Saturday, 5 July 2025
POLITICS NEWS

SMS ช่วยได้! กรรมาธิการไอซีที วุฒิสภา แนะ ‘รัฐ-ศบค.’ ประชาสัมพันธ์เชิงรุก ยิง SMS เข้ามือถือ แก้ปัญหายอดจองวัคซีนไม่ถึงเป้า!

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา เปิดเผยว่า กมธ.ได้จัดประชุมวาระเร่งด่วนทางออนไลน์ เพื่อถกปัญหาการเข้าถึงการใช้งานผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารของประชาชนที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้มีประชาชนจำนวนมากสะท้อนปัญหาการลงทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ผ่านไลน์ “หมอพร้อม” ไม่สำเร็จที่เกิดจากระบบล่ม แต่ประเด็นปัญหาใหญ่กว่านั้นดูเหมือนเป็นเรื่องของการที่ประชาชนส่วนมากของประเทศไม่สามารถลงทะเบียนเข้ารับวัคซีนได้ด้วยตัวเอง 

“ทุกวันนี้นอกจากปัญหาเรื่องการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 แล้ว ความไม่เสถียรในการใช้งานของแอปพลิเคชันในเรื่องของการลงทะเบียนเข้ารับวัคซีนก็เป็นปัญหาอย่างมากสำหรับประชาชน ทาง กมธ. ICT มองลงไปถึงประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสื่อสารได้อย่างเพียงพอและทันท่วงที จึงอยากให้รัฐบาลและ ศบค.เพิ่มช่องทางในการรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 แบบเรียลไทม์ ด้วยการส่ง SMS ไปยังประชาชนทุกกลุ่มในประเทศ ไม่จำเพาะเจาะจงเฉพาะผู้ที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้เท่านั้น เช่น ลำปางโมเดลที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการนำเทคโนโลยีมาใช้ควบคู่กับการทำงานของ อสม. นอกจากนี้ยังเป็นการลดปัญหาข่าวปลอม หรือ Fake News ที่สร้างความแตกตื่นให้แก่ประชาชนในเรื่องของโควิด-19 อีกด้วย” พลเอก อนันตพร กล่าว

พลเอก อนันตพร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พูดคุยถึงประเด็นปัญหา Fake News ที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ผ่านการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยทาง กมธ. ICT ได้เชิญ น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ร่วมให้ข้อมูล โดย น.ส.อัจฉรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงฯ ได้มีความพยายามจัดการกับปัญหาข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนที่ออกมาสร้างความสับสนให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องด้วยการใช้คำสั่งศาล แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดนี้ การดำเนินการเพื่อยื่นต่อศาล เพื่อให้มีการปิดกั้นเว็บไซต์หรือต้นทางการเผยแพร่ข่าวสารทางโซเชียลมีเดียยังมีอุปสรรคในเรื่องของศาลที่ไม่เปิดรับคำร้องและระงับการไต่สวนชั่วคราว ทำให้สามารถทำได้เพียงการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้นำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายเท่านั้น

“หมอระวี” เชียร์ “บิ๊กตู่” กำหนดฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ จี้ต้องเร่งทำความเข้าใจให้ ปชช.เลิกกลัววัคซีน เชื่อยอดทะลุเป้าแน่นอน

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า จำนวนการจองฉีดวัคซีนจากเป้าหมาย 16 ล้านคนที่วันนี้ยอดจองทะลุ 2 ล้านรายแล้ว โดยศบค.ได้มีมติกำหนดให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติซึ่งเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้องที่รัฐบาลต้องออกมาระดมประชาชนทั่วประเทศให้ออกมามีส่วนร่วม ตนเชื่อมั่นว่าไทยต้องประสบผลสำเร็จในการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายแน่นอน 

“ผมมีข้อเสนอให้ ศบค.ไปพิจารณา คือการประชาสัมพันธ์เชิงรุกทุกรูปแบบและทุกช่องทางให้คนไทยรู้ข่าวสารที่แท้จริงของวัคซีนจะได้หายกลัวการฉีดวัคซีนและรัฐบาลต้องหากลยุทธ์ในการระดมประชาชนทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนตัว ทั้งนี้ต้องปรับแผนการกำหนดกลุ่มที่ต้องเร่งฉีดวัคซีนก่อน คือคนที่ทำงานเกี่ยวกับงานบริการต่าง ๆ ที่มีผู้คนมาใช้บริการมาก เช่น ร้านอาหาร ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านนวดแผนไทย โดยคนไทยจะได้เปิดกิจการต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น และคนที่ทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น สายการบิน คนขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ขนส่งสาธารณะ โรงแรมรีสอร์ท เพื่อให้เปิดประเทศได้เร็วขึ้น รวมถึงเร่งฉีดให้ประชาชนที่อยู่ในชุมชนแออัดโรงงานต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงในการระบาดสูง” นพ.ระวี ระบุ

