Friday, 24 May 2024
NEWS

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเปิดเผยถึงการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ยันมีรูรั่ว ไม่ปฏิบัติตามมาตราการ ทุกคนมีส่วนร่วม ขู่ ‘ล็อคดาวน์’ วอนคนไทยช่วยกันหวังสถานการณ์คลี่คลายใน 7 วัน ย้ำหากพบแรงงานผิดกฎหมายสั่งปิดทันที

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เผยถึงการแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ว่า ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ตนไม่เคยหยุดคิด ไม่เคยหยุดติดตามสถานการณ์ อีกทั้งยังยืนยันทางรัฐยังคงปฏิตามมาตรการอย่างครบถ้วน เพียงแต่ต้องหาข้อมูลให้มากขึ้นจากภาคเอกชน ที่รับแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

“เดิมผมคิดว่าแรงงานต่างด้าวในประเทศค่อนข้างจะปลอดภัย ที่ผ่านมาการแพร่ระบาดควบคุมได้ แสดงว่ามีรูรั่วตรงนี้ รั่วจากใคร จากที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ‘ฉะนั้นเราโทษใครไม่ได้ พวกเราทุกคนมีส่วนร่วมทั้งสิ้น’ รัฐบาลมีมาตรการ สาธารณสุขก็มีตรวจติดตาม แต่แน่นอนต้องมีการเล็ดลอด ซึ่งตรงนี้จะทำอย่างไร ดังนั้นสังคมต้องช่วยกัน ถ้ายังทำอย่างนี้กันอยู่มาตรการจะต้องนำไปสู่ล็อกดาวน์แน่นอนต่อไปในอนาคตถ้ามีปัญหา แต่เรายังเดินไม่ถึงจุดนั้น”

“เมื่อช่วงเช้าตนได้ฟังรายงานสรุปจากสาธารณสุข ชี้แจงว่ายังสามารถควบคุมได้อยู่ มีการเตรียมมาตรการไว้ในเรื่องการดูแลรักษา ใครที่สงสัยหรือเข้าไปในพื้นที่ต้องไปพบแพทย์หรือสาธารณสุขจังหวัดเพื่อตรวจหาเชื้อ จะได้ปลอดภัยและไม่เป็นพาหะนำเชื้อไปติดคนอื่น วันนี้ในพื้นที่ก็ได้ล็อกดาวน์ไปแล้ว

นายกฯ กล่าวต่อว่า “ตนขอดูสถานการณ์ในวันนี้ (21ธ.ค.) และจะดูอีก 7 วันข้างหน้าว่าจะมีอะไรขึ้น จากนั้นจะตามมาสู่ช่วงปีใหม่ว่าจะทำอย่างไรกันดี วันนี้ยังไม่ได้พูดไปตรงนั้น ก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกแล้วกัน หวังอย่างยิ่งว่าภายใน 7 วันทุกอย่างจะคลี่คลายลง วันนี้ตรวจสอบยังไงมันต้องพบมากขึ้น เพราะตรวจสอบในพื้นที่คนงานต่างๆ เหล่านี้ นี่คือปัญหาของเรา มีการเล็ดลอด

"คนเหล่านี้ลักลอบหนีกลับไป แล้วกลับเข้ามาใหม่ คนไทยต้องช่วยกันดูแล เจ้าหน้าที่ก็มีจำนวนเท่าที่มี เพิ่มเติมไปก็ได้เท่านี้ คนที่จะรู้จริงๆ คือคนในพื้นที่ เจ้าของโรงงาน วันนี้ผมได้กำหนดมาตรการไปแล้ว จะต้องมีมาตรการติดตามตัวแรงงานทุกคน ถ้าเจอแรงงานผิดกฎหมายจะต้องปิดโรงงานคนทำผิดกฎหมายก็ขยันทำกันจริง” ลุงตู่กล่าว

ลุงตู่ยังกล่าวอีกว่า “ได้ให้ตรวจสอบและมีการรายงานจากหน่วยที่เกี่ยวข้อง จับกุมได้แต่มันก็มีเล็ดลอด กลางคืนมีการลาดตะเวน แต่ระยะทางชายแดน 2,500 กว่ากิโลเมตรเจ้าหน้าที่ทำเต็มที่แล้ว ช่องทางที่เคยออกมาก็ไปเปิดช่องทางใหม่ เพราะมันไม่มีรั้ว เป็นพื้นที่ป่าเขา คนที่จะรู้คือชุมชน ท้องถิ่น ต้องมาบอกเจ้าหน้าที่บ้าง ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่แล้วให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างเดียว ถ้าไปบอกเจ้าหน้าที่ว่ามีตรงไหนลักลอบ เขาก็จะไปทันที ทำไมไม่ช่วยกันแบบนี้ มาโยนกันไปกันมา ตนไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ ต้องรับผิดชอบด้วยกันสิ มันจะได้ทำสำเร็จทุกเรื่อง”

นอกจากนี้นายกฯ ยังได้สั่งการกระทรวงสาธารณสุขแจ้งไปในทุกจังหวัด ให้ทำการสุ่มตรวจในทุกพื้นที่ที่มีแรงงานต่างชาติ

ทั้งนี้เมื่อถามถึง ปีใหม่ที่จะถึงนี้ยังไม่ยกเลิกกิจกรรมเคาท์ดาวน์ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ยัง ขอดูก่อน จะวันไหนก็วันนั้น

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวได้ถามว่า เสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมานอนไม่หลับเลยใช่หรือไม่ เพราะจากตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นลุงตู่จึงได้กล่าวว่า “มันจะหลับไหมล่ะ ดูตาตนสิ คิดไปด้วย โทรศัพท์อ่านไลน์ อ่านจนตาจะแตกอยู่แล้ว ก็สั่งการมาตลอดทุกวัน ไม่ใช่เพิ่งสั่งวันนี้ สั่งตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ก็ยังไม่หยุด เพราะให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้ว”

‘จับกัง1’ - สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกประกาศ ขอความร่วมมือห้ามแรงงานต่างชาติเข้า-ออก พื้นที่เสี่ยงโควิดพร้อมมอบหมายผู้ว่าฯ สั่งการสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ

Check List สถานประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตราการ เพื่อให้แรงงานต่างชาติทำงานโดยปลอดเชื้อ

สุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เรียกผู้บริหารระดับสูงสังกัดกระทรวงแรงงาน ประชุมเร่งด่วนกรณีการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ทั้งได้ออกประกาศกระทรวงแรงงาน เพื่อขอความร่วมมือนายจ้าง/สถานประกอบการทุกแห่งดำเนินการได้แก่

- ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในทุกกรณี ทั้งเข้าไปหรือออกจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) หากฝ่าฝืนจะมีความผิดและได้รับโทษตามมาตรา 51 แห่งพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และมาตรา 18 แห่งพรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558

