Monday, 2 December 2024
NEWS FEED

หลังค่ายต้นสังกัด JYP ออกแถลงยืนยัน สมาชิกของวง GOT7 จะไม่เซ็นสัญญาต่อ เพื่อออกเดินทางตามเส้นทางของตัวเอง ทำให้หุ้น JYP ดิ่งฮวบลงเหว

จากกรณีที่สื่อดังหลายแห่ง ออกมาเปิดเผยว่า สมาชิกของวง GOT7 จะไม่เซ็นสัญญาต่อกับค่ายต้นสังกัด JYP ที่กำลังจะหมดสัญญาในช่วงสิ้นเดือนมกราคมนี้อีกต่อไป โดยแต่ละคนจะออกเดินทางในเส้นทางของตัวเอง ซึ่งหลังมีข่าวดังกล่าวออกมา ศิลปิน GOT7 ก็ได้ไปร่วมงานประกาศรางวัล Golden disc awards รับรางวัลร่วมกันเป็นครั้งสุดท้าย

.

โดยเมื่อวันนี้ 11 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา JYP Entertainment ได้ออกเเถลงอย่างเป็นทางการเเล้วว่า

.

สวัสดีนี่คือ JYP

JYP ได้ทำการพูดคุยกับสมาชิก ก่อนที่ GOT7 ในวันที่ 19 มกราคม เป็นผลให้ศิลปินตัดสินใจไม่ต่ออายุสัญญาภายใต้ข้อตกลง โดยต้องการทำสิ่งใหม่ๆในอนาคต

GOT7 มีส่วนร่วมในฐานะวงไอดอลระดับโลก เป็นตัวเเทนของ K-pop มาเป็นเวลา 7 ปีนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2014

ทาง JYP ขอเเสดงความขอบคุณอย่างจริงใจต่อสมาชิกทั้ง 7 คนของ GOT7 เเละขอบคุณสำหรับการเติบโตของ K-pop และ JYP รวมถึง ‘I GOT7' ที่สนับสนุนกิจกรรมของ GOT7 ตั้งเเต่เดบิวต์

เเละในอนาคต ถึงเเม้ว่าความสัมพันธ์จะสิ้นสุดลง เเต่ JYP จะสนับสนุนผลงานในอนาคตของ GOT7 ด้วยความจริงใจ

ขอขอบคุณ.

.

หลังจากที่ทาง JYP Entertainment ได้ออกมาเเถลงอย่างเป็นทางการ เรื่องหมดสัญญาของ GOT7 ทั้งนี้ ในทวิตเตอร์ ได้มีการติดเเฮชเเท็ก #ลาแล้วเจวายพี ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ของประเทศไทย พร้อมทั้งเเชร์หุ้นของ JYP ที่ตอนนี้ดิ่งลงเเบบฉุดไม่อยู่ นอกจากนี้เหล่าเเฟนคลับยังพร้อมใจกันอันฟอลโลช่องทางติดตามในทวิตเตอร์ หากตีมูลค่าความเสียหายเป็นเงินไทย พบว่า JYP เสียหายมูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาทเลยทีเดียว

.

ล่าสุดมีรายงานว่า จินยอง ได้พูดคุยและตกลงที่จะเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้วกับทางต้นสังกัดนักแสดง BH Entertainment ส่วนยูคยอม เตรียมที่จะเจรจาเซ็นสัญญากับทาง AOMG ค่ายเพลงของหนุ่มเจย์ปาร์ค ยองแจ ได้รับการติดต่อจาก Sublime Artist ด้านเจบี ในตอนนี้มีสังกัดเพลงฮิปฮอปหลายรายติดต่อเข้ามา ซึ่งเจ้าตัวกำลังพิจารณาค่ายที่เหมาะสมกับการทำกิจกรรมเดี่ยวของตนมากที่สุด ส่วนแจ็คสัน เดินหน้าทำกิจกรรมเดี่ยวอย่างเต็มที่กับสังกัดของเจ้าตัวอย่าง Team Wang และยังคงทำกิจกรรมต่อในเกาหลีผ่านทางสังกัดอื่น ด้านแบมแบม ลุยเดี่ยวทำกิจกรรมทั้งในไทยและเกาหลี ซึ่งการทำงานในเกาหลีในตอนนี้กำลังพูดคุยเรื่องเซ็นสัญญากับทาง MakeUs Entertainment ทางด้านพี่ใหญ่อย่าง มาร์ค เตรียมกลับบ้านเกิดในลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เพื่อใช้เวลากับครอบครัว รวมถึงมีแผนจะเปิดช่อง Youtube และทำงานเพลงเดี่ยวในสหรัฐอเมริกา

