกมาแสดงความคิดเห็นใด ประชาชนเขามองอยู่ 

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ที่ในวันที่ 5 พ.ค.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านวินิจฉัยวินิจฉัยสถานะส.ส. และสถานะรัฐมนตรี จากกรณีเคยต้องคำพิพากษาจำคุก ของศาลต่างประเทศ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่กังวล เราทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายและเป็นอยู่ทุกวันให้ดีที่สุด 
 

'ราเมศ' หนุน พาณิชย์ จัดการเดลิเวอรี่ ขึ้นค่าบริการ เอาเปรียบ ปชช 

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณี มาตรการรับมือโควิดพาณิชย์ สั่งคุมเข้มค่าบริการดีลิเวอรี่ป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภคว่า สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวเต็มที่ เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนมายังพรรคหลายรายอยากให้ภาครัฐเข็มงวด เพราะหากมีการเอาเปรียบโดยการขึ้นค่าบริการในการส่งของกินของใช้แบบเดลิเวอร์รี่ ยิ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชนในสถานการณ์เช่นนี้ การสั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน รวมถึงของกินของใช้สั่งผ่านระบบออนไลน์ ใช้วิธีการส่งแบบเดลิเวอร์รี่ ก็จะเป็นอีกหนึ่งความร่วมแรงร่วมใจป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นกัน

การที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พาณิชย์ ได้สั่งการให้แต่ละจังหวัดเข้าไปดำเนินการ เข้าไปตรวจสอบอัตราค่าบริการในส่วนของธุรกิจเดลิเวอรี่มากขึ้น เพราะในช่วงโควิดประชาชนหันมาใช้บริการการส่งแบบเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบเรื่องของราคาค่าบริการกับภาคประชาชน ถือได้ว่าเป็นนโยบายที่ดี ที่จะทำให้ประชาชนไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ จะช่วยประชาชนทั่วไปได้เป็นอย่างมาก แต่สิ่งสำคัญขณะนี้ เราคนไทยทุกคนจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกัน สามัคคีกัน ในทุก ๆ ด้าน พึ่งพาอาศัย เห็นอกเห็นใจกัน ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน เชื่อว่าเราจะก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปด้วยกันอย่างแน่นอน

‘นายกโต้ง’ นพพร อุสิทธิ์ นายก อบจ.ชุมพร พร้อมคณะ สมทบเงินรวม 7 แสนบาท ร่วมกับ ‘กลุ่มเพื่อน ส.ส.ลูกหมี-ส.ส.ลูกช้าง’ นำโดย ชุมพล จุลใส - สุพล จุลใส อีก 3 แสนบาท รวมเป็นเงิน 1 ล้านบาท มอบให้กับ ผวจ.ชุมพร ใช้ต่อสู้โควิด ที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่อง

เมื่อเวลา 09.09 น. (29 เม.ย. พ.ศ.2564) ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5 หน้าที่ทำการ อบจ.ชุมพร นายนพพร อุสิทธิ์ นายก อบจ.ชุมพร,คณะผู้บริหาร, สจ.ของ "ทีมพลังชุมพร" และคณะ ร่วมกับ “กลุ่มเพื่อน ส.ส.ลูกหมี-ลูกช้าง นำโดย นายชุมพล จุลใส ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขต 1 จ.ชุมพร, นายสุพล จุลใส ส.ส.พรรครรวมพลังประชาติไทย เขต 3 จ.ชุมพรและเพื่อน ๆ ได้มอบเงินจำนวน 1 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นของคณะผู้บริหารและสจ.ของ "ทีมพลังชุมพร” และคณะ จำนวน 7 แสนบาท รวมกับของ “กลุ่มเพื่อน ส.ส.ลูกหมี-ลูกช้าง” อีก 3 แสนบาท โดยมี นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย นายแพทย์จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร เป็นผู้รับมอบ

