Monday, 2 December 2024
NEWS FEED

โรงเรียนอนุบาลบนถนนชิงซี เมืองหัวอิ๋ง มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนได้จัดกิจกรรมการแข่งขันในหัวข้อ ‘รู้ทักษะชีวิต เป็นสุขและพึ่งพาตนเองได้’

ทั้งนี้ทักษะต่าง ๆ ที่ให้บรรดาเด็กน้อยมาฝึกฝนและแข่งขันกันนั้นมีมากมาย เช่น พับผ้าห่ม พับเสื้อผ้า ใส่รองเท้า ปอกเปลือกไข่ต้ม ใช้ตะเกียบคีบถั่ว และจัดกระเป๋านักเรียน เพื่อบ่มเพาะความสามารถในการดูแลตนเองของเด็ก ๆ และส่งเสริมให้พวกเขามีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดี

อย่างไรก็ตามการจัดงานดังกล่าว นับเป็นการสร้างทักษะชีวิตให้กับเด็กในยุคที่กำลังเกิดมาพร้อม ๆ กับอุปกรณ์สื่อสารรุ่นใหม่ จนทำให้หมกมุ่นและละเลยกับทักษะบางอย่างที่ควรจะนำไปใช้กับชีวิตได้อย่างแท้จริง

ไทยเราน่าจะมีกิจกรรมแนวนี้มั่งเนาะ!!


ที่มา: Xinhuathai

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีการขยายผลสืบสวนขบวนการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ว่า ขณะนี้มีเบาะแสแล้ว แต่การดำเนินคดีจะต้องมีพยานหลักฐานด้วย ซึ่งทุกฝ่ายกำลังดำเนินการอยู่ ทั้งฝ่ายตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง

ทั้งนี้ ทางนายกรัฐมนตรี ได้มอบ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ดูแลในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องแรงงานต่างด้าวนั้น เน้นเรื่องจัดการกับขบวนการขนคน ไม่ได้เน้นจับคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามา เพราะตอนนี้จะหนีหรือไม่หนีนั้นไม่รู้

แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยต้องดูแล และต้องทำให้เขารู้สึกว่ารัฐไทยมีมนุษยธรรมที่จะดูแล เพราะถ้าเราไม่ดูแลเขา คนไทยเองก็จะมีปัญหา จึงฝากถึงผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมาจะเข้ามาผิดหรือถูก ก็เรื่องหนึ่ง แต่ขอให้เชื่อฟังเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเคร่งครัด

ส่วนขบวนการลักลอบนำแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายมี เจ้าหน้าที่รัฐ เกี่ยวข้องหรือไม่นั้น พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า อยู่ระหว่างการสืบสวนดำเนินการ ถ้าหลักฐานชัดเจนก็ดำเนินคดีหมด ไม่ว่าจะเป็นใคร โดยเป็นเรื่องที่ นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำเป็นพิเศษ

แต่อย่างไรก็ตาม ขบวนการขนคนเข้าเมืองนั้น พล.ต.อ.สุวัฒน์ ยอมรับว่า เป็นเหมือนของคู่สังคมไทย ถ้าทุ่มทรัพยากรเข้าไปปราบปราม ก็จะเบาบางลงไป หากถามว่าจะหมดไปจากประเทศหรือไหม ตนเองมองว่ายาก เพียงแต่เป็นช่วงเวลาที่ต้องทุ่มทุ่มทรัพยากรลงไปลงไปจัดการ แต่หากจะทำอย่างต่อเนื่อง

มีข้อจำกัดหลายๆเรื่อง จึงมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะจัดการให้หมดสิ้นไป แต่ตอนนี้นโยบายหลักของรัฐบาลมีความชัดเจน ที่ต้องการให้ดำเนินการกับขบวนการแรงงานเถื่อน โดยเฉพาะกระบวนการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางธรรมชาติ ทั้งทางบกและทางเรือ

Nikon ผู้ผลิตกล้องถ่ายรูปชั้นนำระดับโลกเผย ประกาศเตรียมย้ายฐานการผลิตกล้องมาไทยเพิ่มเติม ขณะที่ สายพานการผลิตในประเทศญี่ปุ่นจะสิ้นสุดลงในปี 2564

