Tuesday, 8 July 2025
POLITICS NEWS

'รัฐบาล' กำชับ ผู้ประกอบการร่วมมือ ห้ามส่งออกหมู แนะผู้เลี้ยงหมู500 ตัว-ผู้ครอบครองหมูชำแหละ ตั้งแต่5,000 ก.ก.ขึ้นไป แจ้งพณ.จังหวัด บรรเทาความเดือดร้อนปชช.

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาราคาหมูแพง ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สั่งการ และคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.)ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน มีมาตรการ 3 ระยะ ได้แก่ มาตรการเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหา  

ล่าสุดมีกฎหมายบังคับใช้ โดยห้ามส่งออกหมู และกำหนดให้ผู้เลี้ยงต้องแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บ จัดทำบัญชีสินค้าและเนื้อหมู ต่อสำนักงานพาณิชย์จังหวัด รัฐบาลจึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ร่วมกันแก้ไขปัญหาราคาเนื้อหมูแพง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน

“นายกฯให้ความสำคัญกับทุกปัญหาที่กระทบปากท้องประชาชน จึงเร่งให้หน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินมาตรการให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมมีแนวทางแก้ไขที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ป้องกันกรณีเกิดปัญซ้ำ”

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ จำนวน 2 ฉบับ โดยฉบับที่1 เรื่องห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งห้ามมิให้บุคคลใดส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักรทุกกรณี โดยมีผลบังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ ในที่นี้คือตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2565 ต่อเนื่องไปเป็นเวลา 3 เดือน 

ฉบับที่2 เรื่อง การแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้าสุกร เนื้อสุกร  มีสาระสำคัญเป็นการบังคับให้ ให้ผู้เลี้ยง ผู้จำหน่าย ผู้ส่งออกซึ่งครอบครองสุกรมีชีวิตที่ตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป ไม่ว่าจะครอบครองในฐานะผู้มีกรรมสิทธิ์หรือครอบครองแทนผู้อื่นต้องแจ้งปริมาณการเลี้ยง การซื้อ การจำหน่าย การส่งออก ปริมาณคงเหลือราคาจำหน่าย สถานที่เก็บ และสถานที่เลี้ยง  รวมถึงให้ผู้ครอบครองสุกรชำแหละผ่าซีก เนื้อสุกรชำแหละแยกชิ้นส่วนซึ่งประกอบด้วยเนื้อไหล่ เนื้อสะโพก เนื้อสันคอ เนื้อสันนอก เนื้อสันใน และเนื้อหมูสามชั้น ที่มีปริมาณรวมกันตั้งแต่ 5,000 กิโลกรัมขึ้นไป ไม่ว่าจะครอบครองในฐานะผู้มีกรรมสิทธิ์หรือครอบครองแทนผู้อื่น แจ้งปริมาณการซื้อ การจำหน่าย การใช้ การส่งออก การรับฝาก ปริมาณคงเหลือราคาจำหน่าย และสถานที่เก็บ 

“บิ๊กตู่”กำชับ ศบค.เร่งสร้างความเข้าใจ ​สั่งทุกหน่วยงานที่เตรียมพร้อม​ด้านสาธารณสุข​ของไทย​ รวมทั้งยา​และเวชภัณฑ์ รับมือโอมิครอนแพร่ “อ้าง”WHO ​ติดเชื้อได้เร็วแต่ความรุนแรงไม่สูง

ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบ Video Conference 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวก่อนการประชุมว่า  ขอสวัสดีปีใหม่ทุกท่านและขอขอบคุณพวกเราทุกคนที่ร่วมมือกัน ดำเนินการต่างๆเป็นอย่างดี ให้เราสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้ ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดและการแก้ปัญหา เป็นประเทศที่แข็งแกร่รงในระบบสาธารณสุขระดับโลก