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เผย แรงงานสนใจเข้าฝึกอบรมออนไลน์คึกคัก หลังจัดหลักสูตรพิเศษผ่านระบบ Application Zoom Meeting สมัครแล้วกว่า 2,000 คน โดยหลักสูตรด้านดิจิทัลติดอันดับยอดฮิต คนแห่สมัครเพียบ

ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การอบรมออนไลน์ช่วยให้แรงงานได้รับโอกาสเข้าฝึกอบรมได้เป็นจำนวนมาก สามารถเข้าอบรมพร้อมกันถึง 100 คนต่อรุ่น เพื่อช่วยเหลือแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน จึงจัดหลักสูตรพิเศษ แบบออนไลน์ ผ่านระบบ Application Zoom Meeting โดยหน่วยงานในสังกัด กพร. ที่มีความพร้อมจำนวน 50 จังหวัด ปัจจุบัน ได้รับความสนใจจากผู้ใช้แรงงานสมัครเข้าฝึกอบรมแล้วกว่า 2,000 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มกราคม 2564) เหลืออีกเพียง 30 จังหวัดเท่านั้น ที่ผู้สมัครยังไม่เต็ม 100 คน

หลักสูตรที่ได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก เช่น เทคนิคการสร้างร้านค้าและขายสินค้าออนไลน์ การผลิตสื่อโฆษณาและหนังสั้นด้วยสมาร์ทโฟน การสร้างอินโฟกราฟิกเพื่อธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ การออกแบบและตกแต่งภาพด้วยโปรแกรม Photoshop และ Illustrator การใช้โปรแกรม Microsoft Excel Advance และภาษาพม่าเบื้องต้นเพื่อการทำงาน เป็นต้น สังเกตได้ว่า แรงงานให้ความสนใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้านดิจิทัลมากขึ้น ดังนั้น หลักสูตรการฝึกจึงต้องปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวต่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แสดงความห่วงใยต่อแรงงานทั่วประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ covid-19 โดยสั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งให้ความช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานทุกประเภทรวมถึงผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งการจัดหางาน การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อส่งเสริมด้านอาชีพแก่แรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน พร้อมทั้งบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยภายใต้ชีวิตวิถีใหม่

ซึ่ง กพร. ได้ปรับรูปแบบการฝึกอบรม เป็นการฝึกอบรมออนไลน์ ผ่านระบบ Application Zoom Meeting ทั้งการฝึกตามโครงการปกติและโครงการพิเศษ การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานตามโครงการปกตินั้น กพร. ปรับแผนการฝึกให้สอดคล้องกับสถานการณ์และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด เช่น สาขาอาชีพที่ต้องมีการฝึกภาคปฏิบัติ ต้องจัดเว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนคนเข้าฝึกภาคปฏิบัติ ส่วนภาคทฤษฎีจัดอบรมแบบออนไลน์ผ่านระบบ ZOOM เป็นต้น มาตรการอื่น ๆ ให้มีการตรวจคัดกรอง การจัดเจลแอลกอฮอล์ ไว้ประจำจุดฝึกอบรม/ทดสอบมาตรฐานฝีมือ และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น

ผู้ว่างงานที่สนใจเข้าอบรมสามารถสมัครได้ที่ www.dsd.go.th เลือก สมัครฝึกอบรม และค้นหา “ของขวัญปีใหม่” (โครงการนี้รับ 100 คน/รุ่น) ส่วนการฝึกตามโครงการปกติรับ 20 คน/รุ่น ส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรที่ต้องฝึกภาคปฏิบัติด้วย สามารถสมัครได้ที่ www.dsd.go.th เลือก สมัครฝึกอบรม

‘หมอเอก ก้าวไกล’ ชี้ไม่ใช่หน้าที่ภาระท้องถิ่น ปมจัดหาวัคซีนเอง ซัดรัฐต้องจัดวัคซีนฟรีสำหรับทุกคน เเนะใช้กลไกท้องถิ่นกระจายวัคซีน เพื่อความทั่วถึง เท่าเทียมทุกคน

นายเเพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย เขต1 พรรคก้าวไกล กล่าวแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับกรณีการจัดหาวัคซีน เพื่อยับยั้งการระบาดไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ตลอดช่วงหลายวันที่ผ่านมา ประเด็น “วัคซีนโควิด” เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ที่พูดคุยกันของทุกคนเพราะในหลายประเทศได้ให้การรับรอง และเริ่มกระจายฉีดให้กับประชาชนของตนเองแล้ว เพื่อหวังที่จะยับยั้งการระบาดของโคโรน่าไวรัส 2019 ให้เราสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติแบบที่เคยเป็นกันมา เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวโดยเร็วที่สุด