- จัดให้มีมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบคัดกรองโรค ได้แก่ วัดอุณหภูมิและสังเกตลักษณะอาการบ่งชี้ หากพบอาการผิดปกติต้องหยุดงานและแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อดำเนินการตามาตรการควบคุมโรคทันที จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์เพื่อใช้ในการล้างมือ หรือจัดสถานที่สำหรับล้างมือภายในสถานที่ทำงาน ณ บริเวณทางเข้า - ออก และห้องสุขา ควบคุมให้แรงงานต่างด้าวสวมหน้ากากอนามัยและถุงมือขณะปฏิบัติงานรวมทั้งเว้นระยะห่างในการปฏิบัติงาน 1 – 2 เมตร ตลอดจนทำความสะอาดสิ่งของและอุปกรณ์ที่ใช้งานเป็นประจำ และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่แรงงานต่างด้าวให้ทราบวิธีการป้องกันโรคโควิด-19 เบื้องต้นด้วยตนเอง รวมทั้งการระงับการให้บริการศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 3 มกราคม 2564

นอกจากนี้ยังได้สั่งให้มีการดำเนินการตามมาตราการ 7 ข้อ ในส่วนของสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1- 10 ดังนี้

1.) สำรวจตรวจสอบ (Check List) แรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการให้สามารถทำงานได้โดยไม่ให้มีการติดเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการที่กรมควบคุมโรคกำหนด

2.) ตรวจสอบคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกายของประชาชนที่มารับบริการ หากพบมีอุณหภูมิร่างกายผิดปกติหรือพบลักษณะอาการผิดปกติอื่นๆ ให้ผู้รับบริการนั้น ๆ รีบติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

3.) จัดหาแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ หรือจัดสถานที่สำหรับล้างมือภายในสถานที่ทำงาน อาทิ บริเวณประตูเข้า-ออก โต๊ะทำงาน หรือห้องสุขา

4.) เพิ่มความตระหนักให้กับบุคลากร เจ้าหน้าที่ และพนักงานทำความสะอาด โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันตนเอง การสวมหน้ากากอนามัยและถุงมือขณะปฏิบัติงาน การทำความสะอาดสิ่งของที่ใช้งานบ่อย อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำงาน รวมถึงดูแลให้ผู้ใช้บริการทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการ

5.) ประชาสัมพันธ์วิธีป้องกันโรคโควิด-19 เบื้องต้นด้วยตนเองให้ประชาชนตลอดจนแรงงานต่างด้าวได้รับทราบ โดยกรมการจัดหางานได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์แนวทางดังกล่าว เป็น 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาลาว ภาษาเมียนมา ภาษากัมพูชา

6.) หากเจ้าหน้าที่พบว่าตนเองมีอาการป่วย ให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน

7.) ติดตามและตรวจสอบสถานการณ์ปัจจุบันที่เว็บไซต์กรมควบคุมโรค

ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการขยายการลงทุนในตะวันออกกลางอีกครั้ง โดยชนะการประมูลร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจในแปลงสำรวจออฟชอร์ 3

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. โดยบริษัท พีทีทีอีพี มีนา จำกัด (PTTEP MENA Limited) ซึ่งร่วมทุนกับบริษัท อีเอ็นไอ อาบูดาบี (Eni Abu Dhabi)

บริษัทในเครือของอีเอ็นไอ (Eni) ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของประเทศอิตาลี ได้ชนะประมูลในแปลงออฟชอร์ 3 (Block Offshore 3) จากบริษัท อาบูดาบี เนชั่นแนล ออยล์ หรือ แอดนอค (Abu Dhabi National Oil Company หรือ ADNOC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยมีอายุสัมปทานตั้งแต่ระยะการสำรวจ พัฒนา และผลิต รวม 35 ปี

สำหรับแปลงออฟชอร์ 3 ตั้งอยู่นอกชายฝั่งยูเออี และอยู่ติดกับแปลงออฟชอร์ 1 และออฟชอร์ 2 ซึ่ง ปตท.สผ. และอีเอ็นไอ ได้ชนะการประมูลร่วมกันเมื่อปี 2562 โดยเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพปิโตรเลียมสูงอันดับต้น ๆ ของโลก รวมทั้ง เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การลงทุนที่สำคัญของบริษัทด้วย อีกทั้ง 3 แปลงยังตั้งอยู่ในบริเวณที่โครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมสำหรับการพัฒนาธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึง ยังมีตลาดที่พร้อมรองรับการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การชนะการประมูลร่วมกันอีกครั้งในแปลงออฟชอร์ 3 จะเป็นการกระชับความร่วมมือกันระหว่าง ปตท.สผ. อีเอ็นไอ และแอดนอค ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลกให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งกลุ่มพันธมิตรจะร่วมกันนำความรู้ ประสบการณ์ ความสามารถ เข้ามาพัฒนาแปลงสำรวจทั้ง 3 ให้ประสบความสำเร็จ

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจปิโตรเลียมในยูเออี ในขณะเดียวกัน ยังเป็นการสร้างการเติบโตและขยายฐานการลงทุนของบริษัทในภูมิภาคตะวันออกกลางตามกลยุทธ์ Execute & Expand ที่จะสามารถเพิ่มปริมาณสำรองและกำลังการผลิตปิโตรเลียมให้กับบริษัทได้ในอนาคต” นายพงศธร กล่าว

ด้าน ดร.สุลต่าน อาห์เหม็ด อัล จาเบอร์ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของยูเออี และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอดนอค กรุ๊ป กล่าวว่า การให้สัมปทานกับอีเอ็นไอและ ปตท.สผ. ในครั้งนี้ ได้ตอกย้ำการเป็นพันธมิตรที่ดีที่พร้อมเติบโตไปด้วยกัน

รวมถึง สะท้อนถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นมากขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดที่สำคัญของยูเออี ซึ่งยูเออียินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเปิดโอกาสให้พันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม และสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

นายเคลาดิโอ เดสคัลซี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อีเอ็นไอ กล่าวว่า การชนะการประมูลครั้งนี้เป็นความสำเร็จร่วมกันอีกครั้งของกลุ่มผู้ร่วมทุนที่ชนะการประมูลในแปลงสำรวจออฟชอร์ 1 และออฟชอร์ 2 เมื่อปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มผู้ร่วมทุนจะนำความเชี่ยวชาญมาใช้ในการสำรวจเพื่อเพิ่มทรัพยากรปิโตรเลียม รวมทั้ง ผสานประโยชน์ในการสำรวจปิโตรเลียมร่วมกันในแปลงสำรวจทั้งหมดที่ได้รับมา