Nikon ผู้ผลิตกล้องถ่ายรูป แบรนด ชั้นนำระดับโลก ประกาศเตรียมยุติสายพานการผลิตกล้องถ่ายภาพในโรงงานที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2564 และย้ายไลน์ผลิตทั้งหมดมาที่ประเทศไทยเพื่อควบคุมต้นทุน เพราะตลาดกล้องถ่ายรูปยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง

การประกาศเลิกผลิตกล้องในญี่ปุ่นของ Nikon ในครั้งนี้ เป็นการปิดฉาก 70 ปีที่ Nikon ทำการผลิตกล้องถ่ายรูปโดยมีฐานการผลิตที่ประเทศญี่ปุ่น

แต่ด้วยอัตราต้นทุนที่สูงทำให้ทาง Nikon ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ กล้องแบบ Mirrorless ตระกูล Z6 และ Z7 นั้น ถูกย้ายฐานการผลิตจนแล้วเสร็จในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ขณะที่ การเตรียมย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยจะถูกดำเนินการในเดือนตุลาคม โดยการผลิต D6 Digital SLR จะถูกย้ายมายังประเทศไทยไม่เกินปลายปี 2564 ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม Nikon จะย้ายไลน์ผลิตกล้องถ่ายรูปทั้งหมดมาที่โรงงานประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ Nikon มีการนำกล้องแบบ Mirrorless ระดับสูงเช่น Z6 และ Z7 เข้ามาผลิตในประเทศไทย ส่วนรุ่นถัดไปที่จะถูกย้ายมาผลิตที่ประเทศไทยคือกล้องระดับมืออาชีพรุ่น D6 โดยรุ่นดังกล่าวจะถูกย้ายมาภายในปี 2021

ปัจจุบันโรงงานในประเทศไทยถือเป็นโรงงานหลักของ Nikon ผ่านการผลิตกล้องถ่ายรูปรุ่นต่าง ๆ รวมถึงเลนส์หลากหลายแบบ ในทางกลับกันโรงงานที่ญี่ปุ่นหลังจากนี้จะถูกใช้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับกล้องวีดีโอแทน รวมถึงเป็นสถานที่พัฒนาธุรกิจใหม่เพื่อสนับสนุน Nikon ในอนาคต

สำหรับประวัติความเป็นมาโรงงาน Sendai ของนิคอน เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 1971 มีกล้องตัวแรกที่ผลิตคือ Nikon EM เรียกได้ว่าปิดตำนาน 41 ปี ที่โรงงานแห่งนี้ได้เปิดทำการมา และเป็นอันยุติฐานการผลิตกล้องนิคอนทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

ลุงตู่ เปิดโครงการทดลองเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา MINE SMART FERRY : “MISSION NO EMISSION” River Mass Transit

ที่ท่าเรือ แคท ทาวเวอร์ กสท เขตบางรัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานพิธีเปิดโครงการทดลองเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ Mine smart ferry พร้อมเปิดท่าเรือสะพานพุทธยอดฟ้า

ท่าเรืออัจฉริยะ หรือ Smart Pier โดยกรมเจ้าท่า ร่วมกับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด มหาชน พัฒนาเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า ผลิตโดยคนไทย และ ดำเนินการจดทะเบียนเรือโดยสารไฟฟ้าลำแรกของประเทศไทย

พร้อมนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงท่าเรือสะพานพุทธให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ มีเครื่องสแกนอุณหภูมิอัตโนมัติ ป้ายอัจฉริยะแจ้งเวลาเรือเข้าเทียบท่า เครื่องจำหน่ายบัตรโดยสารอัตโนมัติ ระบบตรวจสอบเส้นทางเดินเรือและตารางเรือ ระบบความปลอดภัยและตรวจนับความหนาแน่นของผู้โดยสารในแต่ละวัน รวมถึงไฟส่องสว่างด้วยระบบโซลาร์เซลล์และอารยสถาปัตย์ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทางในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไร้มลพิษ