ร้องชุดตรวจ ATK ราคาพุ่ง 'บิ๊กตู่' สั่งพาณิชย์คุมด่วน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลได้รับข้อร้องเรียนจากหลายช่องทางเกี่ยวกับราคาชุดตรวจโควิด Rapid Antigen Test Kit (ATK) ด้วยตนเอง ที่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนที่ขายในร้านขายยา และร้านค้าออนไลน์ เนื่องจากมีความต้องการใช้เพื่อการตรวจคัดกรองมากขึ้น ทั้งในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ใช้สำหรับคัดกรองก่อนเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่ม และหลังเทศกาลปีใหม่ที่มีแนวโน้มการระบาดเพิ่มขึ้น โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้มอบหมายกระทรวงพาณิชย์ให้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีการฉวยโอกาสขึ้นราคาก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมกับวางแนวทางป้องกันไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบประชาชนที่อยู่ในช่วงยากลำบาก  

ทั้งนี้นายกฯ ได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเช่นเดียวกับช่วงแรกที่รัฐบาลอนุญาตให้ใช้ชุดตรวจ ATK แล้วมีปัญหาชุดตรวจราคาสูง โดยตั้งคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่ติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์ซื้อขายชุดตรวจ ATK  นำไปสู่การวางมาตรการต่างๆ เพื่อให้มีการขายที่เป็นธรรม เปิดให้มีการแข่งขันสูงขึ้น ให้จำหน่ายผ่านช่องทางที่หลากหลายขึ้น ซึ่งได้ช่วยแก้ไขปัญหาและราคาชุดตรวจ ATK ต่ำลงมากจนประชาชนสามารถเข้าถึงในวงกว้างและกลายเป็นกลไกการตรวจคัดกรองและนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาได้รวดเร็ว ลดการเสียชีวิต จำกัดวงจรการระบาด  

“นายกฯ” เร่งผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางแข่งขัน E-sports ดีเดย์ “เจ็ตสกีเวิลด์คัพ”  12-16 ม.ค.นี้ ตั้งเป้าตีตลาดโลกสร้างฐานแฟนกีฬา 350 ล้านคน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มุ่งส่งเสริมการใช้ Soft power โดยนำกีฬามาต่อยอดกับการท่องเที่ยว เน้นกีฬาระดับโลกให้กับประเทศไทย โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ขับเคลื่อน การพัฒนางานกีฬา ด้านทรัพย์สินทางปัญญา นำร่องกีฬาเจ็ตสกี ยกระดับเป็นการแข่งขันทัวร์นาเม้นท์เจ็ตสกีอันดับที่ 1 ของโลก WPG#1 World Series เป็นลิขสิทธิ์แบรนด์ไทย โดยกำหนดจัดเจ็ตสกีเวิลด์คัพ 2021-2022 ระหว่างวันที่ 12-16 ม.ค.นี้ ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งรายการแกรนด์สแลมนี้เป็นรายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มีนักกีฬาทั่วโลก เข้าร่วมแข่งขันมากที่สุดตั้งแต่ปี 2018 นอกจากนี้ยังมีส่วนของความสำคัญของสนามชิงชนะเลิศ การแข่งขันเก็บคะแนนชิงแชมป์โลกหรือ WGP#1 เวิลด์ซีรี่ส์ 2021-2022 ด้วย ที่แข่งเก็บคะแนนบน 3 ทวีปสำคัญของโลก ได้แก่ สนาม 1 ทวีปยุโรป ที่โปแลนด์ สนามที่ 2 ทวีปอเมริกา ที่อริโซน่า สหรัฐฯ และสนาม 3 ทวีปเอเชีย ที่ประเทศไทย โดยกลุ่มนักกีฬามือหนึ่งของโลกทั้งหมดต้องเข้ามาชิงแชมป์ที่ประเทศไทย จะมีการออกอากาศเผยแพร่ไปกว่า 90 ประเทศทั่วโลก