ทั้งนี้ แปลงออฟชอร์ 3 มีขนาดพื้นที่ 11,660 ตารางกิโลเมตร เป็นแปลงสำรวจนอกชายฝั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจากที่มีการเปิดประมูลทั้งหมดในยูเออี ซึ่งได้มีการวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ (3D seismic survey) ในพื้นที่บางส่วนแล้ว พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพเป็นก๊าซธรรมชาติ โดยพีทีทีอีพี มีนา และอีเอ็นไอ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ ถือสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 30 และ 70 ตามลำดับ

สำหรับสัมปทานแปลงสำรวจออฟชอร์ 1 และออฟชอร์ 2 ปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการศึกษาทางธรณีวิทยา ประเมินศักยภาพปิโตรเลียม และเตรียมการเจาะหลุมสำรวจในปี 2564

ทยอยกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง กรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ล่าสุด 'ทองแดง เบ็ญจะปัก' ส.ส.สมุทรสาคร พรรคก้าวไกล แนะใช้ ‘สิงคโปร์ โมเดล’ แก้ปัญหา พร้อมจี้รัฐหามาตรการเยียวยาผลกระทบล็อคดาวน์

นายทองแดง เบ็ญจะปัก ส.ส.จังหวัดสมุทรสาคร เขต 1 พรรคก้าวไกล สะท้อนปัญหาการจัดการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมเสนอแนวการแก้ไขและการเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์จังหวัดสมุทรสาคร

นายทองแดง กล่าวว่า ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อในจังหวัดสมุทรสาครแล้วหลายร้อยคนและมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอัตราเร่ง จึงสร้างความกังวลให้กับประชาชนอย่างสูงเพราะเพิ่งฟื้นตัวจากผลกระทบที่ผ่านมาระลอกแรก หากเศรษฐกิจฟุบอีกการสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาคงไม่สามารถมทำได้ง่าย เว้นแต่ครั้งนี้จะมีแนวทางบริหารจัดการที่ดีขึ้นกว่าเดิมและเป็นการจัดการปัญหาอย่างเข้าใจ

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่พบว่าเป็นแรงงานต่างชาติที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในหอพักค่อนข้างคับแคบและแออัด การแพร่ระบาดจึงสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายและขยายได้เป็นวงกว้างโจทย์ การยับยั้งการระบาดในกลุ่มแรงงานต่างชาติ จึงต้องเป็นการบริหารจัดการคนหมู่มากในพื้นที่ปิด โดยเราสามารถถอดบทเรียนจากประเทศสิงคโปร์ที่เคยประสบปัญหาเดียวกันและประสบความสำเร็จในการควบคุมได้ค่อนข้างดี

"ในระยะเร่งด่วน รัฐต้องสร้างแรงจูงใจในการให้แรงงานต่างชาติไม่ว่าจะเข้ามาโดยถูกหรือผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบการตรวจและรักษาเพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโรค นอกจากนี้ต้องมีการมาตรการในการตรวจโรคที่ดี เพราะขณะนี้ระหว่างรอตรวจพบว่ายังมีการกระจุกตัวจนอาจกลายเป็นจุดแพร่กระจายเชื้อต่อไปอีก มาตรการทางสาธารสุขในการรอตรวจจึงต้องเคร่งครัด มีระยะห่าง

และไม่ควรปล่อยให้พี่น้องแรงงานต่างชาติหรือประชาชนในพื้นที่ ออกไปตรวจรักษากันเองแบบเฮโลกันไปเพราะความตระหนก แต่รัฐควรมีระบบที่ทำให้เกิดการจำกัดวงเพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้ ไม่ใช่กลายเป็นว่าไปรับเชื้อหรือไปแพร่เชื้อ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค"

สิ่งที่รัฐจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน คือสร้างการรับรู้ของประชาชนทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ไม่สร้างแพะรับบาป เพราะไม่มีใครอยากที่จะป่วยเป็นโรค ต้องไม่สร้างความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติ รวมทั้งต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าจะมีระบบการดูแลประชาชน

หากมีการล็อคดาวน์เข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ให้ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่สมุทรสาครแห่กักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคหน้ากาก เจลล้างมือจนกลายเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์เข้าไปอีกเหมือนที่เคยเกิดมาแล้ว

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องเน้นย้ำเวลานี้คือ ต้องทำความเข้าใจตรงกันด้วยสติว่าเราจะร่วมกันฟันฝ่าสถานการณ์ความยากลำบากครั้งนี้ไปด้วยกันอีกครั้ง โดยทางจังหวัดต้องเตรียมสายด่วน Hotline หรือบริการแชทตอบคำถาม เพื่อสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ช่องทางเหล่านี้ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างชาติ

ควรมีระบบการวินิจฉัยโรคทางไกลผ่านแอพพลิเคชั่น เพื่อประเมินคัดกรองตัวเองเบื้องต้น ลดการเสี่ยงเข้ามากระจุกตัวกันภายนอกที่พักอาศัย นอกจากนี้ ต้องรู้ข้อปฏิบัติเมื่อติดเชื้อ เช่นวิธีการสำรวจอาการตนเองหรือวิธีการกักตนเองที่บ้านเมื่อติดเชื้อแต่ไม่มีอาการรุนแรง

รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการรักษาพยาบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลจะต้องไม่ปล่อยให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องโดดเดี่ยวหรือต้องออกไปขอรับบริจาคเองจากประชาชนดังที่เริ่มมีข่าวลือกันแล้วในพื้นที่

พร้อมเสนอว่า การจัดการแรงงานต่างชาติ ต้องเริ่มจากการยอมรับว่าพวกเขาคือกลไกสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ต้องมีการบริหารจัดการให้เข้ามาอยู่ในระบบมีคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ไม่แตกต่างจากแรงงานในประเทศ

โดยยึดถือหลักสิทธิมนุษยชน ต้องมีการพูดคุยและหารือกันอย่างจริงจังจากหลายภาคส่วนทั้งมาตรการระยะสั้น กลางและยาว เพื่อสามารถจัดการปัญหานี้ให้ได้อย่างยั่งยืนต่อไปแม้ว่าจะไม่มีสถานการณ์โควิดแล้วก็ตาม

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน ( 21 ธันวาคม พ.ศ.2563 )

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 382 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 5,289 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมยอดผู้เสียชีวิต 60 ราย รักษาหายเพิ่ม 12 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 4,053 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,176 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 382 รายเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้า State Quarantine จาก

สหราชอาณาจักร 1 ราย สหรัฐอเมริกา 3 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย ยูเครน 1 ราย คูเวต 1 ราย ซูดาน 1 ราย