ดังนั้น “การบริหารจัดการวัคซีนแบบมีประสิทธิภาพ” จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ในวันที่ทั่วโลกมีความต้องการวัคซีนพร้อมๆ กัน และมีการเร่งผลิตวัคซีนออกมาให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลก โดยวัคซีนที่ผลิตออกมามีหลายเทคโนโลยีที่ใช้ผลิต มีผลการศึกษาทดลองที่ให้ผลในการป้องกันโควิดที่แตกต่างกันแม้จะมีการให้การรับรองในหลายประเทศแล้ว แต่ก็เป็นการรับรองในกรณีพิเศษ-ฉุกเฉิน เพื่อยับยั้งการระบาดเท่านั้น แต่เรายังไม่ทราบระยะเวลาการคงอยู่ของภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีน รวมทั้งผลข้างเคียงในระยะยาวที่อาจจะพบได้เพิ่มเติมจากที่พบในขั้นตอนการวิจัย

และวัคซีนที่มีหลายชนิดจะมีการแบ่งการจัดซื้อและแบ่งการฉีดอย่างไร ในส่วนวัคซีนของ Sinovac ที่ยังไม่มีการรายงานผลการทดลองในชั้นคลินิกเฟส 3 เลย และล่าสุดมีข่าวว่าบางประเทศไม่พอใจผลของการทดลองวัคซีนนี้เพราะมีประสิทธิภาพเพียง 50.4% เท่านั้น (อ้างอิง https://www.bbc.com/news/world-latin-america-55642648 ) แต่จะมีการนำเข้ามาใช้ในเดือนกุมภาพันธ์แล้ว เราจะมีระบบการอนุมัติแบบพิเศษจาก อย. อย่างไร? ประเด็นนี้ทางรัฐบาลไทยจะต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดอย่างชัดเจนเพื่อให้สาธารณชนได้วางใจได้ ซึ่งที่ผ่านมาถือว่ารัฐบาลสอบตกในประเด็นนี้

ส่วนกรณีที่มีข่าวองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง เปิดเผยว่า สนใจจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้กับคนในพื้นที่ได้นั้น ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องดีและอยู่ในวิสัยของกรอบระเบียบกฎหมายที่จะทำได้ แต่มีประเด็นที่ต้องคำนึงถึงอยู่บ้าง คือการจัดซื้อวัคซีนแบบแยกซื้อย่อมจะส่งผลต่อราคาวัคซีนที่จะแพงกว่าการจัดซื้อรวม ในขณะที่วัคซีนชนิดอื่นรัฐได้รวบการจัดซื้อโดยข้ออ้างในเรื่องราคา แล้วทำไมวัคซีนโควิดถึงไม่ได้มีการพูดถึงเหตุผลข้อนี้ (และการจัดซื้อโดย อปท. ที่มีความพร้อมด้านงบประมาณนั้นแน่นอนว่าจะไม่ได้มีทุก อปท. ที่มีความพร้อม จะส่งผลต่อการวางแผนการกระจายของวัคซีนในภาวะที่ต้องการวัคซีนเพื่อหยุดการระบาด ไม่ได้ต้องการวัคซีนเพื่อป้องกันโรคเท่านั้น)

โดยรัฐบาลควรต้องตั้งเป้าหมายการจัดหา และฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบ 100% โดยไม่ปล่อยให้เป็นภาระขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดหา โดยมีจุดประสงค์เพื่อยับยั้งการระบาดในวงกว้าง และป้องกันปัจเจกบุคคลจากการติดเชื้อ โดยยุทธศาสตร์ที่ทางรัฐบาลและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศควรทำงานร่วมกัน คือ

1.ให้ผู้จัดหาวัคซีนยังคงเป็นรัฐบาลอยู่ แต่ต้องกระจายความเสี่ยงของวัคซีนให้มีหลายเจ้ามากขึ้น และมุ่งเน้นเจ้าที่มีประสิทธิภาพสูง และจะต้องมีจำนวนโดสครอบคลุมการฉีดให้ประชากรทั้งประเทศ 100%

2.ส่วนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นจะเข้ามามีบทบาทร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ผ่านทางโรงพยาบาลและ รพ.สต. ในการกระจายฉีดวัคซีนให้ประชาชน เนื่องจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีความใกล้ชิดประชาชนมากกว่า เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ที่อาจจะต้องได้รับวัคซีนก่อนในลำดับแรกๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีข้อมูลของกลุ่มนี้อยู่แล้ว

3.สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ คือ “ความโปร่งใส” ในการบริหารจัดการ ดังนั้นรัฐบาลต้องเปิดเผยรายละเอียด ตัวเลข หลักเกณฑ์ วิธีการ และเหตุผลในการดำเนินการต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน ให้ไว้วางใจการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนคนไทยกลับมาใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยได้ตามปกติอีกครั้งโดยเร็วที่สุด