นายนพพร อุสิทธิ์ นายก อบจ.ชุมพร กล่าว ในฐานะที่ผมเป็นนายก อบจ.ชุมพร ทราบดีว่า การต่อสู้เอาชนะกับโรคติดต่อร้ายแรงที่กำลังแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ครอบคลุมไปทั่วประเทศแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึง อสม.ต้องทุ่มเทและเสียสละอย่างหนักตลอด ซึ่งทาง อบจ.เองก็ได้สนับสนุนงบประมาณอยู่ตลอดเช่นกัน โดยเป็นไปตามภารกิจหน้าที่ตามกฎหมาย และตามมติของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แต่สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน หากรอพียงการสนับสนุนงบประมาณของทางราชการเพียงอย่างเดียว ด้วยระเบียบและข้อกฎหมาย อาจไม่ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคได้ การพร้อมใจกันสมทบเงินเป็นก้อนแรก เพื่อหวังว่าจะสามารถทำให้การปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์มีความคล่องตัวและทันต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น จนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้โดยเร็วในที่สุด หากจำนวนเงินดังกล่าวยังไม่เพียงพอ พวกเรายินดีที่จะระดมทุนเพิ่มให้ในโอกาสต่อไปอีก

ด้าน นายชุมพล จุลใส กล่าว ขณะนี้ชาวบ้านและพี่น้องประชาชน มีความเดือดร้อนอย่างหนัก มีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มเพื่อน ส.ส.ลูกหมี-ลูกช้าง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการพุดคุยหารือกันอยู่ตลอด ว่า จะมีวิธีใดบ้างที่จะสามารถช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ ชาวบ้านและพี่น้องประชาชนได้ เพราะพวกเรามาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน พี่น้องเดือดร้อน เป็นทุกข์ เราก็ต้องหาทางช่วยเหลือบรรเทา ซึ่งในเบื้องต้นจึงได้ร่วมกันกับ ทีมพลังชุมพร เพื่อมอบเงินให้กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร เพื่อให้เกิดความคล่องตัว จะได้ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคได้


ธนากร โกศลเมธี รายงาน

พท.ชวนคนไทยนับหนึ่ง ลั่น “ประยุทธ์” ต้องลาออก ไม่ต้องอยู่เป็นนายกฯ อีกต่อไป

เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2564  ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นางสาวอรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรค พท.แถลงว่า พรรค พท.อยากเห็นท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลต่อการบริหารงานผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านขีดเส้นตายการลาออกของ พล.อ.ประยุทธ์จากการล้มเหลวผิดพลาดในการบริหารงานของ ดังนั้นการลาออกของ พล.อ.ประยุทธ์จึงเป็นการแก้วิกฤตในสถานการณ์วิกฤต เพื่อให้ประเทศนับหนึ่งใหม่อีกครั้งจากที่ผ่านมาติดลบ สิ่งที่รัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ต้องทำคือการลาออก ทั้งจากการล้มเหลวการบริหารจัดการวัคซีน เงินกู้ 1 ล้านล้านที่ใช้ไม่เกิดประโยชน์ การบริหารแบบไม่กระจายอำนาจ รวบอำนาจ สะท้อนถึงความล้มเหลว ไม่ว่าจะรวบอำนาจอีกกี่ครั้งแต่นายกฯ ยังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์ไม่จำเป็นต้องอยู่เป็นนายกฯ อีกต่อไป 

นางสาวอรุณี กล่าวอีกว่า ส่วนที่ภาคเอกชนจะจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมนั้น แต่รัฐบาลอาจมองว่าการจัดหาวัคซีนทางเลือกเป็นการกระทำระหว่างรัฐบาต่อรัฐบาล แต่ถ้าเอกชนที่มีศักยภาพควรให้มีการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมได้ ดังนั้นอยากยืนยันว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องนับหนึ่งใหม่ ประเทศก้าวต่อไปโดย พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออก

ปชป. เผยหลังเปิดศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน โควิด-19 เพื่อช่วยผู้ป่วยตกค้าง ไม่มีเตียง พบเคสประสานมา กว่า 50 ราย ช่วยได้แล้วเกินครึ่ง

เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ 2564 พรรคประชาธิปัตย์ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค ในฐานะหัวหน้าทีมผู้รับผิดชอบประสานข้อมูลผู้ติดเชื้อเพื่อการส่งต่อ ศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 (ศปฉ.ปชป.) ที่มี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค กรุงเทพมหานคร และนางสาวจิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร รองเลขาธิการพรรค เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้เปิดเผยว่าหลังจากที่ได้มีการแถลงข่าวเปิดศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 เพื่อช่วยประสานคลี่คลายปัญหาผู้ป่วยติดเชื้อตกค้างได้ให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา ความคืบหน้าถึงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2564 สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยไปได้แล้ว 30 ราย จากที่ขอความช่วยเหลือประสานมา 49 ราย

โดยนางดรุณวรรณ กล่าวว่าอยากขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันอย่างเต็มที่ ทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่เสียสละ อดทน ทำงานกันอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในสถานการณ์ ส.ส. อดีต ส.ส. อดีต ส.ก. อดีต ส.ข ในพื้นที่รวมถึงบุคลากรของพรรคและจิตอาสาที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันในยามที่ประเทศชาติเกิดวิกฤต 

ทั้งนี้ ทีมประสานข้อมูลผู้ติดเชื้อเพื่อการส่งต่อ ของศูนย์ฯ (DEM Call Team) ของพรรคได้ทำงานกันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เปิดศูนย์ฯ มา ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือมาโดยตลอด ทั้งจากอดีต ส.ส. อดีต ส.ก. อดีต ส.ข ในพื้นที่ รวมถึงช่องทางออนไลน์ของพรรค ทีมได้พยายามประสานให้เร็วที่สุดในทันทีที่ได้รับข้อมูลมาจากทุกแหล่ง เพราะเข้าใจดีว่าหากผู้ติดเชื้อ Covid-19 ได้รับการช่วยเหลือช้า จะส่งผลต่อการดูแลตนเองและการป้องกันการแพร่กระจายของโรคในขณะที่ยังไม่ได้รับการดูแลรักษาในสถานพยาบาลร่วมด้วย และขอขอบคุณสถานพยาบาลบางแห่งที่ได้ติดต่อมาเพื่อช่วยรับผู้ป่วย รวมถึง Hospitel ทั้งหมดนี้ ทีมงานจะเร่งประสานและส่งต่อข้อมูลไปยังผู้รับผิดชอบของภาครัฐเพื่อให้ดำเนินการตามมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

“จากที่ขอความช่วยเหลือมาถึงปัจจุบันจำนวน 49 ราย และยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง  เราช่วยไปแล้ว 30 ราย บางรายช่วยหาเตียงได้ภายในหนึ่งวัน ทำให้ผู้ป่วยถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม รวมถึง Hospitel และเข้าไปรับการรักษาตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บางรายอยู่ระหว่างรอรถมารับ จากการประสานงานสิ่งที่น่ากังวลคือพบผู้ติดเชื้อบางส่วนรอเตียงไม่น้อยกว่า 4-5 วัน บางกลุ่มรอจนติดกันทั้งครอบครัว ทั้งนี้ภายใต้การทำงานของศูนย์ฯ จะพยายามทำให้เต็มที่ เพื่อช่วยให้ทุกคนปลอดภัยมากที่สุด ตามแนวทางที่ท่านหัวหน้าพรรค และท่านเลขาธิการพรรคได้กำชับและแสดงความห่วงใยมาโดยตลอด” นางดรุณวรรณ กล่าว 

นางดรุณวรรณ ยังกล่าวเสริมด้วยว่าผู้บริหารพรรคได้ให้แนวทางไว้ว่าจะให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะผู้ติดเชื้อ Covid-19 ที่ยังคงตกค้าง แบบไม่เลือกฝั่งเลือกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ทั่วถึงและเสมอภาค โดยยึดหลักทำให้ "เร็ว" ช่วยให้ "รอด" ลดการ "กระจาย" เชื้อ และลด “อัตราการติดเชื้อ” ให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อ ครอบครัวหรือผู้ที่เกี่ยวข้องของผู้ติดเชื้อที่ยังตกค้างไม่มีเตียง สามารถส่งข้อมูลหรือเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านทางทีมบุคลากรของพรรคในพื้นที่ (Offline) ช่องทางบลูเฮ้าส์ 02 828 1010 รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ (Online) ของพรรค โดยช่องทางโซเชียลมีเดียของพรรคจะใช้ 2 ช่องทางหลักคือทางกล่องข้อความ Facebook : facebook.com/DemocratPartyTH และ Twitter : twitter.com/democratTH โดยการประสานงานจะเน้นสนับสนุนการทำงานของภาครัฐเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อส่งผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม หรือนัดหมายและส่งตัวผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อไปยังสถานพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย
 