ติดเชื้อภายในประเทศจาก อยุทธยา 1ราย นครปฐม 2 ราย สมุทรปราการ 3 ราย สมุทรสาคร 5 ราย กทม. 2 ราย ตาก 1 ราย ผู้ติดเชื้อในประเทศ อยู่ระหว่างการสอบสวนจำนวน 19 ราย และ ผู้ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว จำนวน 516 ราย และติดเชื้อในแรงงานต่างชาติ 360 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 152 ราย รักษาหายแล้ว 149 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 363 ราย รักษาหายแล้ว 345 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 6.65 แสน ราย รักษาหายแล้ว 5.42 แสน เสียชีวิต 19,880 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 36 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 93,309 ราย รักษาหายแล้ว 77,309 ราย เสียชีวิต 437 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.16 แสน ราย รักษาหายแล้ว 95,387 ราย เสียชีวิต 2,443 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.6 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.29 แสน ราย เสียชีวิต 8,947ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,422 ราย รักษาหายแล้ว 58,279 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1,413 ราย รักษาหายแล้ว1,269 ราย เสียชีวิต 35 ราย

วันนี้ 20 ธันวาคม พิธีเปิดอย่างเป็นทางการ มอเตอร์เวย์สายแรกของสปป.ลาว

คอลัมน์ “เบิ่งข้ามโขง”

วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2563 พิธีเปิดอย่างเป็นทางการ มอเตอร์เวย์สายแรกของสปป.ลาว

" นครหลวงเวียงจันทน์ - วังเวียง "

โดย นายบุนยัง วอละจิต ประธานประเทศ เข้าร่วมพิธี เป็นประธานในการเปิดมอเตอร์เวย์สายแรก อย่างเป็นทางการ

มูลค่าการก่อสร้าง 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงทุนในแบบ BOT

โดยบริษัทก่อสร้าง - ลงทุนมณฑลยูนนาน ถือหุ้น 95% รัฐบาลลาว 5% ในนามบริษัทร่วมทุนพัฒนาลาว - จีน อายุสัมปทาน 50 ปี


หนุ่มโคราชคลุกคลี กับเมืองลาวทั้งด้านธุรกิจเอกชนและภาครัฐมานานหลายปี ยินดีแนะนําภาคเอกชนไทย บุกตลาดอินโดจีน สรรหาเรื่องเล่า วีถีชีวิต วัฒนธรรม เศรษฐกิจ

เจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกัน และควบคุมโควิด-19 ของมณฑลเจียงซู ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบตลาดปลาและร้านอาหาร โดยผลปรากฎพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ ‘ปลาดาบเงินแช่แข็ง’ จากร้านอาหารท้องถิ่นใน ‘อู๋ซี’

หลังนำไปตรวจสอบ ก็พบว่ามีการปนเปื้อนโควิด-19 จริง และมีผลเป็นบวก ซึ่งจากรายงานได้ระบุว่า ‘ปลาดาบเงินแช่แข็ง’ ดังกล่าวอยู่ในกลุ่มปลาแช่แข็งที่นำเข้าจาก ‘ประเทศเมียนมา’ และหลังจากทราบผลดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่จึงดำเนินการสั่งเก็บผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยด่วน รวมถึงปูพรมฆ่าเชื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งทั้งหมด

จากการสอบสวนพบว่า มีผู้ที่สัมผัสกับบรรจุภัณฑ์ที่ปนเปื้อนทั้งหมด 17 ราย โดยผลการทดสอบโควิด-19 ยังเป็นลบ ซึ่งทั้งหมดกำลังอยู่ระหว่างการแยกกักตัว และเฝ้าสังเกตอาการ

แน่นอนว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนพบเชื้อโควิด-19 ที่ติดมากับอาหารแช่แข็ง ทางการจีนจึงได้มีมาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด โดยทางการจีนได้ยกระดับความพยายามที่จะสะกัดกั้นเชื้อไวรัสดังกล่าว ผ่านอาหารนำเข้า ซึ่งให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับไม้ต่อ เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านการตรวจสอบในทุกช่องทางที่จะเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม การพบเชื้อไวรัสในอาหารแช่แข็งที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เป็นการติดเชื้อในตัวอาหาร หรือเนื้อสัตว์เอง แต่เป็นการติดเชื้อระหว่างการลำเลียง ขนส่ง การถือ สัมผัสอาหารเหล่านั้น จากพนักงาน หรือคนที่ติดเชื้อไวรัส


ที่มา: xinhuanet

เปิดหน้าชกหนัก หลังรัฐหละหลวมจนโควิด-19 คัมแบ็ค โดย ‘พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์’ ออกมาซัดรัฐบาล ผ่านเฟซบุ๊ก หลังเคยเขียนบทความเตือนรัฐไปแล้วกว่า 8 เดือน เรื่องแรงงานต่างชาติ แต่รัฐยังละเลยจนโควิด-19 กลับมาลุกลาม

หลังจากโควิด-19 กลับมาอีกรอบ ทำให้ ‘พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์’ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ออกมาแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับเรื่องที่ตนนั้นพยายามพูดมาตลอด 8 เดือน ในเรื่องของแรงงานต่างชาติ โดยนายพิจารณ์ ได้ระบุว่า

“ก่อนหน้านี้เคยโพสต์และสื่อสารผ่านสื่อมวลชนถึงความเสี่ยงของกลุ่มชุมชนแรงงานต่างชาติในพื้นที่สมุทรสาคร โดยเปรียบเทียบกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ที่รัฐควรเข้าไปมีบทบาท ‘เชิงรุก’ ในการตรวจและค้นหาผู้ติดโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยมีข้อเสนอ 6 ข้อ อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อที่ล่าสุดอยู่ที่เกือบ 700 ราย สะท้อนถึงความละหลวม ปล่อยปะละเลยของรัฐมาโดยตลอด

“โควิดกระจอก คำกล่าวของผู้ใหญ่ในรัฐบาลท่านหนึ่ง ที่ได้ตอกย้ำและแสดงให้เห็นถึงความละเลยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ความลุแก่อำนาจของผู้นำรัฐบาลกับการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินต่อเนื่องอย่างยาวนาน ซึ่งดูจะสวนทางกับการป้องกันการลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดน และในท้ายที่สุด อาจจะไม่สามารถหยุดยั้งความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดรอบใหม่นี้ได้

“ความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ผ่านมา เป็นชัยชนะด้วยประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ แต่ที่สำคัญอย่างยิ่ง ชัยชนะที่ผ่านมาเป็น ความเสียสละของพี่น้องประชาชน ที่ต้องแลกมาด้วยการถูกให้ออกจากงาน การถูกลดเวลาการทำงาน และการหยุดกิจการของผู้ประกอบการหลายราย หาใช่ความสำเร็จในการจัดการสถานการณ์ของรัฐบาล

