Saturday, 5 July 2025
POLITICS NEWS

ครม. อนุมัติ ขยายมาตรการภาษี นิติบุคคล-บ. ห้างหุ้นส่วน จ้างงานผู้พ้นโทษอีก 1 ปี  สิ้นสุด 31 ธ.ค. นี้

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษ) โดยขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ร้อยละ 50 ของรายจ่าย ที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างงานผู้พ้นโทษไม่เกิน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัวเข้าทำงาน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน โดยให้ขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค. พ.ศ.2564-วันที่ 31 ธ.ค. พ.ศ.2564 เพื่อส่งเสริมและจูงใจให้ภาคเอกชน มีส่วนร่วมสนับสนุนการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษเข้าทำงาน ช่วยให้ผู้พ้นโทษสามารถพึ่งพาตนเองได้และมีอาชีพ เสริมสร้างเศรษฐกิจในตลาดแรงงานที่ขาดแคลน ลดการพึ่งแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้คาดว่าจากการขยายมาตรการดังกล่าวรัฐ จะสูญเสียรายได้ประมาณ 1,935 ล้านบาท

ครม.เคาะมาตรการเยียวยา-แจกเงินโควิด 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.ได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 แยกเป็น มาตรการที่ทำได้ทันที คือ

1.) การปล่อยสินเชื่อฉุกเฉิน ผ่านธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รายละไม่เกิน 1 หมื่นบาท คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี สิ้นสุด 31 ธ.ค. 64 รวมทั้งการพักชำระหนี้ของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ไปจนถึง 31 ธ.ค. 64 ตามความสมัครใจ 

2.) มาตรการบรรเทาค่าใช้จ่าย ทั้งค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และน้ำประปา โดยในส่วนของค่าไฟฟ้านั้น จะช่วยสำหรับบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก เป็นเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือนพ.ค.-มิ.ย. 64 โดยผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือนให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก ส่วนบ้านที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน จะได้รับส่วนลด และผู้ใช้ไฟที่เป็นกิจการขนาดเล็ก ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก ด้านค่าน้ำประปา จะลดราคาลง 10% เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก 2 เดือน คือ พ.ค.-มิ.ย. 64 

นอกจากนี้ยังเห็นชอบมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะเร่งด่วน มี 2 โครงการ คือ โครงการเราชนะ เป้าหมาย 32.9 ล้านคน โดยขยายเพิ่มวงเงินช่วยเหลือให้ประชาชนอีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ สิ้นสุด 30 มิ.ย. 64 กรอบวงเงิน 6.7 หมื่นล้านบาท และ โครงการม.33เรารักกัน เป้าหมาย 9.27 ล้านคน โดยขยายเพิ่มวงเงินให้อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็น ระยะเวลา 2 สัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 64 กรอบวงเงิน 1.85 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ยังเห็นชอบมาตรการในระยะที่ 2 ซึ่งจะเริ่มทำเมื่อสถานการณ์ไวรัสโควิดระลอกเดือนเม.ย. คลี่คลายลง มี 4 โครงการ กรอบวงเงินเบื้องต้น 1.4 แสนล้านบาท คือ

1.) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 จำนวน 13.65 ล้านคน โดยให้เงินเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ก.ค.-ธ.ค. 64 

2.) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ 2.5 ล้านคน โดยให้เงินเพิ่มเติม เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือนเช่นกัน

3.) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 อีกไม่เกินคนละ 3,000 บาท และ

4.) โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยรัฐสนับสนุน อี-เวาท์เชอร์ ให้กับ ประชาชนที่ใช้จ่ายซื้อสินค้า ค่าอาหาร และเครื่องดื่มและค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยรัฐจะสนับสนุน อี-เวาท์เชอร์ ในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.นี้ และ สามารถนํา อี-เวาท์เชอร์ ไปใช้จ่ายได้ในเดือนส.ค.-ธ.ค.64 โดยมาตรการระยะ 2 นี้ ประเมินว่า จะครอบคลุมเป้าหมายประชาชน 51 ล้านคน และมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 4.73 แสนล้านบาท