รมว.คลัง ระบุ ยังไม่มีแผนกู้เงินเพิ่ม เผยยังมีเงินสำรอง 3.8 แสนล้านบาท

วันที่ 29 เมษายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังยังไม่มีแผนที่จะออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) กู้เงินเพิ่มเติม โดยยืนยันว่ากระทรวงการคลังยังมีงบประมาณในการดูแลสถานการณ์โควิด-19อีก 3.8 แสนล้านบาท โดยมาจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในสถานการณ์โควิด-19ในส่วนของเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เหลือ 2.4 แสนล้านบาท และงบกลางของปีงบประมาณ 2564 ภายใต้งบกลางเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น 9.9 หมื่นล้าน และค่าใช้จ่ายในการบรรเทาโควิด-19 อีก 4 หมื่นล้านบาท

สำหรับการออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ในช่วงเดือน เม.ย. นี้ กระทรวงการคลังต้องขอติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดก่อน เพราะมีการปิดบางกิจการ และการความร่วมมืองดการเดินทาง ซึ่งถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อ ประชาชนก็จะได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น ถ้าจำกัดการแพร่ระบาดได้ ผลกระทบก็ลดลง ซึ่งตอนนี้นโยบาย เวิร์ค ฟอร์ม โฮม (Work form Home)ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน

“นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้ดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ มาตรการก็มีหลายรูปแบบทั้งในส่วนของมาตรการเยียวยา และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ผ่านมามาตรการคนละครึ่ง โดยให้ประชาชนมีส่วนช่วยเหลือ ก็ได้ผลดี แต่จากสถานการณ์ตอนนี้ ที่ยังอยู่ในช่วงของการระบาด ก็ต้องรอดูสถานการณ์ก่อนว่า จะออกมาตรการได้ในช่วงใด ตอนนี้มาตรการเราชนะ ม33 เรารักกัน ก็ยังมีเวลาเหลืออยู่ ยังเพียงพออยู่” นายอาคม กล่าว

นายกฯ ถกเอกชนเร่งสปีด 'วัคซีน ทีมไทยแลนด์' ฉีดคนไทย 70% ก่อนสิ้นปี เชื่อช่วยฟื้นประเทศได้ในปี 65

นายกฯ ถกเอกชนเร่งสปีด 'วัคซีน ทีมไทยแลนด์' ฉีดคนไทย 70% ก่อนสิ้นปี เชื่อช่วยฟื้นประเทศได้ในปี 65

"ปารีณา" ซัด รมต.นินทา "บิ๊กตู่" นิสัยผู้หญิง ตะเพิด ไม่พอใจก็ลาออกไป ยัน สัมพันธ์พรรคร่วมยังปึ้ก แม้วิจารณ์ "บิ๊กตู่" จัดการโควิดห่วย 

วันที่ 29 เมษายน 2564 ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพปชร. กล่าวกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลโจมตีการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และพรรคพปชร. ว่า ความสัมพันธ์ของพรรคร่วมยังดี การออกมาแสดงความเห็นของสมาชิก เป็นสิทธิเสรีภาพ แต่ในภาวะที่รัฐบาลต้องต่อสู้กับโควิด-19 ไม่ใช่เวลาที่จะมาทะเลาะกัน ควรร่วมมือแก้ปัญหา เรื่องนี้คล้ายผัวเมียทะเลาะกัน ลิ้นกับฟัน พ่อกับลูก ที่อาจกระทบกันบ้างแต่ก็ไม่มีอะไร แม้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะบอกว่าไม่มีอะไรแต่ลูกพรรคก็ยังโจมตีไม่หยุด ถ้าอยากแสดงออกก็ควรเสนอเเนวทางแก้ปัญหาดีกว่าการแสดงออกที่ไม่สร้างสรรค์ 