นายกฯ สั่ง หน่วยงานวางระบบการทำงาน ช่วยปชช.รับประโยชน์เต็มที่ จากความตกลง RCEP 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเกี่ยวกับประโยชน์ที่ประชาชนในประเทศไทยจะได้รับจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมาว่า ความตกลง RCEP เป็นเขตการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิกครอบคลุมกว่า 15 ประเทศ ได้แก่ 10 ประเทศอาเซียน รวมกับอีก 5 ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ครอบคลุมประชากรมากถึง 2.3 พันล้านคน หรือกว่า 1 ใน 3 ของโลก จึงมีตลาดในการนำเข้าเเละส่งออกสินค้าและบริการที่กว้างขวาง RCEP ยังเป็นความตกลงทางการค้าที่เปิดกว้างที่สุด และครอบคลุมหลายด้านที่ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคในแต่ละประเทศสมาชิก โดยเฉพาะการลดภาษีสินค้านำเข้าสูงที่สุดถึงร้อยละ 99 ของสินค้าทั้งหมด ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้สินค้าไทยเข้าถึงตลาดประเทศสมาชิก RCEP ได้ด้วยต้นทุนที่ถูกลง อีกทั้งมีมาตรการที่อำนวยความสะดวกในการลงทุนขยายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติในไทย เช่น ในโครงการ EEC 
 
นายธนกร กล่าวว่า ประโยชน์ที่ประชาชน เกษตรกร ผู้ผลิต และผู้ประกอบการไทย จะได้รับจากความตกลง RCEP ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกลดหรือยกเลิกกฎระเบียบและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน อาทิ ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้า (ภาษีเหลือ 0%) สำหรับสินค้าส่งออกไทย จำนวนกว่า 29,891 รายการ ที่จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการส่งออก เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและเปิดตลาดใหม่ ๆ ให้กับสินค้าส่งออกของไทย , ผู้ประกอบการได้รับการอำนวยความสะดวกหรือลดความยุ่งยากทางการค้า โดยเฉพาะด้านพิธีศุลกากร และเพิ่มช่องทางออนไลน์สำหรับการยื่นเอกสารขอนำเข้าสินค้าเป็นการล่วงหน้า , ปรับ ประสานมาตรฐานและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของประเทศผู้นำเข้า ให้มีความชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน , ลดหรือ ยกเลิกข้อกำหนดด้านการลงทุน ที่เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อนักลงทุนต่างชาติภายในประเทศสมาชิก อาทิ สัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติ เงื่อนไขสัญชาติของผู้ให้บริการ และกฎระเบียบในการจัดตั้งกิจการหรือการลงทุน , เปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิกในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น บริการสำหรับผู้สูงอายุ และโรงพยาบาล 

ดีอีเอส เผยศาลสั่งปิด 50 ยูอาร์แอล ประเดิมปีเสือ หลังพบกระทบความมั่นคง

6 มกราคม 2565 น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากแนวโน้มปัญหาการโพสต์ข้อความเท็จที่ยังมีการแพร่กระจายบนช่องทางโซเชียลต่างๆ จำนวนมาก สร้างความตื่นตระหนก ความสับสนให้กับประชาชน และกระทบต่อความมั่นคงของชาติ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ได้เร่งติดตามปัญหาเชิงรุก มีการมอนิเตอร์สถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศทุกวัน

ทั้งนี้ สถานการณ์ข่าวปลอมและการดำเนินการตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 64 - 2 ม.ค. 65 พบว่า มีการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 19 ยูอาร์แอล แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 11 ยูอาร์แอล ยูทูบ 6 ยูอาร์แอล และทวิตเตอร์ 2 ยูอาร์แอล

นายกฯ สั่งพลังงานคุมราคาไม่ให้กระทบค่าครองชีพ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานดูแลบริการจัดการพลังงานไม่ให้ขาดแคลน และดูแลราคาพลังงาน ที่ได้รับผลกระทบจากราคาตลาดโลกผันผวน ให้กระทบค่าครองชีพประชาชนให้ต่ำที่สุด ซึ่งเกิดจากทั้งราคาน้ำมันตลาดโลกที่ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยในส่วนการดูแลราคาน้ำมันดีเซลยังยืนยันว่าจะดูแลไม่เกินลิตรละ 30 บาท 