รัฐบาลญี่ปุ่น จะประกาศภาวะฉุกเฉินสกัดการระบาดของไวรัสโควิดเพิ่มเติมอีก 7 จังหวัด นอกเหนือจากกรุงโตเกียวและรอบข้าง หลังผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุบสถิติเป็นเกือบ 8,000 คนต่อวัน

นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่าเขาจะขยายการประกาศภาวะฉุกเฉินให้ครอบคลุมจังหวัดโอซากา เกียวโต เฮียวโงะ ไอจิ กิฟุ ฟูกูโอกะ และโทชิงิ ในวันนี้ (13 ม.ค.) เพื่อหยุดยั้งการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินสำหรับกรุงโตเกียวและอีก 3 จังหวัดติดกัน คือ ไซตามะ คานางาวะ และชิบะ แต่ในพื้นที่จังหวัดใหญ่อื่น ๆ ก็มีจำนวนการติดเชื้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว บรรดาผู้ว่าการจังหวัดต่างร้องขอให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการเยียวยาธุรกิจต่าง ๆ ที่ถูกขอให้ลดเวลาทำการลง

นายซูงะกล่าวว่า รัฐบาลกำลังดำเนินมาตรการโดยพุ่งเน้นเป้าหมายจำเพาะเจาะจงไปที่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาด และพื้นที่มีผู้ติดเชื้อพุ่งสูง จึงไม่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ และขอให้โรงเรียนและธุรกิจต่าง ๆ ปิดทำการแบบถ้วนหน้าเหมือนเมื่อเดือนเมษายน ปีที่แล้ว

ผู้นำญี่ปุ่นต้องการหยุดยั้งการติดเชื้อด้วยมาตรการสำคัญ 4 ข้อ ได้แก่ ขอให้บาร์และร้านอาหารปิดภายในเวลา 20.00 น., ให้บริษัททั้งหลายสนับสนุนให้พนักงานทำงานทางไกล โดยลดจำนวนพนักงานในสำนักงานของตนลงร้อยละ 70, ให้ประชาชนงดออกจากบ้านหลัง 20.00 น. และจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ลงครึ่งหนึ่ง

นายฮิโรฟูมิ โยชิมูระ ผู้ว่าการจังหวัดโอซากา ระบุว่า ขณะนี้จังหวัดโอซากาขอให้ร้านอาหาร และบาร์ปิดร้านในเวลา 21.00 น. แต่หากรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน เขาจะให้ร้านต่าง ๆ ปิดร้านเร็วขึ้นอีก 1 ชั่วโมง คือ 20.00 น. เช่นเดียวกับในพื้นที่กรุงโตเกียวและรอบข้าง

เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ม.ค. ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด 7,900 คน โดยจังหวัดโอซากา เกียวโต เฮียวโงะ ที่อยู่ในรายชื่อภาวะฉุกเฉินครั้งใหม่นี้ก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงเป็นประวัติการณ์

มาตรการฉุกเฉินของญี่ปุ่นเป็นเพียงการ “ขอความร่วมมือ” ไม่ใช่การ “บังคับ” แต่รัฐบาลกำลังจะเสนอแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้ใช้มาตรการลงโทษกับธุรกิจและผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือตามมาตรการฉุกเฉินได้ โดยจะเสนอร่างแก้ไขกฎหมายต่อรัฐสภาในวันจันทร์หน้า และจะประกาศใช้ให้เร็วที่สุด


ที่มา : https://mgronline.com/japan/detail/9640000003235

‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประชุมติดตาม 9 มาตรการแก้แล้ง ย้ำต้องเสร็จก่อนฤดูแล้งนี้ ให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภค/เกษตร/อุตสาหกรรม เพียงพอ พร้อมสั่งเร่งช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้ขณะนี้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ผอ.กอนช. ได้เป็นประธานการประชุม กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ อาคารจุฑามาศ สทนช.

ที่ประชุม ได้รับทราบสถานการณ์น้ำในปัจจุบันเมื่อ 12 ม.ค.64 สภาพแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำทั้งประเทศ รวม 49,246 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น ร้อยละ 60 ปริมาณน้ำใช้การ จำนวน 25,143 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น ร้อยละ 43 ,รับทราบการให้ความช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมภาคใต้ จ.ยะลา และจ.ปัตตานี ซึ่งขณะนี้ สถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว อยู่ในขั้นการช่วยเหลือ ฟื้นฟู ต่อไป

โดย พล.อ.ประวิตร ได้กำชับเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และรับทราบ ผลการติดตามผลการดำเนินงานโครงการงบกลางปี 2563 ตามมติ ครม.เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำในภาพรวมทั้งประเทศ ทั้งสิ้น จำนวน 31,054 โครงการ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 23,286 โครงการ ทั้งนี้ที่ประชุมได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงาน พร้อมกำชับ สทนช.ให้กำกับ ติดตามการดำเนินโครงการ อย่างต่อเนื่อง ต่อไป