ครม.อนุมัติต่ออายุโครงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด อีก 6 ปี

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติต่ออายุโครงการการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด อาทิ อัฟกานิสถาน แองโกลา บังกลาเทศ และเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีของไทยในฐานะสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) โดยยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (Duty Free Quota Free Scheme : DFQF) ขยายระยะเวลาออกไปอีก 6 ปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2569 (จากเดิม โครงการระยะที่ 1 สิ้นสุดเมื่อ 31 ธันวาคม พ.ศ.2563) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งการต่ออายุโครงการในครั้งนี้ มีจำนวนสินค้าที่ไทยให้สิทธิพิเศษภายใต้โครงการรวมทั้งสิ้น 7,187 รายการ หรือคิดเป็นร้อยละ 66.47 ของรายการสินค้าทั้งหมดในระบบ HS 2017 (ระบบพิกัดศุลกากรสากล) ส่วนประเทศที่ต้องการใช้สิทธิพิเศษ จะต้องดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามประกาศกรมศุลกากร

นางสาวรัชดา กล่าวว่า การต่ออายุโครงการดังกล่าว แม้จะเป็นการยกเว้นภาษี ซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณปีละ 32-36 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทยทำให้มีแหล่งนำเข้าทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มวัตถุดิบและสินค้าขั้นต้น และมีราคาสินค้าที่ถูกกว่าหลายรายการ เมื่อเทียบกับราคานำเข้าเฉลี่ยจากทั้งโลกและจากแหล่งนำเข้าอื่น ๆ

“บิ๊กบี้” สั่ง กรมสวัสดิการทบ. พร้อมอนุเคราะห์ฌาปนสถาน จัดพิธีเผาหรือเคลื่อนย้ายศพผู้ติดเชื้อโควิด ลดภาระครอบครัวโดยให้แจ้งผ่าน ศูนย์ประสานงานต้านโควิด19 ทบ.

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2564 พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่ส กองทัพบกยังคงสนับสนุน ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ COVID- 19 ทุกด้าน ทั้งเรื่องโรงพยาบาลสนาม, สนับสนุนบุคลากร, เครื่องมือทางการแพทย์, ในการเฝ้าตรวจคัดกรองและรักษาผู้ป่วย

โดยพล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เห็นถึงข้อจำกัดและความไม่สะดวกในการจัดการพิธีศพของผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ โควิด-19 รวมถึง การเคลื่อนย้ายศพจากโรงพยาบาลไปยังวัด เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาได้สั่งการให้กรมสวัสดิการทหารบก ซึ่งเป็นหน่วยรับผิดชอบศาสนสถานของกองทัพบก และหน่วยทหารทั่วประเทศ รวมทั้ง ฌาปนสถานของกองทัพบกในพื้นที่ กทม. ได้แก่ วัดอาวุธวิกสิตาราม เขตบางพลัด, วัดโสมมนัสวรวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต เขตบางเขน ได้ให้ความอนุเคราะห์ และช่วยอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการจัดเตรียมสถานที่ในการประกอบพิธีทางศาสนา การเผาศพให้กับศพของผู้ติดเชื้อโควิดที่ครอบครัวหรือญาติมีความเดือดร้อนและขอรับการสนับสนุน

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้มอบให้พิจารณาอำนวยความสะดวกในการจัดยานพาหนะช่วยเคลื่อนย้ายศพไปยังวัด ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อตามที่สาธารณสุขแนะนำอีกด้วย

ทั้งนี้ในการเคลื่อนย้ายศพจากโรงพยาบาลไปยังศาสนสถานของกองทัพบก จะดำเนินการโดย “ศูนย์ควบคุมการเคลื่อนย้าย ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านความมั่นคงกองทัพบก (กองทัพภาคที่ 1)” โดยขั้นตอนทั้งหมดเป็นการฌาปนกิจแบบไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อลดภาระของครอบครัวผู้ติดเชื้อและเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ในขณะนี้
 