นพ.ระวี ระบุต่อว่า ทั้งนี้รัฐบาลต้องเพิ่มช่องทางการจองฉีดวัคซีนในเชิงรุกให้ถึงตัวประชาชนตามแนวทางของจังหวัดลำปาง รวมถึงคนต่างด้าวที่ทำงานในเมืองไทยที่มีอายุ 60 ปี ที่มีโรคประจำตัวและทำงานในสถานที่เสี่ยงควรให้มีสิทธิ์จองฉีดวัคซีนได้ และที่สำคัญรัฐบาลควรจะตั้งเป้ารณรงค์ให้มีคนไทยทั่วประเทศจองคิวฉีดวัคซีนภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้อย่างน้อยให้ได้ 10 ล้านคนและเตรียมการฉีดวัคซีนให้ได้วันละมากกว่า 300,000 คนในต้นเดือนมิถุนายนนี้

ศรีสุวรรณ เตรียมยื่น กสทช. สอบไทยพีบีเอส ปม ปล่อยเฟกนิวส์

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่ากรณีที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสนำเสนอสกู๊ปข่าวรายงานตัวเลขที่ผิดพลาดหลายจุดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีต่อเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้, การแปลข่าวชาวอินเดียเช่าเครื่องบินเหมาลำมายังประเทศไทยอย่างผิด ๆ และล่าสุดผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวได้เผยแพร่ข่าวหญิงสาวที่เข้ารับวัคซีนซิโนแวคที่ จ.อุดรธานี แอบอ้างภาพของผู้ป่วยรายหนึ่งที่โรงพยาบาลหนองม่วง จ.ลพบุรี ที่มีอาการแพ้ยา มีผื่นแดงเต็มตัว มาเผยแพร่ควบคู่กันจนเกิดความเข้าใจผิด  ซึ่งเป็นการนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงหลายต่อหลายครั้ง เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันของสังคมนั้น

การเสนอข่าวที่ผิดพลาดในลักษณะดังกล่าวบ่อยครั้ง สร้างความตื่นตระหนกและสับสนให้เกิดขึ้นกับผู้ชมอย่างแพร่หลาย แม้จะมีการแก้ข่าวแล้วแต่ก็เกิดขึ้นอย่างล่าช้า อันชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานของสื่อไทยพีบีเอสที่อาจขาดความเที่ยงตรงและความรับผิดชอบต่อสาธารณชนโดยชัดแจ้ง อันเข้าข่ายการฝ่าฝืน ม.43 (1) ประกอบ ม.42 (1) (2) แห่งพรบ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 2551 และข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและเผยแพร่รายการ 2563 ข้อ 5 ประกอบข้อ 7

ยังเป็นการการทำที่อาจขัดต่อกฎหมายและหรือขัดต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ซึ่งสำนักงาน กสทช. มีอำนาจดำเนินการตาม พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 ม.40 ประกอบ ม.39 รวมทั้งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่าด้วย จริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ 2553 ประกอบธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ 2563 อีกด้วย

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อสำนักงาน กสทช.ในวันศุกร์ที่ 14 พ.ค. 64 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงาน กสทช. ถ.พหลโยธิน ซอย 8 (ซอยสายลม) พญาไท กทม. เพื่อให้ใช้อำนาจตามกฎหมาย เพื่อลงโทษผู้บริหารหรือกองบรรณาธิการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ตามครรลองของกฎหมาย

คกก.ผู้พิการแห่งชาติ เคาะขยายเวลาพักชำระหนี้-กู้ยืมเงินฉุกเฉิน-อายุบัตรผู้พิการคุ้มครองสวัสดิการ เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามผู้พิการ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ 12 พฤษภาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ซึ่งมติที่ประชุม เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้พิการภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 กล่าวคือ

1.) ขยายเวลามาตรการพักชำระหนี้เงินกู้ยืมประกอบอาชีพของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ถึงวันที่ 31 มี.ค. ปีหน้า จากที่ต้องสิ้นสุด 31 มี.ค. 64 

2.) ขยายเวลาการยื่นขอกู้ยืมเงินจากกองทุนฯ กรณีฉุกเฉิน ที่ให้กู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่มีดอกเบี้ย ปลอดชำระหนี้ จากที่จะหมดเขต สิ้นเดือนนี้ เป็นถึง 30 ก.ย. 64 ทั้งนี้ นายจุรินทร์ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่พิจารณาคำขอกู้ของแต่ละราย ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน นับแต่วันยื่นเรื่องเพราะที่ผ่านมามีการดำเนินการที่ล่าช้า ทำให้ผู้พิการจำนวนมากเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ มีผู้พิการที่รอการพิจารณาเงินกู้ฉุกเฉิน อยู่ 1.2 หมื่นราย

3.) แก้ระเบียบคณะกรรมการกองทุนฯ ให้องค์กรผู้พิการสามารถเป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของผู้พิการได้ เพื่อเป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการกู้ยืมเงินกองทุนฯ ได้มากขึ้น