กอนช. ได้พิจารณาเห็นชอบ ผลการดำเนินงานตามมาตรการ แก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 63/64 ตามมติ ครม.เมื่อ 3 พ.ย.63 โดยให้มีการควบคุม การจัดสรรน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ,ปรับปรุงแผนการควบคุมการเพาะปลูกนารอบที่ 2 (นาปรัง) ให้มากกว่าแผนทั้งในเขต และนอกเขตชลประทาน รวมทั้งตรวจสอบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภาวะน้ำแล้ง ของประปาท้องถิ่น และติดตามค่าความเค็มของน้ำ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และเห็นชอบผลการดำเนินงาน ตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ คราวตรวจราชการน้ำท่วมภาคใต้ พื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยมอบให้ สทนช. บูรณาการแผน และงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ,พัฒนาแก้มลิงบริเวณพรุควนเคร็ง และเร่งรัดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ด้วย รวมทั้งได้เห็นชอบ การขับเคลื่อนโครงการ บรรเทาอุทกภัย พื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีปี 2565-2566 ซึ่งมีแผนงานทั้งหมด 7 โครงการ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มความจุได้ 21.13 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 61,610 ไร่ (41,990 ครัวเรือน)

พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ สทนช. ให้กำกับ ติดตามโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง งป.ปี 63/64 อย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งรัดหน่วยงานปฏิบัติ ที่รับผิดชอบโครงการต่างๆ จะต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อมุ่งให้ประชาชน ได้มีน้ำใช้ อย่างเพียงพอ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตามพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยซ้ำซาก ที่ผ่านมาก็ต้องเร่งแก้ไข ให้ทันท่วงที โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ บริเวณ จ.นครศรีธรรมราช และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี ตอนล่าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน อย่างเร่งด่วน ต่อไป

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ออกมาตรการใหม่ ต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 เป็นลบก่อนการเดินทางเข้าสหรัฐฯ มีผล 26 มกราคมนี้

ประกาศด่วนจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือ CDC แห่งสหรัฐอเมริกา ออกมาตรการใหม่ให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาด้วยเที่ยวบินระหว่างประเทศ จะต้องแสดงผลตรวจ Covid-19 เป็นลบก่อนขึ้นเครื่อง เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคมนี้เป็นต้นไป

มาตรการใหม่ของ CDC ระบุว่าผู้ที่จะเดินทางเข้าเมืองสหรัฐจากต่างประเทศโดยเครื่องบิน จะต้องยื่นผลตรวจเชื้อ Covid-19 เป็นลบ คือ ไม่ติดเชื้อ ที่ตรวจภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 วันก่อนขึ้นเครื่อง เป็นเอกสารรับรองจากห้องแล็ปที่เป็นกระดาษ หรืออยู่ในรูปแบบเอกสารอิเล็คทรอนิกส์ก็ได้ให้กับสายการบิน หากผู้โดยสารคนใดไม่มีเอกสารรับรอง หรือปฏิเสธการตรวจ ทางสายการบินสามารถปฏิเสธผู้โดยสารไม่ให้เดินทางได้ทันที

และเมื่อเดินทางไปถึงที่สหรัฐอเมริกาแล้ว CDC ยังแนะนำให้กักตัวอยู่บ้านต่ออีก 7 วัน และตรวจเชื้อซ้ำอีกรอบภายใน 3 - 5 วัน เพื่อความมั่นใจว่าไม่มีการติดเชื้อระหว่างเดินทางแน่นอน

ด็อกเตอร์ โรเบิร์ต เรดฟิลด์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคได้อธิบายว่า ถึงแม้ว่าการตรวจเชื้อจะไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ทั้งหมด และต้องทำร่วมกับมาตรการอื่น ๆ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง การเว้นระยะห่าง การกักตัวอยู่บ้านเพื่อดูอาการ ก็จะช่วยให้สามารถเดินทางข้ามประเทศได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสบนเครื่องบิน ที่สนามบิน และการระบาดเพิ่มภายในประเทศได้

และมาตรการที่เข้มขึ้นนี้ย่อมมีผลกับธุรกิจสายการบินในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงวิกฤติ Covid-19 ทั่วโลก ที่แทบทุกประเทศมีมาตการจำกัดการเดินทางของชาวต่างชาติ หรือแม้กระทั่งแบนนักเดินทางจากบางประเทศ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีผู้ที่ประสงค์เดินทางเข้าเมืองสหรัฐ จากนักธุรกิจชาวอเมริกันที่จำเป็นต้องเดินทางเป็นประจำ ที่มักซื้อตั๋วล่วงหน้า แต่เดินทางไม่ได้อยู่เป็นจำนวนมาก