ทั้งนี้ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่เดือดร้อนหรือประสบปัญหาในการจัดการศพผู้ติดเชื้อ COVID-19 หรือการขนส่งเคลื่อนย้ายศพ สามารถประสานขอรับการสนับสนุน ผ่านศูนย์ประสานงานต้านโควิด-19 กองทัพบก โทร 0-2270-5685-9 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สำหรับการช่วยเคลื่อนย้ายและจัดพิธีเผาศพดังกล่าว เป็นความตั้งใจของผู้บัญชาการทหารบก ที่ประสงค์ดูแลพี่น้องประชาชนเป็นการทำความดีด้วยหัวใจ  นำทรัพยากรและศักยภาพของกองทัพบกที่มีอยู่เพื่อการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุดและลดผลกระทบของ COVID-19 ต่อสังคมไทยโดยรวมอย่างแท้จริง

ล่าสุดมีครอบครัวของผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ซึ่งเป็นหญิงไทย อายุ 84 ปี เสียชีวิตเมื่อ 4 พ.ค.64 ที่โรงพยาบาล รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ได้ติดต่อขอรับการช่วยเหลือในเรื่องการจัดพิธี ฌาปนกิจศพ ซึ่งจะประกอบพิธีในวันนี้เวลา 18.40 น. โดยกองทัพบกได้อำนวยความสะดวกตามการร้องขอจัดพิธีศพให้ในวันนี้ ณ วัดโสมมนัสวรวิหาร

ศาล รธน. ชี้ ธรรมนัส ไม่พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. และ รมต. เหตุเป็นคดีที่เกิดในต่างประเทศ ไม่ผูกพันกับกฎหมายไทย ตามหลักอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย

วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2564 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ รวมทั้งออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง เรื่องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของ ส.ส. 51 คน ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10)

และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบ มาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) หรือไม่ จากกรณีเคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้าซึ่งยาเสพติด ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยแล้วเห็นว่า ผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาของออสเตรเลียก่อนสมัครส.ส. แต่ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย จึงไม่มีลักษณะต้องห้าม ตาม รธน. สมาชิกภาพ ส.ส. ของ ร.อ.ธรรมนัส ไม่สิ้นสุดลง ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามมาตรา 98 ผู้ถูกร้องไม่มีลักษณะตามรธน. จึงไม่มีเหตุให้ความเป็นรมต.สิ้นสุดลงตามมาตรา 160(6) และมาตรา 98 (10)

กรณีดังกล่าวทาง ร.อ.ธรรมนัส ถูกพรรคฝ่ายค้านกล่าวหาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ศาลออสเตรเลียได้มีคำพิพากษา เมื่อเดือนมีนาคม 2537 ว่ามีความผิดฐานนำเข้าและค้ายาเสพติดสั่งจำคุก 6 ปี แต่จำคุก 4 ปี ก่อนถูกเนรเทศกลับประเทศไทย จึงมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง ส.ส. และรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) และเข้าชื่อยื่นเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ศรชล.เข้มมาตรการ COVID-19

ศรชล.เข้มมาตรการ COVID-19

พล.ร.ต.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล(ศรชล.) เปิดเผยว่า พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ และรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) สั่งการให้ ศรชล. ยกระดับมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเข้มงวดโดยให้กำลังพลของ ศรชล. ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน COVID-19 ให้ปรับการทำงานของกำลังพลเป็นแบบ Work From Home และเน้นย้ำให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม การใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ การวัดอุณหภูมิก่อนเข้าหน่วย และการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของ COVID-19 สูง รวมทั้งกำชับให้กำลังพลทุกนายใช้ Application "ไทยชนะ" เมื่อเดินทางไปในพื้นที่สาธารณะต่างๆและสั่งการให้หน่วยต่าง ๆ ปรับลดงบประมาณในการจัดหาพัสดุที่ไม่เร่งด่วนมาใช้ในการจัดหาแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย และเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกัน COVID-19 