4.) ขยายเวลาอายุบัตรประจำตัวผู้พิการออกไปหกเดือน เพื่อไม่ให้ผู้พิการที่บัตรฯจะหมดอายุในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ต้องลำบากในการเดินทางมาต่ออายุบัตร และเป็นการรักษาสิทธิและสวัสดิการคนพิการแม้บัตรจะหมดอายุก็ตาม ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวน 5 หมื่นคน 

5.) เสนอต่อศบค.พิจารณาจัดลำดับความสำคัญการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มผู้พิการที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุและไม่มี 7 โรคเสี่ยงเรื้อรัง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 8 แสนคน

6.) มอบหมายกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเผยแพร่คู่มือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สำหรับคนพิการ

นอกจากมติที่ประชุมฯ ดังกล่าว นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า รองนายกฯ ยังได้ติดตามการเตรียมความพร้อมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้พิการ ซึ่งจะใช้สถานที่ อาคารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 220 เตียง มีล่ามภาษามือ การดูแลพิเศษ และเปิดให้ผู้ดูแลผู้พิการเข้าพักได้ด้วย โดยเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และในวันที่ 26 พ.ค. นายจุรินทร์ และกรรมการฯ จะไปตรวจความพร้อมของโรงพยาบาลสนาม ที่คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ วันที่ 1 มิ.ย.

“บิ๊กตู่” เข้มสั่งทุกหน่วยงานเข้มงวด วางแนวทางสกัดเชื้อ โควิด-19 ทุกสายพันธุ์  

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้ทุกหน่วยงานร่วมหารืออย่างเคร่งครัด รัดกุม และทันท่วงที ถึงแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ในกรณีที่พบว่ามาจากผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้นิ่งนอนใจต่อกรณีการพบเชื้อกลายพันธุ์นี้ในผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการกักตัว 14 วัน หลังเดินทางเข้ามาในประเทศไทย และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการออกมาตรการและระเบียบต่าง ๆ โดยทันที 

ซึ่งที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กำหนดให้กระทรวงการต่างประเทศในฐานะหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบพิจารณาระงับการออกหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry-COE) สำหรับชาวต่างชาติที่มีต้นทางหรือมีถิ่นพำนักจากประเทศอินเดีย และพิจารณาระงับการออก COE เพิ่มเติมอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ปากีสถาน บังกลาเทศ และเนปาล โดยมาตรการดังกล่าวรวมถึงชาวต่างชาติทุกสัญชาติที่เดินทางออกจาก 4 ประเทศข้างต้นและเปลี่ยนเครื่อง (Transit) ในประเทศอื่น หรือชาวต่างชาติซึ่งเดินทางไปท่องเที่ยวหรือผ่านทางไปยัง 4 ประเทศข้างต้น จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศไทยเช่นกัน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการชั่วคราวในช่วงที่ต้องเฝ้าระวังสกัดเชื้อโควิด-19 ทุกสายพันธุ์เข้าสู่และแพร่ระบาดในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวไม่ได้ห้ามคนไทย รวมถึงนักการทูตต่างชาติ และครอบครัวที่เข้ามาปฏิบัติงาน ตลอดจนผู้ที่มีถิ่นพำนักถาวรในประเทศไทย ซึ่งยังสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ แต่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และเข้ารับการกักตัวเป็นเวลา 14 วันทุกกรณี เพื่อคัดกรองและควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศไทยอย่างเข้มข้น

รมว.แรงงาน สั่งเฝ้าระวัง และตรวจสอบคนต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศไทยและทำงานผิดกฎหมาย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากกรณีที่พบกลุ่มผู้ฉวยโอกาสลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน และเดินทางต่อไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อลักลอบทำงานผิดกฎหมาย อาจนำเชื้อโควิด-19 ไปแพร่กระจายในชุมชนได้ ซึ่งกระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมาย ได้สั่งการให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ จัดเตรียมข้อมูลสถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวในพื้นที่รับผิดชอบ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ โดยให้ปฏิบัติงานภายใต้มาตรการของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอย่างเคร่งครัด 

“ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563-11 พ.ค. 2564 ได้มีการตรวจสอบและดำเนินคดี นายจ้าง/สถานประกอบการและคนต่างด้าวทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยตรวจสอบนายจ้าง/สถานประกอบการ จำนวน 24,306 ราย/แห่ง ดำเนินคดี จำนวน 698 ราย/แห่ง และตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว จำนวน 346,449 คน ดำเนินคดี จำนวน 559 คน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ได้กำชับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางาน ดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมาย โดยให้ปฏิบัติงานเชิงรุก และรายงานผลการดำเนินการให้กรมทราบ เพื่อให้สามารถติดตามสถานการณ์ และบังคับใช้กฎหมายอย่างทันท่วงที ทั้งขอฝากถึงนายจ้าง/สถานประกอบการว่า หากรับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี ส่วนคนต่างด้าวที่ทำงานโดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง 