ส่วนราคาก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี ในเดือน ก.พ.นี้จะต้องทยอยขยับราคาแน่นอน จากที่ตรึงราคาสู้ภัยโควิดมาแล้วเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ที่ราคา 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ตลาดโลกก็พุ่งขึ้นอยู่ในระดับ  20-50 เหรียญต่อล้านบีทียู ซึ่งกระทบค่าไฟฟ้าในปี 65 ที่จะขยับขึ้นแน่นอน 

พร้อมกันนี้ กพช. ยังเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 เช่น การจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเต็มความสามารถของแหล่ง รวมถึงจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซเพิ่มเติมจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพ ทั้งแหล่งก๊าซในอ่าวไทย และในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย, การเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 กำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จากเดิมกำหนดปลดออกจากระบบสิ้นปี 2564

 'บิ๊กตู่' เรียกประชุม บอร์ดพลังงาน นัดแรกของปี ย้ำทุกฝ่าย เตรียมความพร้อมด้านพลังงานของประเทศให้เพียงพอ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุม เน้นให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันหาแนวทางเตรียมความพร้อมด้านพลังงานของประเทศไทยให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า ซึ่งส่งผลให้ราคาไฟฟ้าแพง และทำให้เกิดไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับในบางพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายได้ โดยเฉพาะการสนับสนุนส่งเสริมนำพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ มาใช้ ทั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม น้ำ และพลังงานชีวมวลหรือพลังงานสะอาด เป็นต้น และคำนึงถึงประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

นายธนกร กล่าวว่า ความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย จะนำไปสู่การป้องกันไม่ให้ประเทศเกิดวิกฤตด้านพลังงาน โดยในปี 2565 ต้องดำเนินการให้มีความก้าวหน้าชัดเจน เกิดผลเป็นรูปธรรมให้มากขึ้น และขยายการดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จต่อเนื่องในปีต่อๆ ไป เพื่อร่วมกันพลิกโฉมประเทศไทยทุกมิติ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยเฉพาะการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ พร้อมแนะให้พิจารณาแยกกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าให้ชัดเจน ทั้งกลุ่มโรงงาน เครื่องจักร เกษตรกร สาธารณูปโภคพื้นฐาน กลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีที่ใช้พลังงานมาก ฯลฯ เพื่อกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เป็นธรรมกับทุกกลุ่ม และประชาชนแต่ละกลุ่มได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง รวมทั้งสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐตามมาตรการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีขอให้มีการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการขับเคลื่อนพลังงานของประเทศให้ประชาชนรับทราบ เพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่กำหนดและเตรียมความพร้อมในทุกมิติ ย้ำให้ดำเนินการแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565 – 2574 รวมถึงโครงการอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลเรื่องการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก อันจะส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับหรือไฟฟ้าตกได้ จึงต้องดูแลไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมของประชาชนและประเทศ รวมไปถึง การแสวงหาความร่วมมือด้านพลังงานกับต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้การกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และถูกต้องตามกฎหมายที่มีอยู่ เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นายธนกร กล่าวว่า สำหรับมติที่ประชุม กพช. ในประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. เห็นชอบการจัดสรรผลประโยชน์บัญชี Take or Pay แหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา โดยให้นําเงินผลประโยชน์ของบัญชี Take or Pay ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 จํานวน 13,594 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินการคืนภาครัฐทั้งหมดไปช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) โดยนําส่งเงินและลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โคโรนา 2019 (COVID – 19) โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการดังกล่าว 

2. เห็นชอบหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG (LNG Benchmark) สำหรับกลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Regulated Market) สำหรับสัญญาระยะยาวและ/หรือสัญญาระยะกลาง ได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ 1) สมการในรูปแบบเส้นตรงที่อ้างอิงราคาน้ำมัน (Oil linked linear formula) 2) สมการในรูปแบบเส้นตรงที่อ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติ (Gas linked linear formula) และ 3) สมการในรูปแบบ Hybrid ซึ่งอ้างอิงทั้งราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และมีจุดหักมุม (Hybrid oil gas linked formula with a kink point) โดยจะนำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป และมอบหมายให้ กกพ. เป็นผู้กำกับดูแลและพิจารณาในรายละเอียดของหลักเกณฑ์ราคา LNG Benchmark สำหรับกลุ่ม Regulated Market ต่อไป