ในการป้องกันและแก้ปัญหาระยะยาว รอบนี้คงต้องถามดัง ๆ ถึงหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อหา ‘ผู้รับผิดชอบ’ ต่อความล้มเหลวในการดูแลและป้องกันการลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดน ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

นอกจากนี้ พิจารณ์ ยังได้เขียนบทความเพื่อเตือนรัฐบาล ด้วยการยกกรณีของสิงค์โปร์เป็นตัวอย่าง ซึ่งบทความนี้ได้ระบุถึงสถานการณ์โควิด-19 ของสิงค์โปร์ ที่กำลังควบคุมได้แต่ กลับต้องมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงงานต่างชาติที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างแออัด หากมีผู้ติดเชื้อเพียงคนเดียวในกลุ่มก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคมีมากขึ้น ทำให้เห็นว่าแรงงานต่างชาติเป็นกลุ่มที่รัฐไม่ควรมองข้าม ขณะเดียวกันเมื่อหันกลับมามองแรงงานต่างชาติในไทยก็พบว่า การรับมือของบ้านเรานั้นไม่ได้ต่างจากสิงค์โปร์

พิจารณ์ยังได้ระบุว่า “จากการไปเยี่ยมประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานต่างชาติมากถึง 2 แสนกว่าราย หรือเกือบเท่าจำนวนแรงงานต่างชาติในประเทศสิงคโปร์ ภายในชุมชน 43 แห่งในจังหวัด ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ที่มีความแออัดและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในลักษณะเดียวกับประเทศสิงคโปร์ นอกจากนั้นยังพบว่า แรงงานต่างด้าวบางส่วนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ดังนั้นรัฐบาลจึงควรมีแนวทางและมาตราการที่ชัดเจนในการดูแลคนกลุ่มนี้ ภายใต้หลักคิดสำคัญในการกำหนดมาตรการคคือ (1) การช่วยเหลือดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนที่บุคคลหนึ่งควรได้รับ (2) ในฐานะฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และ (3) บทพื้นฐานการควบคุมและป้องกันจุดเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค”

จากการระบาดที่เกิดขึ้นนายพิจารณ์ จึงมีข้อเสนอเชิงมาตรการต่อเรื่องดังกล่าวอีก 6 ข้อ ได้แก่

1.) การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันตนเองแก่แรงงานต่างชาติในภาษาที่หลากหลาย

2.) การสร้างเครือข่ายนายจ้างในการติดตามดูแลสุขภาพของลูกจ้างต่างชาติ

3.) การสนับสนุนเรื่องอาหารและความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่แรงงานต่างชาติที่ตกงานและไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้

4.) การสนับสนุนด้านสถานที่สำหรับแรงงานที่มีความจำเป็นในการกักตัวเอง

5.) การดำเนินมาตรการเชิงรุกในการสุ่มตรวจหาเชื้อภายในชุมชนที่มีแรงงานต่างชาติอาศัยจำนวนมาก

6.) การกำหนดมาตรการฉุกเฉินสำหรับการตรวจโรคและดูแลรักษาแรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการของประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเข้าระบบการรักษาและลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโรค

ข้อเสนอข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่รัฐบาลควรให้ความสนใจคนทุกกลุ่ม ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามมากขึ้นในอนาคต

พรรคประชาธิปัตย์ ขอบพระคุณ ทุกคะแนนเสียงของประชาชน ขอแสดงความยินดีและพร้อมทำงานร่วมกันกับผู้ชนะการเลือกตั้งในทุกจังหวัดเต็มที่

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงการเลือกตั้ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดว่า ขอขอบพระคุณทุกคะแนนเสียงที่ไว้วางใจผู้สมัครที่ลงในนามพรรค

ต่อจากนี้ไปผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งก็จะได้นำนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ไปขับเคลื่อนเพื่อทำประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยจะมีการทำงานร่วมกับพรรคและบุคลากรของพรรคอย่างเต็มที่ต่อไป และขอแสดงความยินดีต่อผู้ชนะการเลือกตั้งในทุกจังหวัด

พรรคประชาธิปัตย์ มีอุดมการณ์เรื่องการกระจายอำนาจอย่างชัดเจนตั้งแต่เมื่อครั้งก่อตั้งพรรค คือพรรคจะกระจายอำนาจการดำเนินการในท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากความใกล้ชิดขององค์กรในท้องถิ่นมีมากกว่าส่วนกลาง

หลักการสำคัญนี้คือจุดตั้งต้นที่สำคัญที่พรรคผลักดันและสนับสนุนการกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนได้เลือกคนที่เป็นคนในพื้นที่ที่มีความรู้ความเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ได้ดี เพื่อเข้าไปทำหน้าที่แก้ปัญหาให้กับประชาชนท้องถิ่นนั้น ๆ ในทุกเรื่อง

การเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้ อาจมีคำถามว่าเหตุใดพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ส่งผู้สมัครให้ครบทุกจังหวัด ก็ต้องตอบอย่างตรงไปตรงมาว่าการสนับสนุนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไม่ใช่การส่งผู้สมัครลงในนามพรรคแต่เพียงอย่างเดียว

แต่หมายความรวมถึงการสนับสนุนในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สมาชิกพรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่ได้ลงในนามพรรคก็มีอยู่หลายจังหวัด และเป็นการใช้สิทธิ์ลงสมัครในนามส่วนตัว รวมถึงมีสมาชิกหลายคนที่ไม่ได้ลงสมัครแต่อาสาทำงานส่งเสริมสนับสนุนการทำงานท้องถิ่นก็มี

ส่วนผู้สมัครที่พรรคส่งนั้น หากมีส่วนใดที่สนับสนุนและทำงานร่วมกันกับท้องถิ่นทุกจังหวัดก็ทำเต็มที่ เช่นขณะนี้พื้นที่ใดที่ประชาชนเกิดปัญหา พรรคฯ ก็ไม่ติดใจว่าเป็นคนของใคร แต่พรรคก็พร้อมจะทำงานร่วมกับท้องถิ่นนั้นโดยมุ่งถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ส่วนเรื่องกฎหมายมีส่วนไหนที่เป็นอุปสรรคต่อการปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีการเสนอการแก้ไขกฎหมายอยู่หลายเรื่อง

นายราเมศ กล่าวตอนท้ายว่า "การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดครั้งนี้หลังจากห่างหายมาหลายปีก็อยากจะให้ผู้ชนะการเลือกตั้งใช้โอกาสทำงานให้เต็มที่ โดยยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และทำงานให้ประชาชนในพื้นที่ โดยยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง ก็จะเป็นผลดีต่อทุกคนทุกฝ่ายรวมถึงประเทศชาติด้วย"