และธุรกิจสายการบินในสหรัฐก็เพิ่งจะเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ตัวเลขผู้ที่เดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนธันวาคม 2020 มีอยู่ประมาณ 2.1 ล้านคน หรือเฉลี่ย 76,000 ต่อวัน ที่หลายฝ่ายคาดว่าน่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่เมื่อมีการประกาศมาตรการใหม่จาก CDC ออกมาก็ทำให้ภาคธุรกิจสายการบินต้องปรับตัวกันอีกครั้ง

หากมองในแง่ดี กฏใหม่ที่ออกมาทำให้สหรัฐอาจไม่จำเป็นต้องมีมาตรการจำกัดการเข้าเมืองสหรัฐแล้ว หากผู้โดยสารทุกคนยื่นผลตรวจ Covid-19 ก่อนการเดินทางตามเงื่อนไข แล้วค่อยไปกักตัว หรือตรวจเชื้อซ้ำอีกครั้งหลังเดินทางไปถึง ทำให้สายการบินสามารถเปิดเที่ยวบินให้บริการได้มากขึ้น ซึ่งทางสายการบินอาจพิจารณาให้มีบริการจุดตรวจเชื้อให้กับผู้โดยสาร เพื่อรอรับผลได้ก่อนออกเดินทาง เพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสารมากขึ้นอีกด้วย

นับว่าในวิกฤติก็ยังมีโอกาสอยู่เสมอ หากเราเตรียมพร้อม ทำตามขั้นตอนที่กำหนด ก็สามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัย ในยุค Covid-19 ที่น่าจะอยู่กับเราไปอีกสักระยะหนึ่ง


แหล่งข่าว

https://www.cdc.gov/media/releases/2021/s0112-negative-covid-19-air-passengers.html

https://www.usatoday.com/story/travel/airline-news/2021/01/12/covid-test-required-international-passengers-flying-into-us/6640424002/

https://www.cnbc.com/2021/01/12/us-planning-to-require-negative-covid-tests-for-inbound-international-air-travel.html

ส.ส.นครศรีธรรมราช “เทพไท เสนพงศ์” เสนอรัฐทบทวนวิธีการเยียวยาใหม่ แจกเงิน 3,500 บาทต่อคน 3 เดือน ใช้ฐานเยียวยาตามบัญชีทะเบียนบ้าน มั่นใจไม่ตกหล่น เป็นธรรมกับทุกคน

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ตนเห็นด้วยกับ 4 มาตรการของรัฐบาล ที่บรรเทาผลกระทบ ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบ 2 คือ 1. ลดค่าไฟฟ้า 2 เดือนตามใบแจ้งหนี้ ก.พ.-มี.ค.64 โดยให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก สำหรับบ้านพักอาศัยที่ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน 2. ลดค่าน้ำ 10% เป็นระยะเวลา 2 เดือนตามใบแจ้งหนี้ ก.พ.-มี.ค.64 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก 3. ลดค่าอินเทอร์เน็ต เพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้านและโทรศัพท์มือถือเพื่อสนับสนุนการทำงานที่บ้านหรือ Work From Home และสนับสนุนการโหลดแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" ฟรีโดยไม่คิดค่าดาต้า 3 เดือน และ 4.มาตรการคนละครึ่ง ให้ขยายสิทธิ์เพิ่มอีก 1 ล้านสิทธิ์ โดยจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนช่วงปลายเดือน ม.ค.นี้

นายเทพไท กล่าวต่อว่า สำหรับการจะเยียวยา 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือนนั้น ส่วนตัวอยากเสนอให้เยียวยาเป็นเวลา 3 เดือน เท่าโครงการเราไม่ทิ้งกัน แต่ยังไม่ทราบวิธีการเยียวยาของรัฐบาลที่ชัดเจน ว่าจะใช้แนวทางการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น หรือเว็ปไซด์ใหม่ หรือจะใช้ฐานข้อมูลเก่าในโครงการเราไม่ทิ้งกัน ตอนช่วงโควิด-19 ระบาดรอบแรกหรือไม่ เพราะวิธีการดังกล่าว มีจุดอ่อนและปัญหาตามมามากมาย ทำให้คนจนผู้ได้รับผลกระทบจริง ไม่ได้รับการเยียวยา แต่บางครัวเรือนกลับได้รับการเยียวยาหลายคน

