อดีตพนักงานที่เป็นผู้เปิดโปงเฟซบุ๊ก ออกโรงเปิดหน้าโจมตียักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียรายนี้เห็นแก่กำไรมากกว่าพยายามขัดขวางการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง การเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ และการบุลลี่เด็กสาว
ฟรานเชส โฮเกน วัย 37 ปี ที่เคยทำงานในตำแหน่งผู้จัดการผลิตภัณฑ์ทีมจัดการการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ของเฟซบุ๊ก ปรากฏตัวในรายการ “60 มินิตส์” ซึ่งทางเครือข่ายโทรทัศน์ซีบีเอสของสหรัฐฯ นำออกเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (3 ก.ย.) โดยเปิดเผยว่า ตนคือผู้เปิดโปงที่ส่งเอกสารข้อมูลจนนำไปสู่การสืบค้นของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล และการจัดสอบสวนของวุฒิสภาเกี่ยวกับอันตรายต่อเด็กสาวบนอินสตาแกรม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งในเครือเฟซบุ๊ก
เฟซบุ๊กถูกโจมตีอย่างหนักหลังจากหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวเผยแพร่เรื่องราวมากมายที่อิงกับการนำเสนอและอีเมลภายในบริษัท ซึ่งฟ้องให้เห็นว่า ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียรู้ดีว่า ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ซึ่งรวมถึงอินสตาแกรม เป็นอันตรายต่อเด็กผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ภาพเรือนร่าง
โฮเกนที่ก่อนหน้านี้ยังเคยทำงานให้กับกูเกิลและพินเทอเรสต์ด้วย กล่าวกลางรายการ 60 มินนิตส์ว่า เฟซบุ๊กเลวร้ายกว่าสิ่งใดๆ ที่เธอเคยเจอมา และสำทับว่า เฟซบุ๊กโกหกสังคมเกี่ยวกับความคืบหน้าในการจัดการกับการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังและการเผยแพร่ข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดบนแพลตฟอร์มต่างๆ ของตน
เธอแจงว่า เฟซบุ๊กเวอร์ชันปัจจุบันทำให้สังคมแตกเป็นเสี่ยง และกระตุ้นการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วโลก
โฮเกนเผยว่า การวิจัยของเฟซบุ๊กพบว่า การปลุกเร้าคนให้โกรธง่ายกว่าการปลุกเร้าให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกอื่นๆ และบริษัทตระหนักว่า ถ้าเปลี่ยนอัลกอริทึมให้ปลอดภัยขึ้น คนจะใช้เฟซบุ๊กและคลิกโฆษณาน้อยลง ส่งผลให้รายได้ของบริษัทลดลง
เธอยังบอกอีกว่า ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020 เฟซบุ๊กตระหนักถึงอันตรายจากเนื้อหาที่กระตุ้นความเกลียดชังจึงเปิดระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อสกัดเนื้อหาเหล่านั้น แต่ทันทีที่การเลือกตั้งจบลง บริษัทก็ปิดระบบรักษาความปลอดภัยและกลับไปให้ความสำคัญกับการเติบโตมากกว่าความปลอดภัย
แม้เชื่อว่า ไม่มีใครในเฟซบุ๊ก “ชั่วร้าย” แต่โฮเกนบอกว่า บริษัทจัดการกับมาตรการจูงใจอย่างผิดพลาด
ทั้งนี้ โฮเกนกำหนดไปให้ปากคำต่อคณะอนุกรรมาธิการวุฒิสภาในวันอังคาร (5 ต.ค.) ในหัวข้อ “การปกป้องเด็กในระบบออนไลน์” ว่าด้วยการวิจัยของเฟซบุ๊กเกี่ยวกับผลกระทบจากอินสตาแกรมต่อเด็ก
เธอกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ว่า มีผลประโยชน์ขัดแย้งระหว่างสิ่งที่ดีต่อสังคมกับสิ่งที่ดีต่อเฟซบุ๊ก และเฟซบุ๊กเลือกให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของตัวเอง เช่น การเพิ่มรายได้ครั้งแล้วครั้งเล่า