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2564 ให้กับคนไทยทุกคน โดยจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปทดลองใช้บริการฟรี ในช่วงระหว่างวันที่ 23 ธ.ค. 2563 ถึงวันที่ 14 ก.พ. 2564 โดยวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ให้บริการฟรี จอดรับส่งผู้โดยสารบริเวณท่าเรือ 11 แห่ง ตั้งแต่ท่าเรือพระราม 5 ไปจนถึงท่าเรือสาทร ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ให้บริการฟรีเฉพาะท่าเรือที่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว 5 แห่ง ได้แก่ ท่าช้าง วัดอรุณฯ วัดกัลยาณมิตร กรมเจ้าท่า ท่าเรือ CAT Tower จากนั้นจะเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายเป็นเวลา 6 เดือน ก่อนปรับอัตราจัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทางต่อไป

จากนั้น นายกรัฐมนตรี นำคณะโดยสารเรือพลังงานไฟฟ้า ออกจากท่าเรือ CAT Tower ไปยังท่าเรือสะพานพุทธ ท่าเรืออัจฉริยะแห่งใหม่ พร้อมทักทายประชาชนที่มาใช้บริการในบริเวณดังกล่าว ขณะเดียวกันมีประชาชนบางส่วนได้เดินทางมาให้กำลังใจพร้อมมอบดอกกุหลาบให้กับนายกฯ ก่อนเดินทางกลับอีกด้วย

หัวหน้าพรรคก้าวไกล 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ' จัดหนักแถลงการณ์ นายกรัฐมนตรี รายประเด็น ชี้ควรปรับทัศนคติดด่วน เลิกโทษคนอื่น ระบุโควิดรอบใหม่มาจากรัฐหละหลวม จี้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่มีเอี่ยวขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติหรือไม่

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นภายหลังการแถลงข่าวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาโดยระบุว่า ข่วงหนึ่งของการแถลงเมื่อวานนี้ มีประโยคที่ว่า “เพียงคนไม่กี่คนที่ละเลยความรับผิดชอบต่อสังคม และมีพฤติกรรมที่เห็นแก่ตัว จะสร้างปัญหาให้คนเป็นล้าน ๆ ได้” แสดงถึงทัศนคติของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่โทษคนอื่นยกเว้นตนเองและรัฐบาล

อย่างที่เคยเป็นมาหลายครั้งแล้วนั้น ตนจำเป็นต้องออกมาสื่อสารเพื่อขอให้ท่านทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกใหม่ มีต้นเหตุมาจากความหละหลวม และการปล่อยปละละเลย การลักลอบเข้าประเทศของแรงงานต่างชาติ และความด้อยประสิทธิภาพในการจัดการกับแรงงานต่างชาติ ที่ยังคงอยู่ในประเทศไทย หลังจากที่ถูกเลิกจ้าง หรือสถานประกอบการปิดตัวไป

ในประเด็นแรก เรื่องการลักลอบเข้าประเทศของแรงงานต่างชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ควรไปโทษผู้ว่าราชการ จ.สมุทรสาคร แต่ถ้าท่านนายกเปิดใจสืบสวนข้อมูลในเชิงรุก ก็จะทราบว่ามีข้อสงสัยที่เชื่อได้ว่ามีขบวนการในการลักลอบพาแรงงานต่างชาติเข้าประเทศตามช่องทางธรรมชาติ อย่างผิดกฎหมาย โดยมีเรื่องพัวพันกับการรับสินบนของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนด้วย ซึ่งประเด็นข้อสงสัยนี้ ลำพังเพียงการปฏิเสธสั้น ๆ จากกองทัพ ไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจได้

ดังนั้น ในข้อครหานี้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน และหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนใด ไม่ว่าจะเป็นทหาร หรือพลเรือน เข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ หรือการลักลอบพาแรงงานต่างชาติเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย

รัฐบาลก็ควรต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยไม่มีข้อยกเว้น ต้องยอมรับว่า การปฏิเสธสั้นๆ แบบกำปั้นทุบดินว่า “ไม่มีการรับสินบนใด ๆ เลย ในกรณีการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย” นั้น ไม่อาจทำให้ประชาชนเชื่อได้