จึงอยากจะให้รัฐบาลทบทวนวิธีการเยียวยาใหม่ โดยตนยืนยันแนวความคิดเดิมคือ เยียวยาเป็นรายครัวเรือนตามบัญชีทะเบียนบ้าน ของสำนักทะเบียนราษฏร กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมั่นใจว่าจะมีผู้ได้รับการเยียวยาครบทุกครัวเรือน ไม่มีการตกหล่น และเป็นธรรมกับคนไทยทุกคนด้วย ยกเว้นครอบครัวพนักงานรัฐวิสาหกิจ และครอบครัวข้าราชการ ที่ได้รับเงินเดือนประจำจากรัฐบาลอยู่แล้ว เมื่อตัดออกจากจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 20 ล้านครัวเรือน จะเหลือครัวเรือนที่ไม่มีสมาชิกในบ้านเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสากิจประมาณ 15 ล้านครัวเรือนเท่านั้น จึงเป็นการประหยัดเงินงบประมาณ ประหยัดเวลาในการเยียวยา และสามารถเยียวยาทั่วถึงอย่างรวดเร็วทุกคน ส่วนการช่วยเหลือกิจการรายย่อย SME รัฐบาลจะต้องมีรายละเอียดของมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่อไปด้วย

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบนโยบายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แก้เกมโควิด-19 เสริมแกร่งให้เกษตรกร-ผู้ประกอบการ SME เน้นจับคู่ธุรกิจผ่านออนไลน์ พร้อมใช้ FTA ควบคู่ ชี้ช่วยเพิ่มยอดขายในตลาดต่างประเทศได้จริง

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ปรับกลยุทธ์การทำงาน ปี 2564 แก้เกมโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ โดยให้เน้นการใช้เทคโนโลยีออนไลน์ สำหรับกิจกรรมฝึกอบรมเสริมสร้างองค์ความรู้ เพื่อติดอาวุธให้กับกลุ่มเกษตรกร SMEs สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน พร้อมใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สามารถจับคู่ธุรกิจ เพิ่มยอดขาย และบุกตลาดต่างประเทศได้จริง

“ในช่วงปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร อาทิ สภาเกษตรกรแห่งชาติ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มสหกรณ์ มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดฝึกอบรม เสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ กฎระเบียบและมาตรการทางการค้า รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดส่งออก และการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มยอดขายและโอกาสทางการตลาดให้กับเกษตรกร และ SME ได้มากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดที่ไทยมี FTA ด้วย ดังนั้น ในปีนี้จึงเน้นย้ำให้กรมฯ เพิ่มการนำเทคโนโลยีออนไลน์ มาเป็นตัวช่วยในการจัดกิจกรรม เพื่อให้เกษตรกร SME สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน สามารถเจาะตลาดต่างประเทศ และเพิ่มยอดขายได้มากขึ้นแม้ในช่วงวิกฤติโควิด” นายวีรศักดิ์กล่าว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เสริมว่า สำหรับโครงการสำคัญที่กรมฯ จะดำเนินการ ในปี 2564 และจะเพิ่มการนำเทคโนโลยีออนไลน์มาใช้ในการจับคู่ธุรกิจ ตามนโยบายของ รมช.พาณิชย์ ได้แก่ โครงจัดทัพโคนมไทย บุกตลาดต่างประเทศด้วย FTA ซึ่งเน้นขยายตลาดส่งออกไปอาเซียนและจีน โครงการจับมือผู้ประกอบการใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ เพิ่มการส่งออกต่างประเทศด้วย FTA ร่วมกับ ศอ.บต. โครงการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรไทย ให้สามารถเพิ่มการส่งออก โดยใช้ประโยชน์จาก FTA ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ โครงการพัฒนาความพร้อมทางการค้าสหกรณ์ไทยสู่โลกการค้าเสรี และโครงการยกระดับผู้ประกอบการไทยผ่านโลกการค้าเสรี ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีความตกลง FTA จำนวน 14 ฉบับ (รวม RCEP) กับ 18 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง โดยในปี 2562 การค้าของไทยกับประเทศคู่ FTA 18 ประเทศ มีมูลค่ารวม 302,991 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2 ใน 3 (สัดส่วน 63% ของมูลค่าการค้าไทย กับโลก) โดยส่งออกไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 150,933 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 152,639 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในช่วงเดือน ม.ค. – พ.ย. 2563 การค้าของไทยกับประเทศคู่ FTA มีมูลค่า 250,721.76 ล้านเหรียญสหรัฐ

เป็นการส่งออกมูลค่า 128,221.19 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 122,500.57 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งประเทศคู่ FTA ที่เป็นคู่ค้าสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน จีน และญี่ปุ่น

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า วันนี้ (12 มกราคม 2564) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติรับทราบมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ระบาดรอบใหม่

ของสถาบันการเงินสมาชิกสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ(SFIs) ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง

โดยในส่วนของ ธอส. คณะกรรมการธนาคารมีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 เพิ่มเติม 4 มาตรการ จากเดิมที่เคยออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้ามาแล้ว 8 มาตรการในปี 2563 ดังนั้น ในครั้งนี้จึงถือเป็นมาตรการที่ 9-12 ผ่าน "โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564"