อธิบดีกรมการค้าภายใน มั่นใจอาหารทะเลไม่ขาดแคลนและไม่กระทบด้านราคามากนัก เล็งดึงแหล่งผลิตอาหารทะเล ทางภาคตะวันออก และภาคใต้ทดแทน

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า หลังจากเกิดกรณีพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่จังหวัดสมุทรสาครหลายราย ซึ่งตลาดปลามหาชัยถือเป็นตลาดอาหารทะเลขนาดใหญ่ จึงมีผลกระทบต่อการซื้อขายอาหารทะเลในบางพื้นที่แน่นอนเมื่อเกิดการล็อกดาวน์ขึ้น

ล่าสุดกรมการค้าภายใน ได้มีการเชื่อมโยงแหล่งผลิตอาหารทะเลอื่น ๆ ในทางภาคตะวันออก และภาคใต้ ไปยังผู้ที่ต้องการทั้งผู้ค้าและผู้บริโภค เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหารขาดแคลน

นายวัฒนศักย์ กล่าวว่า "ในด้านผลกระทบด้านราคาอาหารทะเลนั้น เบื้องต้นกรมฯ ประเมินว่า ราคาไม่น่าทำให้สูงขึ้นนัก เพราะเมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้น ทำให้คนเกิดความกังวลบางส่วนอาจลดการบริโภคอาหารทะเลในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามในส่วนของการดูแลกลุ่มชาวประมงนั้น กรมฯ จะร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ พยายามดูแลไม่ให้ได้รับผลกระทบ โดยเชื่อมโยงหาตลาดให้จำหน่ายได้อย่างเป็นธรรม"

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยยังไม่ห้ามจัดเคาท์ดาวน์ทั้งประเทศ วอนเข้มมาตรการด้านสาธารณสุข ทั้งงานแต่ง งานบวช ยืนยันเวชภัณฑ์ไม่ขาดแคลน องค์การเภสัชกรรมผลิตเองได้ แต่ขู่อย่าคิดโก่งราคา

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกฯ เพื่อรายงานสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาครและอีกหลายจังหวัดว่า ตนและคณะได้รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรสาครให้นายกฯทราบ โดยเฉพาะมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อที่ตลาดกลางกุ้ง ซึ่งเป็นที่พักของบรรดาแรงงานต่างด้าว จนเกือบครบแล้ว

โดยอัตราการติดเชื้ออยู่ร้อยละ 42 แต่ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ และยังต้องกักกันโรค โดยห้ามเข้า ห้ามออก และดูแลเรื่องอาหาร ชีวิตประจำวัน ให้เขามีความปลอดภัย รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ดังกล่าวเบื้องต้นประมาณ 100 เตียง

ซึ่งถ้าบุคคลในพื้นที่นั้นมีอาการป่วยขึ้นมาแล้วไม่ได้เข้าขั้นรุนแรงก็จะรักษาในนั้น ไม่ให้ออกมาข้างนอก เว้นแต่คนที่มีอาการรุนแรงมาก ก็จะมีวิธีการขนถ่ายไปโรงพยาบาลที่มีความพร้อมสมบูรณ์ในการรักษาโดยยึดหลักความปลอดภัย

นายอนุทิน กล่าวว่า "นายกรัฐมนตรี เน้นให้มีความพร้อมในการสนับสนุนทุกด้านเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของประชาชน หากมีสิ่งใดขาดเหลือให้มารายงานนายกฯโดยตรง และเน้นย้ำความปลอดภัยของประชาชนให้มีเวชภัณฑ์ให้เพียงพอและตรวจค้นหาให้มากที่สุด ส่วนมาตรฐานต่าง ๆ หากจะมีออกมานั้นขอประเมินตามสถานการณ์"

เมื่อถามถึงข้อกฎหมายที่เสนอต่อนายกฯ เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้เข้มงวดมากขึ้นมีข้อสรุปอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า "ขณะนี้เราอยู่ภายใต้พรก.ฉุกเฉิน และ ปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตลอด หากเป็นข้อบังคับที่ใช้กันทั่วประเทศ ทางผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สามารถออกมาตรการในพื้นที่นั้น ๆ ได้ทันที

อย่างไรก็ตาม การที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุถึงพรบ.โรคติดต่อที่จะเข้าที่ประชุมครม.ในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2563 นั่นคือเรื่องการแก้ไขพรบ.โรคติดต่อ ซึ่งเป็นฉบับแก้ไข เนื่องจากเห็นว่าหากสถานการณ์ดีขึ้นก็อาจจะต้องเลิกพรบ.ฉุกเฉิน แล้วมาใช้พรบ.ดังกล่าวให้เข้มข้นขึ้นแทน แต่จนถึงขณะนี้ คงต้องพรก.ฉุกเฉินไว้ก่อน"

ส่วนตลาดใหญ่ๆหลายแห่ง เช่น ตลาดไทย ตลาดบางใหญ่ จะเข้าตรวจเชิงรุกหรือไม่เนื่องจากมีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมากนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า "กระทรวงสาธารณสุขทำได้ แต่โดยพื้นฐานก่อนที่จะเข้าไป เขาก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด คือต้องสวมหน้ากากอนามัย ตลอดเวลา ล้างมือและวัดไข้ก่อนเข้า ถือเป็นการคัดกรองได้ระดับหนึ่ง ซึ่งการติดเชื้อได้เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด และส่วนใหญ่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย หรือ สวมไว้ใต้คาง"

นายอนุทิน กล่าวว่า "สำหรับความพร้อมของเวชภัณฑ์ในการรักษาพยาบาล ยืนยันว่าวันนี้เพียงพอ เพราะได้สะสมมาตลอด9 - 10 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ได้เตรียมไว้ถึง 50 ล้านแผ่น เพราะองค์การเภสัชกรรมผลิตเองได้ ผลิตได้และขายแผ่นละไม่เกิน 2 บาท ถ้าใครกักตุน และมีการขึ้นราคา ทางกระทรวงสาธารณสุข ก็จะปล่อยทั้ง 50 ล้านแผ่นออกมา"

"ดังนั้นประชาชนอย่าไปซื้อของแพง หรือแม้แต่หน้ากาก N95 ก็มีเป็นล้านแผ่น ยารักษาโรคก็มีเพียงพอที่จะรักษาผู้ป่วย ต่อให้มีการปะทุของโรคก็ตาม แต่มั่นใจว่าไม่ไปถึงขนาดนั้น เพราะกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สามารถควบคุมป้องกันการระบาดของโรคได้ในระยะเวลาไม่นานหลังจากนี้"

"ส่วนกรณีที่มีการขอรับบริจาคตามโรงพยาบาลในต่างจังหวัดนั้น ถือเป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ไม่ได้หมายถึงเราขาดแคลน เพราะจิตศรัทธา หรือ ความต้องการที่อยากจะช่วยเพื่อให้ประชาชนทุกคนปลอดภัยนั้น เรายินดีรับอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้เปิดรับบริจาคอย่างเป็นทางการไม่มี"

