"เรียนจบราชภัฏ...แล้วทำไมหรือ?"
และในโลกแห่งความเป็นจริง “คนเราไม่เท่ากัน” แต่ถ้าเราจะเป็นสังคมที่คนเท่ากัน ต้องหัด “มอง” คนที่แตกต่าง ไม่ว่าจะการศึกษา จุดยืนการเมือง และเพศวิถี “ให้เท่ากัน”
ถ้อยคำกล่าวที่เป็นทั้งคำถาม และคำตอบสุดแสนน่าชวนคิดในตัวนี้ มาจาก 'ตอง' ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล นักข่าวมากประสบการณ์ ผู้อยู่ในแวดวงสื่อมานานร่วม 10 ปี เคยร่วมงานมาแล้วกับสื่อทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลัก, สื่อทีวีดิจิทัล และสื่อออนไลน์ จบราชภัฏสวนดุสิต จบปริญญาโท International Journalism (เกียรตินิยมอันดับ 1), Cardiff University, แคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร โดยเขาได้โพสต์เป็นข้อคิดถึงกระแสดรามาราชภัฏในขณะนี้ลงเฟซบุ๊กไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...
อ่านประเด็นที่กลายเป็นข้อถกเถียงในโซเชียลมีเดียมา 2 วันแล้ว เรื่องการ “มองต่ำ” นักศึกษาราชภัฏ ถ้าเป็นสมัยก่อน มันคงทริกเกอร์ความรู้สึกบางอย่างในใจผมนะ
แต่เวลานี้ สิ่งที่ผมรู้สึกคือ “เวทนา” สังคม และปัจเจกบางกลุ่ม ที่ยังยึดติดกับอันดับชั้น และสถาบันอย่างหน้ามืดตามัวแบบที่คนชอบเรียก “สลิ่ม” ได้ไหม กรณีนี้ สลิ่มสถาบันศึกษา?
คุณค่าเหนือสถาบัน…จะมีจริงได้ไหมในไทย?
(รูปสมัยเรียนจบใหม่ ๆ ปี 2554)
—-เรื่องราวของผม—-
ผม “เลือก” เรียนราชภัฏสวนดุสิตครับ (ปัจจุบันเหลือแค่สวนดุสิต) ด้วยเหตุผลว่า สอบติด มศว. แต่กำลังทรัพย์ทางบ้านไม่อำนวย ทั้งค่าหอ และอื่น ๆ แม้จะเรียน รชภ.ดุสิต ผมก็ติดหนี้ กยศ. นะ
พูดถึงหลักสูตร โอเค มันอาจไม่สูงส่งเน้นวิชาการเหมือนมหาวิทยาลัยต้น ๆ ของไทย แต่ไม่ใช่ “เรียนเหมือนไม่มาเรียน” ทุกหลักสูตรมันมีคุณค่าของมันครับ
ผมก็รู้ว่า องค์ความรู้ที่ได้มันขาด ๆ แต่ความรู้มันไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนนะครับ ผมจึงเรียกตัวเองเหมือน “บัณฑิตของโลกและประสบการณ์” เพราะอาจารย์ของผมไม่ใช่แค่คนจุฬาฯ หรือ ธรรมศาสตร์ หรือ ราชภัฏ แต่คือมนุษย์ทุกคนที่ผมได้พบเจอ หนังสือแต่ละเล่มที่ผมลุ่มหลง และประสบการณ์ตรึงใจที่ผมได้สัมผัส
คอร์สนอกแคมปัสของผมคือ:
1. สอนพิเศษ Kumon ได้แบบเรียนอังกฤษมาเยอะเลย
2. ร้านอาหารที่ตรอกข้าวสาร ได้เอาวิชาไปใช้จริง
3. พนักงานโรงแรม ได้เรียนการบริการ โดยไม่ต้องเข้าหลักสูตรการโรงแรม
4. พนักงาน KFC เป็นรายได้หลักช่วงเรียน
ทำให้ตอนเรียนผมหาเงินได้แล้วเดือนละ 13,000 บาท (เกือบค่าแรงขั้นต่ำเลยนะ) ตอนจบออกมา ผมมีเงินเก็บกว่า 200,000 บาท เพื่อตั้งต้นชีวิตการทำงาน แต่ก่อนหน้านั้น ผมลงทุนเกือบแสนไปหาประสบการณ์ Work and Travel ที่ลาสเวกัสมาก่อนด้วย 3 เดือนกว่า จนสั่งสมความมั่นใจและประสบการณ์พอควร
—-ความเห็นต่อเรื่องนี้—-
เห็นคนพูดกันถึง “โอกาส” “ความเท่าเทียม” “คนไม่เท่ากัน” ต่าง ๆ ใช่ครับ Objectively ถ้าสังคมไทยและเชิงนโยบายมันมีได้ จะเป็นเรื่องดี
แต่ในชีวิตจริง “คนเราไม่เท่ากันหรอกครับ” แต่ถ้าเราจะเป็นสังคมที่คนเท่ากัน มันเริ่มจากพวกเราที่ “มอง” คนที่แตกต่าง ไม่ว่าจะการศึกษา จุดยืนการเมือง และเพศวิถี “ให้เท่ากัน”
มานอนรอเปลี่ยนนายกฯ หรือรมว. การศึกษา มันก็แปลว่า พวกคุณดีแต่พูด และนอนรอความเปลี่ยนแปลงมาถึงตัว ทั้งที่ในห้วงสามัญสำนึก “คุณก็ยังเหยียดคนอื่น” อยู่ดี
ส่วนเด็กราชภัฏ ถ้าเราเอาคำพูดทับถมจากคนแปลกหน้า มาตีตราตัวเองว่า “เรามันมาตรฐานต่ำ” คุณจะยอมหรือ? สำหรับผม คุณค่าสถาบัน มันไม่เท่า “มูลค่าความเป็นคนหรอก” อยู่ที่ว่าเรามอบสิ่งดี ๆ ให้สังคม และคนที่รักได้แค่ไหน เราภูมิใจกับความเป็นตัวเอง ณ ปัจจุบันแค่ไหน…เชิดชูทุกความสำเร็จ ปราบปลื้มทุกก้าวย่าง แต่ไม่ต้องเปรียบเทียบกับใครหรอก