นางสาวปารีณา กล่าวว่า ที่หลายฝ่ายมองว่าเมื่อสถานการณ์โควิด-19 แย่ลง พรรคร่วมเริ่มที่จะตีตัวออกห่างและมีโอกาสจะถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ยืนยันว่าความสัมพันธ์ยังแน่นแฟ้นกับนายกฯจึงเป็นไปไม่ได้ที่ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยจะถอนตัว และให้เพื่อไทยเข้ามาแทนที่ ส่วนที่ครม.โอนอำนาจให้นายกฯสั่งการเรื่องวัคซีน เป็นเรื่องที่ดีและจำเป็นเพราะจะทำให้การบริหารจัดการแก้ไขปัญหารวดเร็วและง่ายขึ้น โดยไม่ต้องมารอ

“คนที่วิจารณ์ก็วิจารณ์ไปเรื่อยคนทำงานก็เหนื่อยกันไป ทางที่ดีมาช่วยกันดีกว่า ใครมีอะไรก็เเนะนำมาทั้งฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล แต่ไม่ควรจะทำให้เกิดบรรยาการแบบนี้ “

เมื่อถามว่ากรณีมีรัฐมนตรีบางคนแอบนินทานายกรัฐมนตรี น.ส.ปารีณา กล่าวว่า การนินทานั้น เป็นเรื่องของผู้หญิง ดังนั้นคนที่นินทาก็มีนิสัยของผู้หญิง ก็อยากจะรู้ว่าเป็นใคร ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีอยู่แล้ว  คิดว่าถ้าไม่พอใจก็ควรจะลาออกไปเลย 

ป.ป.ช. เปิดทรัพย์สิน “นายกอบจ.เลย” สามีที่ปรึกษา​ "อนุทิน" รวย 212 ล้านบาท​ พบ เมียเป็นบอร์ดบ.โบนันซ่า ซัมมิท ในเมียนมาร์ อึ้ง​ ครอบครองรถเกือบ 40 คัน ด้าน ผอ.ป.ป.ช.เลย จ่อ สอบเชิงลึก

เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2564 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย กรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564   โดยนายธนาวุฒิ ระบุประวัติการทำงานย้อนหลัง 5 ปี ว่าดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลยมาตั้งแต่ปี 2544 

มีนางใยอนงค์ ทิมสุวรรณ เป็นคู่สมรส และยังระบุตำแหน่งปัจจุบันในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐหรือหน่วยงานเอกชน ว่ามีตำแหน่งที่ปรึกษาของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท Bonanza Summit Co.Ltd ซึ่งตั้งอยู่ที่ Heho Village, Taunggyi District Shan State, Myanmar ด้วย

นายธนาวุฒิและนางใยอนงค์ มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 212,232,960 บาท เป็นของนายธนาวุฒิ 146,426,116 บาท ของนางยายอนงค์ 65,806,844 บาท โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นที่ดิน เงินลงทุน และยานพาหนะ 

ทั้งนี้​ ผู้ยื่นและคู่สมรสมีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 26,165,393 บาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น

ในส่วนของที่ดินที่ผู้ยื่นและคู่สมรสแสดงไว้ในรายการบัญชีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 67 รายการมูลค่ารวม 150,673,892 บาท โดยที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอวังสะพุงจังหวัดเลย และที่จังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ​ ส่วนยานพาหนะผู้ยื่นและคู่สมรสแสดงรายละเอียดไว้จำนวน 36 รายการ ประกอบด้วยรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มูลค่ารวม 13,159,000 บาท ทั้งนี้มีการระบุวันที่ได้มาพบว่า มีการครอบครองตั้งแต่ปี 2537-2559 และเป็นหมายเลขทะเบียนของทั้งจังหวัดเลย กรุงเทพฯ และอุดรธานี