ประเด็นที่สอง หลังจากที่โควิด-19 ระบาดในระลอกแรก ทำให้มีแรงงานต่างชาติจำนวนมากทั้งที่ถูกกฎหมาย และที่ผิดกฎหมาย อยู่ในสภาวะว่างงานจากการปิดตัวลงของสถานประกอบการ แรงงานต่างชาติต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ และอยู่ปะปนกันภายในจังหวัด

โดยไม่มีมาตรการด้านสาธารณสุขใด ๆ ดูแล หากเจ็บป่วย ก็ต้องซื้อยารับประทานเอง ไม่สามารถเข้าไปรับการตรวจรักษาโรคได้ ที่แย่ที่สุดก็คือ แรงงานต่างชาติที่เป็นแรงงานถูกกฎหมาย เมื่อสถานประกอบการปิดตัวลง หลายคนไม่ได้รับเอกสารการเลิกจ้างจากนายจ้าง ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถลงทะเบียนใหม่ได้ ทำให้จากเดิมที่เป็นแรงงานต่างชาติถูกกฎหมาย ก็ต้องกลายสภาพเป็นแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายไปโดยปริยาย ปัญหาการระบาดของโรคที่อาจะเกิดขึ้นจากแรงานต่างชาติ ก็มีหลายภาคส่วนส่งสัญญาณเตือนไปยังรัฐบาลตั้งแต่เดือน ก.ย. ที่ผ่านมาแล้ว หลังจากที่ประเทศสิงคโปร์ เกิดการระบาดของโควิด-19 ในหอพักแรงงานต่างชาติ

แต่ก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มิได้นำพา ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลนี้ ควรเร่งดำเนินการควบคู่ไปกับการล็อคดาวน์ในจุดเสี่ยงต่าง ๆ ก็คือ การบริหารจัดการแรงงานต่างชาติที่ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ ที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่าง ๆ โดยเปิดให้มีการลงทะเบียน และดำเนินมาตรการคัดกรองโรค กักกันโรค และดำเนินการตามมาตรการทางสาธารณสุขต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม และหลักสิทธิมนุษยชนด้วย ถ้ารัฐบาลยังคงซุกปัญหานี้เอาไว้ใต้พรม การควบคุมการระบาดของโรค ก็จะไม่มีทางได้ผลอย่างเต็มประสิทธิภาพเลย

ประการสุดท้าย ต้องยอมรับว่า รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐบาลที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาอย่างยาวนานมาก โดยเหตุผลที่ใช้อ้างก็คือ เพื่อการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ในทางปฏิบัติแล้ว กลับไม่ได้มีการวางระบบที่เป็นรูปธรรมในการควบคุมการระบาดของโรคเลย อย่างในกรณีของสถานกักกันโรคโดยองค์กร (Organizational Quarantine) เพื่อเอาไว้ใช้ในการกักกันโรคของแรงงานต่างชาติ ที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย ก็มีความล่าช้าอย่างมาก ที่สำคัญค่าใช้จ่ายในการคัดกรองโรค และกักกันโรค ของแรงงานต่างชาติ ในปัจจุบันก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงมากราว 20,000 บาทขึ้นไป

ด้วยระดับค่าใช้จ่ายที่สูงขนาดนี้ จึงเอื้อให้เจ้าหน้าที่บางราย ใช้เป็นช่องทางในการเรียกรับผลประโยชน์กับผู้ประกอบการ หรือแรงงานต่างชาติ เพื่อแลกกับการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ รัฐบาลควรเร่งดำเนินการจัดให้มีสถานกักกันโรคในพื้นที่ระดับจังหวัด (Local Quarantine) และสถานกักกันโรคโดยองค์กร (Organizational Quarantine) อย่างเพียงพอ และเร่งด่วน รวมทั้งการพยายามดำเนินการต่าง ๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการกักกันโรคลง เพื่อให้มาตรการการกักกันโรคของแรงานต่างชาติ ที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย ทั้งในส่วนของแรงงานประมง แรงงานภาคบริการ แรงงานภาคเกษตร มีเรายังคงมีความจำเป็นในการใช้แรงงานต่างชาติ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้รับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ที่ประชาชนไว้ใจได้