ทั้งนี้ ผู้ใดพบเห็นหรือสงสัยว่ามีคนต่างด้าวลักลอบทำงานผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ดร.พิมพ์รพี คิดนอกกรอบ เสนอ ทำแอปพลิเคชันใหม่ "คนไม่พร้อม" รับลงทะเบียน คนไม่พร้อมฉีดวัคซีน ช่วยรัฐบริหารจัดการ กระจายวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนุน "สาธิต" ระดม วัคซีนให้ภาคเอกชน-เอสเอ็มอี ฟื้นเศรษฐกิจไทย

ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล สส.บัญชี​รายชื่อ​ พรรคประชาธิปัตย์ สนับสนุนแนวคิดของนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ที่เสนอให้นำวัคซีนล็อตใหญ่ ล็อตใหม่ กระจายให้ภาคเอกชนซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการประคับประคองการจ้างงานในทางอ้อมตามมาด้วย เพราะหากผู้ประกอบการอยู่รอด ลูกจ้างก็ไม่ตกงาน ประเทศจะเดินหน้า ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของเอสเอ็มอี ต้องเปิดทางให้เข้าถึงวัคซีนได้อย่างทันท่วงที

"รัฐบาลต้องเร่งพิจารณาผ่อนคลายมาตรการในบางพื้นที่ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้วแบบทันท่วงที อย่าปลาอยให้เนิ่นช้าออกไป เพราะทุกนาทีมีค่า ยิ่งตัดสินใจเร็ว โอกาสฟื้นตัวของประเทศก็เร็วขึ้นตามไปด้วย และอยากให้คิดแบบใหม่ ในการแก้ปัญหาคนไม่พร้อมฉีดวัคซีน แต่อยู่ในกลุ่มที่จะได้รับวัคซีน ด้วยการทำแอพพลิเคชันเพิ่มอีกหนึ่งแพลตฟอร์ม ให้มีการลงทะเบียน "คนไม่พร้อม" ฉีดวัคซีนไปเลย โดยให้กรอกข้อมูล ปัญหาที่ไม่ต้องการรับวัคซีนเพราะอะไร รอวัคซีนแบบไหนอยู่ รัฐบาลจะได้ประมาณการทั้งความต้องการและวัคซีนที่มีได้อย่างถูกจุด รวมถึงยังเข้าใจปัญหาว่าทำไมประชาชนส่วนนี้จึงไม่ต้องการฉีดวัคซีนที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากและได้ฟังความกังวลของประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหา​ให้เร็วและตรงจุดขึ้น" ดร.พิมพ์รพี กล่าว

"แรมโบ้" แนะ “ชูวิทย์” หุบปากเพื่อชาติดีกว่ามือไม่พายอย่าเอาเท้าราน้ำ “บอก” ฐานะดีเอาเวลาไปบริจากสิ่งของจะได้เสียงปรบมือ

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นายเสกสกล อัตถาวงศ์ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทยออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด และวัคซีนของรัฐบาลโดยกล่าวว่าว่าในเรื่องของการบริหารจัดการวัคซีนนั้นนายกรัฐมนตรี และกระทรวงสาธารณสุขออกมาชี้แจงทุกวัน ทั้งการนำวัคซีนเข้ามาซึ่งขณะนี้ อย. ได้อนุมัติไปแล้ว 3 รายและรอประเมินคำขอขึ้นทะเบียนอีก 1 ราย และทยอยยื่นเอกสารอีก 2 ราย อีกทั้งบริษัทไฟเซอร์ได้รับปากกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่จะสำรองการผลิตวัคซีนให้ไทยอีก 20 ล้านโดส นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยืนยันกับผู้ผลิตวัคซีนว่าพร้อมสนับสนุนการขึ้นทะเบียนวัคซีนทุกตัวในโลกแต่การนำวัคซีนเข้ามานั้นจะต้องมีมาตรฐานที่ดีมีความปลอดภัยให้กับประชาชนและได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย ขณะเดียวกันในช่วงเดือนมิถุนายนก็จะมีวัคซีนทยอยเข้ามาอีกจำนวนมากและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชนก็ได้ช่วยกันเร่งที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด อีกทั้ง นายกฯ ยังประกาศให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ

นายเสกสกล กล่าวว่า ประเทศต้องการความร่วมมือ จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ให้สถานการณ์คลี่คลาย แต่นายชูวิทย์กลับออกมาพูดหรือกล่าวโจมตีการทำงานของนายกฯ และรัฐบาล ซึ่งการออกมาพูดของนายชูวิทย์ไม่ได้เป็นผลดีต่อบ้านเมืองเลย