ในส่วนของหน่วยปฏิบัติการทางทะเล รอง ผอ.ศรชล.ได้สั่งการให้ ศรชล.ภาค ศรชล.จังหวัด และศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัด (PSCC) ตลอดจนหน่วยกำลังในพื้นที่ดำเนินการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) อย่างเข้มงวดตามมาตรการ ข้อกำหนด แนวทางปฏิบัติของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มขีดความสามารถ รวมถึง ให้มุ่งเน้นการปฏิบัติงานในเชิงรุกโดยกำกับ ติดตามการปฏิบัติในการตรวจตราเรือสินค้า เรือประมง และเรือต่าง ๆ ในการผ่านด่านทางทะเลเข้าราชอาณาจักรอย่างเข้มงวด รวมทั้งการจัดเจ้าหน้าที่ชุดสหวิชาชีพ บูรณาการการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) ณ บริเวณท่าเรือ และแพปลาภายในจังหวัดที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะการสกัดกั้นผู้อพยพหรือผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้านทางทะเล เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ เช่นสายพันธุ์อินเดียซึ่งเพิ่งเริ่มมีการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านของเราเข้ามาแพร่ในประเทศไทย

เพจไทยคู่ฟ้า เผยแพร่ข้อมูลยืนยันไฟเซอร์ยังไม่ได้นำเข้าในประเทศไทย ว่า “ยืนยัน! ไฟเซอร์ยังไม่นำเข้าวัคซีนโควิดในไทย

จากกระแสข่าว "มีการนำเข้าวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์มายังประเทศไทย" แล้ว ล่าสุด อย. ยืนยันว่า “ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด” 

ขณะนี้วัคซีนไฟเซอร์ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนและอนุญาตให้นำเข้ามา และเมื่อตรวจสอบไปยังบริษัทผู้ผลิตก็ได้รับการยืนยันเช่นกันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง

วัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้วขณะนี้มี 3 ราย คือ แอสตราเซเนก้า ซิโนแวค และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยมีอีก 3 ราย (โมเดิร์นนา, โควัคซีน, สปุตนิค วี) ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและยื่นเอกสาร 

ดังนั้น หากมีการนำเข้าวัคซีนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องจะถือว่าเป็นการกระทำผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าวัคซีนโควิดของไทยที่ถูกต้องได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th

ด้านบริษัทไฟเซอร์ประเทศไทยได้ออกเอกสารชี้แจงเช่นเดียวกันว่า จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ผ่านสำนักงานในประเทศไทยแต่อย่างใด

#ไทยคู่ฟ้า #รวมไทยสร้างชาติ #ร่วมต้านโควิด19

Website : www.thaigov.go.th
Facebook/Twitter : ไทยคู่ฟ้า
YouTube : ไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
LINE : ไทยคู่ฟ้า (@thaigov)
TikTok : ไทยคู่ฟ้า (@thaigov)

“สงคราม” อัด “บิ๊กตู่” มีวาระแอบแฝงปฏิเสธเอกชนช่วยหาวัคซีนชี้รัฐบาลบริหารวัคซีนผิดพลาดทำเศรษฐกิจไทยทรุดหนักไร้ทางฟื้น

วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2564 นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวบอำนาจในการบริหารสถานการณ์ การแก้ปัญหาการระบาดของวัสโควิด-19 ไว้แต่เพียงผู้เดียว ส่งผลให้เกิดการบริหารสถานการณ์ที่ผิดพลาด โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้า ส่งผลร้ายทั้งประชาชนและทำลายเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ถดถอยไปอีกหลายปี

กรณีที่ภาคเอกชนเสนอตัวเข้ามาช่วยในการจัดหาวัคซีนจำนวนมากกว่า 10-15 ล้านโดส เพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนรวมทั้งเพื่อเปิดทางเลือกให้ประชาชน สามารถเลือกฉีดวัคซีนได้ เป็นเรื่องที่ดี รัฐบาลไม่ควรที่จะปฏิเสธความปารถนาดีของภาคเอกชน เพราะเมื่อรัฐล้มเหลวในการจัดการวัคซีนการที่เอกชนยื่นมือมาช่วยรัฐควรจะดีใจ แต่รัฐเลือกปฏิเสธเพราะอะไร หรือ มีอะไรแอบแฝงในการจัดหาวัคซีนของรัฐ