สุดท้ายนี้ สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเร่งปรับเปลี่ยน ก็คือ ทัศนคติของตัวเอง ที่ในทุก ๆ ครั้งที่ปัญหาเกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ มักจะโทษปัญหาทั้งหมดไปที่ประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และผลักความรับผิดชอบไปที่ประชาชน แทนที่จะมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐ ซึ่งรัฐต้องเร่งวางระบบ วางมาตรการ และสร้างกลไกที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหา การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ กรณีสนามมวยลุมพินี คณะ VIP ทั้งกรณีลูกทูต และทหารอียิปต์ กรณีการลักลอบเข้าประเทศของคนไทยที่ไปทำงานที่โรงแรม 1G1 ฝั่งท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน จนมาถึงกรณีแพปลา จ.สมุทรสาคร สะท้อนว่ารัฐบาลไม่เคยที่จะเรียนรู้ และดำเนินการวางระบบในการควบคุมการระบาดของโรคอย่างเป็นรูปธรรมเลย พอมีปัญหาที ก็โทษประชาชน แล้วปลูกผักชีโรยหน้า แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นคราวๆ ไป

ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องเรียกร้อง ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งปรับทัศนคติของตนเองอย่างเร่งด่วน เลิกโทษประชาชน เลิกผลักความรับผิดชอบไปที่ประชาชน แล้วให้หันมามองตัวเอง เร่งถอดบทเรียนที่เกิดขึ้น เลิกซุกปัญหาไว้ใต้พรม การขึ้นเสียง ทำท่าขึงขังแบบเผด็จการแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วหันมาวางระบบในกาแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมได้แล้ว

กลายเป็นฝันร้าย ฝันสยองของชาวโลก เมื่อทั่วโลกได้รู้ข่าวการกลายพันธุ์ล่าสุดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในประเทศอาฟริกาใต้ และไม่ใช่เชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ของอังกฤษเสียด้วย

เชื้อไวรัส Covid-19 กลายพันธุ์ตัวล่าสุดก็ได้ชื่อแล้วอย่างเป็นทางการว่า 501.V2

เชื้อไวรัสโคโรน่า 501.V2 มีการตรวจพบครั้งแรกเมื่อราว ๆ ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา บริเวณอ่าวเนลสัน แมนเดอร่า เป็นเชื้อ Covid ที่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้รวดเร็วยิ่งกว่า Covid-19 สายพันธุ์เดิม และมีเอกลักษณ์คือ เป็นเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่นี่ติดง่ายในกลุ่มคนวัยหนุ่ม-สาว และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าการระบาดครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้

ศาตราจารย์ ซาลิม อับดูล คาริม หัวหน้าคณะที่ปรึกษาปัญหา Covid-19 ของแอฟริกาใต้ ได้เร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และใช้มาตรการล็อคดาวน์ในหลายพื้นที่ รวมถึงบริเวณหน้าหาด ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีรายงานว่าเป็นจุดที่พบการแพร่เชื้อสูง

ตัวเลขผู้ติดเชื้อล่าสุดในแอฟริกาใต้มียอดสะสมทั้งหมดประมาณ 930,000 ราย และเสียชีวิตแล้วถึง 24,900 คน

ตอนนี้ยังไม่รู้ว่า วัคซีน Covid-19 ที่มีอยู่ตอนนี้จะสามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้ได้มากน้อยแค่ไหน แต่ก็สร้างความหวั่นวิตกให้หลายประเทศ ที่ประกาศระงับเที่ยวบินจากแอฟริกาใต้แล้ว เช่น อิสราเอล ตุรกี เยอรมัน ซาอุดิอารเบีย สวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น

ทำให้ตอนนี้โลกต้องเผชิญหน้ากับเชื้อ Covid-19 ที่กลายพันธุ์แล้วถึง 2 ตัว และแพร่กระจายสู่คนเร็วยิ่งกว่าเดิม ได้แก่สายพันธุ์ของอังกฤษ รหัส VUI 202012/01 และ สายพันธุ์ของแอฟริกาใต้ 501.V2