“นายชูวิทย์ต้องหัดดูตัวเองด้วย อย่าทำตัวเป็นคนที่ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง วัน ๆ มีแต่ออกมาโจมตีคนอื่น วิพากษ์วิจารณ์คนทำงาน ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ถือเป็นเรื่องที่น่าละอายอย่าทำตัวมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ หันมาช่วยกันสนับสนุนการฉีดวัคซีนช่วยเหลือประชาชนตามที่รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติดีกว่า การฉีดวัคซีนถือเป็นประโยชน์ของทุกคน เหตุใดนายชูวิทย์ถึงไม่อยากให้ประเทศชาติหายจากโควิด หรืออยากเห็นประเทศ เห็นประชาชนป่วยเพิ่มมากขึ้น นายชูวิทย์ก็เคยเป็นนักการเมือง เป็นผู้แทนราษฎร ประชาชนต้องมาก่อน ก็น่าจะมีจิตใจที่จะคิดถึงประชาชนบ้าง เอาเวลาไปช่วยประชาชนจะดีกว่า การพูดมากบ่อนทำลายกำลังใจกัน ทางที่ดีนายชูวิทย์ที่มีฐานะดี ควรความดีโดยการหุบปากเพื่อชาติ แล้วนำสิ่งของไปบริจาคบ้างตามความเหมาะสมจะได้รับเสียงปรบมือชื่นชมมากกว่า” นายเสกสกลกล่าว

‘โฆษกรัฐบาล’ เผย นายกฯ ย้ำ ชู วัคซีน เป็นวาระแห่งชาติ เร่งระดมฉีดวัคซีนปชช. ระบุ มิ.ย.นี้ รับมอบแอสตราฯ ผลิตในไทยล็อตแรก 6 ล้านโดส สั่งฟัน คนผลิต-แชร์ ‘เฟคนิวส์’ เขย่าความเชื่อมั่นรัฐบาล

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงข้อสั่งการ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้แจ้งว่า อยากให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ จากนี้ไปการรณรงค์เรื่องการฉีดวัคซีนจะเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าภาครัฐสามารถที่จะจัดหาวัคซีนเข้ามาได้ทันท่วงที และสามารถฉีดให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในเรื่องนี้ทางนายกฯ ได้ขอให้ทุกหน่วยงานเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยเข้ามารับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการต่อไปได้ในเรื่องอื่น ๆ เช่น การเปิดประเทศ และการกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจ 

นายอนุชา กล่าวว่า ในอนาคตเมื่อเราฉีดวัคซีนได้ครบก็จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้การติดเชื้อรุนแรงเกิดในคนไทยน้อยลง ไม่ถึงขั้นเสียชีวิตอย่างแน่นอน โดยบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าได้รับการฉีดวัคซีนเกือบครบหมดแล้ว หลังจากนี้จะเป็นการเพิ่มเติมให้กับบุคลากรส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือมีความเสี่ยงได้รับวัคซีนเพิ่มเติม เช่น พนักงานส่งของ พนักงานขับรถสาธารณะ พนักงานขายร้านสะดวกซื้อ ผู้ให้บริการในร้านอาหาร ผู้ให้บริการการท่องเที่ยวและโรงแรม เป็นต้น โดยรัฐบาลมีความตั้งใจว่าในเดือนมิถุนายน 2564 นี้จะปูพรมระดมฉีดเข็มแรกให้กับหลาย ๆ ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะมีการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน 14 ศูนย์ โดยจะเปิดบริการในเดือนมิ.ย. เพื่อฉีดให้กับคนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจะเพิ่มขึ้นเป็น 25 ศูนย์ในอนาคต 

นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับการจัดหาวัคซีนก็จะมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในเดือนพ.ค. นี้ 3.5 ล้านโดส จากซิโนแวค และเดือนมิถุนายนอีก 6 ล้านโดส จากแอสตราเซเนกา ที่ผลิตในประเทศไทย จากนั้นเดือนกรกฎาคม จะได้รับอย่างน้อยเดือนละ 10 ล้านโดส ส่วนการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนรายอื่น เช่น ไฟเซอร์ สปุกนิกวี หรือ Johnson & Johnson ขณะนี้รัฐบาลตั้งเป้าที่จะเร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะให้ได้ 100 ล้านโดส ก็ตั้งใจที่จะจัดหามาให้ครบ 150 ล้านโดสภายใน 2564 นี้

ส่วนเรื่องการดูแลรักษาประชาชนที่ป่วยและติดเชื้อก็อยากจะให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลจะดูแลรักษาค่าพยาบาลและออกค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนทุกคนตามสิทธิ์ ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ตั้งแต่การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การรับวัคซีน การชดเชยกรณีผลข้างเคียง หากมีประกันส่วนบุคคลทางโรงพยาบาลจะเรียกเก็บกับบุคคลก่อน ส่วนที่เหลือก็จะให้เรียกเก็บกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขอย้ำอีกครั้งว่า ห้ามโรงพยาบาลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชาคนเป็นอันขาดหากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย

นายอนุชา กล่าวว่า ส่วนโรงพยาบาลที่อิมแพค เมืองทองธานี ที่ใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลบุษราคัม ซึ่งมีมาตรฐานเทียบเท่ากับโรงพยาบาลปกติ จะเป็นโรงพยาบาลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลกลุ่มผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเหลืองโดยเฉพาะ คือกลุ่มที่ผู้ป่วยมีอาการแต่ไม่รุนแรง ปัจจุบันพร้อมรับผู้ป่วย 1,092 เตียงและสามารถขยายในเฟสที่สอง และเฟสที่สามต่อเนื่องได้อีกอย่างน้อย 1,000 กว่าเตียง หากมีความจำเป็นจริง ๆ สามารถที่จะขยายโรงพยาบาลบุษราคัมให้มากถึง 5,000 เตียง 