สำหรับทรัพย์สินอื่นที่มีมูลค่า 200,000 บาทขึ้นไปผู้ยื่นแสดงไว้ทั้งสิ้น 5 รายการมูลค่ารวม 9,700,000 บาท ประกอบด้วย นาฬิกาโรเล็กซ์ฝังเพชร 1 เรือน งาช้าง 2 คู่ พระเครื่อง 68 องค์ สร้อยคอทองคำ 20 เส้น แหวน 26 วง โดยระบุว่าทั้งหมดเป็นมรดก

ด้านนายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเลย กล่าวว่า เป็นการแจ้ง บัญชีทรัพย์สินในส่วนของยานพาหนะตามที่ผู้ยื่นมีชื่อครอบครองทะเบียนรถ แต่อย่างไรก็ตามขอตั้งเป็นข้อสังเกตไว้และอาจมีการตรวจสอบยืนยัน หรือตรวจสอบเชิงลึกต่อไป

ก้าวไกลเปิดตัว Think Tank ประเดิมข้อเสนอเฉพาะหน้าช่วยลูกจ้าง-ผู้ประกอบการจากพิษโควิด

พรรคก้าวไกลเปิดตัว Think Tank ประเดิมเปิดข้อเสนอ 7 มาตรการช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้าง-ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคำสั่งของรัฐบาลในการป้องกันโควิด ย้ำสถานะการคลังยังกู้เพิ่มได้ แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการงบประมาณ

29 เมษายน 2564 พรรคก้าวไกลเปิดตัวศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต หรือ Think Forward Center นำโดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ เพื่อรับฟัง ศึกษา วิจัย และออกแบบนโยบายในการพัฒนาประเทศไทยระยะยาว

สำหรับมาตรการเฉพาะหน้านั้น ดร.เดชรัต กล่าวว่าขณะนี้ระบบสาธารณสุขกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ประชาชนล้มตายจากโควิด-19 รายวัน เนื่องจากการวางแผนเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุขที่ผิดพลาดของรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับไม่กล้าพอจะประกาศล็อกดาวน์ เพราะไม่พร้อมจะรับผิดชอบเยียวยาประชาชน รัฐบาลใช้วิธีสั่งปิดสถานประกอบการและห้ามออกนอกเคหะสถานโดยใช้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้สถานการณ์ในขณะนี้ ไม่ต่างอะไรกับมีการล็อกดาวน์ เศรษฐกิจหยุดชะงัก ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า 

ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคตหรือ Think Forward Center ในนามสถาบันนโยบายสาธารณะ (Think Tank)  ของพรรคก้าวไกลจึงมีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล ดังต่อไปนี้

1) รัฐต้องพยุงการจ้างงาน โดยรัฐบาลจ่ายเงินสนับสนุนเพื่อช่วยคงการจ้างงาน ในอัตรา 30% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 3,500 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน และจะช่วยสนับสนุนเงินเพื่อคงการจ้างงานไม่เกิน 100 คน/สถานประกอบการ โดยมีเงื่อนไขไม่ปรับลดคนออก เพื่อช่วยให้สถานประกอบการขนาดเล็ก/แรงงานอิสระยังคงการจ้างงาน/การทำงานไว้ได้ จำนวนผู้ได้รับประโยชน์ประมาณ 17 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 100,000 ล้านบาท

2) รัฐต้องชดเชยการว่างงานอันเนื่องมาจากประกาศคำสั่งของรัฐ โดยไม่นำเงินกองทุนประกันสังคมจ่ายเงินชดเชยว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย หากมีนโยบายชดเชยคนที่ต้องหยุดงานชั่วคราวด้วยคำสั่งของรัฐ ผู้ที่ต้องจ่ายคือรัฐบาล อย่านำเงินที่ลูกจ้าง นายจ้างร่วมกันสมทบไปจ่าย

3) จ่ายชดเชยตรงให้กับผู้ประกอบการที่ต้องถูกสั่งปิดกิจการโดยคำสั่งรัฐ สถานประกอบการเหล่านี้จะถูกสั่งปิดเป็นอันดับต้นๆ เสมอ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ร้านนวด ร้านเสริมสวย ผับ บาร์ สถานศึกษา สถานรับเลี้ยงเด็ก สนามกีฬา กองถ่ายละครและภาพยนตร์ รวมไปถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เกี่ยวข้อง โดยเร่งด่วน ซึ่งทุกการระบาดที่ผ่านมายังไม่เคยมีการชดเชยโดยตรงให้ผู้ประกอบการแม้แต่บาทเดียว