เป็นเหมือนข่าวร้ายส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ที่ยังคงต้องเผชิญหน้ากับคลื่นการระบาดของไวรัสโคโรน่ากันต่อไป ที่อาจจะส่งผลกระทบร้ายแรงยิ่งกว่าเกิดสงครามโลกเสียอีก และเป็นฝันร้ายของนักวิจัยที่พยายามคิดค้นวัคซีนเพื่อต่อต้านมัน แต่ยังไม่อาจไล่ทันความสามารถในการเอาตัวรอดของไวรัสได้เลย


แหล่งข้อมูล

https://www.aljazeera.com/news/2020/12/22/south-africa-says-virus-variant-driving-resurgence

https://www.voanews.com/covid-19-pandemic/south-africa-identifies-new-virulent-strain-covid-19

https://www.africanews.com/2020/12/21/south-africa-detects-new-variant-of-coronavirus//

https://www.express.co.uk/news/world/1374779/covid-strain-latest-new-coronavirus-variant-south-africa-young-adults

เครดิต : หรรสาระ By Jeans Aroonrat

ธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อลมหายใจธุรกิจเอสเอ็มอี แก้กฎหมายสินเชื่อซอฟต์โลน เปิดทางขอกู้ได้ 2 ครั้ง แต่ยอดรวมต้องไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง พร้อมยืดเวลาขอสินเชื่อได้ถึง เม.ย.64

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า ขณะนี้ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ลงนามในประกาศ ธปท. เรื่องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ออกตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เอสเอ็มอี (ซอฟต์โลน)

เพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอี สามารถยื่นขอกู้สินเชื่อซอฟต์โลนได้ไม่เกิน 2 ครั้ง จากเดิมที่กำหนดให้ขอสินเชื่อซอฟต์โลนได้เพียงครั้งเดียว แต่กำหนดให้วงเงินกู้ซอฟต์โลนทั้ง 2 ครั้งรวมกันต้องไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้างสิ้น ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2562

ขณะเดียวกันยังขยายระยะเวลาให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียื่นขอสินเชื่อได้จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2564 และสามารถขยายต่อไปได้อีก 6 เดือนจนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2564 เพื่อประคับประคองการประกอบธุรกิจ และเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากสถานการณ์การระบาดในประเทศ และต่างประเทศทั่วโลกยังคงมีความรุนแรง และมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไป

อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน ณ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2563 พบว่า ได้มีการปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 1.22 แสนล้านบาท จำนวนเอสเอ็มอี 73,500 ราย เฉลี่ยสินเชื่อ 1.7 ล้านบาทต่อราย โดยแบ่งเป็น เอสเอ็มอีขนาดเล็ก 56,200 ราย หรือ 76.5% รองลงมาคือ เอสเอ็มอีขนาดกลาง 12,633 ราย และเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ 4,667 ราย

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (23 ธันวาคม พ.ศ.2563)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 46 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 5,762 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมยอดผู้เสียชีวิต 60 ราย รักษาหายเพิ่ม 17 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 4,095 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,607 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 46 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จาก สหราชอาณาจักร 2 ราย , บาห์เรน 1 ราย , เมียนมา 1 ราย , รัสเซีย 1 ราย , สหรัฐอเมริกา 1 ราย และ ปากีสถาน 1 ราย

ผู้ติดเชื้อในประเทศ จำนวน 39 ราย จาก กรุงเทพมหานคร 11 ราย ฉะเชิงเทรา 5 ราย นครปฐม 3 ราย กำแพงเพชร 2 ราย ตาก 2 ราย ปราจีนบุรี 2 ราย พระนครศรีอยุธยา 2 ราย สมุทรปราการ 2 ราย สระบุรี 2 ราย เพชรบูรณ์ 1 ราย กระบี่ 1 ราย ขอนแก่น 1 ราย นครราชสีมา 1 ราย นนทบุรี 1 ราย ปทุมธานี 1 ราย ภูเก็ต 1 ราย และ สุพรรณบุรี 1 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 152 ราย รักษาหายแล้ว 149 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 363 ราย รักษาหายแล้ว 349 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 6.78 แสน ราย รักษาหายแล้ว 5.53 แสน เสียชีวิต 20,275ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 37 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 97,389 ราย รักษาหายแล้ว 79,304 ราย เสียชีวิต 439 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.18 แสน ราย รักษาหายแล้ว 97,819 ราย เสียชีวิต 2,484 ราย

.