ด้วย 4 มาตรการลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) นานสูงสุด 6 เดือน ครอบคลุมทั้งลูกค้าที่เคยหรืออยู่ระหว่างใช้ "มาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)" และ "โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ" รวมถึงลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการฯ ทั้งลูกค้ารายย่อยและกลุ่ม SMEs ที่มีสถานะปกติ หรือสถานะ NPL ประกอบด้วย

มาตรการที่ 9 สำหรับลูกค้าที่เคยเข้าร่วมหรืออยู่ระหว่างใช้มาตรการช่วยเหลือฯ ของ ธอส.ลูกค้าที่มีสิทธิ์แจ้งความประสงค์ขอใช้มาตรการจะต้องมีคุณสมบัติ คือ มีสถานะบัญชีปกติ ไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน(กุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ เข้าร่วมมาตรการระยะแรกผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 15 - 29 มกราคม 2564

มาตรการที่ 10 สำหรับลูกหนี้สถานะ NPL และลูกหนี้สถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน(กุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการระยะแรก ผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม - 26 กุมภาพันธ์ 2564

มาตรการที่ 11 สำหรับลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือฯ ของ ธอส. ลูกค้าที่มีสิทธิ์แจ้งความประสงค์ขอใช้มาตรการต้องมีคุณสมบัติ คือ มีสถานะบัญชีปกติ ไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน(กุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการระยะแรก ผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 26 กุมภาพันธ์ 2564

มาตรการที่ 12 สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs สินเชื่อประเภทแฟลต แบ่งเป็น

1.) ได้ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนหรือไม่เกินมิถุนายน 2564

หรือ 2.) พักชำระหนี้ถึงมิถุนายน 2564 ในกรณีที่ได้รับผลกระทบทำให้รายได้ไม่เพียงพอในการชำระหนี้ ยื่นคำขอเข้ามาตรการระยะแรกได้ที่สาขาทั่วประเทศภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ต้องการลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการ 9-11 ระยะแรก ต้องดาวน์โหลดหลักฐานยืนยันว่ามีผลกระทบทางรายได้ผ่านทาง Application : GHB ALL ให้ธนาคารพิจารณา เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ภาพถ่าย หรือ Statement เป็นต้น ส่วนดอกเบี้ยประจำงวดที่ตัดชำระไม่หมดในขณะที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือ ธนาคารจะเปิดให้ลูกค้าทยอยผ่อนชำระได้จนถึง ก่อนวันที่ลูกค้าจะครบกำหนดตามสัญญาเงินกู้ หรือก่อนปิดบัญชีเงินกู้

สำหรับลูกค้าของธนาคารที่ในปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการที่ธนาคารกำหนด และยังมีปัญหาด้านรายได้ทำให้ ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามปกติ ธนาคารพร้อมพิจารณาขยายความช่วยเหลือในรูปแบบการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้เป็นรายกรณีต่อไป

ส่วนกรณีที่หน่วยงานที่มีสวัสดิการเงินกู้กับธนาคารได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้หน่วยงานมีหนังสือแจ้งมายังธนาคารเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่พนักงานที่กู้เงินกับธนาคารต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท. ได้ประสานกับทุกสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ แบงก์รัฐ และนอนแบงก์ พิจารณาขยายระยะเวลาช่วยลูกหนี้รายย่อย ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19

รอบใหม่ ไปถึง 30 มิ.ย.64 จากเดิมครบกำหนด 31 ธ.ค.63 โดยสามารถขอรับความช่วยเหลือทั้งทางคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารแต่ละแห่ง หรือ โทร 1213 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท.

สำหรับการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ขยายไปถึง 30 มิ.ย.64 ประกอบไปด้วย บัตรเครดิต แปลงเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 งวด คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 12% ต่อปี , สินเชื่อบุคคล บัตรกดเงินสด เป็นสินเชื่อระยะยาว 48 งวด ดอกเบี้ยไม่เกิน 22% , สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ลดค่างวดอย่างน้อย 30% คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 22% , สินเชื่อรถยนต์ พักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือน และสินเชื่อบ้าน พักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน หรือลดค่างวด เป็นต้น

ทั้งนี้การช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภท ทั้งลูกหนี้รายย่อย เอสเอ็มอี และลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ จะเป็นไปตามความเหมาะสมกับประเภทสินเชื่อและความเสี่ยง ซึ่งเป็นแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ต่ออายุวงเงินหรือคงวงเงิน เปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หรือเลือกจ่ายดอกเบี้ยและพักเงินต้นชั่วคราว ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราตลาด และให้เงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top