นายสงคราม กล่าวด้วยว่า การที่รัฐบาลอ้างว่ากว่าภาคเอกชนจะหาวัคซีนได้ก็น่าจะเป็นปลายปี ซึ่งจะซ้ำซ้อนกับวัคซีนของรัฐบาล รัฐบาลรู้ได้อย่างไร ด้วยศักยภาพของเอกชนเชื่อว่าจัดหาวัคซีนได้เร็วและมีคุณภาพที่ดีกว่าของรัฐบาลแน่นอน เท่าที่ทราบเอกชนมีการติดต่อกับผู้ผลิตวัคซีนทั่วโลก ทั้งไฟเซอร์ โมเดน่า และยี่ห้ออื่นๆ เพื่อหาวัคซีนให้ประเทศไทย ดังนั้นการปกิเสธเอกชนเท่ากับการปิดโอกาสรอดชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ

“รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกฉีดวัคซีนได้หลัก 10 หลัก100 ล้านโดส และมีการสต็อกไว้ล่วงหน้าอีก 2 ปี นอกจากนี้ยังฉีดให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวประเทศเขาได้เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ประเทศไทย ถึงวันนี้ฉีดวัคซีนแค่หลักล้าน ยังกล้ามาพูดว่าจะฉีดได้ 50 ล้านในปลายปี มันช้ามากคนไทยตายทุกวันและนอนรอความตายทั้งที่บ้านและที่โรงพยาบาล อีกหลาย 100 คน อยากถามรัฐบาลมีเหตุผลอะไรถึงปฏิเสธความช่วยเหลือจากเอกชน หรือมีผลประโยชน์อะไร เพราะเหตุผลที่รัฐบาลอ้างฟังไม่ขึ้น หรือรัฐบาลมีอะไรซ่อนเร้นจึงไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นนำเข้ามา การผูกขาดวัคซีนของรัฐบาลจะเป็นตัวฉุดรั้งความเชื่อมั่นของประเทศให้เสื่อมถอยไปหนักกว่านี้ จนยากที่จะกอบกู้ได้” นายสงครราม กล่าว

“ถาวร" จี้ใช้ยาแรง จัดการต้นตอเอาเชื้อ"โควิด"จากฝั่งเขมร มาปล่อยย่านทองหล่อ ไม่ใช่ลูบหน้าปะจมูก ถึงจะเรียกศรัทธารัฐบาลกลับมาได้ 

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2564 นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ ว่า ตอนนี้มีการเสนอทางรอดหนึ่งในการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 คือต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ทุกฉบับไปจับกุมทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดการแพร่เชื้อคลัสเตอร์ย่านทองหล่อ ตั้งแต่ผู้ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศกัมพูชา มายังย่านทองหล่อ แม้วิธีนี้จะช่วยเรียกความศรัทธาจากประชาชนได้ แต่กลับถูกให้ระงับการดำเนินการดังกล่าวเอาไว้ ซึ่งตนเห็นว่าถ้ารัฐบาลต้องการจะเรียกศรัทธาคืน จะต้องจัดการแนวทางนี้อย่างเด็ดขาด
        
"ผมเสนอด้วยความหวังดี ผมไม่พูดการเมืองมานาน แต่ตอนนี้เห็นคนไทยเดือดร้อน จึงทนไม่ได้ และมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ว่ามีนักการเมือง พ่อค้า ผู้มีอิทธิพล ไปปลูกกัญชาฝั่งกัมพูชาจำนวนมาก และไปทำบ่อนการพนันด้วย การเข้า-ออกของคนเหล่านี้มีอภิสิทธิ์ จนส่งผลให้นำเชื้อโควิด-19 เข้ามาด้วยอีกทางหนึ่งแล้วนำมาแพร่ในบ้านเรา” นายถาวร กล่าว
         