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.63 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.29 แสน ราย เสียชีวิต 9,021 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,461 ราย รักษาหายแล้ว 58,304 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1,420 ราย รักษาหายแล้ว1,281 ราย เสียชีวิต 35 ราย

 

‘น้าหงา’ ครูใหญ่เพลงเพื่อชีวิต เปิดตัวกาแฟออแกนิก Uncle Coffee

ขอวางกีต้าร์แปร๊บนึง สำหรับ ครูใหญ่แห่งวงการเพลงเพื่อชีวิต "สุรชัย จันทิมาธร" มานำเสนอผลิตภัณฑ์กาแฟไตล์ออแกนิกในชื่อแบรนด์ว่า "Uncle Coffee" โดยเมื่อช่วงเช้า เจ้าตัวเพิ่งโพสต์แนะนำสินค้าใหม่ของตัวเองในแฟนเพจสุรชัย จินทิมาธร

แจ้งข่าว - ผลิตภัณฑ์ใหม่ยี่ห้อลุง หรือ uncle coffee ออกแบบเรียบ ๆ ให้ดูง่าย ๆ สะดุดตาเล็กน้อย

อีกผลงานหนึ่งของกลุ่มคณาจารย์แม่โจ้ ที่ศึกษาค้นคว้าเกษตรอินทรีย์บนที่สูงมานานนับหลายปีในนามกาแฟป่า จังหวัดเชียงราย จะเริ่มการจัดจำหน่ายเร็ว ๆ นี้

เอ้า! ผ่าง ๆๆๆ

ปิดท้ายด้วยเสียงตีกลอง ตีโล่ห์ดังผ่าง ๆๆๆ ขนาดนี้ The States Times ก็เลยต้องช่วยอาจารย์หงาบอกต่อแควน ๆ เอ้ย! แฟน ๆ ให้มาช่วยกันอุดหนุน สามารถไปดูรายละเอียดกันได้ในเพจสุรชัย จันทิมาธร ของดีต้องบอกต่อจ้า!!

นายกรัฐมนตรี เล็งใช้วิธีขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวชั่วคราวบัตรสีชมพู แก้ปัญหา พร้อมอบหมาย ก.มหาดไทยและก.แรงงาน แบ่งโซนตามพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด วอนชาวโซเชี่ยลหยุดขยายความขัดแย้ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565

ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า เท่าที่ได้รับรายงานในขณะนี้ทราบว่าสถิติการติดเชื้อใหม่รายวันเริ่มลดลง เนื่องจากมีการตรวจสอบและควบคุมพื้นที่มากขึ้น ส่วนใดที่เป็นอุปสรรคปัญหาตนได้มอบหมายทุกหน่วยงานไปแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไร

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือหากวิเคราะห์สาเหตุขั้นต้นมาจากแรงงานต่างด้าว ซึ่งหากถูกกฎหมายอยู่ในประเทศไทยมานานไม่มีปัญหา เว้นแต่ผู้ที่ลักลอบ จึงต้องขจัดขบวนการลักลอบให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ตนมีความกังวลกับแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและมีการหลบเลี่ยง จากผู้ที่เห็นแก่ตัวที่จ้างงานโดยไม่จ่ายค่าแรงตามกำหนดและมีขบวนการนำส่งแรงงานกลุ่มนี้เข้ามา วันนี้จึงกำลังรื้อทั้งหมดให้ติดตามขบวนเหล่านี้