ส่วนในช่วงเทศการปีใหม่ หลายคนยังกังวลว่าจะจัดกิจกรรมรื่นเริง หรือ จัดเคาท์ดาวน์ ทั้งประเทศได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า "ต้องประเมินตามสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ คิดว่าตอนนี้เอาเรื่องความปลอดภัยเป็นหลักไว้ก่อน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางในเรื่องนี้ด้วยว่า ให้รีบไปดู แต่ถ้าสามารถควบคุมได้และผลตรวจออกมานิ่งแล้ว ก็ต้องมารายงานเป็นรายวันไป ช่วงนี้ทุกอย่างต้องประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน และยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ห้ามจัดกิจกรรม"

เมื่อถามถึงงานบวช งานแต่งในช่วงนี้ยังจัดได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า "ถ้าอยู่นอกเขตที่ประกาศควบคุมก็ยังจัดได้ปกติ แต่ก็ต้องเข้มมาตรการกันหน่อย ย้ำกระทรวงสาธารณสุขพยายามทำงานเต็มที่ไม่ใช่ว่าเราจะหาวิธีห้ามประชาชนทำกิจกรรม เราอยากให้ทุกคนทำกิจกรรมปกติ ให้มีความสุข แต่ขอให้ช่วยกันรักษามาตราการเพื่อให้ไม่มีปัญหา โดยเฉพาะถ้ามีหน้ากากอนามัยอยู่บนใบหน้าก็จะไม่มีปัญหาอะไร"

สรุปผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริการส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) อย่างไม่เป็นทางการ ณ เวลา 08.00 น.

สรุปผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริการส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) อย่างไม่เป็นทางการ ณ เวลา 08.00 น. โดยมีจังหวัดที่น่าสนใจ ดังนี้

1. เชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร จากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 เอาชนะคู่แข่งคนสำคัญ คือ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2

2. เชียงราย นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ผู้สมัครอิสระ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 โดยเอาชนะ น.ส.วิสาระดี เตชะธีรวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2

3. นครราชสีมา นางยลดา หวังศุภกิจโกศล ภรรยารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1

4. สมุทรปราการ นางนันทิดา แก้วบัวสาย ทายาททางการเมืองตระกูลดังบ้านใหญ่ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 

5. ขอนแก่น นายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ สามารถป้องกันตำแหน่งนายก อบจ.เอาไว้ได้ มีคะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 จ่อเป็นว่าที่นายก อบจ.สมัยที่ 6 ติดต่อกัน

6. ปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตนายตำรวจคนดัง ได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 1 ว่าที่นายก อบจ. ผู้ล้มนายก อบจ.คนเดิม นายชาญ พวงเพ็ชร์ นายก อบจ. 4 สมัย โดยได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2

7. ชลบุรี นายวิทยา คุณปลื้ม อดีตนายก อบจ. คนดัง ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 เตรียมทำหน้าที่ต่ออีกสมัย

8. นราธิวาส นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน อดีตนายก อบจ.นราธิวาส 4 สมัย ซึ่งเป็นแชมป์เก่า ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1

9. นครศรีธรรมราช นางกนกพร เดชเดโช ได้คะแนนมาเป็นอับดับ 1 โดยคะแนนนำแบบม้วนเดียวจบ เตรียมทำหน้าที่นายก อบจ.

10. นนทบุรี พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ อดีตนายก อบจ. ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่มายาวนาน ได้คะแนนมาเป็นอับดับ 1

11. สระแก้ว นางขวัญเรือน เทียนทอง ผู้สมัครตระกูลการเมืองคนดังในพื้นที่ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1

12. นครปฐม นายจิรวัฒน์ สะสมทรัพย์อิสระ ผู้สมัครทายาทตระกูลการเมืองดัง มีเครือข่ายการเมืองทุกระดับ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ทิ้งห่างคู่แข่ง

อย่างไรก็ตาม ว่าที่นายก อบจ. ที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ทั้งหมด ต้องรอการรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อไป



ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูง พร้อมอธิบดีทุกกรม และผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้กำชับหน่วยงานในสังกัด ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในกลุ่มแรงงานอย่างเคร่งครัด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ว่า ได้ติดตามสถานการณ์และมีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไปต่อการแพร่ระบาดของโควิด – 19

ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และการกำกับดูแลของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยพี่น้องแรงงานและประชาชนทุกกลุ่ม

ทั้งนี้ ได้มีการสั่งการและดำเนินการตามมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กรมการจัดหางานและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงพื้นที่เข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจกับนายจ้างสถานประกอบการเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ลูกจ้างรู้จักวิธีการป้องกันจากการแพร่ระบาดของโควิด -19

นอกจากนี้ ยังได้มีการประชุมและประสานข้อมูลรายงานกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 (ศบค.) อย่างใกล้ชิด ในส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้างเป็นจำนวนมาก ซึ่งสถานประกอบการแต่ละแห่งก็ได้มีมาตรการป้องกันโควิด – 19 ที่เข้มงวดอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามในวันนี้ ตนเองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง อธิบดีทุกกรม และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อกำชับให้หน่วยงานในสังกัดทุกพื้นที่บูรณาการร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

รวมทั้งประชุมทางไกลผ่านระบบ Video Conference ไปยังหัวหน้าส่วนในสังกัดจังหวัดสมุทรสาครเพื่อติดตามสถานการณ์ โดยได้กำชับให้ทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานทุกพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับนายจ้างสถานประกอบการ เพื่อให้ลูกจ้างรู้จักวิธีการป้องกันจากการแพร่ระบาดของโควิด -19

รวมทั้งให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ทั้งในกลุ่มแรงงานไทย แรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ รวมทั้งการออกประกาศห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในทุกกรณีและจัดให้มีมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบคัดกรองโรค เช่น การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เป็นต้น

นายสุชาติ ยังกล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงาน ยังได้ประสานไปยังสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เครือข่ายภาคเอกชน และ NGOs เพื่อให้ทางการเมียนมาออกสื่อประชาสัมพันธ์เป็นภาษาเมียนมา เพื่อให้ลูกจ้างเมียนมาที่มาทำงานในประเทศไทยรับทราบและปฏิบัติตัวในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 โดยรณรงค์ให้แรงงานต่างด้าวและสถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าว ตระหนักถึงมาตรการป้องกันและควบคุมโรค

โดยประชาสัมพันธ์ในภาษาของแรงงานต่างด้าวตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ร่วมกิจกรรม ล้างมือบ่อย ๆ หรือทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร เป็นต้น รวมทั้งการระงับการให้บริการศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคมนี้ไปจนถึงวันที่ 3 มกราคม 2564