นายอนุชา กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวการจัดเก็บการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกขององค์การเภสัชกรรม ขอชี้แจงว่า ทางองค์การเภสัชฯ ไม่ได้คิดค่าบริหารจัดการวัคซีนเพิ่มเติม ทั้งนี้เมื่อเอกชนกับผู้ผลิตวัคซีนสามารถตกลงราคาวัคซีนได้แล้ว จะมีค่าจัดส่ง ค่าตรวจห้องปฏิบัติการ ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ซึ่งเป็นส่วนที่โรงพยาบาลเอกชนจะต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว เหมือนกับกรมควบคุมโรคนำวัคซีนอื่น ๆ เข้ามาในประเทศไทย การคิดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จึงไม่มีการบวกเพิ่มค่าบริหารจัดการร้อยละ 10 อย่างที่มีข่าวแต่อย่างใด

นายอนุชา กล่าวว่า นายกฯ มีความกังวลและเป็นห่วงพี่น้องประชาชนถึงความลำบากที่จะเกิดขึ้น จึงได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยตั้งครัวสนามในชุมชนกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ซึ่งทราบว่ามีหลายหน่วยงานได้ดำเนินการเข้าไปช่วยเหลือในต่าง ๆ โดยทางกองทัพได้เข้ามาช่วยเหลือตามชุมชนต่าง ๆ แล้ว เช่น ชุมชนของเตย ชุมชนบางแค ส่วนชุมชนกำลังเตรียมดำเนินการ เพื่อดูแลประชาชนที่ถูกกักตัวในบ้าน 

นายอนุชา กล่าวว่า นายกฯ มีความกังวลถึงเฟกนิวส์หรือข่าวปลอม ที่มีหลายส่วนมีผลกระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชนโดยเฉพาะเรื่องของวัคซีน ทำให้เกิดความสับสนและวุ่นวายให้กับสังคม ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มที่เจตนาหรือไม่เจตนาก็ดี ก็ได้เผยเผยแพร่ข้อมูลเป็นเท็จมากขึ้น นายกฯ จึงอยากจะขอให้กลุ่มหรือผู้ที่กระทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้หยุดการกระทำ เพราะถือเป็นการซ้ำเติมและเพิ่มความเดือดร้อนให้กับประชาชน นอกจากนี้นายกฯ ยังได้สั่งการให้ดำเนินการทางกฎหมายทันทีหากพบการกระทำผิด ทั้งผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและแชร์ข้อมูล จึงอยากขอให้ทุกคนคำนึงถึงสถานการณ์ปัจจุบันและอย่าสร้างความตระหนกตกใจโดยไม่จำเป็น

‘ก้าวไกล’ จ่อชงกฎหมายเอาผิด ‘ศาล-อัยการ-ตำรวจ’ ฐานบิดกฎหมาย ‘โรม’ ยกคดี ม.112 สร้างเงื่อนไข ‘ค้านประกัน’ แบบตีความเกินกฎหมาย ส่วนกรณี ‘ธรรมนัส’ ตัดสินเหมือนอยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยังมีปัญหา ‘สิทธิสภาพนอกอาณาเขต’

วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2564 รังสิมันต์ โรม และ วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อเปิดตัวร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ว่าด้วยการเอาผิดเจ้าพนักงานยุติธรรมในฐาน ‘บิดเบือนกฎหมาย’ ซึ่งปรากฎชัดในหลายกรณีช่วงที่ผ่านมา โดยพรรคก้าวไกลเตรียมยื่นเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

รังสิมันต์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีต่อนักกิจกรรมทางการเมืองที่ได้รับการประกันตัวซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลได้จับตามาตลอดว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม การได้รับการประกันตัวทั้งเมื่อวานนี้และหลายกรณีที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่น่ายินดีก็จริง แต่ไม่ใช่สิ่งที่ลบล้างว่าภายใต้การได้รับการประกันตัวดังกล่าวมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นอย่างไร และจากความไม่ธรรมเหล่านั้นจึงเป็นเหตุที่มีความจำเป็นในการร่างกฎหมายฉบับนี้

“สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือการเพิ่มฐานความผิดเข้าไปในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ความผิด ลักษณะ 3 ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ได้แก่ความผิดฐาน “บิดเบือนกฎหมาย” ของเจ้าพนักงานในการยุติธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด”

รังสิมันต์ ระบุว่า เหตุผลที่พรรคก้าวไกลต้องเสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากในสังคมที่ปกครองด้วยหลักนิติรัฐ เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นงานสอบสวนทั้งตำรวจและฝ่ายปกครอง ผู้ว่าคดี พนักงานอัยการ ตลอดไปจนถึงผู้พิพากษาและตุลาการ ทั้งหมดล้วนเป็นผู้มีหน้าที่ในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเพื่อความเป็นธรรมของประชาชนภายใต้กฎหมายของบ้านเมือง เมื่อมีข้อกล่าวหาในทางคดีเกิดขึ้น การใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการยุติธรรมจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งกฎหมายสารบัญญัติและกฎหมายวิธีบัญญัติ โดยกล่าวได้ว่าเจ้าพนักงานในการยุติธรรมคือผู้รักษากฎหมาย ย่อมจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและด้วยความซื่อตรงต่อกฎหมายอย่างถึงที่สุด

“แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อเวลาผ่านไป บุคคลเหล่านี้ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามที่กฎหมายกำหนด ราวกับว่าพวกเขามีอคติบังตา แน่นอนว่าคนเหล่านี้เป็นมนุษย์ทั่วไปก็อาจกระทำไปโดยความรู้สึกส่วนตัวโดยไม่ได้สนใจว่า กฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ให้กับตัวเองอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นก็คือ มีการบิดเบือนในหลายกรณีและทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งไม่ใช่ต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์เท่านั้น แต่เสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมที่อุตส่าห์สร้างและสั่งสมมาและอาจจะถูกทำลายด้วยระยะเวลาที่ไม่นาน เพราะคดีเพียงไม่กี่คดีก็อาจทำให้ประชาชนหมดสิ้นศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมได้”

รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ตัวอย่างที่ทำให้ประชาชนรู้สึก เช่น กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญรับในข้อเท็จจริงกลาย ๆ ว่า เขาเคยถูกพิพากษาโดยศาลออสเตรเลียในประเด็นเรื่องการค้ายาเสพติด แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับอ้างถึงอำนาจอธิปไตยทำราวกับว่ายังอยู่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยังมีปัญหาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต อันที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เนื่องจากในปัจจุบันระบบกฎหมายไทยก็ยอมรับผลบางประการของคำพิพากษาของศาลต่างชาติ ทั้งกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่คนไทยกระทำนอกราชอาณาจักรจะต้องรับโทษและอยู่ในเกณฑ์ที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนหากต่างประเทศมีบทบัญญัติความผิดลักษณะเดียวกันด้วย และนั่นไม่ได้ทำให้ประเทศไทยสูญเสียอธิปไตยในทางศาลเหมือนในอดีต ในขณะที่บทบัญญัติลักษณะต้องห้ามของ ส.ส. และรัฐมนตรีในรัฐธรรมนูญนั้นมุ่งเน้นที่จะคัดกรองมิให้ผู้มีประวัติมัวหมองเข้ามาใช้อำนาจในตำแหน่งสำคัญ แม้จะเป็นการต้องคำพิพากษาศาลต่างประเทศก็ถือเป็นประวัติที่มัวหมองได้เช่นกัน คำวินิจฉัยดังกล่าวได้ก่อประโยชน์ต่อ ร.อ.ธรรมนัส ให้ยังคงเป็น ส.ส. และรัฐมนตรีต่อไป ทั้งที่ข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่าเคยมีการกระทำที่เข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่สอง คือเมื่อปี 2556 มีคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่นักการเมืองท้องถิ่นกล่าวในรายการวิทยุเปรียบเปรยถึงบ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ 4 ว่าขาดอิสระเสรีภาพ โดยถูกพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยอ้างว่ากฎหมายมิได้บัญญัติว่าห้ามหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น และการหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่ ทั้งที่การที่มาตรา 112 กำหนดกรรมของการกระทำไว้ที่เฉพาะบุคคลใน 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น ย่อมหมายถึงบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวและมีอำนาจหน้าที่ตามตำแหน่งดังกล่าว ณ ปัจจุบันเท่านั้น มิได้รวมถึงอดีตกษัตริย์ ซึ่งหากตีความแบบนี้ก็ต้องรวมพระเจ้าเอกทัศน์ด้วยใช่หรือไม่ มิเช่นนั้นแล้วมาตรานี้ก็ยังต้องใช้กับการหมิ่นประมาทผู้ที่เคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปเสียหมดทุกคน ซึ่งนั่นไม่ใช่ความมุ่งหมายของกฎหมายมาตราดังกล่าวอย่างแน่นอน ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าว แม้จะให้รอลงอาญา แต่ก็ได้สร้างความเสียหายแก่จำเลยให้กลายเป็นผู้มีความผิดติดตัว ทั้งที่เขาไม่ได้กระทำการอันเข้าข่ายความผิดนั้น จึงต้องถามว่าเป็นการตีความเกินกฎหมายและเป็นตัวอย่างของการบิดเบือนกฎหมายใช่หรือไม่