 

รัฐคลอดมาตรการแก้หมูแพง “บิ๊กตู่” เชื่อราคากลับสู่ปกติ

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ปัญหาเนื้อหมูราคาสูงมากในปัจจุบัน ว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หารือร่วมกัน และได้ข้อสรุปออกมาเป็น มาตรการเร่งด่วน ได้แก่ การห้ามส่งออกหมูมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.65 ถึง วันที่ 5 เม.ย. 65 เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อหมูภายในประเทศ และกระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาตามสถานการณ์ว่าควรให้มีการต่ออายุหรือไม่ โดยจะมีการติดตมาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตัวเลขเบื้องต้นในปี 2564 มีการเลี้ยงหมูป้อนเข้าสู่ตลาด ประมาณ 19 ล้านตัว บริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว ส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 1 ล้านตัว

รวมทั้งช่วยเหลือด้านราคาอาหารสัตว์ โดยเฉพาะส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น การงดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษี การจัดสินเชื่อพิเศษของ ธ.ก.ส. เพื่อให้เกษตรกรที่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขได้กลับมาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่ความเสี่ยงต่อโรคระบาดต่ำ การตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้น พร้อมกันนี้ยังเร่งสำรวจภาพรวมสถานการณ์การผลิตสุกร เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายและมาตรการที่เหมาะสม พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน โดยให้เกษตรกรใช้สุกรขุนตัวเมียมาใช้ทำพันธุ์ชั่วคราว เร่งรัดเจรจาฟาร์มรายใหญ่ในการกระจายพันธุ์และลูกสุกรขุนให้กับรายย่อยและเล็กที่ต้องการกลับเข้ามาสู่ระบบใหม่ กำหนดโซนเลี้ยงและออกมาตรการบังคับใช้อย่างเหมาะสมเพื่อควบคุมโรค และเร่งรัดการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค 

ขณะที่มาตรการระยะสั้น ได้แก่ การส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ การขยายกำลังผลิตแม่สุกร สนับสนุนศูนย์วิจัยและบำรุงสัตว์ ในสังกัดกรมปศุสัตว์และเครือข่ายคู่ขนานกับฟาร์มเกษตรกรและภาคเอกชน เร่งเดินหน้าการศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาด ด้านมาตรการระยะยาว กระทรวงเกษตรฯจะผลักดันการยกระดับมาตรฐานฟาร์มของเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม 

‘อรรถวิชช์’ มั่น!! เต็งซ่อม ‘หลักสี่-จตุจักร’ ชี้!! เข้าวินปุ๊บ ลุยเคลียร์ปม 2 คลองขัดแย้งทันที 

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า ผู้สมัคร ส.ส.เขต 9 หลักสี่-จตุจักร กล่าวถึงการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ว่า มั่นใจ 100% เพราะเคยเป็นผู้แทนราษฎรในเขตหลักสี่และเขตจตุจักร ปี 2550 และ 2554 มาก่อน วันนี้กลับมาลงเลือกตั้งในเขตนี้อีกครั้ง เสียงตอบรับดีมาก มั่นใจว่าจะได้รับชัยชนะ เพราะจากการประเมินคู่แข่ง ส่วนตัวคุ้นชินพื้นที่และมีผลงานในพื้นที่ไว้มาก และการเลือกตั้งใหญ่ที่เหลือเวลาอีกแค่ปีกว่าๆ เท่านั้น สิ่งที่อยากทำคือเป็นคนกลางในการพูดคุยกับประชาชนและประสานงานในการดำเนินการเกี่ยวกับซอยย่อย ถนนทางลัด และตามริมคลอง เพราะเขตนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 2 คลอง คือ คลองลาดพร้าว และคลองเปรมประชากร ซึ่งที่ผ่านมาอดีต ส.ส. ไม่กล้าเข้าไปเจรจาแก้ปัญหา 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top