ทั้งนี้ จังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานต่างด้าว จำนวน 275,782 คน (ข้อมูล 15 ธ.ค.63) เมียนมา 243,617 คน ลาว 13,200 คน กัมพูชา 9,648 คน และสัญชาติอื่นๆ 9,317 คน โดยส่วนใหญ่ทำงานในอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวกระทรวงแรงงานนั้น ด้านป้องกัน ได้แก่

1) การชะลอการอนุมัตินำเข้แรงงานต่างด้าว ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

2) การผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าว MOU ที่ใบอนุญาตจะครบตั้งแต่พฤศจิกายน 2563 - ธันวาคม 2564 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อไปอีก 2 ปี

3) ตรวจสอบคัดกรองและเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าว ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก เรือประมง (PIPO)

4) ขอความร่วมมือสถานประกอบการทั่วประเทศ ประขาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ลูกจ้าและผู้ประกันตนในสถานประกอบการ เรื่องไวรัสโควิด-19 และการปฏิบัติตนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

5) แจ้งมาตรการให้นายจ้างในสถานประกอบการการคัดกรองลูกจ้างแรงานต่างด้าวและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

6) ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวโดยร่วมมือกับสภากาชาดไทย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการป้องกันโดยจัดทำเอกสารเผแพร่เป็นภาษาของแรงงานต่างด้าว สร้างความเข้าใจเรื่องมาตรการเยียวยาผลกระทบ มอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ มีกระบวนการคัดกรองและการกักตัว 14 วัน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

7) รวบรวมรายชื่อสถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวหรือสถานที่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและจำนวนแรงงานต่างด้าวทุกจังหวัด ทั่วประเทศ และแจ้งข้อมูลให้ ศบค.ทราบเพื่อใช้ในการวางแผนตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันเชิงรุกร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.)

ส่วนในด้านเยียวยา การให้บริการทางการแพทย์ แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 ภายหลังสถานการณ์ผ่อนคลาย ได้แก่ 1) ส่งเสริมการจ้างานคนไทยให้เข้าสู่ระบบการจ้างงาน 2) จัดทำข้อมูลความจำเป็นในการใช้แรงงานต่างด้าวในประเทศ และ 3) การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ

นายกรัฐมนตรีอังกฤษ สั่งล็อกดาวน์ด่วน หลังนักวิทยาศาสตร์ค้นพบไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ทางตะวันออกเฉียงใต้ในอังกฤษ ซึ่งมีประสิทธิภาพการระบาดได้เร็วกว่าเดิมสูงถึง 70%

CNN รายงานว่า นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดรอบใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังเขาออกมาบอกว่า "เป็นการไร้มนุษยธรรมมากเกินไปหากจะให้มีการยกเลิกการจัดฉลองวันคริสต์มาสที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้"

อย่างไรก็ตามจอห์นสันได้ออกแถลงมาตรการต่างๆ สำหรับการป้องกันการระบาดโรคโควิด-19 ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น หลังการระบาดในประเทศยังเพิ่มขึ้น และส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 67,000 คน และติดเชื้อกว่า 2 ล้านคน

โดย จอห์นสันได้กล่าวว่า กรุงลอนดอน และพื้นที่ส่วนใหญ่ทางใต้ รวมถึงทางตะวันออกของอังกฤษที่มีเคสพุ่งสูงนั้นจะเข้าสู่มาตรการจำกัด 4 ขั้นที่คล้ายกับการล็อกดาวน์โดยเริ่มขึ้นในวันอาทิตย์ (20)

ทว่าสิ่งที่น่าสนใจในการแถลงข่าวนั้น คือ การพบไวรัสโควิด-19 ที่เกิดการกลายพันธุ์ในอังกฤษ โดยจอห์นสัน เผยว่า “การระบาดถูกทำให้หนักมากขึ้นจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่” และเสริมต่อว่า “มัน (ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์) ดูเหมือนติดง่ายกว่าและดูเหมือนสูงถึง 70% ของการระบาดเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม”

สำหรับการเตือนขั้นระดับ 4 ได้ถูกใช้ในสหราชอาณาจักรอังกฤษ เวลส์ สก๊อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งภายใต้มาตรการเตือนขั้นระดับ 4 ประชาชนต้องอยู่แต่ภายในที่พักเว้นแต่เหตุผลที่จำเป็น และต้องไม่พบปะกับผู้อื่นที่ไม่ได้อยู่ในบ้านพักเดียวกัน ส่วนธุรกิจร้านค้านั้นต้องปิดตัว

เหตุการณ์นี้ ทำให้องค์การอนามัยโลก WHO ออกแถลงการณ์ทางทวิตเตอร์ของ WHO โดยประกาศจะทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่อังกฤษในสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ หลัง อังกฤษได้ส่งข้อมูลจากการศึกษาที่กำลังวิจัยอยู่ในเวลานี้เกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของไวรัส และทางองค์การอนามัยโลก โดยจะแจ้งให้ชาติสมาชิกอื่นๆ และสาธารณะทราบข่าวความคืบหน้าในการเรียนรู้ลักษณะไวรัสสายพันธุ์ใหม่และการแบ่งตัวของมันต่อไป

โควิด-19 ระบาดรอบแรก ประชาชนต้องประสบปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย แถมพวงมาด้วยราคาที่แพงหูฉี่ โควิด-19 ระบาดรอบใหม่นี้ ทาง ‘ลุงตู่’ จึงรีบออกมากำชับให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มข้นอย่าให้ซ้ำรอยเดิมเด็ดขาด

อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นในประเทศ ทาง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงได้กำชับกระทรวงพาณิชย์ ให้เข้มงวดเรื่องการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย โดยประชาชนควรหาซื้อได้ง่าย ในราคาที่ไม่แพง

โดยได้ให้กระทรวงพาณิชย์ควบคุมราคา รวมทั้งดูแลเรื่องการกระจายหน้ากากอนามัยให้ทั่วถึง และให้ใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจังเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน และลงโทษคนที่ทำผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้นายกฯ ยังขอให้ประชาชนปฎิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ป่วยสามารถสวมใส่หน้ากากผ้าได้ เพียงแต่ใช้แล้ว 1 วันต้องซัก จึงควรมีหน้ากากผ้าสลับสับเปลี่ยน และสิ่งที่สำคัญสำหรับคนไม่ป่วยคือ การล้างมือบ่อยๆ เพราะเชื้อจะติดได้นั้น หลักๆ คือ การสัมผัส ดังนั้นการล้างมือจะช่วยได้ ไม่ว่าจะล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล และข้อสำคัญสุดท้ายคือการรักษาระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top