นายถาวร กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ใช้อำนาจตาม พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ใช้กลไกหลายอย่างและใช้กฎหมายอีกหลายฉบับ ซึ่งมีการระบุไว้อยู่แล้วว่าใครบ้างที่เป็นผู้รักษาการ ตามกฎหมายแต่ละฉบับ คนเหล่านั้นจึงถือเป็นผู้รับผิดชอบต้องจัดการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นขอให้รัฐบาลฉีดยาแรง และทำทันที จึงจะเรียกศรัทธากลับคืนมาได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในแต่ละรอบ ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนยากจน ไม่ได้ทำมาหากิน ส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการฟื้นฟูและเยียวยา รวมถึงพัฒนาประเทศ 
          
“การระบาดแต่ละรอบ ทำให้ประชาชนถูกจำกัดสิทธิ คนจนไม่ได้ทำมาหากิน เศรษฐกิจหยุดชะงักทุกด้าน ดังนั้นรัฐบาลต้องบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง เข้มข้น ไม่ลูบหน้าปะจมูก ถึงจะเอาอยู่ครับ"นายถาวร กล่าว

‘บิ๊กตู่’ นั่ง ผอ.ศูนย์แก้โควิดกทม.-ปริมณฑล ดึง 8 อาจารย์หมอ นั่ง ‘ที่ปรึกษา’ ให้ เลขาฯ สมช. นั่ง ประธาน กก.เฉพาะกิจบูรณาการด้านการแพทย์ ส่วน “หมอหนู-หมอตี๋” เป็นแค่ ‘ที่ปรึกษา’

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. ได้ลงนามคำสั่งตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขโควิด-19 พื้นที่ กทม.และปริมณฑล ตามที่พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เสนอรายละเอียด

โดยมีนายกฯ เป็น ผอ.ศูนย์ฯ แบ่งการทำงานเป็น 5 ฝ่าย ได้แก่

1.) ฝ่ายอำนวยการ

2.) ฝ่ายปฏิบัติการการตรวจเชิงรุก

3.) ฝ่ายบริหารจัดหารผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง

4.) ฝ่ายบริหารจัดการพื้นที่

5.) ฝ่ายบริหารจัดการการฉีดวัคซีน โดยให้ผอ.เขต , ผอ.ศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโควิดในระดับเขต จะทำงานร่วมกับศูนย์ใหญ่ บริหารจัดการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกัน

นอกจากนี้ นายกฯยังได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง คณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ความเห็น และข้อเสนอแนะทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับมาตรการสาธารณสุขและแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ ฉุกเฉินอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ประกอบด้วย

1.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

2.) นพ.อุดม คชินทร

3.) นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา

4.) นพ.สุทธิพงศ์ วัสรสิทธุ

5.) นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา

6.) นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร

7.) พญ.จิรายุ เอื้อวรากุล และ

8.) นพ.ไพโรจน์ จงบัญญัติเจริญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 โดยมีคณะกรรมการ 22 คน ประกอบด้วย

1.)  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษา

2.) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษา

3.) เลขาธิการ สมช. เป็นประธานกรรมการ

4.) ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธานกรรมการ

5.) ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการ

6.) อธิบดีกรมการปกครอง  เป็นกรรมการ

7.) อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นกรรมการ

8.) อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นกรรมการ

9.) อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นกรรมการ

10.) อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นกรรมการ

11.) อธิบดีกรมอนามัย เป็นกรรมการ

12.) ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เป็นกรรมการ

13.) เลขาธิการองค์การอาหารและยา เป็นกรรมการ

14.) เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นกรรมการ

15.) เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกรรมการ

16.) ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นกรรมการ

17.) เสนาธิการทหาร เป็นกรรมการ

18.) ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการ

19.) นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เป็นกรรมการ

20.) อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นกรรมการและเลขานุการ

21.) รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และ

22.) ผู้ช่วยเลขาธิการ สมช. เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top