“ตัวอย่างล่าสุดคือในช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ที่ประชาชนได้ออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ในเวลาต่อมามีความพยายามแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมคนสำคัญ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะไปพบพนักงานสอบสวนหรือขึ้นศาล ไม่พบพฤติการณ์ของการหลบหนีหรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐานแต่อย่างใด แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อเกี่ยวกับมาตรา 112 ศาลกลับไม่ให้ประกันตัว หรือกว่าจะให้ประกันตัวต้องไปยื่นนับสิบครั้งถึงจะได้ เช่น กรณีคุณเพนกวิ้น และสร้างเงื่อนไขที่ไม่ได้เกี่ยวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 แต่ไปห้ามวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามว่าจะต้องไม่เข้าไปร่วมกับการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเท่ากับว่าศาลกำลังตัดสินให้คนเหล่านี้ผิดไปแล้วโดยยังไม่มีการดำเนินการพิจารณาตามกฎหมายแต่อย่างใด กลายเป็นศาลได้สร้างเงื่อนไขที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานแห่งกฎหมาย ศาลไม่ให้ประกันตัวทั้งที่ไม่ได้ละเมิดเหตุแห่งกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งไม่หลบหนีหรือไม่ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน การที่ศาลใช้ดุลพินิจแบบนี้ก็เกิดคำถามว่าศาลเอาฐานกฎหมายอะไรในการมาดำเนินคดีหรือพิจารณากับประชาชน”

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ถ้าปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ คงไม่มีประชาชนเชื่อกระบวนการยุติธรรมอีกต่อไป กระบวนการยุติธรรมจะพังทลาย และถ้ากระบวนการยุติธรรมพังทลาย ประเทศนี้จะอยู่อย่างไร จึงเป็นที่มาที่พรรคก้าวไกลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้ไปการศึกษา พบว่า ในต่างประเทศได้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายให้การบิดเบือนกฎหมายนั้นเป็นความผิดอาญา เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี บัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา (Strafgesetzbuch-StGB) มาตรา 339 (Section 339) ความว่า “ผู้พิพากษา เจ้าพนักงานของรัฐ หรืออนุญาโตตุลาการ ผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมาย กระทำการบิดเบือนกฎหมาย ก่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายของคู่ความ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี” (Judges, other public officials or arbitrators who, in the course of conducting or deciding a legal matter, bend the law for the benefit or to the detriment of a party incur a penalty of imprisonment for a term of between one year and five years.) โดยนัยก็คือเขามองว่า เจ้าพนักงานเหล่านี้เช่นศาลก็สามารถกระทำความผิดบิดเบือนกฎหมายได้ บทบัญญัติดังกล่าวมีนักกฎหมายไทยให้ความสนใจในการศึกษา เช่น ในวิทยานิพนธ์ “ความผิดฐานบิดเบือนกฎหมายของผู้พิพากษา: ศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายเยอรมัน” ของ เหมือน สุขมาตย์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เขียนขึ้นเมื่อปี 2560 ได้เสนอว่า ควรมีการกำหนดฐานความผิดดังกล่าวไว้ในระบบกฎหมายของไทย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญาของไทยยังมิได้กำหนดฐานความผิดดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ

ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกลจึงนำขอเสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา โดยเพิ่มมาตรา 200/1 ในวรรคหนึ่ง กำหนดฐานความผิดจากการบิดเบือนกฎหมายของพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี และพนักงานสอบสวน ความว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน กระทำการบิดเบือนกฎหมายในการสอบสวนและการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ด้วยการทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี หรือกระทำความเห็นทางคดีอย่างอื่นอันจะมีผลกระทบต่อการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี”

ส่วนในวรรคสอง กำหนดฐานความผิดจากการบิดเบือนกฎหมายของผู้พิพากษาและตุลาการ ความว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ กระทำการบิดเบือนกฎหมายในการพิจารณาคดี การทำคำสั่งรับหรือไม่รับฟ้อง การทำคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี หรือการทำคำสั่งคำร้องหรือคำขออื่นใด เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี”

“ร่างกฎหมายพรรคก้าวไกลฉบับนี้จะเสนอสู่สภาโดยเร็ว หากผ่านกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นนิมิตรใหม่หรือเป็นก้าวย่างสำคัญของกระบวนการยุติธรรม ต้องยอมรับว่าศาลยุติธรรมอยู่ในสภาวะที่จะเรียกว่าจะโปร่งใสก็ไม่โปร่งใส จะมืดมนก็ไม่มืดมน ที่ผ่านมาอาจจะได้ยินมาตลอดว่าศาลยุติธรรมอยู่ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลกันข้างใน แต่จากกรณีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกำลังแสดงให้เห็นว่า ศาลที่กำลังเป็นอยู่ เป็นศาลที่ปราศจากการยอมรับของประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ เราหวังว่า ผู้เกี่ยวของในกระบวนการยุติธรรมจะปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการบิดเบือนกฎหมายต่อไป เราเชื่อว่าการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา อัยการ พนักงานสอบสวน ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรงต่อกฎหมาย ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทวงกระบวนการยุติธรรมจากขุนนางผู้ใช้กฎหมายเพื่อห้ำหั่นผู้บริสุทธ์ ก่อนที่กระบวนการยุติธรรมจะถูกทำให้ไร้ความหมายไปมากกว่านี้ จึงอยากให้ทุกคนได้ติดตามและเราจะยื่นสู่สภาในเร็ววันนี้ ” รังสิมันต์ กล่าว

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top