"สิ่งที่กังวลเรื่องเดียว ขณะนี้คือมีบางโรงงานหรือหลายโรงงานใช้แรงงานไม่ถูกต้องตามกฎหมายเอาไปปล่อยในพื้นที่อื่น ๆ หรือลาออกจากงาน เมื่อเช้าก็ได้สั่งการ ศบค. ให้หามาตรการตรงนี้มาว่าจะทำยังไง โดยให้แนวทางไปว่า ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดู เหมือนสมัยที่ขึ้นทะเบียนแรงงานสมัยก่อนมีวิธีการขึ้นทะเบียนชั่วคราว โดยใช้บัตรสีชมพูไปก่อน ซึ่งกำลังดำเนินการตรงนี้ เพราะถ้าเราไปดำเนินการอย่างเข้มข้นมากเกินไปก็มีการเอาแรงงานนี้ไปปล่อยที่อื่น ขณะนี้จึงหากำลังหามาตรการเหล่านี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความร่วมมือระหว่างกัน โดยในการประชุม ศบค. ในวันพรุ่งนี้(24 ธ.ค.) ก็จะได้ข้อยุติว่าจะทำอย่างไรกันต่อไปในส่วนของมาตรการในช่วงนี้ รวมถึงในช่วงปีใหม่ และจะกำหนดพื้นที่ทั้งหมดว่าจะดำเนินการในพื้นที่ตรงไหนอย่างไร แบ่งเป็นพื้นที่แพร่ระบาดมากและแพร่ระบาดน้อย พื้นที่ความเสี่ยงมากหรือความเสี่ยงน้อย โดยจะกำหนดพื้นที่ทุกจังหวัด ให้เป็นสีต่าง ๆ สีเขียว สีส้ม และสีแดง เพื่อมีมาตรการเฉพาะลงไปว่าทำอย่างไรได้บ้าง เราต้องเตรียมการไว้เช่นนี้ จึงขอแจ้งเตือนให้ทุกคนได้รับทราบว่าเราอาจจะต้องลำบากและเสียสละ เพราะถ้าเราแก้ปัญหานี้ไม่ได้ในช่วงนี้ มันก็คือปัญหาต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ในเรื่องการนำเสนอข่าว ขอให้รับฟังข้อมูลจาก ศบค. อย่าเอาข้อมูลจากที่อื่นที่ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องหรือพิสูจน์ไม่ได้ไปเผยแพร่ เพราะจะทำให้เกิดความตื่นตระหนก และสร้างความรับรู้ไปยังต่างประเทศ อย่างไรก็ตามยังยืนยันว่าตอนนี้เป็นการระบาดแบบรู้ที่มา

และเรามีมาตรการเฉพาะต่าง ๆ รวมถึงมาตรการด้านสาธารณสุขที่ครบถ้วนทุกอย่าง ยังสามารถรับมือได้ทั้งหมด ไม่เช่นนั้นก็จะกลายไปสู่ประเทศไทยกลับมาระบาดร้ายแรงอีก ทำให้เราขาดความเชื่อมั่นในด้านสาธารณสุขไทย ย้ำว่าเราทำมากกว่าหลายประเทศ ดังนั้นต้องขอความร่วมมือสื่อมวลชนอะไรที่พูดจาออกมาโดยไม่ใช่ข้อเท็จจริงบางครั้งก็ทำให้เกิดปัญหา ซึ่งตนรับฟังทุกส่วน แต่ต้องแยกแยะว่า เรื่องใดเป็นข้อมูลจริงหรือเท็จ

"ขอร้องบรรดาผู้ที่ชอบออกมาทางโซเชียล เอาข้อมูลเท็จข้อมูลอะไรออกไปทั้งหมด แพร่ระบาดไปแล้วโน่นนี่ มันไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยกับประเทศไทยของเรา คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า ถ้าเป็นคนไทยก็ต้องช่วยกันแก้ปัญหาไม่ใช่ปกปิด แต่ต้องเอาข้อมูลที่แท้จริงบางทีไปเขียนอะไรที่ไม่มีความรู้ ผมก็ไม่โทษเพียงแต่ขอร้องและให้ทุกคนมองว่าประโยชน์ของชาติอยู่ตรงไหน แล้วเราจะอยู่กันยังไงต่อไปถ้าจะอยู่อยากให้ดีขึ้นก็ต้องช่วยกัน สิ่งดี ๆ เยอะแยะไป อย่าไปขยายความขัดแย้งกันมากนัก" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top