4) จ่ายเงินเยียวยาผลกระทบ สำหรับผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 3,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 2 เดือนทันที โดยมีจำนวนผู้ได้รับประโยชน์ประมาณ 50 ล้านคน ใช้งบประมาณ 300,000 ล้านบาท

5) นำมาตรการ asset warehousing มาประยุกต์ใช้สำหรับหนี้ครัวเรือน เช่น การยืดระยะเวลาการไถ่ถอน การลดอัตราดอกเบี้ย และการมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย(3 เดือน) สำหรับสถานธนานุบาลและสถานธนานุเคราะห์ และมีมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยรัฐบาลมีงบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนต่างในการดำเนินการ 

6) ให้สินเชื่อเพื่อค่าใช้จ่ายในการศึกษา โดยให้ผู้ปกครองสามารถนำใบเสร็จค่าบำรุงการศึกษา และค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาอื่น(รวมถึงค่าอินเตอร์เน็ต) มาขอกู้เงินแบบปลอดดอกเบี้ยตลอดปี 2564 ที่ธนาคารของรัฐ(เช่น ธนาคารออมสิน) จากนั้นจึงจะเริ่มให้คืนเงินกู้ และคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ ในปี 2565 เป็นต้นไป โดยรัฐบาลต้องให้งบประมาณสนับสนุนโดยการชดเชยอัตราดอกเบี้ย เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่ต้องขาดรายได้

7) สนับสนุนวงงบประมาณสำหรับการใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ต และ/หรืออุปกรณ์ทางการศึกษา(ที่เหมาะสมกับสภาพการเรียนการสอนแบบทางไกล/ออนไลน์) สำหรับนักเรียนและนักศึกษาทุกคน ตลอดภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ในวงเงิน 1,500 บาท/ภาคการศึกษา และภาครัฐควรประสานกับ กสทช. และภาคธุรกิจโทรคมนาคม ให้สามารถให้บริการในค่าบริการที่ต่ำที่สุด

“ข้อเสนอทั้งหมดนี้ พรรคก้าวไกลและ Think Forward Center เป็นทางรอดของประเทศ ถึงแม้ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใหม่มาบริหาร แม้ว่าการดำเนินการตามแนวทางนี้จะมีผลให้งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถดำเนินการได้ โดยหากมีการกู้ยืมเงินอีกในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ผ่านการออกพระราชบัญญัติและกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา ก็จะทำให้สัดส่วนภาระการชำระหนี้ต่องบประมาณทั้งหมดอยู่ประมาณ 12.5% ของงบประมาณทั้งหมด และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นเป็น 65% ของ GDP ซึ่งแม้จะเกินจากกรอบเดิมที่เคยกำหนดไว้ แต่ก็เป็นแนวทางที่จะสร้างประโยชน์กับประชาชนในสถานการณ์ที่ประชาชนมีความยากลำบาก โดยเฉพาะสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูงกว่า 90% ของ GDP แล้วในปัจจุบัน”

“แต่การกู้เงินรอบใหม่ไม่สมควรกระทำในรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเมื่อดูจากผลงานการใช้จ่ายงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ผ่านมา พบว่ารัฐบาลนี้ไม่มีความสามารถที่จะอนุมัติและเบิกจ่ายโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงไม่สมควรจะเป็นผู้รับผิดชอบหากจะต้องมีการกู้เงินเพิ่มในครั้งใหม่นี้” ดร.เดชรัต กล่าวสรุป

นอกจากมาตรการเฉพาะหน้าในระยะสั้นที่ได้กล่าวมาแล้วแล้ว พรรคก้าวไกล และ Think Forward Center เห็นว่ารัฐบาลควรมีแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลังโควิด โดย Think Forward Center จะนำเสนอนโยบายในระยะกลางและระยะยาว เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ขอให้ผู้ที่สนใจติดตามต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top